วันเสาร์, ธันวาคม 21, 2024
Home > Cover Story > ‘คิคุโอะ อิเบะ’ บิดาแห่ง G-SHOCK กับกลยุทธ์การตลาดในเมืองไทย

‘คิคุโอะ อิเบะ’ บิดาแห่ง G-SHOCK กับกลยุทธ์การตลาดในเมืองไทย

Casio (คาสิโอ) เป็นแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นที่น้อยคนนักจะไม่รู้จัก เพราะนอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ระดับ Iconic อย่าง “เครื่องคิดเลขคาสิโอ” ที่เป็นเบอร์หนึ่งในตลาดเครื่องคิดเลขระดับโลกแล้ว ยังมี “G-SHOCK” นาฬิกาที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่งทนทานระดับตำนาน และเป็นนวัตกรรมชิ้นเอกของแวดวงนาฬิกาที่มีแฟนคลับอยู่ทั่วโลกอีกด้วย

G-SHOCK คิดค้นขึ้นโดย “คิคุโอะ อิเบะ” (Kikuo Ibe) วิศวกรกลไกชาวญี่ปุ่นที่เริ่มงานกับคาสิโอมาตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งจุดเริ่มต้นของ G-SHOCK เกิดขึ้นเมื่อ 43 ปีที่แล้ว จากการที่คุณอิเบะบังเอิญทำนาฬิกาที่ใช้มานานและเป็นของขวัญจากผู้เป็นพ่อหล่นพื้นจนได้รับความเสียหาย ซึ่งนั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเกิดความคิดที่จะประดิษฐ์นาฬิกาที่มีความทนทานต่อทุกสภาพและถึงจะทำตกพื้นก็ไม่พังขึ้นมา

นับจากวันนั้นอิเบะใช้เวลามากกว่า 2 ปี ในการพัฒนานาฬิกาต้นแบบมากกว่า 200 แบบ เพื่อสร้างนาฬิกาที่แข็งแกร่งและทนทานตามที่เขาต้องการ ซึ่งช่วงแรกยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะในช่วงเวลานั้นเป็นยุคของนาฬิกาดีไซน์บางๆ แต่อิเบะเชื่อว่านาฬิกาที่ทนทานจำเป็นที่จะต้องมีขนาดใหญ่และหนา ดังนั้น ในปี 1981 เขาจึงประดิษฐ์นาฬิกาโลหะและนำมาพันด้วยยางก่อนที่จะทำการทดสอบด้วยการโยนลงมาจากหน้าต่างห้องน้ำชั้น 3 ของตึกศูนย์วิจัยของบริษัทคาสิโอ เพื่อทดสอบความแข็งแกร่งและเก็บข้อมูลว่าต้องพันด้วยยางกี่ชั้นจึงจะดูดซับแรงกระแทกได้ดี

อิเบะเล่าต่อว่าการทดลองครั้งนั้นล้มเหลวไม่เป็นท่า นาฬิกาแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แต่เขาก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ ในครั้งต่อมาเขาทดลองพันยางรอบนาฬิกาให้มากขึ้น แต่ผลที่ได้นาฬิกาก็ยังพังอยู่เหมือนเดิม กระทั่งการทดลองในครั้งที่ 3 เขาพันยางจนมีขนาดเท่าลูกบอล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจ ด้วยเหตุนี้เขาจึงต่อยอดจากการทดสอบครั้งล่าสุดคิดค้นระบบการป้องกันตัวเครื่องเป็นระบบดูดซับและปกป้องแรงกระแทกแบบโครงสร้าง 5 ชั้นขึ้นมา ซึ่งประกอบด้วย ปลอกฝาครอบ, ฝาครอบโลหะ, แหวนยาง, แหวนโลหะ และยางสำหรับป้องกัน ก่อนที่จะถึงตัวเครื่อง

แต่เมื่อนำไปทดลองจริงๆ กลับพบว่า ชิ้นส่วนไฟฟ้าบางชิ้นของตัวกลไกยังคงได้รับความเสียหาย และแม้จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับชิ้นส่วนนั้นได้แต่ชิ้นส่วนอื่นๆ กลับเสียหายแทน เช่น แอลซีดีแตก โช้กขดลวดแตก ครัสตัลแตก เป็นต้น

