การท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมกำลังกลับมาฟื้นตัวและคึกคักขึ้นอีกครั้ง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เห็นได้จากการเปิดตัวโรงแรมและที่พักหลายระดับที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากทั้งผู้เล่นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยักษ์ใหญ่จากอเมริกาในธุรกิจโรงแรมอย่าง Marriott International ที่เดินหน้ารุกตลาดเมืองไทยแบบไม่แผ่วเช่นกัน
ในธุรกิจโรงแรม Marriott International (แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล) ครองตำแหน่งเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพอร์ตโฟลิโอที่เรียกได้ว่าทรงพลัง ด้วยแบรนด์ชั้นนำในเครือมากกว่า 30 แบรนด์ มีโรงแรมทั่วโลก 9,300 แห่ง ใน 142 ประเทศและเขตแดน รวมจำนวนห้องพักมากถึง 1.7 ล้านห้อง
ปี 2567 ที่ผ่านมา แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นจีน) หรือ APEC มีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยมีการลงนามข้อตกลงใหม่จำนวน 109 ฉบับ ใน 11 ตลาด คิดเป็นจำนวนห้องพักที่เพิ่มเข้าไปในแผนพัฒนารวม 21,439 ห้อง และปิดจบปีด้วยจำนวนห้องพักในแผนพัฒนาของภูมิภาครวม 77,532 ห้อง
สำหรับในปี 2568 แมริออท มีแผนบุกตลาดที่เข้มข้นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
“ผู้จัดการ 360 องศา” มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษกับลูกหม้อคนสำคัญที่ร่วมงานกับแมริออทมานานกว่า 27 ปี อย่าง มร.แบรด เอ็ดแมน ที่ปัจจุบันรั้งตำแหน่งรองประธานกรรมการประจำประเทศไทย กัมพูชา และเมียนมา ของแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล ที่มาฉายภาพผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และแผนการขยายธุรกิจในอนาคตของแมริออทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยให้เราได้เห็นภาพชัดขึ้น
โดยแบรดเผยให้เห็นภาพพอร์ตโฟลิโอที่น่าสนใจว่า แมริออทแบ่งเซกเมนต์ของโรงแรมในเครือออกเป็น 5 ระดับที่ครอบคลุมทุกตลาด ได้แก่ แบรนด์ระดับลักชัวรี (Luxury) ได้แก่ The Ritz-Carlton, St. Regis, JW Marriott, The Luxury Collection, W Hotels
แบรนด์ระดับพรีเมียม ได้แก่ Marriott Hotels, Sheraton, Westin, Le Meridien, Renaissance Hotels
แบรนด์ซีเล็ค (Select) เช่น Courtyard, Four Points, SpringHill Suites, Aloft Hotels, Moxy Hotels, Four Point Flex by Sheraton
แบรนด์แบบ Longer Stays ประกอบด้วย Residence Inn, TownePlace Suites, Element Hotels, StudioRes, Homes & Villas by Marriott Bonvoy, Marriott Executive Apartments, Sonder และแบรนด์ Collections อย่าง Autograph Collection, Design Hotels, Tribute Portfolio เป็นต้น
ซึ่งถ้าดูตามรายชื่อจะเห็นว่ามีแบรนด์ที่คุ้นตาในเมืองไทยอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยปัจจุบันแมริออทมีโรงแรมอยู่ในไทย กัมพูชา และเมียนมา รวมทั้งสิ้น 67 แห่ง ภายใต้ 17 แบรนด์หลัก จากทั้งหมด 30 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ระดับลักชัวรี พรีเมียม และซีเล็ค เป็นหลัก
