วันพุธ, มกราคม 22, 2025
Home > PR News > รับมือข่าวลวง! สังคมออนไลน์ทำคนลังเลฉีดวัคซีน เร่งเสริมความรู้ ป้องกันภัยข้อมูลเท็จ

รับมือข่าวลวง! สังคมออนไลน์ทำคนลังเลฉีดวัคซีน เร่งเสริมความรู้ ป้องกันภัยข้อมูลเท็จ

โควิด-19 ทำให้เกิดข่าวลวงและข้อมูลที่บิดเบือนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ทำให้คนลังเลในการรับวัคซีน เกิดอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ ส่งผลให้โรคที่สามารถป้องกันได้กลับมาระบาด แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารแนะนำให้หน่วยงานสาธารณสุขเร่งจัดการข้อมูลบิดเบือน เสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อมฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนอย่างเร่งด่วน

ในการประชุมวิชาการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “วัคซีนภายใต้บริบทโลกไร้พรมแดน” ของสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้มีการจัดเสวนา หัวข้อ “ข้อมูลบิดเบือนบนสังคมออนไลน์ ส่งผลต่อการตัดสินใจรับวัคซีนอย่างไร” โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ สื่อสารมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์ด้านสุขภาพ มาร่วมอภิปรายถึงสถานการณ์การรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวัคซีนในสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย เพื่อหาแนวทางการจัดการหรือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรับวัคซีนที่ถูกต้องแก่ประชาชน

นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาของความเข้าใจผิดและการรับข่าวสารข้อมูลที่บิดเบือนเกี่ยวกับวัคซีนที่ปรากฏตามสื่อและโซเชียลมีเดียต่างๆ ว่า “ก่อนที่จะเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่อย่างโควิด-19 ขึ้น ข้อมูลข่าวสารที่มีการบิดเบือนมักเป็นประเด็นสังคม เช่น ความเชื่อด้านการเมืองหรือศาสนา จนกระทั่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นทั่วโลก ทำให้เราพบว่า โควิด-19 ทำให้เกิดข่าวลวงและข้อมูลที่บิดเบือนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพและวัคซีน คำว่าบิดเบือนก็คือ การทำให้สิ่งที่เป็นจริงกลายเป็นเรื่องผิดและทำให้คนมองผิดจุด ซึ่งหลักการในการสร้างข้อมูลเท็จและข่าวลวงหรือ fake news ที่ทำให้ผู้รับสารปฏิเสธหลักการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการสร้างผู้เชี่ยวชาญปลอมขึ้น สร้างตรรกะวิบัติ การปิดบังหลักฐาน และทฤษฎีสมคบคิด อาศัยช่องทางผ่านคนดังที่มีผู้ติดตามมาก ทำให้ข้อมูลบิดเบือนนี้แพร่ออกไปในวงกว้าง ซึ่งต้นตอการบิดเบือนของข้อมูลก็มาจากการสร้างข้อมูลอ้างอิงปลอม ทั้งคนดัง เว็บไซต์ และงานวิจัยต่างๆ ทำให้เกิดความสับสนยิ่งขึ้นว่าข้อมูลไหนจริง ข้อมูลไหนเท็จ”

รศ. ดร.วรัชญ์ ครุจิต อาจารย์ประจำ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายสื่อสารของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า ปัจจุบันการสื่อสารในยุคดิจิทัลมีความเร็ว และมีข้อมูลจำนวนมาก มีช่องทางสื่อสารที่หลากหลาย ทำให้ได้รับข้อมูลมากเกินไปจนกลั่นกรองได้ยาก รวมทั้งการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ยิ่งทำให้ผู้ปล่อยข้อมูลบิดเบือนสามารถผลิตคอนเทนต์ได้หลายรูปแบบ ส่งผลให้คนไทยซึ่งนิยมเสพสื่อออนไลน์ ตกเป็นเหยื่อ misinformation โดยเฉพาะเรื่องวัคซีน ดังนั้น วิจารณญาณในการเสพสื่อจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการรับข้อมูลที่เป็นเท็จนั้นส่งผลให้มีอันตรายรุนแรงถึงชีวิตได้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ข่าวลวงเกี่ยวกับวัคซีนมี 5 ประเภท คือ 1. โรคระบาดไม่รุนแรง 2. คนที่เชิญชวนให้รับวัคซีนไม่น่าเชื่อถือ 3. มีวิธีอื่นที่รักษาโรคได้ 4. วัคซีนขาดประสิทธิภาพ และ 5. วัคซีนมีอันตรายต่อร่างกาย ความเชื่อผิดๆ เหล่านี้ทำให้คนลังเลในการพิจารณารับวัคซีน ส่งผลให้โรคยิ่งแพร่กระจาย

