วันพุธ, ธันวาคม 25, 2024
Home > Cover Story > สู่ 100 ปี เจริญอุตสาหกรรม ปั้นผลไม้รถเข็นสู่ Bangkok Tasty

สู่ 100 ปี เจริญอุตสาหกรรม ปั้นผลไม้รถเข็นสู่ Bangkok Tasty

เจริญอุตสาหกรรม หรือ จิ้นฮ่วย ดำเนินธุรกิจผลิตอาหารกระป๋อง ผลไม้แปรรูป มาเป็นเวลา 99 ปี การก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 ด้วยแนวคิดที่รอบคอบมากขึ้น เช่น ลดการพึ่งพาเงินจากต่างชาติ ด้วยแนวคิดเพิ่มสัดส่วนลูกค้าไทย พร้อมปั้นแบรนด์ Bangkok Tasty ให้แข็งแรงขึ้น

จิราดา หรือ เอมมี่ เล่าจุดเริ่มต้นของเจริญอุตสาหกรรม ที่เริ่มจากรุ่นทวดเมื่อ 99 ปีก่อน จากการทำซีอิ๊ว ก่อนจะขยับขยายมาผลิตอาหารแปรรูป

“ธุรกิจเรามีจุดเริ่มต้นจากการทำซีอิ๊ว ก่อตั้งจิ้นฮ่วยในปี พ.ศ. 2468 ซึ่งคือคุณทวด เจน 1 ก่อนจะส่งต่อมายังเจน 2 คุณปู่ เจน 3 คุณพ่อ และเจน 4 คือ พวกเราพี่น้อง ลูกพี่ลูกน้อง” จิราดา ศรีแสงนาม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์ เล่า

ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่หลายบ้านมักจะคอยปูทางและกำหนดเส้นทางเดินของทายาทให้สืบทอดธุรกิจของตระกูลในอนาคต แต่จิราดาเล่าว่า ครอบครัวไม่ได้พูดคุยอย่างเป็นทางการแบบนั้น แต่ใช้วิธีสร้างการเรียนรู้ ให้ค่อยๆ ซึมซับ “คุณพ่อพาลูกๆ ไปดูโรงงานตั้งแต่ยังเด็ก และปล่อยให้ลูกๆ ได้ซึมซับกันเอง ซึ่งเราเป็นคนชอบเรียนรู้ ชอบลอง จึงตัดสินใจเลือกเรียนสายวิทย์ ฟูดไซน์ หลังเรียนจบก็เข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัว ก่อนหน้านั้นเริ่มทำในช่วงฝึกงานปี 3 ส่วนพี่ชายก็ดูแลเรื่องงานขาย ต้องติดต่อประสานงาน ออกบูธต่างประเทศบ่อยๆ พวกเราถือเป็นเจนที่สี่ ซึ่งไม่ได้มีแค่ 2 คนพี่น้อง ยังมีลูกพี่ลูกน้องที่มีส่วนในการทำงานของธุรกิจครอบครัวด้วย”

ปัจจุบันเจริญอุตสาหกรรมมีสินค้าอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่ม คือ อาหารแปรรูปกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง และผลไม้อบแห้ง นอกจากการรับจ้างผลิต หรือ OEM ที่มีสัดส่วนกว่า 70% ของธุรกิจ เจริญอุตสาหกรรมจึงเริ่มพัฒนาแบรนด์เป็นของตัวเอง เมื่อเห็นช่องว่างของตลาดที่น่าจะเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจ

“70% ของธุรกิจคือการรับจ้างผลิต โดยเฉพาะในกลุ่มผลไม้อบแห้ง จนกระทั่งเรามองเห็นโอกาสว่ายังมีช่องว่างในตลาดให้เราได้พัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ เราจึงเริ่มงานวิจัยสินค้าใหม่ภายใต้แบรนด์ Bangkok Tasty โดยเราจะหยิบเอา Soft Power จากอาหารการกินของไทย อย่างรถเข็นขายผลไม้ซึ่งเป็นหนึ่งใน Street Foodมาใส่ให้กับสินค้า เรามี Story Telling เพื่อสร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์”

