เปิดตัวเป็นรายที่ 3 ในฐานะผู้ให้บริการระบบชำระเงินบนสมาร์ทโฟน หรือ mPOS (mobile point-of-sale) ภายใต้ชื่อ “AEON Easy Pay” แต่ต้องถือเป็น Non-Bank รายแรกที่ให้บริการ mPOS โดยเพิ่งเปิดตัวเมื่อกลางเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา
“แม้จะเป็นรายที่ 3 แต่เราถือว่าก้าวนี้เป็นอีกก้าวสำคัญ เพราะมันสะท้อนภาพลักษณ์ของเราในเรื่องนวัตกรรม” นันทวัฒน์ โชควิจิตร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัทอิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าว
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เปิดตัวบริการคล้ายกันนี้ ภายใต้ชื่อ “Krungsri Quick Pay” โดยเปิดตัวอย่างมีสีสันท่ามกลางแสงสีและร้านอาหารข้างทางริมถนนเยาวราช เพื่อพิสูจน์ว่า ด้วยบริการนี้ แม้แต่ร้านเกาลัค ร้านก๋วยจั๊บ และแผงร้านผลไม้ ก็ยังสามารถรับบัตรเครดิตได้
บวกกับโครงการทดลองให้บริการบนรถแท็กซี่ ก็ยิ่งทำให้การเปิดตัวบริการ mPOS ของค่ายกรุงศรีฯ ดูร้อนแรง และได้รับเสียงฮือฮาอย่างมาก จนแทบจะกลบความทรงจำในบริการ K-Merchant on Mobile ของธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้ให้บริการรายแรก
บริการ mPOS ของกสิกรไทย เริ่มครั้งแรกด้วยการแถลงความร่วมมือกับนกแอร์ในการนำบริการนี้ไปใช้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกับที่กรุงศรีฯ ได้ทดลองใช้เทคโนโลยี mPOS โดยเปิดตัวกับบริษัท เอไอเอ เป็นครั้งแรก โดยบริการ K-Merchant on Mobile เปิดตัวจริงๆ ราวเดือนตุลาคม 2555 และเพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “K-PowerP@y” เมื่อไม่นานมานี้
ทั้งนี้ เทคโนโลยี mPOS เป็นนวัตกรรมการชำระเงินรูปแบบใหม่ โดยเปลี่ยนอุปกรณ์ใกล้ตัวคนยุคนี้ที่สุด อย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต (Tablet) ที่รองรับระบบ iOS และ Android ให้เป็นเครื่องชำระเงินด้วยบัตรเครดิตและบัตรเดบิตรูปแบบใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับร้านค้าและเพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ
ทันทีที่เสียบเครื่องอ่าน (dongle) ในช่อง USB หรือช่องหูฟัง และเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสัญญาณมือถือ 3G สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจะกลายเป็นเครื่องรูดบัตรทันที โดยร้านค้าจะระบุราคาสินค้าลงในแอปฯ นำบัตรเครดิตหรือเดบิตของลูกค้าต่อเข้าอุปกรณ์เพื่ออ่านข้อมูลบัตร จากนั้นให้ลูกค้าเช็กข้อมูลก่อนใช้นิ้วเซ็นชื่อบนหน้าจอ พร้อมใส่เบอร์โทรหรืออีเมลเพื่อรับสลิปอิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นร้านค้าจึงใส่รหัสร้านค้า (รหัสหรือ PIN ที่ได้จากการลงทะเบียนกับผู้ให้บริการ) เพื่อขออนุมัติวงเงินกับธนาคารเจ้าของบัตร เป็นอันเสร็จสิ้นการชำระเงิน
