วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 17, 2025
9:01:59 AM
Home > Cover Story > จุดพลุ TOLLYWOOD หนังไทยโกยเงินแซงฮอลลีวูด

จุดพลุ TOLLYWOOD หนังไทยโกยเงินแซงฮอลลีวูด

ปี 2568 น่าจะเป็นอีกปีที่วงการหนังไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากแรงส่งตลอดปี 2567 โดยเฉพาะปรากฏการณ์  TOLLYWOOD หรือ Thailand + Hollywood  ช่วงชิงรายได้มากกว่า 2,400 ล้านบาท หรือสัดส่วน 54% แซงหน้าภาพยนตร์ฮอลลีวูด จากหนังทั้งหมดที่เข้าฉายในประเทศ 326 เรื่อง เม็ดเงินกว่า 4,500 ล้านบาท

ที่สำคัญ ยังเกิดปรากฏการณ์ “หลานม่า” ภาพยนตร์ไทยจากค่าย GDH ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ฝ่าด่านคู่แข่งต่างชาติอีก 84 เรื่อง กลายเป็น 1 ใน 15 เรื่องสุดท้าย เข้ารอบชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม (ACA DEMY AWARDS / BEST INTERNATIONAL FEATURE FILM SHORTLIST) และยังติดอันดับหนังทำเงินทั่วโลกมากที่สุดจากการสรุปตัวเลขรายได้ของ nextbestpictures.com อยู่ที่  73.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับหนังในสาขาเดียวกัน

เมื่อเทียบกับอันดับ 2 “I’m Still Here” ตัวแทนจากบราซิล ทำรายได้ตามมาเพียง 11.3 ล้านดอลลาร์ และอันดับ 3  “Emilia Perez” ตัวเต็งจากฝรั่งเศส  9.7 ล้านดอลลาร์

ทั้งหมดยิ่งจุดประกายและจะปลุกตลาดเติบโตแบบพุ่งพรวดอีก แม้สถานการณ์ไฟป่าแคลิฟอร์เนียส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถาบันศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences) ผู้จัดรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 97 จนต้องเลื่อนการประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ไปเป็นวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม เวลา 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย  แต่เชื่อแน่ว่า กระแสหนังไทยจะพีกขึ้นจากการลุ้นผลและพิธีการประกาศผลรางวัลในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 3 มีนาคม 2568

สุรเชษฐ์ อัศวเรืองอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  M STUDIO สตูดิโอผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ กล่าวว่า ภาพยนตร์ไทยในปี 2567 ทำรายได้รวมในประเทศ 2,438 ล้านบาท จากภาพยนตร์ไทย 54 เรื่อง โดยมีหนังไทยทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 8 เรื่อง ได้แก่  ธี่หยด 2 ของ M STUDIO ทำรายได้ 815 ล้านบาท หลานม่าของ จีดีเอช 559 ทำรายได้ 339 ล้านบาท พี่นาค 4 ของไฟว์สตาร์ ทำรายได้ 178 ล้านบาท อนงค์ ของ M STUDIO ทำรายได้ 150 ล้านบาท วิมานหนาม ของ จีดีเอช 559 ทำรายได้ 150 ล้านบาท หอแต๋วแตกแหกสัปะหยด ของ M STUDIO ทำรายได้ 130 ล้านบาท เทอม 3 ของ สหมงคลฟิล์ม ทำรายได้ 122 ล้านบาท และ วัยหนุ่ม 2544 ของ เนรมิตหนัง ฟิล์ม ทำรายได้ 122 ล้านบาท

ส่วนภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท มีเพียง 4 เรื่อง คือ Dune : Part Two, Deadpool & Wolverine, Inside Out 2 และ Godzilla x Kong : The New Empire

