การเปิดกว้างทางสังคมยอมรับความหลากหลายทางเพศน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ส่งผลให้ตลาดซีรีส์-หนังสือสายวายมีการเติบโตกระทั่งมูลค่าตลาดสูงหลายพันล้านบาท
ไทยรับอิทธิพลซีรีส์สายวายมาจากป๊อปคัลเจอร์ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคำว่า “วาย” มาจากการ์ตูนประเภทยาโออิ (YAOI) ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการ์ตูนตาหวานตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ที่เนื้อหาจะเล่าเรื่องความสัมพันธ์แบบคู่รักชายหญิงทั่วไป เพียงแต่เป็นในแบบฉบับของชายและชาย หรือ ยูริ (Yuri) ความรักระหว่างหญิงและหญิง ต้องบอกว่าในช่วงแรกการ์ตูนสายวายไม่ได้รับการยอมรับในทันที เพราะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของสื่อลามกอนาจาร ผิดกฎหมาย แต่หลังจากได้รับความนิยมในกลุ่มนักอ่านจึงทำให้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นแอนิเมชันและซีรีส์
ขณะที่สาววาย หรือกลุ่มคนที่มีรสนิยมชื่นชอบการเสพสื่อแนวชายรักชาย ก็ไม่ได้รับการยอมรับเช่นเดียวกัน และการที่การ์ตูนสายวายเป็นที่ชื่นชอบในหมู่สาวๆ น่าจะเป็นเพราะรูปแบบสังคมปิตาธิปไตย ประกอบกับสื่อที่มีการนำเสนอผู้หญิงในฐานะของวัตถุทางเพศ การ์ตูนสาววายจึงเป็นเสมือนเครื่องมือที่ช่วยให้สาวๆ ที่ได้อ่านไม่รู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำอีกต่อไป
การ์ตูนสายวายเข้ามาแผ่ขยายอิทธิพลในไทย โดยในช่วงแรกถูกเรียกว่า BL หรือ Boy love โดยมีผู้อ่านไทยเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ก่อนที่ผู้ประกอบการในธุรกิจบันเทิงไทยจะหยิบจับเนื้อหาจากการ์ตูนวายมาทำเป็นซีรีส์ฉบับคนจริงแสดง โดยซีรีส์วายเรื่องแรกที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นความนิยมตลาดสายวายในไทยจนถึงปัจจุบันน่าจะเป็นเรื่อง Love Sick The Series 2014 ที่ดัดแปลงมาจากนิยายวายบนเว็บไซต์ dek-d
SCB EIC วิเคราะห์ตลาดสายวายไทยว่า ที่ผ่านมารายได้รวมของผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายของไทยมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องประมาณ 17% ในปี 2025 โดยมีมูลค่ารวมมากกว่า 4,900 ล้านบาท ตามกระแสความนิยมของซีรีส์วายไทยทั้ง Boy love (BL)และ Girl love (GL)ที่เพิ่มขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลถือเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้สื่อบันเทิงของไทยเข้าถึงผู้ชมอ่านทางออนไลน์จากบริการ OTT (Over The Top) หรือ สตรีมมิ่งแพลตฟอร์มได้มากขึ้น
แม้ปัจจุบันรายได้ของผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์วายจะมีสัดส่วนต่อมูลค่าการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมไม่สูงนัก แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ปี จาก 0.7% ในปี 2019 เป็น .30% ในปี 2023 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% ในปี 2025 ซึ่งสะท้อนได้ว่าธุรกิจภาพยนตร์และซีรีส์วายเป็นหนึ่งในโอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจการผลิตสื่อบันเทิงของไทยในภาพรวมให้เติบโตได้อีกในระยะข้างหน้า
โอกาสธุรกิจความสำเร็จของซีรีส์วายไทย นอกจากจะช่วยผลักดันให้ธุรกิจผลิตสื่อบันเทิงของไทยเติบโต ยังช่วยสร้างโอกาสให้ธุรกิจอื่นเกาะกระแสซีรีส์วายเติบโตตามไปด้วย โดยเฉพาะธุรกิจหนังสือทั้งในรูปแบบเล่ม และแพลตฟอร์มออนไลน์
ซีรีส์วายหลายเรื่องถูกดัดแปลงมาจากนิยายหรือการ์ตูนที่ได้รับความนิยมของนักอ่านมาก่อน เช่น วันดีวิทยา, 23.5 องศาที่โลกเอียง และ PLUTO นิทานดวงดาว ความรัก เป็นต้น ทำให้ซีรีส์ที่นำเค้าโครงเรื่องมาจากนิยายหรือการ์ตูนวายได้รับความสนใจจากฐานผู้อ่านเดิม และในทางกลับกันยังช่วยดึงดูดผู้ชมซีรีส์ให้สนใจมาอ่านนิยายและการ์ตูนต้นฉบับได้อีก ซึ่งนี่ถือเป็นการสร้างโอกาสให้กับนักเขียนและนักวาดการ์ตูนในการขยายฐานผู้อ่านและสร้างสรรค์ผลงานแนวใหม่ออกมามากขึ้น
ปัจจุบันมีนิยายวายทั้ง BL และ GL วางขายในเว็บไซต์ขายหนังสือและแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 3,800 เรื่อง หากย้อนไปดูข้อมูลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 52 เมื่อปี 2568 จะพบว่า นิยายสายวายได้รับความสนใจจากผู้อ่านเป็นอันดับ 2 หรือประมาณ 21% เป็นรองเพียงนิยายทั่วไป
นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมซีรีส์และนิยายวายของไทย ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยข้อมูลของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ระบุว่า ตลาดหนังสือในไทยมีมูลค่าประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท หากเจาะลึกไปดูมูลค่าหนังสือนิยายจะอยู่ที่ประมาณ 8 พันล้านบาท หรือประมาณ 45% และสัดส่วนมูลค่าหนังสือนิยม BL และ GL จะมีเพียง 30% ของมูลค่าหนังสือนิยายทั้งหมด หรือประมาณ 2 พันล้านบาท แต่ฐานผู้อ่านนิยายวายค่อนข้างเหนียวแน่น และพร้อมจะจ่ายแม้ว่าราคาเฉลี่ยต่อเล่มจะสูงกว่านิยายทั่วไป ซึ่งความร่วมมือระหว่างธุรกิจหนังสือและผู้ผลิตซีรีส์วาย เช่น การเปิดตัวซีรีส์พร้อมโปรโมตหนังสือ และการจำหน่ายหนังสือในงานแฟนมีตนักแสดง จะช่วยดึงดูดแฟนซีรีส์ให้หันมาอ่านหนังสือมากขึ้น
ขณะที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 53 ที่เพิ่งปิดฉากลง ต้องบอกว่า เกือบ 50% ของพื้นที่การจัดงาน เป็นพื้นที่ของสำนักพิมพ์ที่มีหนังสือนิยาย และมังงะสายวาย ยูริ แม้ว่าปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ผู้จัดงานจะเพิ่มพื้นที่การจัดงานสัปดาห์หนังสือฯ มากกว่าปีที่ผ่านมา
และต้องบอกว่าบูธสำนักพิมพ์หนังสือนิยายมังงะสายวาย ไม่ได้เป็นเพียงบูธเล็กๆ เช่นแต่ก่อน แต่ละสำนักพิมพ์ให้ความสำคัญและจัดบูธให้สามารถดึงดูดนักอ่าน
และสิ่งที่น่าสนใจคือ สำนักพิมพ์ดังที่ปกติแล้วจะมีหนังสือนวนิยายทั่วไปของนักเขียนชาวไทย เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับนิยายสายวายมากขึ้น ถึงขั้นที่ซื้อลิขสิทธิ์มาพิมพ์และกลายเป็นอีกหนึ่งสินค้าในไลน์ที่น่าจะช่วยกอบกู้สถานการณ์ของสำนักพิมพ์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ป้องกันการตกขบวนจากกระแสความนิยม นี่ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดนิยายมังงะสายวายเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ปัจจุบันนิยายมังงะสายวาย ที่ได้รับการตอบรับจากแฟนนักอ่านชาวไทย ไม่ได้มีแค่เรื่องราวจากฝั่งนักเขียนไทยเท่านั้น แต่หลายสำนักพิมพ์เริ่มมองหาต้นฉบับจากต่างประเทศด้วย เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่มีวัฒนธรรมการอ่านที่ใกล้เคียงกัน
แม้ว่าสำนักพิมพ์ไทยจะมีการซื้อลิขสิทธิ์ต้นฉบับจากต่างประเทศเข้ามาแปลและพิมพ์จำหน่ายให้แฟนนักอ่านคนไทยซึ่งในช่วงแรกของกระแสความนิยม เราจะได้เห็นหนังสือนิยายแปลจำนวนไม่น้อย แต่ปัจจุบันสำนักพิมพ์สามารถลดปริมาณการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศได้ เมื่อมีนักเขียนนิยายวายไทยแจ้งเกิดในวงการเพิ่ม และนี่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนอันนำไปสู่การมุ่งหวังให้นิยายมังงะสายวายไทยกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์
เพราะบางสำนักพิมพ์ หรือผู้ประกอบการบันเทิงไทยที่ผลิตสื่อสายวาย และขายลิขสิทธิ์ไปยังต่างประเทศ ทำให้มีเหล่าแฟนคลับต่างชาติเดินทางมายังไทยเพื่อซื้อหนังสือนิยายวายไทย รวมไปถึงสินค้าที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับนิยายมังงะเรื่องนั้นๆ
แม้ว่านโยบายสนับสนุนธุรกิจซอฟต์พาวเวอร์สื่อบันเทิงไทยจะไม่ได้เจาะจงที่จะสนับสนุนซีรีส์ หรือนิยายสายวายโดยเฉพาะ แต่การสนับสนุนจะทำโดยการออกงาน Roadshop เพื่อโปรโมตในต่างประเทศ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศที่สนับสนุนให้ผู้ผลิตซีรีส์วายเดินทางไปเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ซีรีส์ในต่างประเทศ ขณะที่การสนับสนุนการผลิตซีรีส์วายไทยอย่างเป็นรูปธรรมนั้นยังอยู่ระหว่างการกำหนดนโยบายหลังได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านละครและซีรีส์ไทยแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นี่น่าจะเป็นความสำเร็จของซีรีส์-นิยายสายวายไทย ที่อานิสงส์ส่งต่อให้แก่ธุรกิจอื่นเกาะกระแสเติบโตตามไปด้วย สำนักพิมพ์ไปต่อได้ ธุรกิจ MICE ธุรกิจรับผลิตสินค้าที่ระลึก ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย
นับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตาว่า กระแสความนิยมซีรีส์นิยายสายวายในไทยจะจีรังยั่งยืนแค่ไหน เป็นเรื่องน่าติดตาม.