วันเสาร์, พฤษภาคม 10, 2025
6:51:02 PM
Home > Cover Story > เส้นทาง “เลย์-เทสโต” 30 ปี สงครามมันฝรั่ง

เส้นทาง “เลย์-เทสโต” 30 ปี สงครามมันฝรั่ง

ตลาดสแน็กไทย เม็ดเงินรวมกว่า 47,000 ล้านบาท อัตราเติบโต 9% โดยกลุ่มมันฝรั่งทอดกรอบ (Potato Chip) มีมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านบาท เป็นผลจากการออกรสชาติใหม่ๆ นับร้อย และการต่อสู้ระหว่าง 2 ค่ายใหญ่ คือ เลย์ (Lays)-เทสโต (Testo) มาตลอด 30 กว่าปี

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไทม์ไลน์สารตั้งต้นแล้ว เส้นทางของเลย์ยาวนานมากกว่า เริ่มจาก Herman W. Lay ชายชาวอเมริกัน ที่เมืองชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ราว 80 กว่าปีก่อน

เล่ากันว่า ช่วงปี ค.. 1920 เลย์เป็นนักศึกษาทุนมหาวิทยาลัย Furman University แต่เรียนในรั้วมหาวิทยาลัยได้เพียง 2 ปี ตัดสินใจลาออกมาทำงานหารายได้เป็นเซลส์แมนขายบิสกิต ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นเซลส์แมนขายมันฝรั่งทอดให้บริษัท Barrett Food Company โดยขับรถฟอร์ด โมเดล เอ วิ่งขายในรัฐจอร์เจีย จนเกิดจุดเปลี่ยนผันในชีวิตและเป็นฉากเริ่มต้นของมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบเลย์ในปี ค.. 1932 เขาใช้เงิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ เปิดบริษัท H.W. Lay Distributing Company เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบของบริษัท Barrett Food Company

ความเก่งกาจของเลย์เห็นผลลัพธ์ในอีก 6 ปีต่อมา เขาสามารถซื้อกิจการของ Barrett Food Company พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น H.W. Lay & Company เพื่อขายมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบแบรนด์ Lays มีรสแรก คือ มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบโรยเกลือ หรือรส Original ในปัจจุบันตามด้วยรสบาร์บีคิวและซาวครีมหัวหอม

หลังเปิดตัวไม่นาน Herman W. Lay มองว่า ชื่อบริษัท H.W. Lay & Company ยาว จดจำยาก จึงเปลี่ยนชื่อสั้นๆ ว่า Lays

ปี 1961 Herman W. Lay ฉีกกลยุทธ์จับมือคู่แข่งอย่าง Charles Elmer Doolin เจ้าของขนมขบเคี้ยวประเภทข้าวโพดอบกรอบแบรนด์ Fritos เปิดบริษัท Frito-Lay เปิดอาณาจักรขยายช่องทางการจำหน่ายอย่างกว้างขวางในพื้นที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาและบุกขยายตลาดต่างประเทศ

เพียงไม่กี่ปี Frito-Lay เติบโตก้าวกระโดดกลายเป็นผู้นำในตลาดมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบและผนึกกำลังร่วมกับบริษัท Pepsi-Cola ผู้ผลิตน้ำอัดลมเป๊ปซี่ ทำตลาดในชื่อบริษัท PepsiCo เป็นขนมขบเคี้ยวแบรนด์แรกที่สามารถยิงสปอตโฆษณาโลดแล่นทางทีวี

ส่วนในประเทศไทย เลย์ทำตลาดภายใต้ บริษัท เป๊ปซี่โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือ PepsiCo ตั้งแต่ปี  2538 และก่อตั้งโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวแห่งแรกที่จังหวัดลำพูน

ก่อนหน้านั้น เป๊ปซี่โคล่า (ไทย) เข้ามาลงหลักปักฐานตลาดเป๊ปซี่ในไทยตั้งแต่ปี 2495 มีเครื่องดื่มในเครือมากมาย เช่น  เมาเทนดิว เกเตอเรด เซเว่นอัพ มิรินด้า ลิปตัน จนขยายสินค้ากลุ่มสแน็ก มีแบรนด์เลย์ ซีโตส โดริโทส  ซึ่งสินค้า 2 แบรนด์หลักที่สร้างรายได้จำนวนมหาศาล คือ เป๊ปซี่ และ เลย์

