วันจันทร์, ธันวาคม 16, 2024
Home > Cover Story > ค้าปลีกปีงูยังอ่วมพิษ ลุ้นปัจจัยบวก กำลังซื้อฟื้น

ค้าปลีกปีงูยังอ่วมพิษ ลุ้นปัจจัยบวก กำลังซื้อฟื้น

บรรดากูรูในวงการรีเทลต่างเชื่อมั่นว่า ธุรกิจค้าปลีกปี 2568 ยังมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าตลาดจะเติบโต 5% จากปี 2567 ที่จะเติบโต 4.8% เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น การฟื้นตัวของการบริโภคและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมาฟื้นตัว รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐปีหน้า โดยเฉพาะมาตรการเรือธงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เช่น แผนแจกเงินหมื่นเฟส 2-3 และการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

แต่ปีงูยังพ่นพิษไม่หยุดเช่นกัน ทั้งปัญหาราคาสินค้าแพงขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภคเปราะบาง หนี้ครัวเรือนระดับสูง และความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐอาจเลื่อนแล้วเลื่อนอีก

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์สำรวจค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 เฉลี่ย 18,239  บาท แยกสัดส่วนเป็นค่าใช้จ่ายหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 41.95%

ค่าใช้จ่ายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ค่าอาหารบริโภคในบ้าน-ดีลิเวอรี 9.21% ราว 1,679 บาทต่อเดือน ค่าวัตถุดิบประกอบอาหาร เนื้อสัตว์ต่างๆ 9.06% หรือราว 1,652 บาทต่อเดือน ค่าอาหารนอกบ้าน 7.09% หรือ 1,293 บาทต่อเดือน ค่าผักและผลไม้ 5.73% หรือราว 1,045 บาทต่อเดือน และค่าซื้อข้าวสาร 3.92% หรือ 715 บาทต่อเดือน

ขณะที่ค่าใช้จ่ายหมวดสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีสัดส่วน 58.05% โดยมี 2 กลุ่มค่าใช้จ่ายสูงสุด 2 รายการ คือ ค่าโดยสาร ค่าน้ำมัน ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ รวมกัน 4,214 บาทต่อเดือน และค่าเช่าบ้าน ค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม รวมกัน 4,004 บาทต่อเดือน ที่เหลือเป็นค่าหมอ ค่ายา 5.39% หรือราว 983 บาทต่อเดือน ค่าหนังสือ สันทนาการ ค่าเล่าเรียน 4.21% หรือราว 768 บาทต่อเดือน ค่าเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า 2.05% หรือราว 374 บาทต่อเดือน และค่าบุหรี่ เหล้า เบียร์ อีก 1.34% หรือราว 245 บาทต่อเดือน

ที่สำคัญ หากย้อนตัวเลขค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่า 18,000 บาททุกเดือน และแนวโน้มอีก 6 เดือนข้างหน้ายังมีโอกาสพุ่งสูง

ด้านสำนักสถิติแห่งชาติระบุว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 29,030 บาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 23,695 บาท และหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละ 197,255 บาท คิดเป็น 6.8 เท่าของรายได้ ทำให้กำลังซื้อของคนไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องตั้งแต่สถานการณ์โควิดแพร่ระบาดและเป็นปัจจัยกระทบโดยตรงต่อธุรกิจค้าปลีก

แต่ในมุมหนึ่งส่งผลดีต่อหมวดร้านค้าสินค้าจำเป็น เช่น คอนวีเนียนสโตร์ ซูเปอร์มาร์เกต และไฮเปอร์มาร์เกต โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีการจัดโปรโมชันรองรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

ศูนย์วิจัย SCB EIC Industry insight  ประเมินภาพรวมธุรกิจ Modern grocery ในปี 2568 มีแนวโน้มเติบโต 4.6% โดยยอดขายของทุกกลุ่มกลับไปอยู่สูงกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว แม้การฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคยังขยับช้าๆ แต่มีความต้องการในหมวดสินค้าจำเป็น และหากภาครัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะเป็นปัจจัยบวกส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทยอยปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 เฟส 3 เชื่อมั่นว่า กลุ่มคอนวีเนียนสโตร์ ไฮเปอร์มาร์เกตและธุรกิจค้าส่งจะมียอดขายเพิ่มขึ้นชัดเจน

ยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มโลตัสของบริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) ในเครือซีพี มองเห็นเทรนด์การเติบโตของกลุ่มซูเปอร์มาร์เกตหลายปีและเร่งขยายสาขาโลตัส โก เฟรช (Lotus’s go fresh) ซูเปอร์มาร์เก็ต อย่างต่อเนื่อง เพราะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ SMART Urban Supermarket สะดวก ทันสมัย ใกล้ชุมชน บนทำเลศักยภาพในย่านที่พักอาศัย

ล่าสุด เปิดตัวโลตัส โก เฟรช ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาประเวศ เน้นจุดขายสินค้าอาหารสดระดับพรีเมียมและวัตถุดิบนำเข้า แต่ตั้งราคาไม่สูง พร้อมบริการเสริมต่าง ๆ เช่น  บริการตัดแต่ง หั่นและแล่เนื้อสัตว์ บริการ Slushy Bar และตัดแต่งผลไม้สดส่งตรงจากสวน มีสินค้ารองรับทุกเจเนอเรชัน ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม หากเทียบค้าปลีกทุกกลุ่มแล้ว ห้างสรรพสินค้า ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ มีข้อจำกัดในการเติบโตมากสุด เพราะการแข่งขันรุนแรง ทั้งจากกลุ่มสเปเชียลสโตร์และตลาดออนไลน์ที่มีผู้เล่นรายใหม่ๆ โดยคาดการณ์ยอดขายธุรกิจกลุ่ม Department Store จะเติบโตเพียง 4% เนื่องจากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวจำกัดอาจส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น แต่ได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิดในปีหน้า จะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายภายในห้างสรรพสินค้า

การปรับตัวของห้างที่เห็นชัดเจน คือ การเน้นช่องทางออนไลน์ ทั้งผ่านเว็บไซต์ของตนเองและการใช้ Marketplace เช่น TikTok, Facebook Live, Lazada Live, Shopee Live, Temu และ Shein ทำให้กลุ่มห้างสรรพสินค้าต้องลงทุนด้าน Omni channel เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้า หรือเห็นสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ แต่ต้องสร้างความแตกต่างในเรื่องประสบการณ์ที่ดีในการชอปปิ้งบนแพลตฟอร์มของตน ขณะที่ช่องทางหน้าร้านต้องสร้างความแตกต่าง เช่น การจัดกิจกรรมพิเศษ การเปิดโซนสินค้าเฉพาะกลุ่ม

ยังมีข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าเปิดเผยว่า ปี 2566-2571 ตลาดค้าปลีกของไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 4.8% ต่อปี โดยปี 2566 มีมูลค่า 4.32 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นแบบซื้อขายหน้าร้านค้า 3.4 ล้านล้านบาท เติบโต 6% และแบบซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ มีมูลค่าประมาณ 9.24 แสนล้านบาท เติบโต 12.6%

เทรนด์ธุรกิจค้าปลีกแยกตามสินค้าที่น่าสนใจในปี 2568 ได้แก่ ร้านจำหน่ายสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องหนัง สินค้าเวชภัณฑ์ เครื่องครัว อุปกรณ์ตัดเย็บ

ร้านค้าทั่วไป เช่น ซูเปอร์มาร์เกต ดิสเคานต์สโตร์ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ไฮเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ

ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้านคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง วิดีโอเกมและซอฟต์แวร์สำเร็จรูป อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ

ธุรกิจปั๊มน้ำมัน ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต ร้านหนังสือ เครื่องเขียน เครื่องใช้สำนักงาน สื่อบันทึกเสียงเพลง และธุรกิจขายปลีกสินค้ามือสองที่กำลังมาแรงด้วย.