โดย รศ. ดร.วรัชญ์ ได้แนะนำว่า การสื่อสารกับผู้ปฏิเสธวัคซีนควรใช้หลัก KAP (Knowledge-Attitude-Action) เริ่มจากให้ความรู้ ปรับทัศนคติ และนำไปสู่การกระทำ หลีกเลี่ยงการขู่ แต่ควรให้ข้อมูลตามจริงว่า วัคซีนแม้ไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ การสื่อสารควรใช้รูปแบบที่สนุก น่าสนใจ และไม่เคร่งเครียด เพื่อให้ผู้ฟังเปิดใจยอมรับข้อมูลอีกด้าน พร้อมรับฟังปัญหาของผู้ฟังก่อน เพื่อให้ข้อมูลที่ตรงจุดและสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้น

นพ.ทรงเกียรติ อุดมพรวัฒนะ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช แอดมินเพจเฟซบุ๊ก “Infectious ง่ายนิดเดียว” กล่าวว่า “ความเชื่อผิดๆ ในการรับวัคซีนส่งผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเกิดความเข้าใจผิดเรื่องวัคซีนที่เด็กเล็กควรได้รับ ซึ่งนอกจากข้อมูลที่บิดเบือนแล้ว หลายคนเลือกไม่รับวัคซีนเพราะประสบการณ์ส่วนตัวของผู้รับข้อมูลด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หลายคนหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนเพราะกลัวเจ็บ กลัวเข็มฉีดยา เป็นต้น บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องเน้นย้ำความสำคัญของการให้วัคซีนแก่บุตรหลาน ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการให้ข้อมูลทางการแพทย์คือ การนำเสนอข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยไม่ใส่ความรู้สึกส่วนตัวลงไป”

นอกจากนี้ นพ.ทรงเกียรติ ยังกล่าวเสริมว่า “นอกเหนือจากหลักการ 3 อ. อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลสุขภาพแล้ว วัคซีนก็ถือเป็นปัจจัยที่ 4 ในการคุ้มกันเราจากโรคภัยไข้เจ็บและลดการแพร่ระบาดของโรคลงได้ พร้อมช่วยเพิ่มอายุขัยให้กับประชากร”

นาวาอากาศโท นพ.อรรถสิทธิ์ ดุลอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า ในการชันสูตรผู้ที่เสียชีวิตหลังรับวัคซีน พบว่าร้อยละ 99 ของผู้เสียชีวิตหลังรับวัคซีนโควิด ไม่ได้เสียชีวิตเพราะวัคซีน ผู้รับสารจึงควรเลือกรับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล เช่น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกโดยตรง

พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า “การตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ การเปิดเผยข้อมูลเท็จและส่งเสริมข้อมูลที่ถูกต้อง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในหน่วยงานสาธารณสุข เพิ่มอัตราการรับวัคซีนและควบคุมโรคได้ องค์กรต่างๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงอิสระ และสื่อมวลชน สามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้โดยผ่านการวิจัยและวิเคราะห์อย่างเข้มงวด ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถระบุและเปิดเผยข้อกล่าวหาเท็จ ให้ข้อมูลที่อ้างอิงหลักฐาน และให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการรับวัคซีน แนวทางนี้จะมีส่วนช่วยในการตัดสินใจอย่างรอบรู้และเสริมสร้างสังคมที่มีประชากรสุขภาพดี”

“การสร้างภูมิคุ้มกันทางความรู้ เป็นแนวทางสำคัญที่จะทำให้เรารอดพ้นวิกฤติต่างๆ อันเป็นผลจากการหลงเชื่อข้อมูลบิดเบือนเหล่านี้ไปได้” พญ.สุเนตร กล่าวทิ้งท้าย