ทั้งนี้ไทยถือเป็นประเทศยุทธศาสตร์และสร้างการเติบโตให้กับแมริออทได้เป็นอย่างดี เพราะในจำนวนโรงแรมทั้ง 67 แห่งที่อยู่ในไทย กัมพูชา และเมียนมา มีถึง 64 แห่ง (ซึ่งรวมถึงที่พักอาศัยอีก 2 แห่ง) อยู่ในเมืองไทย
“เนื่องจากโรงแรมส่วนใหญ่ของแมริออทอยู่ในประเทศไทย ผลประกอบการในไทยจึงมีสัดส่วนสูงสุดของพื้นที่นี้ ปัจจุบันเรามีโรงแรม 64 แห่งในไทย ครึ่งหนึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนที่เหลืออีก 32 แห่งตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ อย่าง เชียงราย เชียงใหม่ ระยอง หัวหิน พัทยา ภูเก็ต กระบี่ สมุย มีพนักงานรวมกันกว่า 14,000 คน โดยลูกค้าที่เข้าพัก 60% มาเพื่อการท่องเที่ยว 20% เป็นลูกค้าองค์กร และอีก 20% เป็นลูกค้าที่มาเพื่อการประชุม” แบรดกล่าว
ปี 2567 ปีทองของแมริออท ซีรีส์ White Lotus จุดกระแส
ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ปี 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของแมริออทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ยกเว้นจีน) ทั้งการขยายตัวทางธุรกิจและการเติบโตของรายได้ เพราะมีการลงนามข้อตกลงใหม่จำนวน 109 ฉบับ ใน 11 ตลาด มีห้องพักที่เพิ่มเข้าไปในแผนพัฒนารวม 21,439 ห้อง
ปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียว แมริออทมีการเปิดโรงแรมใหม่ในไทย กัมพูชา และเมียนมา มากถึง 11 แห่ง ซึ่งเรียกว่าสูงสุดในรอบหลายปี เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่เปิดใหม่เพียง 6 แห่ง โดยเปิด Marriott Executive Apartments เพิ่ม 3 แห่ง, The Ritz-Carlton, Four Points by Sheraton, Autograph Collection ในกรุงเทพฯ และภูเก็ต ส่วนในกัมพูชา เปิดแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ Fairfield by Marriott และ Courtyard by Marriott อีกทั้งยังมีการนำแบรนด์ใหม่อย่าง Moxy เข้าสู่เมืองไทยเป็นครั้งแรก ในชื่อ “Moxy Ratchaprasong” ซึ่งเป็นแบรนด์โรงแรมระดับซีเล็ค ด้วยจำนวนห้องพักที่มากถึง 500 ห้อง
สำหรับในประเทศไทยปีที่ผ่านมาแมริออทมีการเติบโตในทุกเซกเมนต์ แม้จะไม่เท่ากับปี 2561-2562 ซึ่งเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวบูมขั้นสุดก็ตามที โดยเซกเมนต์ที่เติบโตสูงสุดคือโรงแรมระดับลักชัวรี อย่างการเปิดตัว The Ritz-Carlton (เดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน) แห่งใหม่ล่าสุดที่โครงการ One Bangkok นอกเหนือจากที่เกาะสมุยและกระบี่ ในขณะที่เซกเมนต์ระดับพรีเมียมครองสัดส่วนมากที่สุด เพราะเป็นแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ทั้ง Marriott, Sheraton, Le Meridien, Renaissance Hotels ส่วนแบรนด์ระดับซีเล็คอย่าง Moxy และ Four Points ก็มีการเติบโตเช่นกัน เพราะปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทยเป็นกลุ่มที่เด็กลง อย่างกลุ่มเจนฯ Z โรงแรมในกลุ่มซีเล็คเป็นระดับที่เข้าถึงได้ง่ายจึงตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นดี อีกทั้งยังทำให้ RevPAR หรือรายได้เฉลี่ยของห้องพักเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
