วันพุธ, มกราคม 22, 2025
Home > Cover Story > ท็อปส์ ปลุกตลาดตรุษจีน สร้างกลยุทธ์ด้วยดาต้า

ท็อปส์ ปลุกตลาดตรุษจีน สร้างกลยุทธ์ด้วยดาต้า

หลังเปิดศักราชใหม่ ประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ปากท้องเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจ หากจะมองอย่างตรงไปตรงมา ประชาชนคนไทยติดตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อนั่นเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับความสามารถในการจับจ่าย หนี้ครัวเรือน และที่ดูจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษคือ นโยบายด้านการเงินจากภาครัฐ การแจกเงินหมื่น มาตรการ Easy E-Receipt หรือแม้แต่มาตรการ คุณสู้เราช่วย

แน่นอนว่ามาตรการด้านการเงินเหล่านี้เป็นตัวกระตุกชีพจรทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงบรรดาห้างร้านต่างๆ ที่อ้าแขนพร้อมรับการจับจ่ายจากประชาชนเพื่อเข้าร่วมมาตรการด้วย โดยเฉพาะในไตรมาสแรกของปี และเม็ดเงินจะสะพัดมากที่สุดคือช่วงตรุษจีน นอกจากการท่องเที่ยวแล้วยังมีการใช้จ่ายในกลุ่มห้างค้าปลีกสูงมากกว่าช่วงเวลาปกติ

“ดัชนีชี้วัดการใช้จ่ายในช่วงไตรมาสแรกที่เห็นได้ชัดคือ เทศกาลตรุษจีน ที่ต้องนับว่าเป็นโมเมนตัมขนาดใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกที่ต่อเนื่องมาจากช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่จะสร้างความคึกคักและก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมทั่วประเทศ ข้อมูลจากปี 2567 ตลาดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านล้านบาท ต้องบอกว่านี่เป็นตัวเลขที่ฟื้นตัวเต็มที่หลังจากสถานการณ์โควิด” จักรกฤษณ์ จตุปัญญาโชติกุล รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด ประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ให้ข้อมูล ก่อนจะขยายความถึงตัวเลขคาดการณ์ของตลาดของปี 2568-2570

“ถ้าถามว่ามองตลาดจะมีการเติบโตอย่างไร Euromonitorคาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2568-2570 ตลาดนี้จะมีมูลค่าขยับไปที่ 2.3 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่ามีโอกาสที่จะเติบโตในอัตราเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 4.6 เปอร์เซ็นต์”

ปัจจัยที่จะส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์เป็นไปตามคาดน่าจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ บรรดาห้างค้าปลีกย่อมต้องยิ้มรับผลที่จะตามมา

“แน่นอนว่าเราจะได้รับอานิสงส์จากทั้งมาตรการ Easy E-Receipt รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่จะอำนวยให้ภาคประชาชนมีเงินเหลือสำหรับจับจ่ายมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งท็อปส์ ในฐานะผู้นำเชนธุรกิจค้าปลีกของไทยมองเห็นโอกาสในการกระตุ้นภาคการบริโภคของตลาดในช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงเดินหน้าจัดแคมเปญแรกของปี The Great Chinese New Year 2025”

ท่ามกลางปัจจัยบวกที่น่าจะเอื้ออำนวยให้เกิดแรงซื้อจากผู้บริโภค ทำให้ผู้บริหารท็อปส์ตั้งเป้ายอดขายในช่วงตรุษจีนว่าน่าจะมีการเติบโต 20% ทว่า แค่การจัดแคมเปญประจำเทศกาลไม่น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญให้ท็อปส์ มุ่งไปสู่เป้าหมายได้

ดาต้า เป็นเครื่องมือที่บรรดาธุรกิจจำเป็นต้องมี เพื่อสร้างการวิเคราะห์ตลาด ลูกค้า จนนำไปสู่การวางแผนทิศทางการดำเนินธุรกิจและสร้างกลยุทธ์เพื่อใช้ในการประลองสรรพกำลังบนเวทีการแข่งขัน การมีฐานข้อมูลรอบด้านจะช่วยสร้างความได้เปรียบอย่างมาก

เช่นเดียวกับที่ ท็อปส์ ใช้ฐานข้อมูลจากลูกค้าท็อปส์มาสร้างเป็นกลยุทธ์เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2568 ที่สามารถจำแนกได้ 4 Trends ได้แก่ 1. Smart Spending & Value Equation การใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า คุ้มราคา  2. Self-Healing ฮีลใจ, ทันกระแส และมีสตอรี่ 3. Sustainability ดีต่อโลก ดีต่อใจ เน้นความยั่งยืน และ 4. Saiyasart ความเชื่อ พึ่งพาไสยศาสตร์ มูเตลู

จักรกฤษณ์ขยายความเทรนด์แรกว่า “แม้ว่าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการจากภาครัฐช่วยเป็นแรงหนุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง คำนึงถึงความจำเป็นของสินค้าเป็นหลัก สินค้าต้องคุ้มค่าเมื่อเทียบกับเงินที่จ่าย

“สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงแบบรายวัน เราอาจเห็นการซื้อสินค้าที่อยู่ในกระแส หรือสร้างความรู้สึกว่าได้รับคุณค่าทางจิตใจ หรือเป็นสินค้าที่มีสตอรี่ แน่นอนว่าสินค้าที่เกี่ยวกับความยั่งยืน หรือสินค้าที่ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อโลก จะถูกเลือกเป็นอันดับแรกๆ”

