วันจันทร์, มีนาคม 31, 2025
Home > Cover Story > อาณาจักรหมื่นล้าน “มิลเลนเนียม กรุ๊ป”  จากดีลเลอร์ BMW สู่เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว

อาณาจักรหมื่นล้าน “มิลเลนเนียม กรุ๊ป”  จากดีลเลอร์ BMW สู่เครื่องบินเจ็ตส่วนตัว

ปี 2568 เป็นปีที่ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGC-ASIA ก้าวสู่ปีที่ 25 ของการดำเนินธุรกิจ และเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ในฐานะแม่ทัพใหญ่ ปลุกปั้นสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร จากดีลเลอร์รถบีเอ็มดับเบิลยู (BMW) สู่การเป็น Lifestyle Mobility ที่ไปไกลถึงการให้เช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว กับรายได้หลักหมื่นล้านบาทต่อปี และบริษัทในเครือมากกว่า 10 บริษัท

หลักไมล์ของมิลเลนเนียม กรุ๊ป เริ่มต้นขึ้นในปี 2542 เมื่อครอบครัวธรรมชวนวิริยะได้ก่อตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์  โดยในตอนเริ่มจัดตั้งใช้ชื่อ บริษัท วีอาร์ที เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (จากนั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อครั้งที่ 1 ในปี 2554 เป็น บริษัท มาสเตอร์ กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด และมีการเปลี่ยนชื่อครั้งที่ 2 ในปี 2564 เป็นชื่อปัจจุบัน คือ บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด) โดยพร้อมกันนั้นได้มีการจัดตั้งบริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ จำกัด (Millennium Auto – MA) ขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง และการให้บริการหลังการขายสำหรับรถยนต์ยี่ห้อ BMW และ Mini ตามมาด้วยการเปิดศูนย์จัดจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ BMW และ Mini สาขาแรกที่พระราม 4 ในปี 2543 ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นของอาณาจักร มิลเลนเนียม กรุ๊ป ในปัจจุบัน

หลังจากนั้นครอบครัวธรรมชวนวิริยะและบริษัทฯ ได้ขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้ง บริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ ลาดพร้าว จำกัด ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อในปี 2559 เป็นชื่อปัจจุบัน คือบริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป จำกัด (MAG) เพื่อดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง และให้บริการหลังการขาย สำหรับรถยนต์ BMW และ Mini ซึ่งมีการเปิดศูนย์จำหน่ายรถยนต์ BMW สาขาแรกที่ลาดพร้าวในปี 2545 นอกจากรถยนต์แบรนด์หรูอย่าง BMW และ Mini แล้ว บริษัท MAG ยังขยายธุรกิจสู่การจัดจำหน่ายรถยนต์มือสองแบรนด์อื่นๆ เพิ่มเติม ภายใต้ยี่ห้อ Master Certified Used Car ในขณะที่ครอบครัวธรรมชวนวิริยะก็เดินหน้าขยายธุรกิจเช่นกัน โดยมีการจัดตั้ง บริษัท มาสเตอร์ คาร์ เร้นเทิล จำกัด (MCR) ในปี 2545 เพื่อเริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการเช่ารถยนต์ระยะยาวและระยะสั้น (รายวัน/รายเดือน) และธุรกิจให้บริการ Limousine

ทั้งนี้ในปี 2549 ครอบครัวธรรมชวนวิริยะยังได้ร่วมจัดตั้งบริษัท ออโต้ สมาร์ท-เอ็กซ์ จำกัด (ASE) เพื่อให้บริการทำความสะอาดและเคลือบสีรถยนต์ ตามมาด้วยการจัดตั้งบริษัท มาสเตอร์ ไดรฟเวอร์ แอนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด (MDS) เพื่อให้บริการและจัดหาคนขับรถ โดยที่บริษัท มิลเลนเนียม ออโต้ จำกัด (MA) ก็เดินหน้าเปิดศูนย์จัดจำหน่ายรถยนต์ BMW และ Mini อย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ปี 2552 บริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจมากขึ้นไปอีกขั้น โดยร่วมจัดตั้งบริษัท แมกซี่ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด (Maxi) เพื่อให้บริการนายหน้าประกันภัย หลังจากนั้นอีก 2 ปี เรียกได้ว่าเป็นปีแห่งการขยายธุรกิจของครอบครัวธรรมชวนวิริยะเลยก็ว่าได้ เพราะมีการจัดตั้งบริษัท พัฒนาการ ฮอนด้า ออโตโมบิล จำกัด (PHA) เพื่อดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง และให้บริการหลังการขาย สำหรับรถยนต์ Honda ส่วนบริษัท MCR ได้เข้าทำสัญญาแฟรนไชส์ (Franchise) กับบริษัท Sixt SE ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการเช่ารถเบอร์ต้นๆ ของประเทศเยอรมนีและทวีปยุโรป เพื่อขยายธุรกิจให้บริการเช่ารถยนต์ระยะสั้นในประเทศไทยภายใต้ยี่ห้อ Sixt Rent a Car

