วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > อิมเมจินฮับ แผนสร้างแบรนด์ต่อยอดธุรกิจ

อิมเมจินฮับ แผนสร้างแบรนด์ต่อยอดธุรกิจ

 

การจับมือกับ “สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์” เปิดตัวคอมมูนิตี้มอลล์โมเดลใหม่ “ยูนิเวอร์ซิตี้มอลล์” ภายใต้ชื่อ “อิมเมจินวิลเลจ”  ไม่ใช่แค่การตอกย้ำแนวคิด Creative University และเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยสู่โลกภายนอก แต่ เพชร โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพ วางแผนผลักดันแบรนด์ “อิมเมจิน” (IMAGINE) ต่อยอดธุรกิจ โดยตั้งบริษัท อิมเมจิน ฮับ จำกัด ดูแลกิจการร้านกาแฟและเบเกอรี่ “อิมเมจินเลาจน์” (IMAGINE Lounge)  “อิมเมจินคาเฟ่” (IMAGINE Cafe) และล่าสุด คือ ร้านขายสินค้าที่เป็นผลงานของนักศึกษา “อิมเมจินฮับ” (IMAGINE Hub) ประเดิมสาขาแรกในคอมมูนิตี้ใหม่แห่งนี้
 
ในฐานะผู้บริหารสถาบันการศึกษา ไอเดียของเพชร โอสถานุเคราะห์ ล้ำหน้า อย่างที่นพพร วิฑูรชาติ ประธานกรรมการบริหารบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจรับบริหารโครงการ ทั้งๆ ที่มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งติดต่อสยามฟิวเจอร์ฯ เพื่อจ้างบริหารพื้นที่เปิดคอมมูนิตี้มอลล์
 
ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยกรุงเทพถือเป็นวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกที่เปิดสอนในระดับปริญญา เริ่มต้นเมื่อสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ เจ้าของธุรกิจเครือโอสถสภา ก่อตั้งโรงเรียนไทยเทคนิคในซอยบ้านกล้วยใต้ ริมถนนพระราม 4 เมื่อปี 2505 ซึ่งถือเป็นย่านค้าขายของเหล่านายห้างต่างชาติและท่าเรือสินค้าที่คลองเตย โดยขอความร่วมมือทางวิชาการจากมหาวิทยาลัยแฟร์ลีก ดิกคินสัน (Fairleigh Dickinson University) จากสหรัฐอเมริกา ในการรับรองวิทยฐานะของปริญญา
 
สมัยนั้นผู้ศึกษาจบการศึกษาจากวิทยาลัยกรุงเทพจะได้รับปริญญา 2 ใบ จากวิทยาลัยกรุงเทพและมหาวิทยาลัยแฟร์ลีก ดิกคินสัน ด้วย จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2527 และเปิดวิทยาเขตแห่งใหม่ที่รังสิต ซึ่งสุรัตน์ตั้งเป้าสร้างบรรยากาศให้เหมือนมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่ชานเมือง มีสวน ต้นไม้ ทะเลสาบ อาคารที่เป็นเอกลักษณ์ และวางแนวคิดการศึกษาแบบ “Creative University”
 
เพชร โอสถานุเคราะห์ กล่าวว่า “อิมเมจินฮับ” ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ในการนำวิชาการมาปรับใช้ในทางปฏิบัติ โดยให้นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์นำเสนอแนวคิดการออกแบบ ลวดลาย ซึ่งจะมีคณะกรรมการคัดเลือกและปรับแบบ ไม่ว่าจะเป็นคาแรกเตอร์การ์ตูนหรือแบบแอบสแตรค เพื่อให้เข้ากับกระแสสังคม ความนิยม พฤติกรรมของผู้บริโภคเป้าหมาย และผลิตออกมาเป็นชิ้นสินค้า เช่น เสื้อยืด กระเป๋า เคสโน๊ตบุ๊ก เครื่องเขียนต่างๆ เข็มกลัด แก้วกาแฟ แก้วน้ำ กลายเป็นสินค้าที่ผลิตได้จริง ขายได้จริง และทำธุรกิจได้จริง
 
