Social Enterprise หรือ “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ยังเป็นความพยายามของหลายฝ่าย เพื่อปฏิวัติแนวคิดใหม่ในการประกอบธุรกิจ ไม่ใช่ “ต้นทุน” บวก “กำไร” แต่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในและนอกกระบวนการดำเนินธุรกิจ หรือ Corporate Social Responsibility–CSR In and Out Process
ต้องถือว่าปี 2558 ประเทศไทยเกิดแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธาน ได้พิจารณารายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
เวลานั้น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. คนที่ 1 นำเสนอหลักการและเหตุผลตอนหนึ่งว่า กรอบแนวคิดของวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นแนวทางส่งเสริมการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างเกื้อกูลกัน ภายใต้รูปแบบองค์กรทางสังคม โดย “วิสาหกิจเพื่อสังคม” จะเป็นองค์กรที่ใช้วิธีบริหารกิจการเช่นเดียวกับบริษัทเอกชน แต่เป้าหมายสำคัญของการประกอบธุรกิจ คือ การนำกำไรที่ได้จากการดำเนินการกลับคืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่างเช่น วิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศอังกฤษแห่งหนึ่ง รับบุคคลที่พ้นโทษเข้าเป็นพนักงานในบริษัท หรือรับบุคคลที่ทุพพลภาพเข้าทำงานในกิจการ แทนที่จะปล่อยให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวรอรับผลประโยชน์ หรือการสงเคราะห์จากสังคมเพียงอย่างเดียว
หรือถ้าจะสรุปแก่นสำคัญของ Social Enterprise คือ มีเป้าหมายเพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อกำไรสูงสุด เป็นรูปแบบธุรกิจที่รายได้หลักมาจากการขายสินค้าและบริการ ไม่ใช่เงินจากรัฐหรือเงินบริจาค กำไรต้องนำไปใช้ขยายผล ไม่ใช่ปันผลเพื่อประโยชน์ส่วนตัว บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และจดทะเบียนเป็นรูปแบบบริษัท
บวรศักดิ์ยังย้ำว่า การส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีคุณภาพ จะต้องผลักดันนโยบาย และมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ เช่น ส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคมในทุกระดับชั้น รัฐต้องสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในระยะเริ่มต้น เปิดโอกาสให้จดทะเบียนรับรองสถานะเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างระบบการจดทะเบียนพาณิชย์ สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ได้มุ่งแสวงผลกำไรมาแบ่งปันกัน ต้องมีระบบกองทุนสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างระบบยกเว้น หรือลดภาษีสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม และสร้างกลไกในทุกระดับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ท้ายที่สุด ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับรายงานการศึกษาวิจัย เรื่อง วิสาหกิจเพื่อสังคม พร้อมให้คณะกรรมาธิการฯปรับปรุงตามข้อเสนอ สปช. ในบางประเด็น เพื่อนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติรับร่าง พ.ร.บ. และรอการประกาศใช้ราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ต่อไป
ขณะเดียวกัน มีการจัดตั้งสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) เพื่อรองรับกระบวนการต่างๆ ซึ่งปรากฏว่า มีกลุ่มบุคคลและบริษัทเอกชนยื่นเรื่องเสนอขอจัดตั้งบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมจำนวนมาก
ภาคธุรกิจหลายส่วนเริ่มตระหนักถึงการทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะบริษัทรายใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่ง ตลท. ได้ยกระดับการส่งเสริมเรื่องธรรมาภิบาล เพิ่มคำว่า “สังคมและสิ่งแวดล้อม” และจัดให้มีรางวัลด้านความยั่งยืนอีกหนึ่งประเภท คือ รางวัลการลงทุนในกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise Investment Awards) มอบให้บริษัทจดทะเบียนที่สนับสนุนกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างโดดเด่น สนับสนุน Social Enterprise ซึ่งตอบโจทย์การแก้ปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นตัวอย่างกิจกรรมที่ไม่ใช่แค่ CSR ผิวเผิน
แต่ดูเหมือนว่า การผลักดันด้านกฎหมายต้องหยุดชะงักตามการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังจาก สปช. มีมติไม่เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้สภาถูกยุบทันทีตามมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2558
ส่วน สกส. ถูกปิดตัวชั่วคราวตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เพราะสิ้นสุดปีงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และต้องรอจนกว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมประกาศใช้ เพื่อจัดตั้งสำนักงานใหม่อีกครั้ง ทำให้กิจการที่ยื่นขอการรับรองเพื่อเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมค้างเติ่งจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม หลังจาก สปช. กลายเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีการปัดฝุ่นหยิบยกเรื่องวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ สปท. ได้จัดทำข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสังคม เสนอให้รัฐบาลพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสังคม และเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้สามารถประกาศใช้ภายในปี 2559
ทั้งนี้ สปท. กำหนดแนวทางสำคัญ คือ การพัฒนาตลาดการลงทุนทางสังคม เพื่อสร้างต้นแบบและระบบส่งเสริมกิจการการเงินร่วมทุนทางสังคม สร้างนวัตกรรมทางการเงินของกองทุนสาธารณะเพื่อสังคม เช่น การออกพันธบัตรเพื่อสังคม ที่ระดมทุนจากประชาชนมาใช้ในการแก้ไขปัญหาสังคมหรือบริการสาธารณะของรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าเกิดผลสำเร็จให้รัฐจ่ายเงินต้นจากการระดมทุนคืนประชาชนพร้อมค่าตอบแทนเพิ่มเติมตามผลงาน
รวมทั้งปฏิรูประบบสหกรณ์และขยายขอบเขตมากกว่าเรื่องเกษตรกรรม เนื่องจากระบบสหกรณ์ถือเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมรุ่นแรกของประเทศไทย แต่ทั้งหมดต้องรอกระบวนการทางกฎหมายจาก สปท. เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
แน่นอนว่า ระยะเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประกาศเป้าหมายการปฏิรูปประเทศและคืนความสุขให้ประชาชน ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม กลไกที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนทั่วทั้งประเทศ คือ อีกหนึ่งแผนงานที่ต้องเร่งทำและแจ้งเกิดให้ได้