สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในศักราชใหม่แม้จะยังมองไม่เห็นทิศทางความเป็นไปที่แน่ชัดนัก หากแต่ภาครัฐก็ยังพยายามอย่างเต็มกำลังที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนด้วยนโยบายใหม่ๆ
ซึ่งหนึ่งในนโยบายใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย คือนโยบายที่น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้เคยมอบนโยบายให้ สสว. หรือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อมุ่งพัฒนากลุ่ม Start Up และเชื่อมต่อ SMEs ไทยกับต่างประเทศ
ทั้งนี้ภาคเอกชนที่ขานรับนโยบายจากรัฐบาล และนำมาเป็นคอนเทนต์ใส่ในรายการทีวีคือ รายการเสือติดปีก ภายใต้การดูแลของไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และ ตัน ภาสกรนที ซึ่งเป็นรายการที่เฟ้นหากลุ่มธุรกิจ Start Up ให้เข้ามานำเสนอแผนธุรกิจและหาความเป็นไปได้ในการเติบโต รวมถึงโอกาสที่จะได้เงินลงทุนเพิ่มเติมจากรายการ
การขยับอีกครั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐระลอกใหม่ คือ ลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนกว่า 60 องค์กร ในโครงการ “สานพลังประชารัฐ ส่งเสริม SMEs Start Up & Social Enterprises” เพื่อเสริมศักยภาพและความเข้มแข็งให้แก่เอสเอ็มอีไทย
อย่างไรก็ตาม จำนวนธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยในปัจจุบันคิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งหมด และมีการจ้างงานกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งหมด ดังนั้นเอสเอ็มอีจึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างงาน สร้างรายได้ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาธุรกิจขนาดใหญ่ต่อไป
ในขณะที่ ตัน ภาสกรนที เคยให้คำนิยามความสำคัญของเอสเอ็มอีไทยว่า “เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องมีเสาเข็มเล็กๆ ประกอบส่วนกับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเสาเข็มขนาดใหญ่นั้นจะแข็งแรงดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีเสาเข็มเล็กๆ เข้ามาเติมเต็มและสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจ”
ดังนั้นการที่ภาครัฐและเอกชนจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจ Start Up ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกนัก เพราะดูเหมือนสถานการณ์เศรษฐกิจไทยตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาในทุกด้านอย่างคู่ขนาน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพ โดยเฉพาะในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีความทันสมัย รู้จักใช้นวัตกรรม และการดำเนินธุรกิจแบบคนรุ่นใหม่
ซึ่งนับวันนักธุรกิจหน้าใหม่ที่เดินเข้าสู่แวดวงธุรกิจนั้นอายุน้อยลงเรื่อยๆ และเกิดการรวมตัวทำธุรกิจของกลุ่มคนรุ่นใหม่แบบรายวัน โดยการเริ่มทำธุรกิจสามารถทำได้ตั้งแต่การรวมกลุ่ม 2-3 คน หรือบางธุรกิจอาจเริ่มต้นด้วยคนเพียงคนเดียว
จากสถิติของการจดทะเบียนบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 พบว่ามีจำนวน 31,557 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งปีหลัง 2557 คิดเป็นร้อยละ 5 และกว่า 80 เปอร์เซ็นต์คือคนอายุระหว่าง 22-25 ปี
ที่ตามติดมาด้วยคือการตั้งเป้าหมายว่าจะประสบความสำเร็จในธุรกิจของตัวเองภายใน 5 ปี สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนแนวโน้มการทำธุรกิจที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาธุรกิจเอสเอ็มอีมักจะถูกมองว่าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ไม่มีความแข็งแรง และขาดเสถียรภาพซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินไม่อยากจะปล่อยสินเชื่อ เว้นเสียแต่จะดำเนินไปตามนโยบายที่ส่งตรงลงมา