“ผมคิดหาทางแก้ไขตลอดเวลาจนหัวจะระเบิดอยู่แล้ว หาทางออกอยู่นานมากแต่ก็หาไม่เจอสักที แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้ แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ผมเห็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ เล่นลูกบอลอยู่ที่สวนสาธารณะ ผมมองดูลูกบอลเด้งขึ้นเด้งลง จนอยู่ๆ ก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาเฉยๆ ว่า ถ้าเกิดในลูกบอลมีตัวกลไกนาฬิกาที่ลอยได้ขึ้นมาล่ะ เหมือนกลไกนาฬิกาลอยอยู่ในลูกบอลจะช่วยป้องกันแรงกระแทกกับตัวนาฬิกาได้หรือไม่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมพัฒนาต่อ”

กระทั่งในปี 1983 DW-5000C นาฬิกา G-SHOCK รุ่นแรกจึงได้ถือกำเนิดขึ้น ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยมาพร้อมกับความแข็งแกร่ง ทนต่อแรงกระแทก ยากต่อการแตกหัก และยังคงบอกเวลาได้อย่างแม่นยำ โดยตัวเรือนเสริมความแข็งแรงด้วยขอบโพลียูรีเทน มีโครงสร้างราวกับนาฬิกากำลังลอยอยู่ในตัวเรือน ซึ่งเรียกว่าออกมาพลิกโฉมแวดวงนาฬิกาในสมัยนั้นกันเลยทีเดียว

หลังจากเปิดตัวในญี่ปุ่นไม่นาน ก็ถึงเวลาที่ G-SHOCK พร้อมบุกต่างประเทศ โดยปักหมุดตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งที่อเมริกามีการทดสอบความทนทานของนาฬิกา G-SHOCK ที่เรียกเสียงฮือฮาและดึงดูดความสนใจของผู้คนในเวลานั้นได้ไม่น้อยเลยทีเดียว โดยมีการใช้นาฬิกา G-SHOCK แทนลูกพัคในกีฬาฮอกกี้ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือนาฬิกาแทบจะไม่เป็นอะไรเลย จากนั้นยังมีการทดสอบความแข็งแกร่งของ G-SHOCK อีกหลายครั้ง แต่ที่ฮือฮาที่สุดเห็นจะเป็นการทดสอบโดยใช้รถบรรทุก 10 ล้อ ขับทับนาฬิกา และผลที่ได้คือ G-SHOCK ยังคงทำหน้าที่ของความเป็นนาฬิกาได้อย่างดี ซึ่งนั่นทำให้ G-SHOCK ขึ้นแท่นนาฬิกาที่แข็งแกร่งที่สุด และได้รับความนิยมอย่างถล่มทลายไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่วัยรุ่นที่ชื่นชอบภาพลักษณ์ที่เท่ ถึก ทน

From DW-5000C to GA-2100

จาก DW-5000C นาฬิการุ่นแรกของ G-SHOCK ที่เน้นความทนทานและใช้งานภาคสนาม อิเบะและทีมงานรุ่นใหม่ในคาสิโอยังคงพัฒนานาฬิการุ่นใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะกับทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคและเป็นการขยายฐานแฟนคลับ

“ผมมีความคิดว่า ถ้าสามารถเปลี่ยนนาฬิกา G-SHOCK ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์หรือสถานการณ์ต่างๆ ของผู้บริโภคได้ จะสามารถทำให้พวกเขาเป็นแฟนตัวยงของ G-SHOCK ได้อย่างยาวนาน ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องสร้างให้ผู้คนเห็นว่า G-SHOCK ใส่กับชุดสูทได้ และสินค้าที่เราพุ่งเป้าคือ G-SHOCK ที่ทำจากโลหะทั้งเรือนเพื่อเพิ่มความสมาร์ตและหรูหรา ซึ่งนั่นเป็นความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะชิ้นส่วนด้านนอกไม่สามารถสร้างตัวกันแรงกระแทกได้ จึงไม่สามารถดูดซับแรงกระแทกได้เลย”