พูดง่ายๆ ก็คือ mPOS มีกระบวนการทำงานเหมือนกับ “เครื่องอนุมัติวงเงินเครดิตอัตโนมัติ (EDC)” หรือเครื่องรูดบัตร EDC ที่ทุกคนคุ้นเคยตามห้างร้านใหญ่ๆ เพียงแต่เครื่อง EDC ต้องทำการเชื่อมต่อระบบผ่านสายโทรศัพท์ทุกครั้งที่จะทำการชำระเงินผ่านบัตร (หรือ transaction)
และนอกจากค่าธรรมเนียมรูดบัตรต่อครั้ง การใช้เครื่อง EDC ยังมักมีค่าติดตั้งที่อาจสูงถึง 1.5-2 หมื่นบาท ค่าเช่าเครื่องเดือนละ 500-1,000 บาท หรือหากไม่ต้องเสียค่าเช่า ก็มีเงื่อนไข คือต้องรักษายอดขายให้ได้ตามที่กำหนด ซึ่งโดยส่วนมากจะอยู่ที่หลักแสน อันถือเป็นอุปสรรคสำหรับร้านค้าขนาดเล็กหรือผู้ให้บริการรายย่อมที่ยอดขายไม่แน่นอน
สำหรับบริการ mPOS สิ่งที่ต้องมีคือ อุปกรณ์อ่านบัตร (Dongle) ซึ่งมีขนาดเล็ก พกพาสะดวก และแอพพลิเคชั่น (Application) ของผู้ให้บริการเครื่อง mPOS สนนราคาอุปกรณ์ของค่ายอิออนและกรุงศรีฯ อยู่ที่ 2 พันบาท ส่วนกสิกรไทยลดจาก 3 พันมาอยู่ที่ 2.5 พันบาท ขณะที่ค่าธรรมเนียมการรูดบัตรต่อครั้ง ซึ่งหักจากค่าสินค้าหรือบริการที่ร้านค้าได้รับต่อรายการ (transaction) สำหรับกรุงศรีฯ และอิออนอยู่ที่ 2.5% ส่วนกสิกรไทยอยู่ที่ 3%
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายหลักที่ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายมองตรงกันคือ SME หรือร้านค้าขนาดเล็กที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบัน ธุรกิจ SME ขนาดเล็กในระบบของเมืองไทยมีกว่า 2.65 ล้านราย แต่มีไม่ถึง 4 แสนรายที่มีเครื่องรับบัตรเครดิต
ด้วยความที่อุปกรณ์มีขนาดเล็ก พกพาสะดวก และสามารถเชื่อมต่อระบบได้ด้วยสัญญาณ 3G ที่มีครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ ทำให้อีกกลุ่มลูกค้าที่ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายมองว่า เหมาะที่จะใช้งานบริการนี้คือ ตัวแทน (Agent) ในธุรกิจขายตรงหรือธุรกิจประกัน ซึ่งช่วยให้สามารถปิดยอดได้ทันที และแท็กซี่ ซึ่งเฉพาะคน 3 กลุ่มนี้น่าจะมีเป็นหลักล้าน
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต กลุ่มร้านค้าหรือร้านอาหารที่ให้บริการจัดส่งถึงบ้าน (Delivery) ซึ่งนันทวัฒน์เปรยว่ากำลังอยู่ในขั้นเจรจากับแบรนด์ร้านอาหารดิลิเวอรี่ชื่อดัง พร้อมกับมองว่า หากสามารถเจาะเข้าร้านสะดวกซื้อได้จะถือเป็นก้าวสำคัญของอิออนเลยทีเดียว
ในฐานะ “ผู้เล่นใหม่” อิออนจึงยังมีพันธมิตรผู้ใช้บริการ AEON Easy Pay เพียงกลุ่มบริษัทประกัน โดย 1 ในนั้นคือบริษัทในเครือคือ “อิออน อินชัวรันส์ เซอร์วิส (ประเทศไทย)” ส่วนอีก 2 รายได้แก่ “อลิอันซ์ อยุธยา” และ “ไทยคาร์ดีฟ”
