วันอังคาร, เมษายน 15, 2025
Home > Cover Story > NEDA กับเส้นทาง R11 หนุนเศรษฐกิจเชียงใหม่-เวียงจันทน์

NEDA กับเส้นทาง R11 หนุนเศรษฐกิจเชียงใหม่-เวียงจันทน์

ไทยมีจังหวัดที่มีชายแดนเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านจำนวน 24 จังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีอาณาเขตติดกับดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย อย่าง สปป.ลาว

เส้นทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมไทยสู่ สปป.ลาว หลายเส้นทางมีความสำคัญทั้งมิติของการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน โดยเฉพาะเส้นทาง R11 ที่ถูกจัดให้เป็นเส้นทางที่จะเข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มสำคัญของระเบียงเศรษฐกิจเชียงใหม่-เวียงจันทน์ (Chiang Mai-Vientiane Economic Corridor: CVEC) ระยะทางประมาณ 629 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางของการเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างไทยและ สปป.ลาว

นี่เป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. NEDA มีบทบาทสำคัญ ด้วยการหยิบยื่นความช่วยเหลือด้านการเงิน ด้านวิชาการ แก่ สปป.ลาว

“เนด้ามีความมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือ ความช่วยเหลือ ทั้งด้านการเงิน ในลักษณะของเงินกู้ รวมถึงด้านวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน แม้ว่าจะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณพอสมควร ซึ่งเราพิจารณาจากประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทั้งสองประเทศ โดยมองที่ยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ และการพัฒนาถนนหมายเลข R11 ช่วงครกข้าวดอ-บ้านโนนสะหวัน-สานะคาม-บ้านวัง-บ้านน้ำสัง มีการออกแบบให้เป็นถนน 2 ช่องจราจรซึ่งเป็นมาตรฐานทางหลวงอาเซียน

เส้นทาง R11 มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเมืองหลักทางเศรษฐกิจของไทยและ สปป.ลาว รวมถึงเชียงใหม่และเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือของไทยและ สปป.ลาว โดยถนนสายนี้เชื่อมจากด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งได้รับการพัฒนาเป็นด่านถาวร เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศ ไปยังแขวงไซยะบุรี เมืองปากลาย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวในลุ่มแม่น้ำโขง ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมืองปากลาย

โดยเชื่อมต่อจากด่านภูดู่ถึงเมืองปากลายระยะทาง 32 กิโลเมตร และต่อไปยังเมืองสังข์ทอง แขวงนครหลวงเวียงจันทน์ ผ่านโครงการถนนหมายเลข R11 ช่วงบ้านตาดทอง-น้ำสัง-และเมืองสังข์ทอง รวมระยะทาง 82 กิโลเมตร” พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) ให้ข้อมูล

ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า การที่ไทยให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศที่มีชายแดนติดกับไทย เป็นเรื่องไม่จำเป็น หรืออาจจะเกินจำเป็น หากมองในมิติที่ว่า ไทยเองก็ยังไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือยังไม่ควรเป็นประเทศที่จะมอบความช่วยเหลือแก่ใคร และควรจะนำเงินมาพัฒนาภายในประเทศตัวเองมากกว่า

กระนั้นนี่เป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดผลดีทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 24 ของไทย ความเจริญก้าวหน้าที่ไทยหยิบยื่นให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านนั้นจะส่งผลทั้งทางตรงต่อประเทศนั้นๆ และทางอ้อมคือจังหวัดชายแดนของไทยที่จะช่วยเสริมศักยภาพด้านการค้าชายแดน การลงทุนระหว่างประเทศ เพิ่มความสะดวกสบายสำหรับเส้นทางคมนาคม การขนส่ง และในหลายจังหวัดจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญ

ขณะที่แนวคิดการพัฒนาทั้งภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านไปในคราวเดียวกันนั้น ล้วนแต่เป็นแนวคิดของประเทศที่มีความเจริญด้านแนวคิดอันนำไปสู่รูปแบบการพัฒนาทั้งองคาพยพ