หากเจาะข้อมูลงบการเงินที่บริษัทส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 5 ปีย้อนหลัง พบว่า บริษัท เป๊ปซี่โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด มีรายได้รวมและกำไรเติบโตต่อเนื่อง แม้บางปีลดลงบ้างจากวิกฤตโควิดและภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อกำลังซื้อผู้บริโภค แต่เป็นอัตราลดลงเพียงเล็กน้อย เริ่มจากปี 2562 มีรายได้ 11,252.97 ล้านบาท กำไร 2,209.91 ล้านบาท ปี 2563 รายได้ 11,226.09 ล้านบาท กำไร 2,454.28 ล้านบาท ปี 2564 รายได้ 13,404.29 ล้านบาท กำไร 2,861.29 ล้านบาท ปี 2565 รายได้ 14,715.62 ล้านบาท กำไร 2,486.86 ล้านบาท และปี 2566 รายได้ 13,179.25 ล้านบาท กำไร 1,785.66 ล้านบาท

นางสาวชลกร อภิชาติธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ธุรกิจอาหารและขนมขบเคี้ยว เป๊ปซี่โค ภูมิภาคอินโดจีน เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา เลย์จัดกิจกรรมใหญ่ฉลองครบรอบ 30 ปีในประเทศไทย ภายใต้ชื่อเลย์ 30 ปี จอยได้ทุกเจนเลย์  ต้องการชูจุดเด่นตัวจริงเรื่องมันฝรั่งแท้ ยืนหนึ่งเรื่องรสชาติความกรอบอร่อย และสร้างความจอยให้คนไทยมายาวนานกว่า 30 ปี โดยทุ่มงบจัดกิจกรรมมอบของขวัญคอลเลกชั่นสุดพิเศษ จับมือร่วมกับ BT21 คาแรกเตอร์ จาก IPX ภายใต้กลุ่มบริษัท LINE เนื่องจาก LINE เป็นแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในทุกเจเนอเรชัน ตั้งแต่วัยรุ่น คนทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์และทิศทางของแบรนด์อย่างลงตัวจอยได้ทุกเจนเลย์

นอกจากนั้น นำรสชาติเก่าที่เคยได้รับความนิยม คือ รสไข่เค็ม รสชีสและหัวหอม รสกะเพรากรอบ และรสลาบทอด กลับมาทำตลาดใหม่อีกครั้ง หลังผู้บริโภคเรียกร้องเข้ามามาก

ด้านบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) อาจไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตสินค้ากลุ่มสแน็กและเครื่องดื่มตั้งแต่ต้น โดยเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี 2425 โดยนายอัลเบิร์ตยุคเกอร์และนายเฮนรี่ซิกก์ใช้ชื่อว่าห้างยุคเกอร์แอนด์ซิกก์แอนด์โกประกอบกิจการค้าเป็นตัวแทนบริษัทเรือฝรั่งเศสอังกฤษและอิตาลีพร้อมกับเป็นตัวแทนบริษัทประกันภัยของต่างประเทศและตัวแทนธนาคารต่างๆนอกจากนั้นยังทำธุรกิจโรงสีข้าวและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้านำเข้าและส่งออก

ปี 2439 เปลี่ยนชื่อห้างเป็นเอ. เบอร์ลี่ แอนด์ โกดำเนินสารพัดธุรกิจทั้งการเป็นพ่อค้าเบ็ดเตล็ดธุรกิจโรงสีข้าวการส่งออกสินค้าเช่นข้าวไม้ยางสนครั่งและหนังสัตว์

อัลเบิร์ต เบอร์ลี่ ยังเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจการสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่าย เช่น สั่งนมกระป๋องจากสวิตเซอร์แลนด์เข้ามาขายในเมืองไทยเป็นเจ้าแรก สั่งสิ่งทอจากสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และเยอรมนี โกโก้จากเดนมาร์ก และกระดาษเช็ดมือจากสหรัฐอเมริกา โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์ โก ในปี 2467