ขณะที่การเติบโตของกระแสมูเตลูแทรกซึมไปในทุกวงการ ความเชื่อของคนไทยเป็นเรื่องที่สามารถต่อยอดและสร้างมูลค่าได้ โดยเฉพาะเมื่อไปจับกับความคาดหวังท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ซึ่งธุรกิจสายมู ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในธุรกิจดาวรุ่งของปี 2567 มีการประเมินว่าธุรกิจกลุ่มนี้จะมีเงินสะพัดหลักแสนบาท

ข้อมูลจาก ท็อปส์ ระบุว่า  คนไทยกว่า 88% ยังมีความเชื่อเรื่องการมู มีข้อมูลจากสถาบันวิจัยความเป็นอยู่ ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ระบุว่า 5 อันดับเรื่องที่สายมูเตลูต้องการมูมากที่สุดได้แก่ การเงิน 44% โชคลาภ 17% สุขภาพ 12% การงาน 8% การเรียนและความรัก 3%

นอกจากนี้ จากผลสำรวจของวิจัยกรุงศรียังพบว่า ผู้บริโภค GenY และ GenX ประมาณหนึ่งในสาม ใช้จ่ายเงินสำหรับสินค้าเสริมโชคลาภมากกว่า 1,000 บาทต่อปี ในขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มเบเบี้บูมเมอร์เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายมากที่สุด โดย 7% ของกลุ่มนี้ใช้จ่ายมากกว่า 5,000 บาทต่อปี

“จากดาต้าของลูกค้าท็อปส์ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2567 พบว่า 54% ของลูกค้าที่มาจับจ่ายมีอายุระหว่าง 35-54 ปี หรืออยู่ในระหว่าง Gen Y และ Gen X เป็นส่วนใหญ่ โดยมีสัดส่วนของลูกค้าผู้หญิงมากถึง 76% และกว่า 69% อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากนี้ พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มียอดการจับจ่ายซื้อสินค้าต่อตะกร้า (Basket Size) เติบโตขึ้น 23% เทียบกับช่วงเวลาปกติ รวมทั้งปี 2567 มียอดขายการสั่งซื้อสินค้าตรุษจีนล่วงหน้า (พรีออเดอร์) ของท็อปส์ที่เติบโตขึ้น 59% เทียบกับปี 2566 และมียอดขายสูงสุด ในวันจ่ายเพิ่มขึ้น +35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ

“โดย 5 หมวดหมู่สินค้าขายดีในช่วงตรุษจีนในปี 2567 คือ ผักและผลไม้ 22.2% ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด 20.5% เครื่องปรุงและอุปกรณ์ทำอาหาร 11.7% เนื้อสัตว์และอาหารทะเล 9.4% และของใช้ในบ้าน 8.6%”

การคาดการณ์การเติบโตด้านยอดขายของท็อปส์ ดูจะสอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ประเมินว่าเทศกาลตรุษจีนสถานการณ์การจับจ่ายจะคึกคักเป็นพิเศษ

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมสำรองธนบัตรชนิดราคาต่างๆ รองรับความต้องการของประชาชนที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2568

ทั้งนี้แบงก์ชาติประเมินว่าธนาคารพาณิชย์จะมีการเบิกจ่ายธนบัตรเป็นมูลค่าสุทธิประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจาก ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่งัดกลยุทธ์มาดึงกระแสการจับจ่ายในช่วงตรุษจีน ห้างสรรพสินค้า ค้าปลีกอื่นๆ ต่างพากันจัดแคมเปญเพื่อหวังจูงใจผู้บริโภคในช่วงเวลานี้แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะการตลาดแบบมูเตลู ที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งการดึงอาจารย์คนดังในสายนี้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ และถึงขั้นอัญเชิญเหล่าเทพที่หลายคนเชื่อถือศรัทธามาเป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูดเม็ดเงิน

แม้ว่าช่วงเทศกาลตรุษจีนจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่เงินที่ถูกนำมาจับจ่ายในช่วงนี้น่าจะส่งผลต่อยอดขายโดยรวมของทั้งปี กระนั้นก็ยังไม่อาจวัดผลอะไรที่เป็นรูปธรรมได้ชัดเจน เมื่อยังเป็นเพียงแค่ไตรมาสแรกของปีเท่านั้น เมื่อเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญหน้ากับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกรอบด้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้าลงกว่าปี 2567 เล็กน้อย แรงส่งจากการท่องเที่ยวต่อ GDP เริ่มลดลงหลังจำนวนเข้าใกล้ระดับก่อนโควิด โมเมนตัมการเติบโตการท่องเที่ยวปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2567 ที่คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวรวมไว้ที่ 35.6 ล้านคน มาอยู่ที่ 37.5 ล้านคน ในปี 2568 เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเดินทาง

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนซึ่งเคยเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2565-2567 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากกำลังซื้อที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทิศทางสินเชื่อที่โตช้าลง ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟสถัดๆ ไป ในวงเงินงบประมาณอีกราว 1.8 แสนล้านบาท คาดว่าจะส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนราว 0.2-0.3% ของ GDP

ขณะที่เรื่องที่น่าจับตาเป็นพิเศษ น่าจะเป็นปัจจัยที่จะกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักในโลก ไม่ว่าจะสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน การมาถึงของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะฟื้นสงครามการค้ารอบใหม่ ปัจจัยภายในที่หลายคนกำลังกังวลคือ อัตราค่าแรงที่ปรับและมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568

สถานการณ์เศรษฐกิจปีนี้ที่มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากภาครัฐจะมีทิศทางดีขึ้นหรือไม่ ขณะที่ธุรกิจในมิติต่างๆ ของไทยยังคงน่าสนใจ.