แต่แน่นอนว่าอิเบะไม่ยอมแพ้เช่นเคย เขากับทีมวิศวกรรุ่นใหม่ใช้เวลาพัฒนา G-SHOCK ตัวเรือนโลหะมากกว่า 1 ปี กว่าที่จะประสบผลสำเร็จได้ออกมาเป็น G-SHOCK โลหะล้วนในปี 1996 ชื่อรุ่น MRG-100 โดยโครงสร้างขอบตัวเรือนได้แรงบันดาลใจมาจาก “กันชนรถยนต์” เพื่อทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทก และถือเป็นรุ่นที่ “ออกตัวแรงสุด” เพราะขายหมดตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการพัฒนานาฬิการุ่น GA-2100 ที่ถือเป็นอีกหนึ่งไอคอนิก เพราะเป็นนาฬิกาที่เรียบง่าย เบา เล็ก แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็น G-SHOCK โดยการลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปและนำเอาทรง 8 เหลี่ยมจากรุ่นออริจินัลมาออกแบบให้ดูทันสมัย ซึ่ง GA-2100 ได้รับเสียงตอบรับจากบรรดาแฟนๆ G-SHOCK เป็นอย่างดี และกลายเป็นรุ่นที่มีชื่อเสียงที่สุด ทำให้ในปีต่อๆ มามีการออกนาฬิกาในตระกูลเดียวกันออกมาเพิ่มเติมทั้ง GA-2110, GA-2100MNG, GMA-P2100 และตัวล่าสุดอย่าง GM-2110D ซึ่งไม่เพียงพัฒนานาฬิการุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเท่านั้น G-SHOCK ยังมีการแตกแบรนด์ลูกต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง BABY-G, PRO TREK เป็นต้น

ตลอด 43 ปีที่ผ่านมา G-SHOCK ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของนาฬิกาที่แข็งแกร่งและทนทาน มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศญี่ปุ่นและในตลาดต่างประเทศ ผ่านร้านค้าปลีกและตัวแทนจำหน่ายที่มีส่วนผลักดันการเติบโต และสร้างฐานแฟนคลับของ G-SHOCK ให้กระจายไปทั่วโลก

สำหรับในเมืองไทย G-SHOCK มีพันธมิตรรายสำคัญที่ร่วมงานกันมายาวนานกว่า 30 ปี อย่างบริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด (CMG) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล เป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายนาฬิกา CASIO G-SHOCK ในเมืองไทย ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับ G-SHOCK ในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของยอดขาย จนทำให้ไทยได้ชื่อว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ G-SHOCK ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว

จิตรฤดี พนิตพล รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มสินค้าแฟชั่นและนาฬิกา บริษัท เซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า ตลาดนาฬิกาในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นกัน โดยข้อมูลจาก Euro Monitor ระบุว่า ปี 2023 มูลค่าตลาดของนาฬิกาอยู่ที่ราวๆ 23,185 ล้านบาทเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม G-SHOCK ยังคงเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักในตลาดเมืองไทย เพราะจุดเด่นด้านความทนทานต่อแรงกระแทกและการใช้งานหนัก การออกแบบหลากหลาย มีหลายรุ่นหลากราคาให้เลือกตั้งแต่ราคาย่อมเยาจนถึงรุ่นพรีเมียม ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้หลายกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ที่มองหานาฬิกาแฟชั่นที่มีฟังก์ชันการใช้งานครบถ้วน ทำให้ G-SHOCK ยังคงเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในตลาดนาฬิกาเมืองไทย

“ตลาดนาฬิกาในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีการแข่งขันกันสูง แต่ละแบรนด์พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้ามาในตลาด ซึ่งวันนี้ความสวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเทคโนโลยีและความแปลกใหม่ด้วย สำหรับ G-SHOCK เรายังเน้นเอกลักษณ์ของความเป็น G-SHOCK ทั้งเรื่องความ TOUGH อย่างที่คุณอิเบะบอก G-SHOCK เป็นนาฬิกาที่มีความทนทานมากที่สุดในโลก ซึ่งยังไม่มีแบรนด์ไหนเน้นเรื่องนี้ นอกจากความทนทานแล้ว เรื่องดีไซน์ยังถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่น เพราะมีการออกแบบที่หลากหลาย เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่แตกต่างกัน และสุดท้ายคือเรื่องเทคโนโลยีซึ่งเป็นจุดแข็งที่ G-SHOCK พยายามนำเสนอมาโดยตลอด”

สำหรับการทำการตลาดของ G-SHOCK ในเมืองไทยในช่วงปลายปี 2567 ถึงปี 2568 จะเน้นการใช้แบรนด์แอมบาสเดอร์ที่มี DNA สอดคล้องกับแบรนด์มาช่วยตอกย้ำจุดเด่นและถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ที่เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย โดยเน้นการทำการตลาดผ่านกลยุทธ์ FAMS (FASHION, ART, MUSIC, SPORT) เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมกับแบรนด์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจในกิจกรรมกีฬาและความทนทานของนาฬิกา