กระนั้นดูเหมือนความคิดของสมคิดในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบันจะไม่แตกต่างจากภาคเอกชนมากนัก ที่ว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแรงจะต้องเกิดจากเอสเอ็มที่มีเต็มไปด้วยแนวความคิดใหม่ๆ เอสเอ็มอีที่ต้องการจะสร้างคุณค่าเชิงการค้า กล้าที่จะสร้างธุรกิจบนนวัตกรรม นี่จึงเรียกว่ากลุ่ม Start Up และหน้าที่ที่จะต้องดูแลต้นกล้าเหล่านี้ให้แข็งแรงเติบโต เพื่อที่ออกไปแข่งขันบนเวทีโลกได้
ดังนั้นการจะมีเอสเอ็มอี Start Up ต้องเริ่มจากการสร้างสังคมแห่งความคิดใหม่ โดยโรงเรียน มหาวิทยาลัย ต้องเป็นจุดเริ่มต้น บ่มเพาะความคิดสู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งผมได้สั่งการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เข้าไปเจาะถึงนักเรียนและนักศึกษา ตั้งแต่เขายังเรียนไม่จบ เพื่อที่หลังจากออกมาแล้วสามารถเป็นกลุ่ม Start Up ได้เลย
ทั้งนี้องค์กรขนาดใหญ่ที่ได้ให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอี Start Up นั้นภาครัฐมีการตอบแทนด้วยมาตรการจูงใจ เช่น การลดหย่อนภาษี และอาจมีการปรับแก้กฎหมายต่างๆ เอื้อให้แก่บริษัทใหญ่ๆ ที่มีส่วนช่วยเหลือธุรกิจรายย่อยด้วย
และนี่น่าจะเป็นอีกครั้งที่รัฐบาลปล่อยเงินเข้าสู่ระบบ ด้วยการมอบหมายให้เอสเอ็มอีแบงก์ ธนาคารออมสิน เตรียมเงินทุน 3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งคาดว่า ครม. จะอนุมัติเงินทุนสนับสนุนในช่วง 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
สำหรับเนื้อหาการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกลุ่มภาคี จำนวน 7 ฉบับ ภายใต้ 3 กรอบหลักคือ 1. กรอบ MOU SMEs มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 4 ฉบับ ประกอบด้วย โครงการ Big Brother โครงการส่งเสริม SMEs เข้าถึงแหล่งทุน โครงการส่งเสริม SMEs สู่ตลาดสากล ส่งเสริมช่องทางการตลาด E-Commerce 2. กรอบ MOU Start Up and IDE มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 1 ฉบับ คือการสนับสนุนและพัฒนาระบบนิเวศ (Eco-System) ให้ผู้ประกอบการใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE Start-Up) 3. กรอบ MOU Social Enterprises (SE) ซึ่งมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 2 ฉบับ คือการสนับสนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งของวิสาหกิจเพื่อสังคมและเศรษฐกิจฐานราก และการสนับสนุนด้านการเงิน (SE Funding)
ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี แจกแจงเพิ่มเติมว่า เอกชนที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจใหม่ต้องการความช่วยเหลือ 4 ด้าน คือ การตลาด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน และเงินทุนหมุนเวียน การลงนามในครั้งนี้น่าจะช่วยผลักดันให้จีดีพีของเอสเอ็มอีเติบโตร้อยละ 37 มีสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ของจีดีพีทั้งหมดภายใน 5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ MOU ดังกล่าวจำเป็นต้องตระหนักถึงบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกลุ่มภาคีในโครงการ Big Brother (พี่ช่วยน้อง) เพราะหากเป็นการจับคู่กันทางธุรกิจหรือให้ความช่วยเหลือด้านหนึ่งด้านใด คงต้องนำกรณีของสยาม บานานา และซีพี ออลล์ มาศึกษาเพื่อหาหนทางป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
หรือเราต้องเดินมาถึงจุดที่กฎหมายไทยต้องปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้า ก่อนที่เราจะได้เห็นสถานการณ์ปลาใหญ่กินปลาเล็กจนชินตาเสียก่อน