นอกจากนั้น ยังมีการจัดตั้งบริษัท ไอ ทเวนตี้โฟร์ จำกัด (I24) เพื่อให้บริการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บริการด้านฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร และบริการบริหารงานด้านการตลาด รวมถึงต่อยอดความพรีเมียมของยานยนต์ ด้วยการจัดตั้งบริษัท มิลเลียนแนร์ ออโต้ เซลส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า จัดจำหน่าย และให้บริการหลังการขาย สำหรับรถยนต์ Rolls-Royce โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Rolls-Royce อย่างเป็นทางการเพียงรายเดียวในประเทศไทย ซึ่งมีการเปิดศูนย์จัดจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อ Rolls-Royce ที่พระราม 3 เป็นสาขาแรก เมื่อปี 2555

ไม่เพียงรถยนต์หรู แต่มิลเลนเนียมยังก้าวสู่ธุรกิจเรือยอชต์ ด้วยการจัดตั้งบริษัท เอ็มจีซี มารีน แอนด์ ชาร์เตอร์ (เอเชีย) จำกัด (MGC Marine) ขึ้นในปี 2557 เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายและให้บริการซ่อมแซมเรือยอชต์ยี่ห้อ Azimut โดยมีการเปิดศูนย์จัดจำหน่ายเรือยอชต์ Azimut สาขาแรกที่ Ocean Marina Yacht Club พัทยา จ.ชลบุรี ก่อนที่จะกระโดดเข้าสู่ตลาดรถจักรยานยนต์ กับการตั้งบริษัท ยูเอส มอเตอร์ไบค์ จำกัด (USM) เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์และให้บริการหลังการขายให้กับรถจักรยานยนต์ระดับตำนานอย่าง “Harley-Davidson”

แต่รถยนต์ระดับพรีเมียม ภายใต้ร่มของมิลเลนเนียมก็ยังไม่หมดแค่ BWM, Mini และ Rolls-Royce เท่านั้น เพราะมิลเลนเนียมยังเดินหน้าเก็บรถหรูเข้าพอร์ตฯ อย่างต่อเนื่อง  ทั้งนี้ ในปี 2561 มีการจัดตั้งบริษัท โมเดน่า มอเตอร์เวอร์ค จำกัด เพื่อนำเข้า เป็นตัวแทนจำหน่าย และให้บริการหลังการขาย สำหรับรถยนต์ Maserati เพิ่มเข้ามาอีกหนึ่งแบรนด์ ตามมาด้วยจัดตั้งบริษัท เบลฟอร์ต ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำเข้ารถยนต์ Peugeot, จัดตั้งบริษัท เกย์ดอน มอเตอร์ เซลส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส จำกัด เพื่อนำเข้า เป็นตัวแทนจำหน่าย และให้บริการหลังการขาย สำหรับรถยนต์ Aston Martin ตามมาติดๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเก็บมาเกือบครบทุกแบรนด์ระดับทอปกันเลยทีเดียว

จากธุรกิจยานยนต์ มิลเลนเนียมไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่เดินหน้าสร้างอีโคซิสเต็มที่สนับสนุนธุรกิจยานยนต์อย่างต่อเนื่อง โดยจับมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด (Alpha X) ให้บริการเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ (Big Bike) และยานพาหนะทางน้ำ (เรือยอชต์และเรือแม่น้ำ) พร้อมลงนามในสัญญา Referral Agreement เพื่อเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัท วิสต้าเจ็ท จำกัด (VJL) ดำเนินธุรกิจจัดหาลูกค้าสำหรับบริการให้เช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวให้แก่บริษัท VJL

ปี 2566 ถือเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์ที่สำคัญของมิลเลนเนียม กับการพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ปี 2565 ก่อนที่จะเข้าเทรดวันแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ภายใต้บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGC-ASIA ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ (Holding Company) โดยมี ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ซึ่งเป็นผู้ปลุกปั้นมาตั้งแต่ต้น นั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม

ปัจจุบัน MGC-ASIA มีธุรกิจหลักอยู่ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ (Mobility Retail) ซึ่งแบรนด์ยานยนต์ที่กลุ่มบริษัทฯ นำเข้าล้วนเป็นแบรนด์ดังที่ใครๆ ต้องรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น BMW และ Mini ที่เริ่มจำหน่ายเป็นยี่ห้อแรกๆ มาตั้งแต่ปี 2543 นอกจากนั้น ยังมี Honda, Rolls-Royce, Maserati, Aston Martin รถบิ๊กไบค์ BMW Motorrad และ Harley-Davidson, เรือยอชต์ Azimut และเรือแม่น้ำ Chris Craft

นอกจากนี้ ยังจำหน่ายรถยนต์มือสองพร้อมการรับประกัน และบริการจัดหาลูกค้าสำหรับธุรกิจให้เช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว Vista Jet เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงโดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารสายการบินชั้นนำอีกด้วย

  1. กลุ่มธุรกิจให้บริการหลังการขายและบริการซ่อมบำรุงรถยนต์อิสระ (Aftersales Service) รวมถึงจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ อุปกรณ์ตกแต่ง เครื่องแต่งกาย โดยเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้กับกลุ่มบริษัทฯ ได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน MGC-ASIA มีศูนย์บริการครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ และมีศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรเพื่อให้บริการด้านยานยนต์ทุกประเภท ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ MGC-ASIA แตกต่างจากคู่แข่งในตลาด
  2. กลุ่มธุรกิจให้บริการเช่ารถยนต์และพนักงานขับ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2545 ภายใต้บริษัท MCR มีทั้งเช่ารถยนต์ระยะยาวที่เน้นให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าบริษัท โดยมีระยะเวลาการเช่าตั้งแต่ 2-5 ปี และเช่ารถยนต์ระยะสั้น ที่อยู่ภายใต้แบรนด์ระดับโลกอย่าง “Sixt Rent a Car”
  3. กลุ่มธุรกิจการเงินและบริการอื่นๆ เช่น บริการทางการเงินสำหรับยานยนต์ นายหน้าประกันภัย เทคโนโลยีสารสนเทศ ดาต้าเซ็นเตอร์ ศูนย์ฝึกอบรม บริการทำความสะอาด ที่น่าสนใจคือ บริษัท อัลฟา เอกซ์ จำกัด ซึ่ง MGC-ASIA ร่วมทุนกับ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการทางการเงินสำหรับกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง เพราะ MGC-ASIA เองถือว่ามีความชำนาญในด้านสินทรัพย์ที่เป็นยานพาหนะหรู ทั้งรถยนต์ เรือยอชต์ และเครื่องบิน ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สนับสนุนและเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักได้เป็นอย่างดี

และถ้ามองด้านผลประกอบการ แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในระยะหลังมานี้จะไม่สู้ดีนัก แต่ MGC-ASIA กลับสร้างการเติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยปี 2566 สร้างรายได้จากการขายสินค้าและบริการไปที่ 25,033 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2567 มีรายได้รวม 20,334 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 145.60 ล้านบาท และ EBITDA ที่ระดับ 1,631 ล้านบาท โดยไตรมาส 4/2567 (ตุลาคม-ธันวาคม 2567) บริษัทฯ มีความสามารถในการทำกำไรได้สูงสุด โดยมีรายได้รวม 5,977 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32%

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในปีที่ผ่านมานับว่ามีความท้าทายสูง โดยหากอ้างอิงจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศมีอัตราส่วนลดลงประมาณ 26% เทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ MGC-ASIA มีอัตราส่วนลดลงเพียง 10% เป็นผลมาจากรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบรนด์ XPENG ที่ MGC-ASIA เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย และ ZEEKR ที่เป็นตัวแทนจำหน่าย ได้การตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี และมียอดส่งมอบรถมากกว่า 1,000 คัน ขณะที่ธุรกิจบริการหลังการขาย รวมถึงศูนย์ซ่อมสีและตัวถัง Tesla Approved Body Shop (TAB) ก็อยู่ในช่วงขยายตัวและมีกำไรต่อเนื่อง จากการเพิ่มจำนวนของรถยนต์ที่เข้ารับบริการ 19%

