วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
Home > Cover Story > THAIFEX โอกาสที่ท้าทาย อุตสาหกรรมอาหารไทย

THAIFEX โอกาสที่ท้าทาย อุตสาหกรรมอาหารไทย

 

ขณะที่ผู้ประกอบการด้านอาหารของไทยกำลังรุกไปเปิดตลาดส่งออกในต่างประเทศ สังคมไทยวางหลักประกันว่าด้วย “ความมั่นคงทางอาหาร” หรือ Food Security ไว้อย่างไร

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แวดวงอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทย ดูจะมีความเคลื่อนไหวและคึกคักมากเป็นพิเศษในด้านหนึ่งเพราะผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายต่างเร่งระดมประกาศแผนกลยุทธ์และวางยุทธศาสตร์สำหรับการขยายตัวในอนาคตอย่างต่อเนื่องจริงจัง
 
ขณะเดียวกัน กิจกรรมงานแสดงสินค้าภายใต้ชื่อ “THAIFEX – World of food ASIA 2013” ซึ่งเป็นประหนึ่งการรวบรวมผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มหลากหลายมาไว้ด้วยกันในงานเดียว ถือเป็น show case ที่สื่อแสดงศักยภาพและการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างดีทีเดียว
 
ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารไทยมีพัฒนาการก้าวหน้าไปอย่างมาก นับตั้งแต่ที่รัฐไทยวางนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” (Kitchen of the World) มาตั้งช่วงทศวรรษที่แล้ว แม้ว่าผู้ประกอบการหลายรายจะตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความต่อเนื่องและความชัดเจนในแนวนโยบาย รวมถึงมาตรการที่จะส่งเสริมอย่างจริงจังอยู่บ้างก็ตาม
 
ความก้าวหน้าของผู้ประกอบการไทยในการรุกเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของกลไกตลาดโลก หรือแม้กระทั่งการสร้างให้เกิดตราสินค้าไทย (brand) ในระดับสากล เป็นกรณีที่หลายฝ่ายให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งดูเหมือนว่าผู้ประกอบการไทยจำนวนไม่น้อยได้ “ก้าวข้ามและปักหมุด” ขยายอาณาจักรธุรกิจอาหารไทยไปสู่ต่างประเทศแล้ว
 
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ในกรณีนี้ สามารถไล่เรียงมาตั้งแต่กรณีของเบทาโกร ผู้ประกอบการด้านอาหารอีกรายของไทยที่รุกเข้าไปทำตลาดเนื้อหมูแช่เย็น (Chilled Pork) ตรา S-Pure ในตลาดฮ่องกงตั้งแต่เมื่อปี 2552 โดยมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าตลาดบน (High-end) เน้นสินค้าพรีเมียม ควบคู่กับการขยายตลาดสินค้าอาหารแปรรูปคุณภาพ ตรา Better Food ในเวลาต่อมา
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจมากก็คือ ฮ่องกงเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1 ใน 3 ของโลกที่นำเข้า หมู ไก่ ไข่ เพราะไม่มีแหล่งผลิตเป็นของตัวเอง และเป็นตลาดที่ยังมีความต้องการในการบริโภคอย่างกว้างขวาง แต่ในปัจจุบัน เบทาโกร ส่งสินค้าอาหารประเภทแช่เย็นนี้ ไปจำหน่ายในฮ่องกงปีละประมาณ 240 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับตลาดรวมสินค้าแช่เย็นในประเภทเดียวกันที่ฮ่องกงนำเข้าจากประเทศอื่น
 
กระนั้นก็ดี หากพิจารณาในมิติของการเติบโตกลับพบว่า เบทาโกร มียอดจำหน่ายอยู่ในระดับที่น่าพอใจโดยระยะเวลาจากปี 2552 ที่เข้าไปทำตลาดถึงปี 2555 ที่ผ่านมา สินค้าจาก เบทาโกร มีอัตราการขยายตัวในตลาดฮ่องกงสูงถึง 570% เลยทีเดียว
 
วสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกรระบุว่า เบทาโกร ตั้งเป้ายอดขายในตลาดฮ่องกงเพิ่มขึ้น 55% จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเนื้อไก่ S-Pure ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวฮ่องกง ที่พร้อมจะจ่ายให้กับสินค้าอาหารแช่เย็น (Chilled Food) มากกว่าการบริโภคสินค้าแช่แข็ง (Frozen Food) ที่ราคาถูกกว่า เพราะได้รับการประเมินว่ามีคุณภาพต่ำกว่า
 