ส่วน “เบอร์ 1” อย่างกสิกรไทย นอกจากพันธมิตรตั้งแต่ช่วงเปิดตัวอย่าง “นกแอร์” “เมืองไทยประกันชีวิต” “แอมเวย์” และ “ไทยซัมซุงอิเลคโทรนิกส์” ปัจจุบัน ธนาคารขยายฐานลูกค้าไปอย่างมากมาย โดยล่าสุดเพิ่งรุกเข้าสู่ร้านเสื้อผ้าที่ “แพลททินั่ม แฟชั่น มอลล์” ซึ่งใช้บริการแล้วกว่า 1 พันราย มียอดใช้จ่ายราว 50 ล้านบาทต่อเดือน และร้านค้าที่ “เอเชียทีค” ซึ่งมีใช้บริการแล้วกว่า 2 พันร้าน มียอดรวมกว่า 100 ล้านบาทต่อเดือน เป็นต้น
ขณะที่ Krunsri Quick Pay ปัจจุบันมีพันธมิตรหลักคือ “เอไอเอ”, “มิลเลเนียม ออโต้” และกลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายสื่อการศึกษาแบบขายตรงของ “เครือไมเนอร์” รวมถึง ร้านค้าย่านเยาวราช และโครงการทดลองกับรถแท็กซี่
“เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เปิดให้บริการใหม่อย่าง AEON Easy Pay เพราะบริการนี้จะมีบทบาทสำคัญกับการเติบโตทางธุรกิจของอิออนในเมืองไทย ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้ให้บริการรายใหม่และมีคู่แข่งรายใหญ่ แต่เราเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำในบริการ mPOS ได้อย่างแน่นอน” ยาซูฮิโกะ คอนโดะ กรรมการผู้จัดการ บมจ. อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) กล่าวในวันเปิดตัวบริการ
จากถ้อยแถลงของผู้บริหารชาวญี่ปุ่น บวกกับข่าวความเคลื่อนไหวหลายระลอกของ “อิออน ธนสินทรัพย์” ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รองเอ็มดีอาวุโสฯ ระบุว่า ทุกก้าวเป็นความตั้งใจของอิออนฯ เพื่อปรับภาพลักษณ์ของบริษัทและยกระดับบัตรอิออนขึ้น โดยก้าวแห่งนวัตกรรมก้าวนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
“แต่เดิมคนมักมองว่า อิออนเป็นบัตรเงินผ่อนหรือสินค้าเงินผ่อน ทั้งที่เราทำบัตรเครดิตมานานมาก และจริงๆ ฐานลูกค้าของเราก็มีเยอะ มาปีนี้คนเริ่มจำได้ว่าเราเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิต แต่เราอยากทำให้ทุกคนรู้สึกว่า อิออนก็เป็นผู้ออกบัตรเครดิตที่ใหญ่เหมือนกัน ซึ่งก้าวนี้มันจะทำให้เราดู innovative มากขึ้น” นันทวัฒน์กล่าว
ในอนาคตอันใกล้ เมื่อการใช้เงินจะเป็นเรื่องง่ายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะผู้ถือบัตรเครดิตสามารถใช้บัตรแทนเงินสดได้ในแทบทุกที่ ทั้งตลาดสด, รถแท็กซี่ หรือแม้แต่ร้านของชำ หรือร้านทำผมข้างบ้าน สิ่งที่พึงระวังพอๆ กับความปลอดภัยในการใช้ระบบเหล่านั้น คือความสามารถในการชำระหนี้เมื่อใบแจ้งหนี้มาถึง
เพราะขณะที่ผู้ให้บริการ mPOS และเป็นผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ทั้ง 3 ราย ต่างก็อ้างถึงข้อดีของการเป็นสังคม Cash-less Society ซึ่งจะช่วยลดการพกพาเงินสด และช่วยแบงก์ชาติลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ธนบัตร แต่อีกมุมหนึ่งคือ มีหลายผลสำรวจที่ระบุว่า คนส่วนใหญ่มักฟุ่มเฟือยจากการใช้บัตรเครดิต ได้ง่ายกว่าการใช้เงินสด