“ช่วงปี 2561-2562 ยังคงเป็นปีที่ดีที่สุด เพราะเป็นปีที่การท่องเที่ยวของไทยดีจริงๆ ซึ่งเป็นการเติบโตในแง่ของ volume แต่ปี 2567 สิ่งที่เราเห็นคือลูกค้าที่มาพักอยู่นานขึ้น มีการใช้จ่ายที่มากขึ้น และสร้างรายได้เติบโตในทุกเซกเมนต์ของแบรนด์ ทำให้ RevPAR ในไทย กัมพูชา และเมียนมา เพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน”
ปัจจัยบวกที่ทำให้แมริออทเติบโตในไทยนั้น แบรดเผยว่า ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเมืองไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกอยากมาเยือน ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหาร และผู้คน ที่ล้วนเป็นปัจจัยบวกทำให้การท่องเที่ยวเติบโต ซึ่งนั่นย่อมส่งผลกระทบเชิงบวกต่อแมริออทเช่นกัน
นอกจากความเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางแล้ว สิ่งที่ทำให้แมริออทเติบโตทั้งในไทย กัมพูชา และเมียนมา ยังเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการยกเว้นวีซ่า ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวก (Frictionless Travel) รวมถึงความสามารถในการรองรับเที่ยวบินสู่ประเทศไทยและกัมพูชามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการแบ่งเซกเมนต์ของโรงแรมในเครือที่ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทำให้สามารถจับกลุ่มลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ที่สำคัญคือความร่วมมือกับหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ภาครัฐ และพาร์ตเนอร์ในไทย ซึ่งล้วนเป็นแรงส่งให้แมริออทสร้างการเติบโตได้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Raj Menon ประธาน Marriott International (Asia Pacific ยกเว้นจีน) ยังได้เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีของไทยในการประชุมโต๊ะกลม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดตั้ง “Amazing Thailand Grand Tourism Year 2025” ที่มีเป้าหมายยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก โดยคาดว่าหลังจากการประชุมในครั้งนั้น น่าจะมีความร่วมมือเชิงรูปธรรมออกมาให้เห็นในระยะอันใกล้
ที่น่าสนใจคือ ซีรีส์ชื่อดังอย่าง White Lotus Season 3 ที่มาถ่ายทำที่ภาคใต้ของไทย ยังช่วยจุดกระแสให้ต่างชาติและคนไทยอยากมาท่องเที่ยวภาคใต้ของไทยมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าแมริออทย่อมได้รับอานิสงส์นี้เช่นกัน
“White Lotus คือสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้น ช่วยทำให้คนได้เห็นความสวยงามของเมืองไทย และทำให้อยากมาเมืองไทยมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ เทรนด์การท่องเที่ยวที่หรูหราจะกลับมามากขึ้น แต่จะไม่ใช่ความหรูหราแบบเดิมๆ เพราะนักท่องเที่ยวจะมองหาประสบการณ์ที่มีความหมาย เขาอยากรู้ว่าอาหารที่เขากินมีที่มาอย่างไร ต้องการสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่นในเชิงลึกมากขึ้น”
นอกจากนี้ แบรดยังเผยอีกว่าเทรนด์การท่องเที่ยวในปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป จากการเดินทางมาท่องเที่ยวคนเดียวหรือมาเป็นคู่ มาเป็นการเดินทางเป็นกลุ่มใหญ่ที่ประกอบด้วยคนหลายเจนฯ อยู่ด้วยกัน ทั้งปู่ย่าตายายไปจนถึงรุ่นลูกหลานเดินทางมาท่องเที่ยวพร้อมกันมากขึ้น
