วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา จากทฤษฎีการบินสู่ธุรกิจแสนล้าน

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา จากทฤษฎีการบินสู่ธุรกิจแสนล้าน

 

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เสี่ยใหญ่แห่งเครือสหพัฒน์ ชื่นชอบการขับเครื่องบินเป็นชีวิตจิตใจ ขับมานานมากกว่า 20 ปี จนทุกวันนี้ แม้อายุทะลุเพดานตัวเลข 75 เสี่ยยังขับเครื่องบินไปดูงาน พานักธุรกิจเยี่ยมชมสวนอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสวนอุตสาหกรรมที่ศรีราชา กบินทร์บุรี ลำพูน แม่สอด รวมถึงการเดินทางไปเยี่ยมคู่ค้าในช่วงวันหยุดยาว สะสมชั่วโมงบินนับหลายพันชั่วโมง
 
ทั้งความชอบ ความหลงใหล และประสบการณ์การขี่นกเหล็กบนเวิ้งฟ้า บุณยสิทธิ์เปรียบเทียบ ทุกนาทีไม่ต่างอะไรจากการทำธุรกิจ เพราะทุกช่วงจังหวะต้องรอบคอบ อาศัยมุมมองหลายมิติ ไม่ใช่แค่ 2 มิติ และที่สำคัญ  “พลาดไม่ได้”
 
“การขับเครื่องบินต้องระมัดระวังที่สุด เมื่อเครื่องบินเมื่อขึ้นสู่ท้องฟ้าจะหยุดเหมือนรถยนต์ไม่ได้ ต้องไปให้ถึงที่หมาย การค้าขายทำธุรกิจก็เหมือนกัน ต้องศึกษาทุกอย่าง เพราะถ้าทำแล้วไม่ดีก็คือพัง ถ้าเราขับเครื่องบิน ต้องเตรียมพร้อม ต้องไปให้ทัน ไปถึงที่หมาย การทำการค้าขายต้องทำให้สำเร็จ ถึงปลายทางให้ได้ ไม่ใช่ครึ่งๆกลางๆ ทำไม่ได้ ก็คือ เจ๊ง นี่คือทฤษฎี” บุณยสิทธิ์กล่าวกับ ผู้จัดการ360 ํ
 
และนั่นต้องถือว่า ทฤษฎีการบินแท้ที่จริงเป็นเคล็ดลับสำคัญข้อหนึ่งนอกเหนือจากคำสอนของพ่อที่ทำให้ทุกย่างก้าวของการสร้างอาณาจักรแสนล้านของเครือสหพัฒน์เดินไปอย่างมั่นคง ขยายบริษัทในเครือมากกว่า 300 บริษัท และฝ่าวิกฤตได้ทุกรอบ
 
บุณยสิทธิ์กล่าวว่าในฐานะนักบินส่วนตัว รักการบิน อยากให้นักธุรกิจมีโอกาสขับขี่เครื่องบินเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เข้าใจทฤษฎีได้อย่างลึกซึ้ง และส่งเสริมวงการบินให้เติบโตมากขึ้น จึงริเริ่มก่อตั้งโรงเรียนการบินศรีราชาในสวนอุตสาหกรรมศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อปี 2547
 
ในปีแรกๆ เป็นเพียงการเปิดสอนกลุ่มเล็กๆ ระดับนักบินส่วนบุคคล หรือ PRIVATE PILOT LICENCE (PPL)  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจระดับเศรษฐี มีฐานะทางการเงิน และต้องการฝึกบินเป็นงานอดิเรก
 
กระทั่งปี 2550 เกิดความคิดว่า โรงเรียนการบินศรีราชามีความพร้อม ทั้งสนามบิน เครื่องบิน อุปกรณ์การบินและครู น่าจะเปิดหลักสูตรการสอนนักบินอาชีพ เพื่อส่งเสริมธุรกิจการบิน  ซึ่งทั่วโลกกำลังเกิดวิกฤตการขาดแคลนนักบิน ดูจากยอดการผลิตเครื่องบินของแอร์บัสและยอดสั่งจองพุ่งพรวดหลายเท่า โดยเฉพาะแถบเอเชีย อย่างสายการบินไลอ้อนแอร์ของอินโดนีเซีย ล่าสุดสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส 200 กว่าลำ โบอิ้ง737 อีก 200 กว่าลำ และในหลายประเทศ รวมทั้งไทยต้องใช้กลยุทธ์ซื้อตัวในอัตราค่าจ้างสูงลิบลิ่ว
 