“MGC-ASIA ไม่ได้ทำธุรกิจรถยนต์เพียงอย่างเดียว เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งในเมืองไทยและระดับโลกอยู่ในช่วงภาวะชะลอตัว แต่เราเตรียมการมาก่อนหน้านี้แล้ว 2 ปี ว่าธุรกิจรถยนต์จะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหลีกหนีไม่ได้ จึงมีการขยายธุรกิจสู่ภาคการเงินและประกัน ในขณะที่ธุรกิจรถเช่าก็เติบโตอย่างมั่นคงทั้ง inbound และ outbound เพราะเรามีการเปลี่ยนรถให้ใหม่เสมอ ทำให้สามารถทำราคาได้ดีกว่าตลาด ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง XPENG และ ZEEKR ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเทรนด์รถไฟฟ้าในปัจจุบัน ด้านธุรกิจเรือแม่น้ำก็ไปได้ดี เริ่มตั้งแต่ลำละ 7-8 ล้านบาท ไปจนถึง 20 ล้าน ส่วนเรือยอชต์เมื่อ 8 ปีที่แล้วขาย Atlantis ได้ลำหนึ่ง 25 ล้าน ก็ดีใจมากแล้ว แต่วันนี้ราคาเริ่มที่ 50 ล้าน ที่เพิ่งส่งมอบไปไตรมาสสี่ 350 ล้านบาท และมีคำสั่งซื้ออีก 500 ล้านบาท นั่นทำให้ MGC-ASIA มีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ” ดร.สัณหวุฒิ กล่าว

โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 บริษัทฯ มีสินค้ารอส่งมอบ แบ่งเป็น XPENG จำนวน 767 คัน, ZEEKR จำนวน 230 คัน, Rolls-Royce จำนวน 8 คัน, BMW จำนวน 42 คัน, MINI Cooper จำนวน 78 คัน, HONDA จำนวน 337 คัน, Harley-Davidson จำนวน 50 คัน และ BMW Motorrad จำนวน 41 คัน และในไตรมาส 1/2568 ยังเตรียมส่งมอบรถยนต์ XPENG X9 รถตู้ไฟฟ้าทรงสปอร์ตอัจฉริยะ พวงมาลัยขวาล็อตแรกของโลก

สำหรับในปี 2568 ดร.สัณหวุฒิ ตั้งเป้าปั้นรายได้เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2567 ผ่านการขับเคลื่อนใน 4 กลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ บริษัทฯ ยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาดรถพรีเมียม เพื่อครองอันดับ 1 โดยเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หลากหลายแบรนด์ดังอย่างต่อเนื่อง เช่น โรลส์-รอยซ์ โกสต์ ซีรีส์ ทู ที่เป็นกลุ่มอัลตรา-ลักชัวรี เซกเมนต์ เป็นต้น

กลุ่มธุรกิจให้บริการหลังการขาย เตรียมขยายสาขา MMS Car Service & Tire ศูนย์บริการรถยนต์ครบวงจร เพิ่มอีก 5 สาขา จากเดิม 22 สาขา และขยายการให้บริการซ่อมสีและตัวถังยานยนต์ไฟฟ้า Tesla Approved Body Shop (TAB) เพิ่มบริการให้ครอบคลุมในหลากหลายพื้นที่ เพื่อสร้างอัตราการกลับมาใช้บริการของลูกค้าให้สูงขึ้น

กลุ่มธุรกิจให้บริการรถเช่าและพนักงานขับ เตรียมเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อตอบโจทย์การให้บริการในกลุ่มลูกค้าองค์กร รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว รวมถึงรถเช่า มีดีมานด์เพิ่มขึ้น  ส่วนกลุ่มธุรกิจการเงินและอื่นๆ จะรุกตลาดสินเชื่อเพื่อสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Lending) เจาะกลุ่มลูกค้า High Net Worth ในอัตราที่สูงขึ้น พร้อมตั้งเป้าการขยายพอร์ตสินเชื่อเพิ่มขึ้นแตะระดับ 12,500 ล้านบาท ผ่านบริษัท อัลฟา เอกซ์ จำกัด ขณะที่ธุรกิจให้บริการประกันภัย อย่าง บริษัท ฮาวเด้น แมกซี่ อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด กลุ่มบริษัทฯ วางแผนขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ รวมทั้งประกันที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนตามแนวทาง ESG เช่น ในกลุ่มพลังงาน พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก และเมกะเทรนด์ต่างๆ เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการ และรักษาการเป็นโบรกเกอร์ระดับชั้นนำ

“25 ปี คิดเป็น 1 ใน 4 ของศตวรรษที่ MGC-ASIA เจอทั้งความท้าทายและโอกาสมานับครั้งไม่ถ้วน ในปีนี้ MGC-ASIA ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มความได้เปรียบสูงสุดให้ธุรกิจในกลุ่มการเงิน, ประกันภัย และยานยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อน MGC-ASIA สู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนในอนาคต ภายใต้การตั้งเป้าอัตราการเติบโตของรายได้รวมเพิ่มขึ้น 10%” ดร.สัณหวุฒิ ทิ้งท้าย

ต้องยอมรับว่า MGC-ASIA ถือเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นในตลาดยานยนต์ระดับพรีเมียมที่มีการเติบโตที่น่าจับตาไม่น้อยเลยทีเดียว.