จุดแข็งของแมริออท “คน-เครือข่าย-ลอยัลตี้โปรแกรม”
ถ้าถามว่าอะไรคือจุดแข็งที่ทำให้แมริออทครองตำแหน่งเบอร์หนึ่งของธุรกิจโรงแรมนั้น แบรดตอบคำถามนี้กับเราว่า
“อย่างแรกเลยคือ ‘คน’ ซึ่งเป็น Core Value ของแมริออทที่ผู้ก่อตั้ง ‘Mr. Marriott’ ได้วางไว้ คือ putting people first เราให้ความสำคัญกับคนเพราะคนคือทรัพยากรที่ดีที่สุด ดูแลพนักงานและให้โอกาสเขาในการเติบโต”
แม้ว่าคนจะเป็นจุดแข็ง แต่ในขณะเดียวกันแบรดยอมรับว่าเรื่องคนก็เป็นความท้าทายของธุรกิจโรงแรมเช่นกัน เพราะการหาคนเข้ามาทำงานไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแมริออทที่มีการเติบโตสูง จึงจำเป็นต้องหาคนมาทำงานในจำนวนมาก
“อันดับสอง คือ เครือข่าย ทั้งทีมเซลส์ และ GSO หรือ Global Sale Office เป็นออฟฟิศที่คอยขายโรงแรมที่แมริออทมีอยู่ 73 ประเทศทั่วโลก ซึ่งช่วยขายโรงแรมในตลาดต่างๆ ได้เป็นอย่างดี”
อีกหนึ่งจุดแข็งที่แบรดภาคภูมิใจคือ “Marriott Bonvoy” ซึ่งเขาบอกว่าไม่ใช่แค่ลอยัลตี้โปรแกรม แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า และเป็นจุดแข็งที่ทำให้แมริออทเติบโต โดยสมาชิกจะได้รับคะแนนสะสมจากการเข้าพักโรงแรมในเครือ และสามารถนำคะแนนนั้นไปใช้เข้าพักในที่โรงแรมอื่นๆ ในเครือที่ครอบคลุมกว่า 30 แบรนด์ และ 10,000 จุดหมายปลายทาง รวมถึงสิทธิพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม โดยปัจจุบัน Marriott Bonvoy มีสมาชิกกว่า 228 ล้านคน
“ตัว Marriott Bonvoy เป็นจุดแข็งหลักของแมริออท เพราะลูกค้าที่มาพักส่วนใหญ่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว พอเจ้าของโรงแรมเห็นสิทธิประโยชน์ต่างๆ และการเติบโตของสมาชิก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เจ้าของเขาก็อยากลงทุนและสร้างโรงแรมในเซกเมนต์อื่นๆ เพิ่มเติม จากที่เคยสร้างลักชัวรี ก็อยากสร้างแบบพรีเมียมเพิ่ม แล้วก็ต่อไปแบบซีเล็คเพื่อให้ครบสามารถจับกลุ่มลูกค้าได้หลายกลุ่ม นั่นทำให้เกิดการขยายตัวของโรงแรมในเครือแมริออทเช่นกัน”
เตรียมเปิดเพิ่มอีก 5 โรงแรมในไทย
สำหรับปี 2568 แบรดเปิดเผยว่า แมริออทยังคงเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนเปิดเพิ่มอีก 5 โรงแรมในไทย ได้แก่ Pattaya Marriott Resort & Spa (เป็นแบรนด์ Marriott Hotels & Resort แห่งแรกในพัทยา), Tribute Portfolio Metropole Bangkok (เป็นโรงแรมแบรนด์ Tribute แห่งแรกในไทย), Four Points by Sheraton Krabi Ao Nang Beach Resort, Fairfield by Marriott Krabi Ao Nang Beach Resort (แบรนด์ Fairfield แห่งแรกในไทย) และ Courtyard By Marriott Chalong Bay
อีกทั้งยังเดินหน้าเจาะกลุ่มลูกค้าชาวไทยมากขึ้น ด้วยกลยุทธ์ Hyperlocal สร้างความเข้าใจคนและพื้นที่ โดยเน้นการสื่อสารในภาษาที่คนไทยคุ้นเคยและมีโปรโมชั่นเฉพาะ เช่น จัดงาน Wedding Showcase นำเสนอพื้นที่ในการจัดงานแต่งงานสำหรับคู่รักชาวไทย, บริการจัดเลี้ยงในพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศ ทั้งลูกค้าองค์กรและจัดเลี้ยงส่วนตัว รวมถึงเปิดโอกาสให้ศิลปินท้องถิ่น
นอกจากนี้ แมริออทยังมีโรงแรมที่อยู่ในแผนพัฒนาอีก 44 แห่ง จำนวนห้องพักรวม 11,000 ห้อง ซึ่งเราน่าจะได้เห็นกันในอนาคตอันใกล้นี้.