ขณะเดียวกัน การใช้ประโยชน์จากเครื่องบินอย่างคุ้มค่า ต้องบินตลอดเวลาและหยุดพักเครื่องเฉพาะการซ่อมบำรุงเท่านั้น หรือเฉลี่ยแล้ว เครื่องบิน 1 ลำ ต้องการนักบินมากกว่า 12-16 คน เนื่องจากนักบินต้องหยุดพัก ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกเจอปัญหานักบินจนทำให้การใช้เครื่องบินยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนอย่างแท้จริง
 
ปี 2555 โรงเรียนการบินศรีราชาเริ่มเปิดสอนหลักสูตร COMMERCIAL PILOT (CPL) เป็นใบขับขี่นักบินพาณิชย์ตรี  สามารถทำการบินกับเครื่องโดยสารได้ในระดับหนึ่ง หรือที่เรียกกันว่าเป็น “นักบินที่สอง” โดยสามารถถือใบอนุญาตไปสมัครงานตามสายการบินต่างๆ ได้ทั่วโลก
 
นอกจากนี้ ยังมีบริการรับฝากเครื่องบิน บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน บริการรับซ่อมเครื่องบิน (Repair Station) และบริการชิ้นส่วน โดยได้รับใบอนุญาตเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินขนาดเล็กจากกรมการบินพลเรือน บริการเป็นผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Taxi) ประเภทเช่าเหมาลำพร้อมนักบิน และบริการร่วมสอนโดดร่ม (Sky Diving)
 
ชูโต จิระคุณากร สถาปนิกรุ่นบุกเบิกสวนอุตสาหกรรมศรีราชาและผู้จัดการฝ่ายโครงการโรงเรียนการบินศรีราชากล่าวว่า โรงเรียนการบินศรีราชาวางแผนเปิดหลักสูตรเต็มเวลา 9 เดือน ชั่วโมงบิน 190 ชั่วโมง ปีละ 3 รุ่น เพื่อผลิตนักบินให้ได้ปีละ 40-50 คน แม้อัตราค่าเรียนเฉลี่ยประมาณ 1.8 ล้านบาทต่อหลักสูตร แต่ถือเป็นอัตราไม่สูงมากเมื่อเทียบกับโรงเรียนแห่งอื่น  เนื่องจากมีความพร้อมด้านสนามบินรองรับการฝึก 2 แห่ง ที่ศรีราชา จ.ชลบุรี  กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และกำลังขอฝึกที่สนามบิน จ.ขอนแก่น
 
ที่สำคัญ นักบินที่จบหลักสูตรส่วนใหญ่มีงานทำแน่นอน บางส่วนเป็นนักบินฝึกหัดที่บริษัทสายการบิน เช่น การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส ส่งมาเรียน ซึ่งถือเป็นพนักงานที่มีรายได้ประจำ สามารถผ่อนชำระเงินที่กู้มาเรียนได้ทันที
 
สำหรับตัวเครื่องบินรองรับการฝึกในปัจจุบันมี 12 ลำ และอยู่ระหว่างสั่งเพิ่มอีก 2 ลำ รวมทั้งอุปกรณ์การบิน โดยลำล่าสุดใช้ชื่อ “BSC” ซึ่งเป็นทั้งชื่อธุรกิจในเครือสหพัฒน์และชื่อรุ่น Bravo Sierra Charlie
 
ส่วนลำประจำตัวของบุณยสิทธิ์เป็นเครื่องบินใบพัด เครื่องยนต์เดียว CESSNA172RG  เป็นลำที่ 2 ของชีวิต ซึ่งเสี่ยใช้ขับบินประจำในช่วงวันหยุดยาว โดยเฉพาะช่วงนี้ถ้ามีเวลาจะบินไปดูสวนอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่อำเภอแม่สอด จ.ตาก และเยี่ยมคู่ค้าแถบอีสาน จ.ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี บินต่อเที่ยวประมาณ 3-3 ชั่วโมงครึ่ง
 
ทิ้งท้ายคำถามกับเสี่ยบุณยสิทธิ์ว่า ขับเครื่องบินในยุครัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจรอบด้าน รู้สึกอย่างไร
 
เสี่ยบุณยสิทธิ์ตอบชวนให้คิดวิตกว่า ประเทศไทยกำลังเจอมรสุมและตกหลุมอากาศ  แต่น่าจะผ่านจนลงจอดได้ ส่วนจะลงแบบตายยกลำ เหลือครึ่งลำหรือรอดหมดแบบปาฏิหาริย์  ใช้เวลาอีกไม่นานคงได้รู้กัน