“การเข้ามาเปิดตลาดและพัฒนาแบรนด์สินค้าในฮ่องกงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะตลาดสินค้าโปรตีนเนื้อสัตว์ เนื่องจากเป็นตลาดที่เปิดกว้าง มีการแข่งขันสูงจากผู้ผลิตหลักจากทั่วโลก การหากลยุทธ์ทางการตลาดใหม่ๆ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แบรนด์สามารถยืนหยัดอยู่ในตลาดและประสบความสำเร็จได้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของเบทาโกรในการต่อยอดขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น”
 
แต่การขยายธุรกิจไทยไปต่างประเทศไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง เพราะประเทศอื่นๆ ก็ประเมินว่าอุตสาหกรรมอาหารกำลังเป็นโอกาสในการสร้างเสริมรายได้ อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าวัฒนธรรมที่แทรกตัวเข้าสู่การรับรู้ของตลาดได้อย่างง่ายดายด้วย
 
กรณีเช่นว่านี้จึงไม่แปลกที่หน่วยราชการหรือองค์กรที่มีส่วนรับผิดชอบในการส่งเสริมสินค้าของหลายประเทศจะใช้โอกาสในงาน THAIFEX
 
แม้จะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ แต่ชิลีเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ดำเนินความพยายามที่จะขยายช่องทางและตลาดสินค้าเข้ามาสู่ประเทศไทย และหากกล่าวไปไกลกว่านั้น ก็คือความพยายามที่จะเข้าสู่ตลาด AEC ในอนาคตด้วย
 
ไฮเม่ ริเวร่า (Jaime Rivera) ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการการค้าชิลี ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมส่งเสริมการส่งออกชิลี สถานทูตชิลี ระบุว่า ชิลี มีนโยบายส่งเสริมการส่งออกสินค้าของประเทศชิลีในประเทศไทย และได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษที่ชื่อโปรชิลี (ProChile) หรือคณะกรรมาธิการการค้าชิลี ในประเทศไทยซึ่งมีความรับผิดชอบในการขยายและนำนโยบายทางการค้าของชิลีมาปฏิบัติในภูมิภาคอาเซียน
 
บทบาทของ โปรชิลี (ProChile) หรือคณะกรรมาธิการการค้าชิลี ในงาน THAIFEX อยู่ที่การนำ BDP Chilean Food หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประหนึ่งสหกรณ์ และเป็นตัวแทนส่งออกสินค้าของประเทศชิลีอย่างครบวงจร มาร่วมจัดแสดงสินค้าที่สั่งตรงมาจากประเทศชิลี ทั้ง ไวน์, น้ำแร่, น้ำมันมะกอก, อาหารทะเล, ผัก-ผลไม้และแปรรูป, นม และเนื้อสัตว์ ในงาน THAIFEX นี้ด้วย
 
“ชิลี ให้ความสำคัญกับประเทศไทย จึงย้ายที่ทำการสำนักงานใหญ่ของ BDP ในอาเซียนมาไว้ที่กรุงเทพฯโดยปัจจุบันอาเซียนและชิลีมีมูลค่าการค้าระหว่างกันประมาณ 3,000 ล้านบาท และไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของชิลีเพราะมีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 1 ใน 3 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดในอาเซียน”
 
ทั้งนี้ สินค้าจากชิลี ซึ่งเป็นที่สนใจของผู้ประกอบการธุรกิจไทย ประกอบด้วย ปลาแซลมอน ปลาเทราท์ และหอยแมลงภู่ โดยล่าสุดห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่ของไทย ทั้งบิ๊กซี และแมคโครก็กำลังให้ความสนใจและมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าในกลุ่มนี้อีกด้วย
 
ประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาอย่างมากจากตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็คือ ในขณะที่ผู้ประกอบการด้านอาหารของไทยกำลังรุกไปเปิดตลาดส่งออกในต่างประเทศ และมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศพยายามขยายตลาดนำเข้ามาเพิ่มขึ้นนี้ หลักประกันว่าด้วย “ความมั่นคงทางอาหาร” หรือ Food Security ในสังคมไทยจะมีรูปร่างหน้าตา หรือทิศทางในการพัฒนาอย่างไร
 
หรือถึงที่สุดแล้ว สังคมไทยมุ่งหมายที่จะเป็น “ครัวของโลก” โดยละเลยที่จะเป็นครัวของคนในชาติก่อน และทำให้สินค้าอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานถูกผลักให้ต้องมีราคาสูงขึ้น เช่นที่ปรากฏอยู่ด้วยมาตรฐานราคาไข่ไก่ในปัจจุบัน