วันจันทร์, ธันวาคม 23, 2024
Home > Cover Story > “เต็ดตรา แพ้ค” ปลดล็อกโอกาส เปิดมิติใหม่ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม

“เต็ดตรา แพ้ค” ปลดล็อกโอกาส เปิดมิติใหม่ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม

ปัจจุบันด้วยการใช้ชีวิตที่ต้องเร่งรีบมากขึ้น ทำให้กาแฟพร้อมดื่มที่ตอบโจทย์เรื่องเวลาและความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าลองเดินสำรวจชั้นวางกาแฟพร้อมดื่มในห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ ในบ้านเราแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวเลือกของกาแฟพร้อมดื่มในท้องตลาดเมืองไทยยังคงมีให้เลือกไม่มากนัก และยังครองตลาดด้วยผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่แบรนด์เท่านั้น

ในขณะที่ภูมิทัศน์ของตลาดกาแฟพร้อมดื่ม (Ready-to-drink หรือ RTD) ในต่างประเทศกลับกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องและน่าจับตามอง ทั้งการเสริมสารอาหารอย่างโปรตีน คอลลาเจน เพิ่มเข้าไปในกาแฟพร้อมดื่ม การพัฒนากาแฟ Plant-based ตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ และรวมไปถึงการสร้างความแปลกใหม่ด้วยนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับยังมีให้เห็นไม่มากนักในตลาดกาแฟพร้อมดื่มของเมืองไทย

ล่าสุด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Tetra Pak ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันบรรจุภัณฑ์และกระบวนการผลิตอาหารที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมเห็นภาพการเปลี่ยนแปลง เทรนด์ต่างๆ รวมไปถึงโอกาสทางธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้น โดยเต็ดตรา แพ้ค ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจของตลาดกาแฟพร้อมดื่มว่า กาแฟคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 ของการบริโภคเครื่องดื่มทั้งหมดทั่วโลก และยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณการบริโภคกาแฟพร้อมดื่มทั่วโลกอยู่ที่ 7,600 ล้านลิตร โดย 75% อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งมีญี่ปุ่น เกาหลี เป็นประเทศที่บริโภคกาแฟพร้อมดื่มมากเป็นลำดับต้นๆ รองลงมาคือ จีน โดยมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 3.3%

สำหรับประเทศไทย กาแฟถือเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยข้อมูลจาก Tetra Pak Compass ระบุว่า ปี 2023 ผู้บริโภคชาวไทยบริโภคเครื่องดื่มที่ไม่รวมน้ำเปล่า อยู่ที่ประมาณ 15,864 ล้านลิตร โดยกาแฟคิดเป็น 11% หรือประมาณ 1,570 ล้านลิตรของทั้งหมด ทั้งนี้คนไทยมีการบริโภคกาแฟเฉลี่ยปีละ 300 แก้ว อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟจะโตเฉลี่ยประมาณ 3.5% จนถึงปี 2026 ซึ่งเติบโตค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับเครื่องดื่มประเภทอื่น อย่างนม นมทางเลือก หรือน้ำผลไม้

และถ้ามาเจาะลึกลงไปเฉพาะกาแฟพร้อมดื่มพบว่า ใน 11% ของตลาดกาแฟรวม เป็นกาแฟพร้อมดื่มประมาณ 203 ล้านลิตร และในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ (ปี 2024-2034) ตลาดกาแฟพร้อมดื่มจะมีการเติบโตถึง 9% โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดของกาแฟพร้อมดื่มอยู่ที่ 26,095 ล้านบาท และจะพุ่งสูงถึง 62,033 ล้านบาทในปี 2034 ซึ่งจะเห็นว่าตลาดกาแฟพร้อมดื่มมีการเติบโตที่ร้อนแรงไม่น้อยเลยทีเดียว

สุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ตลาดกาแฟพร้อมดื่มในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะผู้บริโภคกำลังมองหาทางเลือกใหม่ที่ตอบโจทย์ความชอบที่หลากหลายนี่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ผลิตและแบรนด์เครื่องดื่มในการเข้าสู่ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม ซึ่งจะสามารถเจาะตลาดเข้าถึงผู้บริโภคไทยได้มากกว่าครึ่ง”

โดย เต็ดตรา แพ้ค มองว่าปัจจัยการเติบโตของกาแฟพร้อมดื่มมาจาก 4 ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ 1. ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มเจน Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความคุ้นเคยและโตมากับการบริโภคกาแฟทุกเช้า หรือวันละหลายๆ แก้ว 2. เทรนด์ความสะดวกสบาย ผู้บริโภคมองหาความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งกาแฟพร้อมดื่มเข้ามาตอบโจทย์ได้ดี