ผู้อำนวยการ สพพ. อธิบายถึงโครงการก่อสร้างเส้นทาง R11 แบ่งเป็น 3 ช่วง

  1. โครงการก่อสร้างถนนภูดู่ (อ.บ้านโคก จ.อุตรดิตถ์) ถึงเมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี สปป.ลาว ระยะทาง 32 กม. งบประมาณ 718 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างธันวาคม 2555 แล้วเสร็จเดือนมิถุนายน 2557
  2. โครงการพัฒนาถนนหมายเลข R11 ช่วงบ้านตาดทอง-น้ำสัง และเมืองสังข์ทอง ระยะทาง 82 กม. งบประมาณ 1,392 ล้านบาท ก่อสร้างเดือนพฤษภาคม 2554 แล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2557
  3. โครงการพัฒนาถนนหมายเลข R11 ช่วงครกข้าวดอ-บ้านโนนสะหวัน-สานะคาม-บ้านวัง-บ้านน้ำสัง ระยะทาง 124 กม. งบประมาณ 1,826.50 ล้านบาท ก่อสร้างเดือนตุลาคม 2562 แล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2566

“เส้นทางนี้เป็น Missing Link สุดท้ายที่เติมเติมโครงข่ายคมนาคมของระเบียงเศรษฐกิจ CVEC โดยช่วยลดระยะทางกว่า 234 กิโลเมตร จากเส้นทางเดิม (เชียงใหม่-อุตรดิตถ์-พิษณุโลก-ขอนแก่น-หนองคาย-นครหลวงเวียงจันทน์) ที่มีระยะทางประมาณ 863 กิโลเมตร ทำให้ประหยัดเวลาเดินทางได้มากกว่า 3 ชั่วโมง และมีการเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 โดยเส้นทางนี้ลัดเลาะไปตามแม่น้ำโขง มีทัศนียภาพงดงาม และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในเมืองสานะคาม บ้านวัง และบ้านน้ำสัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของพื้นที่ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและ สปป.ลาวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น” พีรเมศร์ ขยายความ

ประโยชน์ของเส้นทาง R11 คือ สร้างความเชื่อมโยงเชิงกายภาพระหว่างสองประเทศและอนุภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้การเดินทางของประชาชนและการขนส่งตามแนว CVEC มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการเดินทางของประชาชนและการขนส่งลดต่ำลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการส่งเสริมการค้า และการลงทุนระหว่างสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการค้าชายแดน ณ ด่านภูดู่

ทั้งนี้สินค้านำเข้าที่ผ่านทางด่านภูดู่ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เศษเหล็ก ผลิตภัณฑ์จักสาน เป็นต้น ขณะที่สินค้าส่งออก ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น สินค้าอุปโภคบริโภค อุปกรณ์การเกษตร อาหารสด/แห้ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการใช้สินค้า วัสดุ และอุปกรณ์ก่อสร้างของไทย สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวมากขึ้น เพิ่มโอกาสทางการค้าขายแดน การท่องเที่ยว และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ที่สำคัญคือยังเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญของเส้นทางอาเซียน-จีน สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของ GMS (Greater Mekong Subregion)

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและ สปป.ลาว ที่เพิ่งครบรอบ 75 ปี นอกจากความเชื่อมโยงกันบนเส้นทางโลจิสติกส์ การค้า การลงทุนแล้ว ยังมีการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ ซึ่งไทยกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Fin Hub)

ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบ Cross-border QR Payment โดยเชื่อมโยง National ITMX (NITMX) ของไทย และ Lao National Payment Network (LAPNet) ของ สปป. ลาว เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินข้ามพรมแดน ภาครัฐไทยให้การสนับสนุนถ่ายทอดองค์ความรู้และความร่วมมือด้านเทคนิค

พีรเมศร์ขยายความถึงแนวทางความร่วมมือในอนาคตว่า “เรายังมีโครงการความร่วมมือระหว่างไทย และสปป.ลาว ในหลายด้าน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด (Go Green) เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีด้านการเงิน ยกระดับระบบการเงินของทั้งสองประเทศ ขยายโครงการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ สปป.ลาว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศ”

ต้องบอกว่าถนนหมายเลข R11 ช่วยส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของประชาชน สปป.ลาวดีขึ้น โดยเฉพาะความสะดวกสบายในการเดินทาง ในเส้นทางภาคกลางและภาคเหนือ การเดินทางในชีวิตประจำวันและการค้าชายแดน นอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสทางการค้าแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ว่าเส้นทางนี้จะเพิ่มสัดส่วนของนักเดินทางท่องเที่ยวให้เดินทางระหว่างสองประเทศมากยิ่งขึ้น และยิ่งเส้นทางรถไฟ สปป.ลาว-คุณหมิง น่าจะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางมายัง สปป.ลาว และเข้ามาเที่ยวในไทยมากขึ้น.