ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก หลายธุรกิจได้รับผลกระทบด้านลบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ประกอบการเร่งหาทางปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อความอยู่รอด การมองหาความช่วยเหลือทางการเงินจึงเป็นทางออกของผู้ประกอบการในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤต
นอกจากสถาบันการเงินเช่นธนาคารแล้ว ผู้ให้บริการทางการเงินที่เป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่ในประเทศไทยคือตัวเลือกในลำดับต้นๆ นี่น่าจะกลายเป็นอัตราเร่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจบริการทางการเงินมีทิศทางการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นที่กำลังเกิดขึ้นกับ เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล ธุรกิจให้บริการทางการเงินที่โลดแล่นในแวดวงอุตสาหกรรมการเงินมายาวนานหลายสิบปี
บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่ 50 ปีก่อน ด้วยการให้บริการนายหน้าค้าหลักทรัพย์ กิจการค้าหลักทรัพย์และที่ปรึกษาการลงทุน กระทั่งปัจจุบันเอ็กซ์สปริงขยายบริการทางการเงินออกเป็น 5 ธุรกิจ คือ
- ธุรกิจหลักทรัพย์ ดำเนินธุรกิจผ่านบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด โดย เอ็กซ์สปริงกรุ๊ป ถือหุ้น 49.7%
- ธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริหารงานโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด มี เอ็กซ์สปริงกรุ๊ปถือหุ้น 100%
- ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ บริหารโดย บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็กซ์สปริง เอ เอ็ม ซี จำกัด มี เอ็กซ์สปริงกรุ๊ปถือหุ้น 100%
- ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล บริหารโดย บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด ซึ่ง เอ็กซ์สปริงกรุ๊ปถือหุ้น 100%
- ธุรกิจการลงทุนอื่นๆ มี 3 ประเภท คือ ลงทุนในกองทุน ลงทุนในบริษัทโดยตรง และลงทุนในโทเคนดิจิทัล
“รายได้หลักของกลุ่มเอ็กซ์สปริงมาจากธุรกิจสินเชื่อ 60-70% รองลงมาคือ ธุรกิจกองทุนรวม 10-20% ขณะที่ธุรกิจหลักทรัพย์เป็นไปตามภาวะของตลาด” วรางคณา อัครสถาพร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG กล่าว ก่อนจะขยายความภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 3/2567 ว่า “ธุรกิจเราเติบโตในทิศทางที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อ และธุรกิจกองทุนรวม ซึ่งถือเป็นเรือธงในธุรกิจของเรา ทุกอย่างมีการขยายตัวในทิศทางที่ดี”
“ต้องบอกว่าที่ผ่านมาเรามีความสามารถในการปรับตัวรับมือกับสภาพของตลาดที่มีความผันผวนที่ส่งผลกระทบในช่วงไตรมาส 2/2567 ทำให้ผลประกอบการของ Xspring ในไตรมาส 3/2567 เป็นไปในทิศทางบวก ทำให้ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกเติบโต 655.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% กำไรสุทธิ 114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากธุรกิจสินเชื่อที่เติบโตขึ้น 392.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% และเรายังมีรายได้อื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์นักลงทุน ขณะที่รายได้จากการลงทุนในบริษัทต่างๆ อยู่ที่ 46 ล้านบาท และรายได้อื่นๆ 22 ล้านบาท”
ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอน หรือยังไม่มีเสถียรภาพมากเพียงพอที่จะเติบโตเป็นกราฟแนวตั้งหรือแนวทแยง แต่อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เอ็กซ์สปริงกรุ๊ป มีกระแสบวกในหลายธุรกิจ วรางคณาอธิบายว่า “เราสร้าง Ecosystem ให้กลุ่ม Xspring ทำให้เรามีบริการทางการเงินอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการต่อยอดความต้องการทางการเงินและการลงทุนของลูกค้า ควบคู่ไปกับการปรับพอร์ตให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทสามารถทำตามเป้ารายได้ผ่านแผนการดำเนินงานที่วางไว้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีความท้าทายอย่างรอบด้านจากปัจจัยทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเราคาดว่าในไตรมาส 4/2567 รายได้เราจะเติบโตขึ้น”
สภาพัฒน์เปิดเผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุดในช่วงไตรมาสสองปี 2567 พบว่า มีมูลค่ารวมกว่า 16.32 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 89.6% ต้องบอกว่านี่เป็นสัดส่วนที่ลดลงจากเดิมที่ 90% ต่อจีดีพี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นจากความจำเป็นที่ต้องปิดโรงงาน ปิดกิจการ ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้
