วันศุกร์, พฤศจิกายน 15, 2024
Home > Cover Story > ฟูดทรักพันธุ์ไทยบุกบิ๊กอีเวนต์ เร่งเป้าสาขาปีนี้ 1,300 แห่ง

ฟูดทรักพันธุ์ไทยบุกบิ๊กอีเวนต์ เร่งเป้าสาขาปีนี้ 1,300 แห่ง

หากเปรียบเทียบกับคู่แข่งในวงการ “กาแฟพันธุ์ไทย” กำลังขับเคลื่อนอย่างหนัก ภายใต้โรดแมป “PTG Business Outlook : Drive for Tomorrow” เพื่อบรรลุเป้าหมายการจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้นไทยในปี 2569 เร่งขยายสาขา 5,000 แห่งในปี 2570 และสร้างรายได้มากกว่า 4,700 ล้านบาท โดยเฉพาะแผนการรุกอีเวนต์ใหญ่ๆ ปลุกปั้นแบรนด์และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าให้ได้มากที่สุด

อย่างล่าสุด กาแฟพันธุ์ไทยจับมือ อัง-วิพุธ อัศวเวทวุฒิ หรือ Viput A. ศิลปินรุ่นใหม่ผู้เชื่อมั่นในการถ่ายทอดพลังบวกผ่านงานศิลปะ ดีไซน์รถฟูดทรักพันธุ์ไทยในคอนเซ็ปต์ เอกลักษณ์ไทย 4 ภาค เผยโฉมในงาน MotoGP รายการ PT Grand Prix of Thailand 2024 การแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก เมื่อวันที่ 25- 27 ตุลาคม 2567 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ โดยประเมินกันว่า มีผู้ชมมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก

สุขวสา ภูชัชวนิชกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟพันธุ์ไทย จำกัด กล่าวว่า หนึ่งในรูปแบบการให้บริการของกาแฟพันธุ์ไทย คือโมเดล รถฟูดทรัก ที่สามารถขยายโอกาสการมองเห็นและส่งมอบประสบการณ์ให้ลูกค้าลองชิมเครื่องดื่มมากขึ้น

ดังนั้น โมเดลรถฟูดทรักจึงตอบโจทย์ทั้งด้าน Mobility, Accessibility และ Visibility สามารถเคลื่อนย้ายไปจอดในสถานที่ต่างๆ อย่างคล่องตัว เป็นตัวทดลองสำรวจความต้องการลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ ก่อนเปิดสาขาในโมเดลต่างๆ ซึ่งจะช่วยขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าหลากหลายมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน การแข่งขัน MotoGP ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพสนามที่ 18 นี้ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) เป็น ไตเติ้ล สปอนเซอร์ มีเป้าหมายให้ทั่วโลกรู้จักประเทศไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้ประเทศ ซึ่งการนำเครื่องดื่มและเมนูของไทยให้ผู้ร่วมงาน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ได้ลิ้มลองสัมผัสรสชาติกาแฟไทย โดยเฉพาะไทยริกาโน Specialty Coffee จากเมล็ดกาแฟไทย สายพันธุ์อาราบิก้าแท้ ปลูกในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ made in Thailand 100% จึงเป็นช่องทางปลุกกระแสแบรนด์ได้อย่างดี

“พันธุ์ไทยต้องการนำเสนออัตลักษณ์ไทยทุกด้าน เผยแพร่วัฒนธรรมไทย เพื่อส่งต่อให้ผู้คนมีความรักในศิลปะของชาติไทยมากยิ่งขึ้น เราจึงอยากให้รถฟูดทรักมีความพิเศษมากกว่าการให้บริการเครื่องดื่มธรรมดา แต่สามารถปรับเป็นมีเดียเคลื่อนที่เหมือนทูตวัฒนธรรม ออกเดินทางไปถ่ายทอดเรื่องราวจาก 4 ภาคของประเทศไทย เหมือนร้านพันธุ์ไทยที่เปิดให้บริการเสิร์ฟลูกค้าทั่วประเทศ ส่วนจะออกเดินทางไปยังอีเวนต์อะไร รูปแบบใดนั้น โปรดรอติดตาม”

