ช่วงนี้หลายโรงเรียนคงปิดภาคเรียนกลางปีการศึกษากันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กๆ ที่ต้องประกอบด้วยความรับผิดชอบหลากหลายประการ คงเป็นภาระที่ทำให้หลายคนกังวลใจไม่น้อย เพราะไม่แน่ใจว่าจะพาลูกน้อยหรือเยาวชนในความดูแลไปฝากไว้ที่ไหนดี
ปัญหาในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงปิดภาคเรียนหรอกนะคะ เพราะเท่าที่สังเกตเห็นส่วนใหญ่ ก็ต้องหาที่เรียนพิเศษ เพื่อเป็นการเสริมกิจกรรมยามว่างระหว่างรอผู้ปกครองมารับในช่วงเย็นก่อนกลับบ้านกันอยู่บ้างแล้ว
ซึ่งเทรนด์ของเหตุผลว่าด้วย การใช้เวลาว่างในช่วงปิดภาคเรียนให้เป็นประโยชน์ ได้กลายเป็นวาทกรรมยอดนิยมและดูเลิศหรูไม่น้อย ที่ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากต่างยินยอมพร้อมใจพาบุตรหลานไปเข้าร่วมกิจกรรม หรือหากกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็ต้องบอกว่าไปเรียนพิเศษในช่วงปิดเทอมนี้ จะตรงประเด็นที่สุด
ในญี่ปุ่น ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองก็มีงานล้นมือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนไทย แต่พวกเขาโชคดีกว่าตรงที่สังคมญี่ปุ่นมี Jidoukan หรือศูนย์เยาวชนประจำแต่ละชุมชนท้องถิ่นคอยรับช่วงดูแลเด็กๆ ของพวกเขานอกเหนือจากโรงเรียนอีกด้วย
แม้ว่าเวลาเปิดทำการของ Jidoukan ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเช้าประมาณ 8-9 นาฬิกาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และไปสิ้นสุดในช่วง 18-20.00 น.
แต่บทบาทของ Jidoukan ในด้านหลักจะเป็นประหนึ่ง children’s center หลังเวลาโรงเรียน เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่ติดภารกิจการงานจนไม่สามารถมารับเด็กๆ จากโรงเรียนหลังเวลาเลิกเรียน ไม่ต้องคอยพะว้าพะวงว่าเด็กๆ จะไปอยู่ที่ไหนหรือต้องเผชิญเรื่องราวเลวร้ายนอกโรงเรียนอย่างไร
ขณะเดียวกันในช่วงที่โรงเรียนปิดเทอม Jidoukan ก็ทำหน้าที่เป็น playground ที่ปลอดภัยและมีอุปกรณ์เสริมสร้างทักษะและการเรียนรู้มากมายให้เลือกตามอัธยาศัย โดยมีเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ซึ่งผ่านการอบรมเรื่องการดูแลเด็กหรือ child rearing มาคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ
ความเป็นไปของ Jidoukan ยังดำเนินควบคู่ไปกับ sport center และห้องสมุดชุมชนที่พร้อมจะเอื้ออำนวยไม่เฉพาะกับเด็กๆ เท่านั้น หากแต่ยังแผ่อานิสงส์ถึงผู้คนในสังคมญี่ปุ่นทุกระดับชั้นให้ได้เรียนรู้และเพิ่มพูนศักยภาพอย่างไร้ขีดจำกัด
ที่สำคัญก็คือทั้ง Jidoukan ศูนย์กีฬา และห้องสมุดชุมชน เหล่านี้เป็นบริการสาธารณะที่เปิดให้เข้าใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือเสียในอัตราที่ต่ำมาก โดยงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมให้ดำเนินไปเหล่านี้ เกิดขึ้นจากภาษีของคนในแต่ละชุมชน ซึ่งล้วนแต่มีฐานะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเป็นเจ้าของพื้นที่อีกด้วย
และบ่อยครั้งที่ Jidoukan ทำหน้าที่เป็นศาลาประชาคมประจำท้องถิ่น (Local Community Center) ที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกชุมชน และประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง
จริงอยู่ที่ว่าในสังคมไทยทุกวันนี้ ก็อาจพบเห็นทั้งสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนเพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ หรือลานกีฬาต้านยาเสพติด ซึ่งสามารถแปลงสภาพกลับไป-มา ระหว่างการเป็นลานกีฬาและลานจอดรถ โดยบ่อยครั้งจะมีสภาพเป็นอย่างหลังมากกว่า
หรือแม้กระทั่งการเกิดขึ้นของศูนย์การเรียนรู้ที่เชื่อว่ามีความทันสมัย ในนามของอุทยานความรู้ก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นแค่ปรากฏการณ์ หรือเป็นเพียง Show Case ที่ยังมิได้กระจายตัว หรือเกลี่ยคุณภาพมาตรฐานให้ใกล้เคียง และเข้าถึงชุมชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ยังไม่นับรวมกรณีที่เกิดวิกฤต หรือเมื่อต้องเผชิญกับโรคระบาดใหม่ๆ ซึ่งอาจติดตามมาด้วยการปิดโรงเรียนชั่วคราวโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ซึ่งหลายครั้งที่มีโอกาสได้ฟังรายงานสภาพการจราจรที่ติดตามมาด้วยเสียงบ่นของผู้ปกครอง ที่ขับรถไปถึงโรงเรียน แล้วพบว่าโรงเรียนปิดแบบกะทันหัน ส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่หลายรายทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน
เสียความรู้สึกก็คงจะเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่หนักหนากว่านั้นบางท่านอาจถึงกับเสียงานเสียการไปเลย เพราะนัดหมายที่มีอยู่เบื้องหน้าจะจัดการอย่างไรคงเป็นเรื่องลำบากไม่น้อย
นั่นอาจเป็นเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นเพียงเช้าวันหนึ่งในสังคมไทย ที่การกระจายข้อมูลข่าวสารยังไม่ได้รับการจัดวางให้มีระบบ ทั้งที่เรามีรายการประเภทคุยข่าวให้ฟังตั้งแต่ย่ำรุ่งไปจนถึงค่ำคืนดึกสงัด แต่การส่งผ่านข้อมูลที่เป็นสาระจริงๆ เป็นสิ่งที่ควรจะต้องพัฒนาอยู่อีกมาก ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วเด็กๆ ที่ผู้ปกครองเตรียมนำมาส่งที่โรงเรียนจะไปอยู่ที่ใด จะวนรถกลับไปส่งที่บ้านหรือหอบหิ้วกันไปทำงานด้วยกันเสียเลย
ประเด็นที่ว่านี้ ทำให้บ่อยครั้งรู้สึกทั้งเศร้าและเสียดาย เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าก็คือสถานที่ที่คาดหมายว่าจะมีไว้สำหรับการเรียนรู้ของเด็กไทย แห่ไปตั้งเบียดอัดกันอยู่เฉพาะในศูนย์การค้าขนาดใหญ่เสียเป็นส่วนมาก ขณะที่สถานประกอบการสำหรับการกวดวิชาก็เกิดขึ้นและเบ่งบานยิ่งกว่าดอกเห็ดในฤดูฝน
แม้ว่าประเทศไทยจะมีปัญหาเร่งด่วนมากมายให้ต้องคิดคำนึงและหาทางแก้ไข แต่การมุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยปราศจากการปลูกฝังและเสริมสร้างให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีรากฐาน ก็คงมีค่าไม่ต่างอะไรกับการลงทุนที่สูญเปล่า และเราคงต้องมาหาทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุดกันต่อไป