วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > Ari Football Concept Store เปลี่ยนความคลั่งไคล้เป็นธุรกิจ

Ari Football Concept Store เปลี่ยนความคลั่งไคล้เป็นธุรกิจ

 
สำหรับคอลูกหนังเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ชื่นชอบรองเท้าสตั๊ดด้วยแล้ว น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก Ari Football Concept Store หรือ “อาริ” ร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับฟุตบอลแบบครบวงจร ที่เกิดขึ้นมาจากความคลั่งไคล้ในกีฬาลูกหนังของศิวัช วสันตสิงห์ เริ่มต้นจากร้านเล็กๆ เพียงไม่กี่ตารางเมตร ณ วันนี้ อาริขยายสาขาออกไปมากกว่า 10 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เติบโตขึ้นจนกลายเป็นธุรกิจที่น่าจับตามอง
 
ร้านอาริก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2553 ด้วยความชื่นชอบในกีฬาฟุตบอลและรองเท้าสตั๊ดเป็นทุนเดิมของศิวัช วสันตสิงห์ บวกกับข้อเท็จจริงที่ว่าขณะนั้นเมืองไทยยังไม่มีร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับฟุตบอลโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่จะเป็นร้านที่ขายอุปกรณ์กีฬาหลายประเภทรวมๆ กัน 
 
ความคิดที่จะเปิดร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลแบบเต็มรูปแบบจึงเกิดขึ้น เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสใช้สินค้าที่มีคุณภาพ หลากหลาย ได้ใช้สินค้าของทีมฟุตบอลที่ตัวเองชอบ และหาซื้อสะดวกไม่ต้องเดินทางไปซื้อถึงต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของ “Ari Football Concept Store” ร้านขายอุปกรณ์กีฬาฟุตบอลแบบครบวงจร 
 
โดยสาขาแรกตั้งอยู่บนพื้นที่เล็กๆ ขนาดเพียง 25 ตารางเมตร ภายในโครงการอารีน่า 10 ย่านทองหล่อ ด้วยเงินลงทุนตั้งต้น 2 ล้านบาท โดยมีธารา เทย์เลอร์ (Tahra Taylor) เป็นอีกหนึ่งหุ้นส่วนที่สำคัญ
 
หากมองย้อนกลับไปในเวลานั้น การเปิดร้านขายอุปกรณ์กีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว หลายๆ คน มองว่าน่าจะไปรอดได้ยาก แต่จากสาขาแรกเมื่อปี 2553 ผ่านมาจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 วันนี้อาริขยายออกไปมากกว่าสิบสาขา ซึ่งนี่น่าจะเป็นบทพิสูจน์ถึงความสำเร็จของอาริได้กลายๆ สิ่งที่น่าสนใจคืออะไรที่ทำให้อาริต่างจากร้านขายอุปกรณ์กีฬารายอื่นๆ จนเดินทางมาถึงวันนี้ได้
 
“อาริเป็นร้านเฉพาะทาง มีอุปกรณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับฟุตบอล เราไม่ได้ขายแค่สินค้า แต่เราเน้นขายประสบการณ์ ลูกค้าสามารถเดินเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนสอบถามเกี่ยวกับสินค้าได้ตลอด ไม่จำเป็นต้องซื้อ” ศิวัช วสันตสิงห์ ผู้ก่อตั้งและหัวเรือใหญ่ของอาริ ฟุตบอล คอนเซ็ปต์สโตร์ กล่าวถึงคอนเซ็ปต์ที่ทำให้วันนี้อาริแตกต่างและโดดเด่นจากร้านขายอุปกรณ์กีฬาอื่นๆ
 
ความมุ่งหมายที่ต้องการให้อาริเป็น community สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในฟุตบอลมากกว่าเป็นแค่ร้านขายของ ทำให้พนักงานในร้านของอาริมีความรู้เรื่องสินค้าเป็นอย่างดีพร้อมตอบคำถามได้ เพราะพวกเขาทุกคนล้วนแล้วแต่มี passion เรื่องฟุตบอลอยู่ในตัว ทุกคนที่นี่ทำงานด้วยความรัก
 
แน่นอนว่าความครบครัน ตลอดจนความใส่ใจและเชี่ยวชาญในสินค้าคือจุดแข็งของอาริ ทันทีที่ก้าวเข้าไปภายในร้าน สิ่งที่สัมผัสได้คือสินค้าเกี่ยวกับฟุตบอลครบทุกประเภทหลากแบรนด์ที่รอให้ลูกค้าได้เลือกสรร ไล่เรียงไปตั้งแต่ถุงเท้า รองเท้า ลูกบอล กางเกง เสื้อบอลจากทีมดังต่างๆ ชนิดที่เข้าไปแต่ตัว ออกมาพร้อมไปเล่นฟุตบอลได้ทันที 
 
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่เรียกได้ว่าสร้างความแปลกใหม่และเป็นอีกหนึ่งจุดขายของอาริคือบริการ “Personalization” หรือบริการปักและสกรีนชื่อ เบอร์ ตราสโมสร หรือธง ลงบนรองเท้าสตั๊ดรวมถึงอุปกรณ์กีฬาชิ้นโปรดตามที่ลูกค้าต้องการ ด้วยเครื่องจักรที่นำเข้าจากญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการใส่ความเป็นตัวตนลงในอุปกรณ์กีฬาที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งนับเป็นรายแรกๆ ของเมืองไทยที่มีบริการแบบนี้
 
ปัจจุบันอาริมีสาขาอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้แก่ ระยอง ขอนแก่น และอุดรธานี เหตุที่เลือกเปิดสาขาใน 3 จังหวัดข้างต้น เพราะมีฐานลูกค้าและตลาดมีกำลังซื้อ อีกทั้งอุดรธานีเองก็เป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้กับประเทศลาวเป็นการเปิดโอกาสในการรุกธุรกิจเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อีกทางหนึ่ง
 
สำหรับทุกสาขาของอารินั้น ศิวัชเน้นย้ำว่าต้องให้บรรยากาศของความเป็นอาริเหมือนกัน ไม่ว่าลูกค้าจะเดินเข้าสาขาไหน ต้องรับรู้ได้ถึงความเป็นอาริ ทั้งการดีไซน์ ตกแต่งร้านที่มีเอกลักษณ์ โดยการใช้ปูนเปลือย โครงเหล็กในการตกแต่งร้าน และโคมไฟรูปหกเหลี่ยมสัญลักษณ์ของลูกฟุตบอลที่เป็นดั่งเครื่องหมายการค้าของอาริ
รวมถึงการบริการที่มีมาตรฐานของอาริ ยกเว้นเพียงสาขาสยามสแควร์ที่ถือเป็นแฟล็กชิปสโตร์เท่านั้นที่มีสนามหญ้าเทียมขนาดเล็กบริเวณดาดฟ้าของร้านไว้ให้ลูกค้าได้ทดลองสินค้า ซึ่งถือเป็นกิมมิคเล็กๆ แต่สร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้เป็นอย่างดี
 
ในระยะแรกการตลาดของอาริเป็นแบบปากต่อปาก แต่เมื่อธุรกิจเริ่มโตขึ้นจึงใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นเครื่องมือในการทำการตลาด ผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูป และอินสตาแกรม ซึ่งถือเป็นช่องทางที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยตรง เพราะลูกค้าหลักของอาริคือกลุ่มคนอายุ 10-25 ปีที่ชื่นชอบในฟุตบอล ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว 
 
อีกหนึ่งช่องทางการตลาดของอาริคือ “Hattrick Magazine” นิตยสารแจกฟรีจากอาริ ซึ่งออกเป็นประจำทุกเดือนเพื่อให้แฟนบอลได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวงการฟุตบอลทั้งในและต่างประเทศ และไม่ใช่เป็นแค่เครื่องมือทางการตลาดเท่านั้น แต่จุดมุ่งหมายหลักของแฮททริกคือเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของวงการฟุตบอลไทยอีกด้วย
 
“ผมอยากให้บอลไทยเท่ขึ้น อยากสร้างฮีโร่ให้กับวงการฟุตบอลไทย เพราะเชื่อว่าประเทศไทยยังมีนักเตะที่มีพรสวรรค์และมีความสามารถอยู่อีกหลายคน เราอยากสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับวงการฟุตบอลไทย” แนวคิดของศิวัชในการริเริ่มทำนิตยสารแฮททริก ซึ่งเมื่อลองพลิกเข้าไปดูคอนเทนต์ภายในเล่มแล้ว ต้องบอกว่าไม่ธรรมดาทีเดียวสำหรับความตั้งใจในการผลิตคอนเทนต์สำหรับแฟนบอลพันธุ์แท้
 
นอกจากเป็นผู้ขายแล้ว อาริยังได้ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตเพื่อเป็นการต่อยอดจากธุรกิจรีเทล โดยได้เริ่มผลิตสินค้าในแบรนด์ของตนเองภายใต้ชื่อ “อาริ” อาทิ เสื้อบอล กางเกง ถุงเท้า ประเดิมงานแรกด้วยการออกแบบและผลิตเสื้อทีมให้กับ แบ็งค็อก ยูไนเต็ด ตั้งแต่ฤดูกาล 2014 เป็นต้นมา ซึ่งมีทีมงานที่ดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ทั้งดีไซน์ เนื้อผ้า วัสดุ คุณภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการผลิตเสื้อบอลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเล่น เพราะศิวัชมองว่า นักบอลควรจะได้ใช้เสื้อแข่งที่ดีจริงๆ แม้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเล่นได้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็มีความหมาย
 
หลังจากประเดิมงานแรกในการผลิตเสื้อทีมให้กับแบ็งค็อก ยูไนเต็ด ไปแล้ว อาริยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองมาเรื่อยๆ ทั้งคุณภาพและความหลากหลายของสินค้า เพื่อให้แฟนบอลไทยได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพดีในราคาที่เป็นเจ้าของได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นที่อาริยังต้องเรียนรู้และพัฒนาต่อไป เพื่อทำให้อาริเป็นแบรนด์มิใช่เพียงร้านขายสตั๊ด
 
สำหรับก้าวต่อไปของอารินั้น ศิวัชยังคงให้น้ำหนักอยู่ที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์อาริ รวมถึงการขยายสาขา ซึ่งยังคงเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับศิวัช เพราะอาริเริ่มจากร้านเล็กๆ แต่เมื่อมีการขยายตัวเร็ว ความน่ากังวลที่ตามมาคือการคงไว้ซึ่งมาตรฐานทั้งด้านสินค้าและบริการ
 
ซึ่งคงต้องดูกันต่อไปว่า ศิวัชจะขับเคลื่อนธุรกิจที่เกิดจากความคลั่งไคล้ในกีฬาลูกหนังของเขาอย่างไรในสนามธุรกิจที่ขับเคี่ยวกันเข้มข้นไม่ต่างอะไรจากเกมส์ฟุตบอลในสนาม