ปัจจุบันสินค้าในร้าน “อิมเมจินฮับ” แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ สินค้าแบรนด์ “อิมเมจิน” ซึ่งเป็นผลงานการนำเสนอของนักศึกษา สินค้าฝากขายจากกลุ่มศิษย์เก่า ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตสินค้าต่างๆ มีแบรนด์ของตัวเอง และสินค้าโลโกมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขั้นเริ่มต้น หรือเป็น “โชว์เคส” ผลงานต่างๆ และหากสินค้ามีจำนวนมากขึ้น  มีความหลากหลาย มีพัฒนาการด้านดีไซน์ เนื่องจากไม่จำกัดเฉพาะแนวคิดจากคณะศิลปกรรมศาสตร์เท่านั้น
 
แผนขั้นต่อไป เมื่อแบรนด์ “อิมเมจิน” เป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยมมากขึ้นและใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ระยะหนึ่ง บริษัท อิมเมจินฮับจะรุกเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยภายในปีนี้เตรียมขยายเข้าสู่ช่องทางอินเทอร์เน็ต ทั้งเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก เนื่องจากเป็นพฤติกรรมหลักของคนรุ่นใหม่ และในอนาคตจะเปิดสาขาไปยังมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์
 
สำหรับสาขาแรกใน “อิมเมจินวิลเลจ”  ซึ่งถือเป็นการทดลองผ่านช่องทางค้าปลีกอย่างจริงจังนั้น แน่นอนว่า กลุ่มลูกค้าหลัก คือ นักศึกษาที่มีกำลังซื้อตั้งแต่ระดับB-B+  มีไลฟ์สไตล์เป็นของตัวเอง มีรสนิยม เพราะสินค้าทุกชิ้นของอิมเมจินเป็นสินค้าดีไซน์ หากคิดเป็นสัดส่วนกลุ่มเป้าหมายมีประมาณ 20% ของนักศึกษาทั้งหมด กลุ่มต่อมาเป็นกลุ่มผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป
 
กลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่มเป็นตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์ที่ตั้งไว้แต่แรก คือ  การเป็นสินค้าดีไซน์และแบรนด์สินค้าแฟชั่นสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเท่าที่เปิดหน้าร้านพร้อมๆ กับโครงการอิมเมจินวิลเลจกว่า 2 เดือน แม้ยอดขายยังไม่สูงมาก แต่มีลูกค้าเข้ามาแวะเวียนต่อวันประมาณ 20 กลุ่ม ส่วนสินค้ายอดนิยมเป็นพวกเสื้อผ้าและกระเป๋า ซึ่งบริษัทพยายามขยายชนิดสินค้าให้เข้ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น
 
“เวลานี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์อิมเมจินและเป็นช่องทางสนับสนุนนักศึกษาในการสร้างธุรกิจ เรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบ การคัดเลือกแบบ การผลิต การวางตลาด การขาย ซึ่งนักศึกษาบางคนเริ่มประกอบธุรกิจออกแบบเสื้อแบรนด์เล็กๆ ขายแล้วก็มี แต่ไม่มีกำลังที่จะเจาะเข้าไปในช่องทางค้าปลีกที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง มหาวิทยาลัยสามารถสนับสนุนและลงทุนให้ทุกอย่าง ตั้งแต่การหาโรงงานผลิต วัตถุดิบ การหาช่องทาง ทีมการตลาด ทีมจัดจำหน่าย และการเปิดหน้าร้าน เพื่อให้เขาเติบโตต่อไปได้และผลักดันแบรนด์อิมเมจินเติบโตด้วย” เพชรกล่าว
 
ภายใต้กลยุทธ์ Umbrella Campaign การผลักดันแบรนด์ “อิมเมจิน” ต่อยอดจากธุรกิจการศึกษาและขยายเครือข่ายแบบครบวงจร ซึ่งเพชรไม่หยุดเพียงแค่ร้าน IMAGINE Hub แต่มองไว้อีกหลายตัว ทั้งหมดถือเป็นยุทธศาสตร์แนวใหม่ที่น่าติดตามอย่างยิ่ง