ล่าสุด G-SHOCK เดินหน้ากลยุทธ์การตลาดผ่าน FAMS ด้วยการเปิดตัว “ซุปเปอร์บอน สิงห์มาวิน” ยอดนักมวยชาวไทยแชมป์โลก คิกบ็อกซิ่ง เฟเธอร์เวต เฉพาะกาล ในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์คนล่าสุดของนาฬิการุ่น G-STEEL GM-2110D Metal Series ซึ่งเป็นรุ่นที่มีการผสมผสานระหว่างไลฟ์สไตล์ แฟชั่นและความแกร่งตามแบบฉบับของ G-SHOCK เข้าไว้ด้วยกัน โดยมาพร้อมกับแคมเปญ “TOUGH LIKE YOU” เพื่อขยายฐานลูกค้าจากคนรักนาฬิกาสู่ฐานลูกค้าที่ชื่นชอบในกีฬา

“กลุ่มคนรักกีฬาเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้นจึงมองเห็นโอกาสในการเติบโตในกลุ่มนี้ เนื่องจากพวกเขามีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้งานได้ในทุกสถานการณ์ รวมถึงความทนทานและดีไซน์ที่มีสไตล์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ G-SHOCK ในขณะที่ซุปเปอร์บอนเป็นนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงทั่วโลก และเป็นนักกีฬาที่มีวินัยมาก เหมาะที่จะมาช่วยส่งผ่าน DNA ของ G-SHOCK ในแง่ของความทนทาน และเป็นแรงบันดาลใจในแง่การเป็นนักสู้” จิตรฤดีเปิดเผยถึงการดึงซุปเปอร์บอนมาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนใหม่

ซึ่งถ้าย้อนไปดูก่อนหน้านี้ CMG มีการใช้พรีเซ็นเตอร์หลากหลายแนวเพื่อสื่อความเป็น G-SHOCK ในรุ่นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเจ้าพ่อสายคอนเทนต์อย่าง “โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน” ในฐานะพรีเซ็นเตอร์ของ G-SHOCK Metal Face GM-6900 ตอกย้ำ DNA ความเท่แบบสตรีทแฟชั่น รวมถึง “เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม” ในฐานะ Friend of G-SHOCK เพื่อสื่อสารกับคน Gen Z โดยเฉพาะ และการเปิดตัวแบรนด์แอมบาสเดอร์คนล่าสุดอย่าง “ซุปเปอร์บอน” ก็จะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ๆ เช่นกัน และไม่เพียงเท่านั้น CMG ยังจับมือเป็นพันธมิตรกับ ONE Championship เวทีมวยระดับโลกที่มีฐานแฟนคลับที่เข้มแข็ง ในการให้การสนับสนุนการแข่งขัน เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มคนที่ชื่นชอบกีฬาอีกด้วย

“หลายปีที่ผ่านมาเรามีการทำคอลแลปส์อยู่เรื่อยๆ หลังจากนี้จะมีกิจกรรมกับทางวันแชมเปี้ยนชิปตามมาอีกแน่นอน เพราะเขามีฐานลูกค้าที่อยู่ในหลายๆ กลุ่มทั่วโลก และจะทำให้ตลาดของเรากว้างขึ้น”

โดยในแต่ละปี CMG มีการนำเข้านาฬิกา G-SHOCK หลากหลายรุ่นเพื่อตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้า โดยรุ่นยอดนิยมยังคงเป็น G-SHOCK เรซิ่น ราคาราวๆ 5,000 – 7,000 บาท และยังมีการนำเข้ารุ่นลิมิเต็ดที่ราคาหลักแสนเพื่อตอบสนองความต้องการของนักสะสมโดยเฉพาะ

สำหรับช่องทางจำหน่ายหลักยังคงเป็นช่องทางออฟไลน์ทั้งจากแฟลกชิปสโตร์และคีออสที่รวมแล้วมีอยู่ราวๆ 40 สาขา โดยยอดขายในห้างสรรพสินค้ายังคงเป็นยอดขายอันดับหนึ่งจากช่องทางจำหน่ายทั้งหมด.