“ตลาดผลไม้อบแห้ง หรือผลไม้แปรรูป แม้จะมีคู่แข่งเยอะ โดยเฉพาะคู่แข่งที่เป็นลูกค้า OEM ของเราเอง แต่เราสร้างความแตกต่างเพื่อไม่ให้ทับไลน์สินค้ากับผู้จ้างผลิตด้วย กระทั่งเราได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ มะม่วงอบกรอบคลุกน้ำปลาหวาน มะม่วงอบกรอบคลุกพริกเกลือ ฝรั่งอบกรอบคลุกน้ำปลาหวาน และฝรั่งอบกรอบคลุกพริกเกลือ”

จิราดาอธิบายว่า เจริญอุตสาหกรรมมี R&D Innovation Center ที่สามารถพัฒนาสินค้าร่วมกับลูกค้า เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาดลูกค้าได้ เราเป็นผู้นำในเรื่องการผลิตสินค้า OEM แบบครบวงจร รวมถึง Bulk pack ที่เหมาะสมกับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบเพื่อต่อยอดในการผลิตสินค้า

หัวเรือใหญ่ของ บริษัท เจริญอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) คือ ศักดา ศรีแสงนาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคยให้ข้อมูลว่า เจริญอุตสาหกรรมมองเห็นกระแสความนิยมในวัฒนธรรมไทย หรือ Soft Power ที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก แบรนด์ Bangkok Tasty จึงเกิดขึ้นเพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคชาวไทยโดยเฉพาะ

โดยก่อนหน้านี้ แบรนด์ Bangkok Tasty นอกจากสินค้าในกลุ่มผลไม้อบแห้งแบบไม่ปรุงรสแล้ว ยังมีขนมไทยอบกรอบหลายรสชาติ เช่น ข้าวเหนียวมะม่วงอบกรอบ ข้าวเหนียวทุเรียนอบกรอบ กล้วยบวชชีอบกรอบ ข้าวเหนียวถั่วดำอบกรอบ

แม้ว่าเจริญอุตสาหกรรมจะคร่ำหวอดในธุรกิจอาหารแปรรูปมาอย่างยาวนานเกือบ 100 ปี แต่แบรนด์ Bangkok Tasty by Chin Huay เพิ่งส่งเข้ามารุกตลาดขนมขบเคี้ยว ของกินเล่นได้ไม่นาน แต่กลับได้รับการตอบรับจากลูกค้าได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว

“เราเริ่มทำการตลาดเพื่อสร้างความรู้จักให้กับแบรนด์ Bangkok Tasty by Chin Huay อย่างจริงจังได้ไม่นาน แต่ยังคงได้รับกระแสตอบรับที่ดี ทำให้บริษัทมียอดขายครึ่งปีแรก 2567 เติบโตสูงถึง 577.21% เมื่อเทียบกับปี 2566 จากกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบขนมเพื่อสุขภาพ เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดขนมเพื่อสุขภาพในประเทศไทยและทั่วโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ และต้องการอาหารที่มีประโยชน์ มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของแบรนด์ Bangkok Tasty by Chin Huay”

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ผลไม้และผลิตภัณฑ์ผลไม้ทั้งแบบแปรรูปและอบแห้ง สร้างชื่อเสียงให้ไทยต่อสายตาชาวโลก โดยในปี 2566 ประเทศไทยมียอดการส่งออกผลไม้สูงขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรคาดการณ์ว่า ยอดดังกล่าวจะโตขึ้น 2.3% ทุกปี พร้อมระบุว่ามีการเติบโตที่แข็งแกร่งในการส่งออกผลไม้แช่เย็นและแช่แข็งไปยังตลาดจีนเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยผลไม้ไทย 5 อันดับแรกที่ส่งออกไปจีน ได้แก่ กล้วย มะพร้าวอ่อน ทุเรียน แก้วมังกร และลำไย ซึ่งมีทั้งแบบสด แช่แข็ง อบแห้ง และผลไม้กระป๋อง ที่สำคัญการนำเข้าทุเรียนของจีน 95% มาจากประเทศไทย และจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์ นอกจากจีนแล้ว ผู้ส่งออกไทย 208 รายยังส่งผลไม้แห้งไปยังผู้ซื้ออีก 253 รายทั่วโลก โดยมีเวียดนาม เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ

ในตลาดผลไม้แปรรูปทั่วโลก ไทยอยู่ในฐานะผู้ส่งออกหลัก และมีผลไม้อบแห้งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปที่ส่งออกอันดับต้นๆ ในปี 2566 ตามข้อมูลของ Statista รายได้ของตลาดผลไม้แปรรูปอยู่ที่ 286.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าตลาดนี้จะเติบโตอยู่ที่ 3.9% ในปี 2567 ปัจจัยที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตขึ้น มาจากความต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการสูงของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

แม้ผลไม้แปรรูปจะเป็นสินค้าในอันดับต้นๆ ในกลุ่มสินค้าส่งออกของไทย แต่เจริญอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเพียง 30% และจำหน่ายในประเทศ 70%

จิราดาให้เหตุผลว่า “สินค้าส่วนใหญ่เราจำหน่ายในประเทศ หรือประมาณ 70% ปัจจุบันลูกค้าหลักของเราเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ซึ่งถ้าแบ่งสัดส่วนลูกค้าคือ ต่างชาติ 70% เช่น จีน รัสเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง และลูกค้าคนไทย 30% เราออกแบบและพัฒนาสินค้า รวมถึงแพ็กเกจให้มีลักษณะเหมาะที่จะเป็นของฝาก ของที่ระลึก และสำหรับการส่งออก เราส่งไปมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก เช่น อเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น”

หลายธุรกิจอาจมีเป้าหมายหรือความคาดหวังให้ลูกค้าหลักของธุรกิจเป็นชาวต่างชาติ เนื่องจากมีกำหนดซื้อมากกว่า และมีความต่อเนื่อง ทว่า จิราดากลับมองต่าง เมื่อมีแนวคิดที่จะเพิ่มสัดส่วนลูกค้าคนไทยให้มากขึ้นจากเดิม 30% เป็น 40%

“บริษัทตั้งเป้าหมายภายในปี 2569 จะขยายฐานลูกค้าเข้าสู่กลุ่มคนไทยมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการในตลาดการบริโภคขนมเพื่อสุขภาพในกลุ่มคนไทย โดยวางเป้าขยายฐานลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60% และลูกค้าชาวไทย 40% เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพายอดขายจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว”

นอกจากนี้ เจริญอุตสาหกรรมยังมุ่งเน้นกลยุทธ์การตลาดขยายช่องทางจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีก เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 8 สาขา, 7-Eleven 50 สาขา, เทสโก้ โลตัส 34 สาขา, Gourmet Market 4 สาขา และแพลตฟอร์ม E-commerce เช่น Shopee, Facebook, TikTok Shop, LINE เพื่อให้ลูกค้าคนไทยสามารถเข้าถึงและหาซื้อผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น

“ตลาดหรือร้านค้าออฟไลน์ เราไม่ได้วางจำหน่ายทุกสาขาของร้านค้าปลีก แต่เราเน้นที่สาขาสำคัญ ที่อยู่ตามหัวเมืองใหญ่ จุดที่มีแทรฟฟิกของนักท่องเที่ยวสูง หรือห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไป เช่น บิ๊กซีราชดำริ ไอคอนสยาม ซึ่งเราจะเริ่มจัดจำหน่ายทุกช่องทางที่กล่าวไปหลังไตรมาส 1 ปี 2568 แต่ปัจจุบันสินค้าใหม่สามารถซื้อได้ที่ไอคอนสยาม”

นอกจากโรงงานที่อำเภอท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงงานหลักของบริษัทเจริญอุตสาหกรรม ยังมีการขยายฐานการผลิตผลไม้อบแห้งไปที่ประเทศกัมพูชา เพื่อรองรับการขยายตลาดลูกค้าต่างชาติในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในอนาคต

“สำหรับยอดขายของแบรนด์ Bangkok Tasty คิดเป็น 15-30% ของรายได้ทั้งหมด โดยปีหน้าเราตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายที่ 50%” จิราดาทิ้งท้าย

น่าจับตาดูว่า เจริญอุตสาหกรรม หรือ จิ้นฮ่วย จะแย่งชิงส่วนแบ่งยอดขายไว้ได้อย่างที่หวังหรือไม่ และแบรนด์น้องใหม่อย่าง Bangkok Tasty จะกลายเป็นลิสต์ของฝากในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องซื้อกลับประเทศได้หรือไม่ ยังคงต้องติดตาม.