สุรเชษฐ์กล่าวว่า  M STUDIO ถือเป็นสตูดิโอผลิตหนังน้องใหม่ที่เปิดมาในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2566 และจับมือกับพันธมิตร เช่น ช่อง 3 และ คาร์แมนไลน์ สตูดิโอ ผลิตหนังไทย โดยใช้เวลาเพียง 2 ปี ผลิตหนังไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 11 เรื่อง เริ่มจากปี 2566 นำร่อง 4 เรื่องแรก ได้แก่ เสือเผ่น อาตมาฟ้าผ่า ลอง ลีฟ เลิฟว์!  ธี่หยด และปี 2567 ผลิตอีก 7 เรื่อง ได้แก่ หอแต๋วแตกแหกสัปะหยด อนงค์ มานะแมน ศึกค้างคาวกินกล้วย วัยเป้ง ธี่หยด 2 และคุณชายน์

หากรวมกับการรับจัดจำหน่ายภาพยนตร์แล้ว ปี 2566 บริษัทผลิตหนังไทยและรับจัดจำหน่ายภาพยนตร์ รวม 14 เรื่อง ทำรายได้ 891 ล้านบาท และมีหนังไทยที่ทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท ติด 2 ใน 5 อันดับหนังไทยทำเงิน ได้แก่ สัปเหร่อ ของค่ายไทบ้าน เป็นอันดับหนึ่ง ทำรายได้ 700 ล้านบาท, ธี่หยด ของ M STUDIO ทำรายได้ 500 ล้านบาท, 4 KINGS II ของเนรมิตรหนัง ฟิล์ม ทำรายได้ 250 ล้านบาท, ขุนพันธ์ 3 ของ สหมงคลฟิล์ม ทำรายได้ 100 ล้านบาท และ ลอง ลีฟ เลิฟว์! ของ M STUDIO ทำรายได้ 90 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2567 จากหนังไทย 8 เรื่องที่ทำรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท เป็นหนังของบริษัท 3 เรื่อง ได้แก่ ธี่หยด 2  อนงค์ และหอแต๋วแตกแหกสัปะหยด จากภาพยนตร์ไทยที่ผลิตเองและรับจัดจำหน่าย รวม 16 เรื่อง ทำรายได้รวม 1,322 ล้านบาท

ด้านแผนงานในปี 2568 บริษัทตั้งเป้าหมายเป็นบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไทยอันดับหนึ่ง โดยทุ่มงบลงทุน 1,000 ล้านบาท ร่วมกับพันธมิตร ทั้งช่อง 3 เวิร์คพอยท์กรุ๊ป  โมโนกรุ๊ป กันตนา คาร์แมนไลน์ สตูดิโอ และ Plan B จะผลิตหนังมากกว่า 20 เรื่อง เช่น ธี่หยด 3, นาคี 3, อนงค์ 2, มือปืน, A Million ways to love, The Stone พระแท้ คนเก๊ และสุสานคนเป็น นอกจากนั้น ยังมี อีเรียมซิ่ง 2, เหมรุย 2, ป่าช้าผีแขก, สาปเมือง, Ghost Board, Ring a Bell, Exchange,  หมู่บ้านโคกะโหลก, หอแต๋วแตก แหกหัวกับไส้, นางฟ้า ขาแดนซ์ ระเบียบวาทะศิลป์ ซึ่งทั้งหมดยังพุ่งเป้าขยายตลาดการส่งออกไปตลาดต่างประเทศด้วย

หากดูสัดส่วนการตลาดของสตูดิโอไทยที่ผลิตและรับจัดจำหน่ายหนังไทยพบว่า M STUDIO กวาดส่วนแบ่งมากสุด 54% ตามด้วย GDH  22%  ที่เหลือมีมาร์เกตแชร์ไล่เลี่ยกัน ได้แก่ ไฟว์สตาร์ 8% เนรมิตรหนัง 7% และสหมงคลฟิล์ม 6%

แน่นอนว่า ในบรรดาผู้ผลิต 5 ค่ายใหญ่ “เนรมิตรหนัง ฟิล์ม” ถือเป็นน้องใหม่มาแรงอีกราย ไม่ใช่แค่ “กนกวรรณ วัชระ” คนรักหนังรุ่นใหม่ที่กระโดดเข้ามาลุยธุรกิจ โดยอาศัยเงินทุนส่วนหนึ่งของครอบครัวและเงินทุนส่วนตัวจากการลงทุนซื้อขายหุ้น ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา

แต่กนกวรรณเปิดตัวบริษัทเนรมิตรหนัง ฟิล์ม เมื่อปี 2564  และใช้เวลาไม่ถึงปี แจ้งเกิดเปรี้ยงปร้างจากหนังไทยเรื่องแรก  4 KINGS อาชีวะ ยุค 90 โกยรายได้ไปกว่า 170 ล้านบาท จน แทนไท ณรงค์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไททัน แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์  ขอซื้อกิจการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 100 ล้านบาท

ช่วงปีแรก เนรมิตรหนัง ฟิล์ม ผลิตภาพยนตร์หลากหลายแนว หวังปลุกกระแสหนังไทย ทั้งแนวไซไฟผจญภัย, ผี-สยองขวัญ โรแมนติก-คอเมดี  แนววาย เช่น Leio โคตรแย้ยักษ์, คืนหมีฆ่า, 100 ร้อยขา,แสงกระสือ 2, ปล้นทะลุไมล์, ดอยบอย และ 4 KINGS 2

ปีต่อมาลุยอีก 4 เรื่อง คือ มอร์ริสัน แดนสาป ตาคลี เจเนซิส และวัยหนุ่ม 2544 โดยส่งหนังหลายเรื่องไปลุยตลาดต่างประเทศ พร้อมนำเข้าภาพยนตร์ เพื่อเจาะตลาดลูกค้าใหม่ๆ เช่น Love Lie Bleeding รัก ร้าย ร้าย  52 เฮิรตซ์ คลื่นเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน และ Heavy Snow ฤดูหนาว เรารักกัน

ต่อมา บริษัท ไททัน แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดตัวบริษัท ฉายแสง แอด.เวนเจอร์ ดึง ชัยวัฒน์ มิ่งไม้ อดีตมาร์เกตติ้ง เอ็ม พิคเจอร์ส เข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อลุยกลยุทธ์การตลาดและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไทยของค่ายเนรมิตรหนัง ฟิล์ม

ปรากฏว่า ปี 2566 ฉายแสง แอด.เวนเจอร์ ผลักดัน 4Kings 2 สามารถทำรายได้สูงถึง 240 ล้านบาททั่วประเทศ และยังร่วมกับพาร์ตเนอร์เลือกภาพยนตร์ต่างประเทศที่เป็นกระแสเข้ามาฉายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับ Night Edge Pictures นำ TALK TO ME จับ มือ ผี หนังสยองขวัญอินดี้ จาก A24  และผนึกค่าย โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (ประเทศไทย) ดึงภาพยนตร์เรื่อง EXHUMA ขุดมันขึ้นมาจากหลุม หนังที่สร้างรายได้ถล่มทลายที่ประเทศเกาหลี เข้ามาเปิดตัวในไทย กวาดรายได้ไปถึง 52 ล้านบาท เฉพาะพื้นที่ฉายในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่

ล่าสุด บริษัทรุกตลาดหนังแอนิเมชัน เปิดยูนิตธุรกิจใหม่ “เมะ” (ME’) เพื่อจัดจำหน่ายและทำการตลาดภาพยนตร์แอนิเมชันแยกออกจากแนวอื่นๆ โดยปีที่ผ่านมามีหนังแอนิเมชันเข้าฉายถึง 9 เรื่อง เช่น  Haikyu!! The Dumpster Battle ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน ตอน: ศึกที่กองขยะ”, Ya Boy Kongming : Road to Summer Sonia ขงเบ้ง เจาะเวลามาปั้นดาว, Totto-Chan: The Little Girl at the Window โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง,  Given The Movie : Hiragi Mix , Blue Lock The Movie – Episode Nagi, My Hero Academia มายฮีโร่ อคาเดเมีย: You’re Next , GHOST CAT ANZU : ภูตเหมียว อันซุ, Bocchi the rock! Kessoku band fixed star- THAILAND CONCERT SCREENING และ  Solo Leveling: ReAwakening

สำหรับปีนี้ ผู้บริหารเนรมิตรหนัง ฟิล์ม และ ฉายแสง แอด.เวนเจอร์ เตรียมประกาศไลน์อัปหนังไทย-เทศ หลากหลายแนวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยมั่นใจว่า จะสร้างเสียงฮือฮาและผลักดันส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนังไทยที่กำลังมาแรงสุดขีด.