เมื่อเร็วๆ นี้ Brand Finance บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก เปิดเผยรายงานประจำปีเกี่ยวกับแบรนด์ในประเทศกลุ่มอาเซียนที่สร้างมูลค่าและแข็งแกร่งที่สุด (The annual report on the most valuable and strongest ASEAN brands) จำนวน 500 บริษัท “ASEAN 500 (2024)”
สำหรับประเทศไทยมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่ติดโผรวม 74 บริษัท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดในประเทศไทย 4 ปีซ้อน และติดอันดับ 4 ของภูมิภาคอาเซียน มูลค่าแบรนด์กว่า 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.8 แสนล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 25%
ขณะที่ธุรกิจไทยที่ติดกลุ่ม 50 อันดับแรก มี 10 บริษัท นอกจาก ปตท. ยังมี แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ปูนซิเมนต์ไทย (SCG) ทรู คอร์ปอเรชั่น (True-Dtac) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) สุราบางยี่ขันในเครือไทยเบฟเวอเรจ (Ruang Khao) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และอินโดรามา (IVL)
ถ้าแยกรายประเทศพบว่า สิงคโปร์สามารถสร้างมูลค่าจากแบรนด์สูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 24.5% ตามมาด้วยมาเลเซีย 18.3% อินโดนีเซีย17.8% ไทย 16% เวียดนาม 15.6% และฟิลิปปินส์ 7.7% ขณะที่หากแยกตามประเภทอุตสาหกรรม ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ (Banking) เป็นกลุ่มแบรนด์ที่สร้างมูลค่าสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 28.5% ตามมาด้วยกลุ่ม Telecom 14.2% Oil & Gas 11.2% Food 5% Engineering 4.6% Retail 4.5% Leisure & Tourism 3.7% Real Estate 3.3% และ Tobacco 3%
ทั้งนี้ เปโตรนาส (Petronas) บริษัทน้ำมันของรัฐบาลมาเลเซีย ติดอันดับ 1 แบรนด์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในอาเซียน โดยมีมูลค่าแบรนด์เพิ่มขึ้น 15% อยู่ที่ 14,600 ล้านดอลลาร์ หรือราว 496,400 ล้านบาท
อันดับ 2 ธนาคารดีบีเอส (DBS) ของสิงคโปร์ มีมูลค่าแบรนด์เพิ่มขึ้น 5% เป็น 11,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 374,000 ล้านบาท และอันดับ 3 บริษัทสื่อสารโทรคมนาคม Viettel ของเวียดนาม มูลค่าแบรนด์ 8,900 ล้านดอลลาร์หรือราว 3 แสนกว่าล้านบาท
สำหรับ ปตท. นั้น Brand Finance ระบุเป็นผลจากการปรับตัวทางธุรกิจ ผลประกอบการ และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังติดอันดับ 3 ของแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดในไทยและเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas ของภูมิภาคอาเซียน
ต้องยอมรับว่า ปตท. ใช้เวลาก่อร่างสร้างอาณาจักรมากกว่า 4 ทศวรรษ เดิมชื่อ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ซึ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2521 และมีผลบังคับใช้ในวันถัดมา สมัยรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ โดยควบรวมรัฐวิสาหกิจเดิม 2 แห่งคือ องค์การเชื้อเพลิง สังกัดกรมการพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมกับองค์การแก๊สธรรมชาติแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อดำเนินกิจการพลังงานปิโตรเลียม หรือธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในลักษณะการพึ่งพาตนเอง เนื่องจากประเทศไทยขณะนั้นเจอวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงเปลี่ยนชื่อสถานีบริการน้ำมันจากตรา “สามทหาร” เป็น ปตท. ภายใต้สโลแกน นิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ ปตท.
ปี 2523 มีการออกแบบตราสัญลักษณ์เป็นรูปเปลวไฟสีฟ้า หยดน้ำมันสีน้ำเงิน วงกลมสีแดง ซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบัน
1 ตุลาคม 2544 การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยแปรสภาพรัฐวิสาหกิจเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เพื่อให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยโอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้สินความรับผิดชอบ พนักงาน–ลูกจ้าง และส่วนธุรกิจทั้งหมด
6 ธันวาคม 2544 หุ้น PTT เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรก ดำเนินกิจการเติบโตและขยายอาณาจักรธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ปี 2550 บริษัท คอนอโค (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของสถานีบริการน้ำมันเจ็ท และร้านสะดวกซื้อ Jiffy ตัดสินใจขายกิจการให้ ปตท. ทั้งหมด มีการจัดตั้งบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด
2 ปีต่อมา ปั๊มเจ็ทปรับเปลี่ยนเป็นสถานีบริการน้ำมัน ปตท. คงเหลือร้านสะดวกซื้อ จิฟฟี่ และเริ่มพัฒนาสถานีบริการน้ำมันโฉมใหม่ PTT Life Station รวม 3 รูปแบบตามขนาดพื้นที่ คือ PTT Park, Platinum และ Standard
ปี 2557 เปิดตัวโครงการ The Crystal PTT คอมมูนิตี้มอลล์และสถานีบริการน้ำมัน ประกอบด้วยปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ Jiffy ร้านกาแฟ Café Amazon ซูเปอร์มาร์เกต Jiffy Plus ร้านอาหารและร้านค้าต่างๆ บนพื้นที่ 12 ไร่บนถนนชัยพฤกษ์ พร้อมเปิดตัวแมสคอตชื่อ ก็อตจิ
ปี 2559 ปตท. วางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ แยกกิจการค้าปลีกน้ำมันและกลุ่มนอนออยล์ ตั้งบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) เป็นบริษัทแกน พร้อมเสนอแผนขายหุ้นไอพีโอ เพื่อนำ PTTOR จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อรองรับการแข่งขันในธุรกิจน้ำมัน จนกระทั่งมีการโอนกิจการและหุ้นตามแผนภายใต้ชื่อ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2561
ปัจจุบัน ปตท. ประกอบธุรกิจหลักด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และลงทุนธุรกิจมากมายผ่านบริษัทในเครือเกือบ 50 บริษัท ทั้งธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและธุรกิจไลฟ์สไตล์ใหม่ โดยเฉพาะ OR บริษัทหัวหอกหลักที่รุกขยายธุรกิจนอนออยล์ ทั้งกลุ่มธุรกิจ Mobility พลังงานทดแทนในอนาคตและกลุ่ม Lifestyle ปลุกปั้นแบรนด์ค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม เปิดสาขามากกว่า 4,462 สาขา ไม่ว่าจะเป็น Café Amazon, Pearly Tea, Pacamara Coffee Roasters และร้านสุขภาพแบรนด์ใหม่ๆ
แน่นอนว่า Café Amazon ถือเป็นธุรกิจร้านกาแฟต้นแบบในสถานีบริการน้ำมันจนคู่แข่งขันต่างหันมาสร้างธุรกิจของตัวเอง ทั้ง “อินทนิล” ของค่ายบางจากและ “พันธุ์ไทย” ของกลุ่มพีทีจี เอ็นเนอยี รวมถึงการปลุกปั้นคอมมูนิตี้มอลล์ในปั๊มน้ำมันของ ปตท. ยังเปิดสมรภูมิใหม่ให้เหล่าร้านค้าปลีกต่างๆ
ผลประกอบการล่าสุด ช่วง 9 เดือนแรกปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาท หรือ 2% เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2566 รายได้รวม 2.4 ล้านล้านบาท และมีสินทรัพย์ 3.3 ล้านล้านบาท.