ด้านวรางคณาระบุว่า ปีที่ผ่านมา Xspring AMC ซื้อหนี้เสียจากอุตสาหกรรมเข้ามาบริหารมากถึง 4,000 ล้านบาท และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้การติดตามหนี้สินไม่เป็นไปตามแผน Xspring AMC ต้องชะลอแผนการรับซื้อหนี้เข้ามาบริหาร เพื่อติดตามหนี้ ปรับโครงสร้างลูกหนี้
นอกจากภาวะของเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องพิจารณาปัจจัยอย่างรอบด้าน เพื่อประเมินทางออกสำหรับแนวทางการรับมือในทุกการเปลี่ยนแปลงแล้ว สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกับนโยบายต่อภาคการเงินของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน เป็นอีกประเด็นที่ XSpring จะต้องคำนึงถึง
“ปีหน้า 2568 ธุรกิจของเรายังคงเผชิญกับความท้าทายไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ ทั้งความท้าทายจากนอกประเทศ โดยเฉพาะนโยบายภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ สงครามการค้า ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมและยากจะคาดเดา
ขณะที่ปีหน้า Xspring มีเป้าหมายที่จะขยายฐานลูกค้าในตลาดตราสารทุน ตราสารหนี้และสินทรัพย์ดิจิทัล โดยบริษัทฯ มองว่าตลาดการเงินที่ตึงตัวทำให้อุปสงค์ทางการเงินมีมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขอสินเชื่อเงินทุนมีโอกาสเติบโตได้อีก สอดคล้องกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของรายได้สินเชื่อในปัจจุบัน ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล คาดว่าน่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่กลับมาคึกคักอีกครั้งภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์ดิจิทัล น่าจะส่งผลให้รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการจากการเทรดเพิ่มขึ้น”
ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล วรางคณาระบุว่าปี 2568 น่าจะมีแนวโน้มการเติบโตด้านรายได้ เนื่องจากปีหน้าธุรกิจได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาในการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือ ICO เตรียมระดมทุน 3 ดีล มูลค่าการระดมทุนประมาณ 300-500 ล้านบาท ในดีลแรก ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาสแรกของปี 2568 และจะทยอยออกเพิ่มอีก 2 ดีล มูลค่าระดมทุนหลักพันล้านบาท
“ในช่วงท้ายปี บลจ. เอ็กซ์สปริง มีแผนการลงทุนที่ตอบโจทย์ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ผ่านการเสนอขายกองทุนใหม่ X-PEGINFRA-UI ซึ่งเป็นกองทุนแรกในไทยที่เน้นลงทุนใน Core Infrastructure ระดับโลก โดยมี Macquarie Asset Management เป็นผู้บริการกองทุนหลัก และแอปพลิเคชัน Xspring ที่เตรียมเปิดตัวในช่วงปลายปี เพื่อตอบความต้องการใช้งานของนักลงทุน ซึ่งแอปพลิเคชันจะเป็นการแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เหมาะสม การซื้อ-ขายสินทรัพย์ต่างๆ การเข้าถึงข้อมูลเพื่อการลงทุนได้สะดวก ตอบความต้องการของนักลงทุนในทุกมิติ”
ก่อนวรางคณาจะทิ้งท้ายว่า “แผนการดำเนินการที่เปิดเผยออกมา ทั้งในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และปีหน้า น่าจะทำให้เป้าหมายรายได้เติบโตได้ถึง 1,000 ล้านบาท”.
“เส้นทางธุรกิจ 50 ปี เอ็กซ์สปริง จากอดีตถึงปัจจุบัน”
บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เดิมชื่อ บริษัท ซิมิโก้ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และไม่ใช่บริษัทน้องใหม่ในตลาดเงินตลาดทุน แต่มีเส้นทางธุรกิจเริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ก่อตั้งบริษัท โอเวอร์ซีส์ ซิคิวริตี้ แอนด์ อินดัสเตรียล คอนเซาส์เทอน จำกัด ให้บริการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ กิจการค้าหลักทรัพย์และกิจการที่ปรึกษาการลงทุน
พ.ศ. 2538 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) และจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2540 หยุดดำเนินกิจการของบริษัทย่อยที่จดทะเบียนในฮ่องกงและลอนดอน และขายบริษัทในเครือ Marlin Partners Jersey Limited
พ.ศ. 2543 เปิดสำนักงานสาขา 12 แห่งและเว็บไซต์ออนไลน์
พ.ศ. 2550 ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ซีมิโก้ จำกัด และได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้บริการบริหารจัดการลงทุนในกองทุน (Xspring AM)
พ.ศ. 2551 ร่วมลงทุนกับ บมจ. ธนาคารกรุงไทยในบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด (Krungthai Xspring)
พ.ศ. 2558 ก่อตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์ ลุมพินี จำกัด ให้บริการบริหารจัดการสินทรัพย์ (XSpring AMC)
พ.ศ. 2561 ก่อตั้งบริษัท เอสอี ดิจิทัล จำกัด ให้บริการระบบการเงินดิจิทัลครบวงจร (Xspring Digital)
พ.ศ. 2564 เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) และเสนอขายโทเคนดิจิทัล เพื่อการลงทุนเหรียญแรกในประเทศไทย “สิริฮับ”