3. การที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดและมีการออกผลิตภัณฑ์กาแฟใหม่ๆ เพิ่มความหลากหลายให้ตลาด ทำให้กาแฟจับต้องได้และขยายวงผู้บริโภคให้กว้างมากขึ้น 4. ช่องทางการจำหน่ายขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านสะดวกซื้อที่ขยายตัวอย่างรุนแรงและมีการแข่งขันกันสูง ทำให้สินค้าอย่างกาแฟพร้อมดื่มเติบโตไปด้วยโดยปริยาย ซึ่งเทรนด์ของร้านสะดวกซื้อเองก็จะหันไปโฟกัสของแพงมากขึ้น เพราะทำกำไรได้มาก ทำให้ตลาดพรีเมียมเซกเมนต์โดยเฉพาะตลาดกาแฟพร้อมดื่มจะเป็นตลาดที่โตมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ เต็ดตรา แพ้ค ได้แบ่งกาแฟพร้อมดื่มออกเป็น 2 เซกเมนต์ใหญ่ๆ ได้แก่ กาแฟพร้อมดื่มแบบแมส (Mass) เป็นตลาดพื้นฐาน มีทั้งแบบกาแฟดำ กาแฟผสมนม กาแฟผสมน้ำตาล ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของกระป๋อง ราคาเฉลี่ยที่ 10 บาทต่อปริมาณ 180-200 มิลลิลิตร และกาแฟพร้อมดื่มกลุ่มพรีเมียม (Premium) ที่มีคุณภาพและความหลากหลายมากขึ้น ราคาอยู่ราวๆ 30 บาท

แม้จะมีแนวโน้มการเติบโตสูง แต่ค่อนข้างน่าเสียดายสำหรับผู้บริโภคที่ปัจจุบันกาแฟพร้อมดื่มในเมืองไทยยังมีตัวเลือกให้ผู้บริโภคไม่มากนัก โดยกลุ่มผู้บริโภคไทยมากกว่าครึ่งยังไม่เคยทดลองดื่มกาแฟพร้อมดื่มในรูปแบบอื่นๆ

ในขณะที่กาแฟพร้อมดื่มทั่วโลกกลับกำลังวิวัฒนาการไปไกลและไม่ได้เป็นแค่กาแฟพร้อมดื่มธรรมดาอีกต่อไป แต่มีทั้งคุณประโยชน์และโอกาสในการดื่มที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่แปลกใหม่และตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น การเพิ่มโปรตีนลงไปในกาแฟพร้อมดื่มสู่การเป็นกาแฟพร้อมดื่มแบบไฮโปรตีน (High Protein Coffee) เช่น แบรนด์ Atkins ของอเมริกา, แบรนด์ Maeil ของเกาหลี กับอเมริกาโนที่มีโปรตีนสูงถึง 20 กรัม พร้อม BCAA สำหรับสร้างกล้ามเนื้อ, แบรนด์ YoPRO จากบราซิล มีกาแฟไฮโปรตีนแบบแล็กโตสฟรี และกาแฟไฮโปรตีนจากสหราชอาณาจักร อย่างแบรนด์ Arctic Coffee เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารสชาติใหม่ๆ เช่น กาแฟลาเต้รสโกโก้ และลาเต้รสน้ำผึ้งจากแบรนด์ TULLY’s Coffee ของประเทศญี่ปุ่น, แบรนด์ Mizo จากฮังการี กับกาแฟแล็กโตสฟรีรสถั่วพิสตาชิโอ มะพร้าว และเฮเซลนัต, ทางฝั่งเบลเยียมมีแบรนด์ Alpro ที่วางโพสิชันตัวเองเป็นกาแฟ Plant-based ที่มีทั้งรสคาราเมลและนัตตี้อัลมอนด์ และแบรนด์ Nescafe GOLD จากญี่ปุ่นที่วางโพสิชันเป็นกาแฟ Plant-based เช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น บรรจุภัณฑ์ยังเป็นอีกหนึ่งความต่างของกาแฟพร้อมดื่มในต่างประเทศ ทั้งบรรจุภัณฑ์ขนาดลิตรที่สามารถแบ่งบริโภคได้หลายครั้ง หรือบรรจุภัณฑ์แบบกล่องกระดาษรักษ์โลก ซึ่งมีใช้ในหลายๆ ประเทศ ทั้งอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่การตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม และกฎเกณฑ์ของตลาดโลกที่มีผลต่อการส่งออก

เต็ดตรา แพ้ค มองว่าทั้งเทรนด์กาแฟไฮโปรตีนที่กำลังมาแรง กาแฟ Plant-Based ที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ การเพิ่มรสชาติใหม่ๆ ให้กับกาแฟ การเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค รวมถึงนวัตกรรมของบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยสร้างความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความแตกต่างที่ผู้ประกอบการกาแฟพร้อมดื่มในไทยสามารถจะนำมาปรับใช้ เพื่อปลดล็อกการเติบโตและเพิ่มโอกาสทางการตลาดได้ทั้งสิ้น โดยเต็ดตรา แพ้ค แนะนำให้ผู้ประกอบการโฟกัสที่ตลาดพรีเมียม ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโต มีดีมานด์สูง และสร้างกำไรได้ดีกว่า

“ในอีก 10 ปีข้างหน้า ตลาดกาแฟพร้อมดื่มจะเติบโตถึง 100% สิ่งที่เต็ดตรา แพ้ค อยากบอกผู้ประกอบการ คือ ‘เราอย่าตกรถ’ อยากให้ผู้ประกอบการมองภาพว่า มันยังมีโอกาสให้เข้ามาเล่นอีกมาก ประเด็นคือต้องหาช่องว่างผ่านเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมาดูกันว่าเราสามารถสร้างความต่าง ออกสินค้าใหม่ๆ วางโพสิชันใหม่ๆ และสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แบบไหนให้กับกาแฟพร้อมดื่มในตลาด เพื่อไปตอบโจทย์ผู้บริโภคได้” สุภนัฐกล่าวทิ้งท้าย.