วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > ขมิ้นชัน … ขึ้นชั้นยาที่โลกยอมรับ

ขมิ้นชัน … ขึ้นชั้นยาที่โลกยอมรับ

 
Column: Well – Being
 
ขมิ้นชันสีเหลืองทองที่เรารู้จักกันดีว่า เป็นเครื่องเทศที่เป็นส่วนประกอบหลักของเครื่องแกงแสนอร่อยนั้น เพิ่งเป็นที่รับรู้กันเมื่อไม่นานมานี้ว่า มีสรรพคุณทางยาที่เป็นประโยชน์อย่างเอกอุและน่ามหัศจรรย์ต่อสุขภาพของเรา
 
นิตยสาร GoodHealth แจกแจงรายละเอียดของสรรพคุณทางยาของขมิ้นชันที่เราอาจยังไม่รู้ในหลายแง่มุม รวมทั้งวิธีบริโภคเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
 
ต่อสู้กับโรคซึมเศร้า
ขมิ้นชันมีเคอร์คูมินซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และเป็นสารที่ทำให้เครื่องเทศชนิดนี้มีสีเหลืองทองสดใส เมื่อให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้รับเคอร์คูมิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลาสองเดือน จะช่วยให้พวกเขามีอารมณ์ที่ดีขึ้นมาก เพราะเคอร์คูมินช่วยลดกระบวนการอักเสบที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาไปสู่โรคซึมเศร้า
 
ต่อต้านผลเสียจากอาหารไขมันสูง
เมื่อเติมขมิ้นชันลงในอาหารหรือมื้ออาหารที่มีไขมันสูง ร่างกายจะตอบสนองต่อไตรกลีเซอไรด์ลดลงราวร้อยละ 30 ซึ่งถือว่าสำคัญมาก เพราะการที่ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นชั่วคราวหลังบริโภคอาหารไขมันสูง จะทำให้คุณค่อยๆ เพิ่มความเสี่ยงจากโรคหัวใจ จึงแนะนำให้ทำทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ ในการลดความรุนแรงของการเพิ่มไขมันไตรกลีเซอไรด์ในแต่ละครั้งที่บริโภคอาหารไขมันสูง
 
เสริมความจำ
บริโภคขมิ้นชันเพียงหนึ่งกรัม สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำหน้าที่ของกลไกด้านความจำที่เกี่ยวกับการทำงานได้ในทันทีหลังจากนั้น เพราะ “ความจำเกี่ยวกับการทำงาน” เป็นกลไกหนึ่งที่คุณใช้เพื่อเก็บและจัดการกับข้อมูลในสมองในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งหมายถึงคุณอาจพบว่า สามารถจัดการกับรายการของที่ต้องซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ตได้ง่ายขึ้น หรือนึกหมายเลขโทรศัพท์และวิธีใช้ต่างๆ ได้ดีขึ้น
 
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะเคอร์คูมินสามารถลดความอ่อนล้าของสมองได้ ด้วยการรักษาระดับพลังงานเอาไว้
 
อวัยวะในช่องท้องทำงานดีขึ้น
บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากขมิ้นชันเป็นเวลาสองเดือน สามารถลดอาการลำไส้แปรปรวนหรือไอบีเอส ซึ่งรวมถึงอาการท้องอืด ปวดท้อง และท้องผูก ได้มากราวร้อยละ 60
 
ที่เป็นดังนี้เพราะปัจจัยผสมผสานกันที่รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ขมิ้นชันทำให้ระบบการย่อยอาหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งเพราะขมิ้นชันส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย
 
ลดโคเลสเตอรอล
ขมิ้นชันมีสรรพคุณนี้เพราะสารเคอร์คูมินนั่นเอง เมื่อให้คนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการหัวใจวายได้รับเคอร์คูมินทุกวัน วันละ 45 มิลลิกรัมนานสองเดือน ปรากฏว่าโคเลสเตอรอลรวมและไขมันเลวหรือแอลดีแอลลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ไขมันดีหรือเอชดีแอลกลับเพิ่มสูงขึ้น
 
เหตุผลที่อธิบายได้อย่างหนึ่งคือ เคอร์คูมินอาจป้องกันไม่ให้แอลดีแอลทำปฏิกิริยาทางเคมีโดยรวมตัวกับออกซิเจน ซึ่งหากเกิดภาวะดังกล่าวนี้ จะส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งขาดความยืดหยุ่น
 
ป้องกันโรคเบาหวาน
การบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของขมิ้นชัน ช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินของร่างกายในช่วงหลังอาหารได้มากถึงร้อยละ 20 ซึ่งเท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงจากโรคเบาหวานนั่นเอง นอกจากนี้ สารเคอร์คูมินยังค่อยๆ ลดระดับน้ำตาลในเลือด และความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งทั้งสองปัจจัยมีบทบาทสำคัญต่อการป้องกันโรคเบาหวาน
 
บรรเทาการปวดข้อและเส้นเอ็น
การบริโภคเคอร์คูมินวันละ 200 มิลลิกรัมไม่เพียงสัมพันธ์กับการลดอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับโรคข้ออักเสบได้ถึงร้อยละ 60 แต่ยังช่วยเยียวยาอาการเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบด้วย เพราะเคอร์คูมินมีคุณสมบัติในการยับยั้งกลไกทางชีววิทยาที่กระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบ ที่เป็นสาเหตุของความปวดที่เกี่ยวข้องกับเส้นเอ็น
 
เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
การบริโภคขมิ้นชันช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มระดับโปรตีนที่เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับแบคทีเรียและไวรัส สารเคอร์คูมินยังเข้าไปปรับการทำงานของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันสำคัญๆ เช่น ทีเซลล์ และเอ็นเคเซลล์ (เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในร่างกายที่มีความสามารถในการฆ่าหรือทำลายสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เข้ามาในร่างกายได้ดี เช่น ไวรัส แบคทีเดีย โปรโตซัว หรือมะเร็งชนิดต่าง ๆ)
 
เลือกใช้ให้ถูกประเภท
– ขมิ้นชันสดมีสารเคอร์คูมินมากกว่า ขมิ้นชันสดหนึ่งช้อนชา (5 กรัม) มีสารเคอร์คูมินประมาณ 330 มิลลิกรัม ขณะที่แบบแห้งในปริมาณเท่ากันมีประมาณ 155 มิลลิกรัม
 
– บริโภคขมิ้นชันแบบแห้งเพียงหนึ่งในสี่ช้อนชาทุกวัน ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลได้ แต่ถ้าต้องการให้ได้ผลด้านอื่นๆ เช่น ทำให้อารมณ์ดีขึ้น ต้องเพิ่มปริมาณราวสองช้อนชาต่อวัน
 
– การบริโภคในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสะดวกกว่า เพราะในแต่ละแคปซูลมีสารเคอร์คูมินปริมาณสูง และอาจมีส่วนประกอบของสารอื่นๆ เพื่อช่วยการดูดซึมด้วย
 
– เมื่อบริโภคอาหารที่ปรุงด้วยขมิ้นชันแล้ว ให้ดื่มน้ำสับปะรดตามไปด้วยหนึ่งแก้ว เพราะน้ำสับปะรดเป็นแหล่งของบรอมีเลน ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยให้ดูดซึมสารเคอร์คูมินได้ดีขึ้น