ปี 2508 บริษัทมีแนวคิดเปลี่ยนรูปแบบจากการดำเนินธุรกิจแบบหุ้นส่วนภายในครอบครัวสู่การเป็นบริษัทมหาชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาถือหุ้น ระดมขยายอาณาจักร กระทั่งเมื่อมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2517 บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด ถือเป็น 1 ใน 7 บริษัทแรกที่เข้าเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนเมษายน 2518

ปี 2539 เบอร์ลี่ยุคเกอร์ซื้อกิจการบริษัท สยาม สแน็ค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมขบเคี้ยว ซึ่งเดิม สยาม สแน็ค ร่วมหุ้นอยู่กับ บริษัท เป๊ปซี่ โค อิงค์ ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเบอร์ลี่เข้ามาถือหุ้นสยาม สแน็ค ก็จัดการเปิดตัวเทสโตแบรนด์ของตัวเอง ส่วนเลย์กลับไปทำตลาดภายใต้บริษัท เป๊ปซี่โคล่า (ไทย)

ปี 2543 เปลี่ยนชื่อ สยาม สแน็ค เป็นบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ มีสินค้าหลักสำคัญ ประกอบด้วย กลุ่มมันฝรั่งทอดกรอบ กลุ่มข้าวอบกรอบ และกลุ่มขนมขึ้นรูป ได้แก่ เทสโต (Testo) มันฝรั่งแท้ทอดกรอบ ปาร์ตี้ (Party) มันเทศผสมทอดกรอบเคลือบเนยคาราเมล แคมปัส (Campus) ขนมอบกรอบเคลือบรสช็อกโกแลต ดอรี่ (Dory) เพลิน (Plern) ขนมอบกรอบปรุงรส โดโซะ (DoZo) ข้าวหอมญี่ปุ่นอบกรอบ นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มธุรกิจ OEM ผลิตและจำหน่ายตามความต้องการของลูกค้า เช่น POTATO CHIPS และ EXTRUDED SNACK

ขณะที่ปี 2544 เกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ เมื่อเครือบริษัทไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (ทีซีซีกรุ๊ป) เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของเบอร์ลี่ยุคเกอร์ทำให้กลุ่มธุรกิจขนมขบเคี้ยวอยู่ภายใต้กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี

ปี 2551 มันฝรั่งทอดกรอบเทสโตเปิดปฏิบัติการครั้งใหญ่นับตั้งแต่วางจำหน่ายเมื่อปี 2539 ปรับ Brand Essence เป็นเทสโต เผยรหัสลับแห่งรสจากเดิมความอร่อยเฉพาะตัวที่พลาดไม่ได้โดยวาง Positioning ของแบรนด์เป็นขนมสำหรับ Gen I (Idea-Innovation-Inspiration) ที่ชื่นชอบการแสวงหาเพื่อเพิ่มอรรถรสให้กับชีวิตโดยหยิบยกเอาจุดกำเนิดเส้นทางการสร้างสรรค์แต่ละรสชาติมานำเสนอผ่านแพ็กเกจจิ้งซึ่งเป็นจุดที่ผู้บริโภคใกล้ชิดมากที่สุดเพื่อแสดงให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ถึงการทุ่มเทมาถ่ายทอดผ่านทุกมิติการสื่อสารตั้งแต่ลวดลายและข้อความบนแพ็กเกจจิ้งที่ดูพรีเมียมขึ้น

เหตุผลสำคัญ คือ ลดอายุกลุ่มเป้าหมายจากอายุ 15 ปี เป็น 13 ปี และขยายขอบเขตอายุของเป้าหมายจากสิ้นสุดที่ 25 ปี เพิ่มเป็น 35 ปี โดยใช้ ฟิล์ม รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ เจาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 19-23 ปี ซึ่งเป็น Core Target และยิงสปอตโฆษณาเน้นเจาะฐานกลุ่มเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาเป็นหลัก เช่น สนับสนุนรายการรถโรงเรียน โฆษณาออนไลน์ใน Dek-d, Sanook และ Exteen

แน่นอนว่า สงครามมันฝรั่ง 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่ ถือเป็นสมรภูมิดุเดือดที่มีเม็ดเงิน 1.5 หมื่นล้านเป็นเดิมพัน และไม่มีใครยอมใคร.