ทั้งกระแสธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start Up) และธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ที่ขยายตัวหลายเท่า โดยคาดการณ์ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2559 จะมีเงินสะพัดมากกว่า 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นผลพวงจากตลาดสมาร์ทโฟนและราคาแพ็กเกจบริการ 4จี ที่ถูกลง กระตุ้นให้ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือพุ่งพรวดแบบก้าวกระโดด ดึงดูดทุกธุรกิจ ทั้งค่ายยักษ์ใหญ่และกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาช่วงชิงเม็ดเงินมูลค่ามหาศาล
มีข้อมูลล่าสุดจากบริษัท โธธ โซเชียล จำกัด (Thoth Zocial) พบว่า จากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 38 ล้านคน หรือ 55.84% ของประชากร และยอดผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยพุ่งไปถึง 41 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17% จากทั้งโลก 1,590 ล้านคน ไทยเป็นอันดับ 8
สำหรับโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้ในไทยเพิ่มสูงสุด คือ อินสตราแกรม เพิ่มขึ้น 74% จากปีก่อน คาดปีนี้จะมีผู้ใช้ IG มากกว่า 7.8 ล้านคน โดยมีถึง 1 ล้านคนที่ใช้งานทุกวัน ขณะที่ “ทวิตเตอร์” มีผู้ใช้ในไทยเพิ่มขึ้น 18% รวมมีผู้ใช้งาน 5.3 ล้านคน และมี 1.2 ล้านคน ที่ใช้งานประจำ
ส่วนแอพพลิเคชั่น “Line” ปรากฏว่าไทยมียอดผู้ใช้มากสุดติดเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือประมาณ 15 ล้านคน และ 70% ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในประเทศไทยมีการเชื่อมต่อกับเพจที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีสถิติส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊กไปยังเพจธุรกิจสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ใช้งานทั่วโลกถึง 2 เท่า
ตัวเลขและอัตราเติบโตกระตุ้นให้ธุรกิจยุคใหม่เร่งรุกสนามอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการซื้อขายบนสมาร์ทโฟน หรือ M-Commerce ซึ่งกลายเป็นบลูโอเชียนไร้ขอบเขต ทั้งหน้าร้านออนไลน์ เว็บไซต์สู่แอพพลิเคชั่น รองรับทุกระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คบนมือถือและสามารถเป็น “ฮับ” รวมธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างขนาดธุรกิจต่อสู้กับค่ายยักษ์ใหญ่ด้วย
จุลเกียรติ สินชัยชูเกียรติ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บารามีซี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทร่วมกับจุฑาศรี คูวินิชกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง “แกร๊บแท็กซี่ (GrabTaxi)” และปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ผู้ก่อตั้ง Stock2morrow ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาทพัฒนาเว็บไซต์ Wazzadu.com (วัซซาดุดอทคอม) สร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่จะดึงผู้ประกอบการธุรกิจด้านวัสดุและตกแต่งบ้านทุกร้านทั่วประเทศมารวมอยู่ที่เดียวกัน ต่อยอดจาก Wassadu app ที่สามารถสร้างยอดดาวน์โหลดกว่า 50,000 ครั้ง และแฟนเพจ Wazzadu ที่มีผู้กดไลค์กว่า 270,000 คน
แผนการต่อยอดสู่เว็บไซต์ Wazzadu.com ไม่ใช่แค่การขยายเป้าหมายจากกลุ่มสถาปนิกเป็นตลาดกลุ่มลูกค้าทั่วไป ทั้งสถาปนิก ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลาง ผู้รับเหมา นักออกแบบ และลูกค้าทั่วไป เพื่อเป็นเดคอเรทีฟ โซเชียล แพลตฟอร์มในการค้นหาไอเดีย ทำการตลาด และซื้อขายด้านวัสดุและตกแต่ง โดยรวบรวมสินค้าและบริการข้อมูลผู้ขาย ไอเดียการตกแต่ง รวมทั้งให้คำปรึกษา บริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในโลกดิจิตอลได้มากที่สุดครั้งแรกในประเทศไทย
แน่นอนว่าตลาดใหญ่ขึ้น ช่องทางขายมากขึ้นและรายได้สูงขึ้น โดยบริษัทคาดการณ์ว่า การเปิดให้บริการเว็บไซต์ Wazzadu.com ในปีแรกจะมียอดผู้เข้ามาใช้บริการประมาณ 300,000 ราย และมีผู้ประกอบการร้านค้าเข้าร่วมในเว็บไซต์มากกว่า 10,000 ร้านค้า มีสินค้านำเสนอรวมกว่า 100,000 รายการ โดยตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีนับจากนี้ เว็บไซต์ Wazzadu.com จะขยายบริการสู่ประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม ลาว เมียนมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ขายและผู้ซื้อในกลุ่มประเทศเหล่านี้เข้ามาใช้บริการได้
จุลเกียรติย้ำว่า ข้อพิเศษของ Wazzadu.com อยู่ที่การขยายช่องทางให้บรรดาผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าวัสดุและตกแต่ง ซึ่งมีจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก โดยมีบริการที่เรียกว่า Wazzadu Architect Approach คือจัดเตรียมทีมผู้เชี่ยวชาญวางแผนให้คำปรึกษาแนะนำด้านการตลาดและการซื้อขาย ในกลุ่มตลาดงานโครงการที่ต้องการเข้าถึงสถาปนิก ซึ่งจะช่วยการขายสินค้าง่ายขึ้น มีโอกาสได้งานโครงการ และมีบริการรีวิวโปรโมตสินค้า เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งหมดเป็นช่องว่างทางการตลาด เนื่องจากกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กขาดเงินทุนในการขยายช่องทาง โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ยังซบเซาและมีศักยภาพการเจาะตลาดน้อยกว่ากลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งหันมารุกตลาดออนไลน์และโซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น
ขณะเดียวกันหากย้อนที่มาของ “บารามีซี่ กรุ๊ป” ซึ่งในวงการรับรู้เรื่องประสบการณ์ในฐานะที่ปรึกษาด้านการพัฒนาแบรนด์และการออกแบบ เคยเป็นที่ปรึกษาให้กับแบรนด์ KFC, KT Optic, Jaymart, บาร์บีคิวพลาซ่า, ข้าวมาบุญครอง, MBK Group, ห้าง The nine, Alumet และ TCDC (Thailand Creative and Design Center รวมถึงการวิจัย Attitude trend ของผู้บริโภคในประเทศไทย Logo design trend, Retail design trend และการวิจัยเพื่อพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อีกหลายโครงการ
Wazzadu.com เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการใช้โอกาสและช่องว่างทางการตลาดเพื่อสร้างแพลตฟอร์มให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กทำการตลาดเจาะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนมากขึ้น กลายเป็น “ห้างสรรพสินค้าออนไลน์” ที่รุกตลาดนิชมาร์เก็ต และในอนาคตจะเกิดห้างออนไลน์อีกมากมายในทุกกลุ่มธุรกิจ ซึ่งนั่นทำให้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ไม่ว่าเซ็นทรัล ซีพี รวมถึงเทสโก้โลตัส ต้องเปิดปฏิบัติการรุกตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างเข้มข้นและเร่งด่วนยิ่งขึ้น