วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > โสตศึกษาบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่

โสตศึกษาบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ ส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่

 
 
ในห้วงยามที่ประเทศไทยยังคงถูกปกคลุมไปด้วยม่านหมอกแห่งความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจกับการสูญเสียครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ที่ไม่ใช่เพียงประชาชนคนไทยเท่านั้น หากแต่เป็นโลกที่สูญเสียพระมหากษัตริย์นักพัฒนาอีกด้วย
 
ขณะที่น้ำตายังไม่แห้งเหือดและเอ่อล้นรื้นรินดวงตาอยู่ทุกครั้งเมื่อปรากฏภาพพระราชกรณียกิจในสารคดีเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงตรากตรำทำงานแก้ปัญหาทุกข์เพื่อสุขของประชาชนมิเว้นวาย
 
ปัญหาส่วนใหญ่ของเกษตรกรไทยที่ดูจะเป็นปัญหาสะสมมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตร ปัญหาการใช้ที่ดินอย่างที่ไม่สามารถสร้างประโยชน์ได้สูงสุด 
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทาน “ทฤษฎีใหม่” เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหา โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์เข้ากับการทำการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เกษตรกรส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินเฉลี่ยประมาณครอบครัวละ 10-15 ไร่ จึงทรงคิดคำนวณจำแนกการใช้พื้นที่ดินเพื่อการดำเนินชีวิต โดยมีเป้าหมายหลักคือ ทำอย่างไรให้มีข้าวปลาอาหารเพียงพอตลอดปีจากผืนดิน เพื่อที่จะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปกับค่าอาหารและของกินของใช้ต่างๆ และมีรายได้เพียงพอสำหรับจับจ่ายใช้สอยสิ่งจำเป็น นอกจากนั้นยังมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เมื่อมีความมั่นคงในชีวิต ก็ดำเนินชีวิตด้วยความรัก ความสามัคคีเอื้ออาทรกัน 
 
จากนั้นทรงมีพระราชดำริให้ทดลอง “ทฤษฎีใหม่” ขึ้นครั้งแรกที่วัดมงคลชัยพัฒนา เมื่อปี พ.ศ.2532 โดยพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อซื้อที่ดินจำนวน 15 ไร่ ใกล้วัดมงคลชัยพัฒนา ทดลองทำทฤษฎีใหม่ จากนั้นขยายโครงการไปยังที่อื่นๆ อีก
 
อย่างไรก็ตาม หลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่ คือการแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 คือ ขุดสระหรือบ่อเพื่อกักเก็บน้ำสำหรับทำการเกษตร 30% ของพื้นที่ ส่วนที่สองคือ การปลูกข้าว 30% ของพื้นที่ เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย ส่วนที่สาม คือการแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกไม้ผล พืชผัก 30% ทั้งสำหรับคนในครอบครัวและแบ่งขายเพื่อเสริมสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง และส่วนที่สี่ เป็นพื้นที่สำหรับสิ่งปลูกสร้าง ทั้งในเรื่องของที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์หรือยุ้งฉาง 10% ทั้งนี้สัดส่วนสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง
 
จะเห็นได้ว่าเกษตรทฤษฎีใหม่นั้น มีเกษตรกรจำนวนมากนำมาปรับใช้บนพื้นที่ดินทำกินของตนเอง และยังเจือจานเผื่อแผ่ความรู้อีกทั้งประสบการณ์ เพื่อบอกเล่าและยืนยันว่าการทำเกษตรทฤษฎีใหม่และอยู่แบบพอเพียงนั้น เป็นไปได้จริง 
 
เช่นที่ โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดเพชรบูรณ์ นำมาปรับใช้ เพราะนอกจากจะเป็นการน้อมนำพระราชดำริการทำเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้บนพื้นที่ของโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ที่กำลังจะเติบโตขึ้นในวันข้างหน้า เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างพออยู่พอกินได้
 
โรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นโรงเรียนจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และบกพร่องทางสติปัญญา นอกจากการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านทักษะวิชาการแล้ว ยังมีการเสริมสร้างทักษะการดำรงชีพและทักษะอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ ไม่เป็นภาระต่อสังคมและประเทศชาติ
 
ทั้งนี้พื้นที่ของโรงเรียนโสตศึกษาถูกจัดสรรปันส่วนอย่างเหมาะสม และนำเอาหลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่มาใช้ได้อย่างน่าสนใจ โดยการแบ่งพื้นที่ทำแปลงผักเกษตรปลอดสารเคมี แปลงข้าวนาโยน บ่อเลี้ยงปลา และโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่แบบปล่อยลาน 
 
การเลี้ยงไก่แบบปล่อยลานหรือ Free-Range egg นั้น เป็นระบบการจัดการเลี้ยงไก่ที่ปล่อยให้ไก่ได้ออกมานอกโรงเรือน ซึ่งข้อดีคือ ไม่ทำให้ไก่เครียด เพราะสามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้ และยังได้รับวิตามิน แร่ธาติ สารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งทำให้ไก่แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค ได้รับอาหารธรรมชาติที่มีคุณค่าทางอาหารสูง 
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักเรียนของโรงเรียนโสตศึกษาจะมีความบกพร่องทางร่างกายบางประการ แต่ก็สามารถที่จะเรียนรู้การทำเกษตรแบบต่างๆ ได้ดี “เด็กๆ ที่นี่แม้ว่าจะอ่อนเรื่องของวิชาการ แต่เราก็เสริมทักษะทางวิชาชีพอื่นๆ ให้ เพื่อนำไปใช้ประกอบเป็นอาชีพในอนาคต” อาจารย์โรงเรียนโสตศึกษาอธิบาย เพราะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบแปลงผักและไก่ คือเด็กนักเรียนที่ต้องการเรียนรู้วิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ 
 
ผลิตผลที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่การเกษตรนั้นถูกจำหน่ายให้กับโรงอาหารของโรงเรียนเพื่อนำมาใช้ปรุงอาหารให้เด็กนักเรียน ครูอาจารย์ และเจ้าหน้าที่รับประทาน และหากเป็นช่วงปิดภาคเรียน ผลผลิตจะถูกจำหน่ายให้กับบุคคลภายนอก  สำหรับรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่อยู่ภายในบริเวณโรงเรียนนั้น จะนำกลับมาเป็นทุนดำเนินการส่วนหนึ่ง และแบ่งสรรปันส่วนให้แก่นักเรียนที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่เกษตรภายในโรงเรียน
 
นับว่าโรงเรียนโสตศึกษาที่นอกจากจะเสริมสร้างความรู้ทางวิชาการให้แก่นักเรียนได้แล้ว ยังสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ให้แก่นักเรียนได้อีก นับเป็นการแก้ปัญหาเรื่องจุดด้อยของนักเรียนได้เป็นอย่างดี เพราะความรู้ที่นักเรียนได้รับจากโรงเรียนสามารถส่งต่อไปยังคนในครอบครัวได้อีกด้วย เกษตรทฤษฎีใหม่นับเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญของเกษตรกรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานไว้นั้น หากนำมาปฏิบัติด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริงแล้ว จะเป็นสิ่งที่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและสร้างความพออยู่พอกินให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี 
 
แม้ว่าเวลานี้ประเทศไทย ประชาชนคนไทยจะสูญเสียกษัตริย์นักพัฒนา แต่หากน้อมนำพระราชดำริของพระองค์มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขแล้ว จะคล้ายกับว่าพระองค์ไม่ได้จากไปไหน แต่ทรงสถิตอยู่ในใจปวงชนชาวไทยทุกคน