ด้าน วิพุธ อัศวเวทวุฒิ หรือ Viput A. กล่าวว่า แรงบันดาลใจและคีย์เวิร์ดสำคัญ มีทั้ง Artistic, Youthful และ Regions การถ่ายทอดมนต์เสน่ห์ของกาแฟพันธุ์ไทยผ่านเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสายหมอกยามเช้าบนดอยสูงของภาคเหนือในบรรยากาศความสดชื่นของต้นกาแฟในภูเขา ภาพบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาของภาคกลาง ไลฟ์สไตล์ที่มีสีสัน ศิลปกรรมของวัดวาอาราม ความมีชีวิตชีวาของภาคใต้ ท้องทะเล วัฒนธรรมหลากหลาย การเพนต์ผ้าบาติก ภาพเรือกอและ รอยยิ้มของชาวมุสลิมทางภาคใต้ ไปจนถึงวิถีชีวิตความเรียบง่ายแต่แฝงด้วยความสนุกสนานของผู้คนในภาคอีสาน ประเพณีและอาหารอีสานที่โด่งดังไปทั่วโลก

ต้องยอมรับว่า พันธุ์ไทยตอกย้ำ DNA ความเป็นไทยตั้งแต่วันแรกที่ PTG แตกไลน์ธุรกิจเมื่อปี 2555 ตามแผนยุทธศาสตร์อัปเกรดสถานีบริการน้ำมัน PT Station และรุกกลุ่ม Non-oil อย่างจริงจัง โดยปักหมุดแรก สาขาบางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เน้นเสน่ห์เอกลักษณ์ไทย มี “ช้าง” เป็นโลโก้ และสโลแกน เข้ม เท่ จริงใจ แบบไทยแท้ๆ เน้นวัตถุดิบเมล็ดกาแฟอาราบิก้า 100% จากแหล่งเพาะปลูกใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และเพิ่มเครื่องดื่มร้อน-เย็นจากวัตถุดิบที่หารับประทานได้ยากในประเทศ เช่น เมนูจันท์จี๊ดจากส้มมะปี๊ดจันทบุุรี เมนูสตรอว์เบอร์เร่อจากสตรอเบอรี่พันธุ์ 80 โครงการพัฒนาพื้นที่่ลุ่มน้ำแม่งอน จ.เชียงใหม่

เมื่อเร็วๆ นี้ พันธุ์ไทยยังร่วมกับบริษัท สิงห์ปาร์ค เชียงราย จำกัด ต่อยอดจากแคมเปญก่อนหน้าที่เคยนำชา มารุเซ็น มัทฉะ พรีเมียม จ.เชียงราย มาพัฒนาเมนูมัทฉะตามสไตล์พันธุ์ไทย จนมีกระแสเรียกร้องให้นำมาบรรจุเป็นเมนูถาวร โดยเปิดตัว ‘ชาอัสสัมพันธุ์ไทยน่าน’ ชาดำสายพันธุ์อัสสัมจาก จ.น่าน มีกลิ่นหอมชาคั่วและมีรสชาติเข้มข้นที่เป็นเอกลักษณ์  ชงสดทุกแก้ว เพื่อดึง Taste Note ที่โดดเด่น แบบ Nutty Tone ซึ่งเป็นกลิ่นหอมเอกลักษณ์ของชาอัสสัม 6 เมนู 6 คาแรกเตอร์ ได้แก่ ชาอัสสัมออริจินอลร้อน ชาอัสสัมน้ำผึ้งมะนาวร้อน ชาอัสสัมเบอร์รี ชาอัสสัมยูซุ ชาอัสสัมพีช และชาอัสสัมบ๊วยมะนาว เดินหน้ารุกตลาดชาที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท

เวลาเดียวกัน เร่งขยายช่องทางจากเดิมเปิดร้านในสถานีบริการน้ำมัน เร่งเจาะทำเลต่างๆ ทั่วไทย ทั้งใจกลางเมืองย่านธุรกิจที่มีกำลังซื้อสูง เมืองท่องเที่ยว หัวเมืองจังหวัดต่างๆ และเปิดขายแฟรนไชส์เร่งสปีดตั้งแต่ปี 2565

ปี 2566 พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) ประกาศแผนการเติบโตของร้านกาแฟพันธุ์ไทย ตามกลยุทธ์ 4 ด้าน คือ 1. มุ่งขยายสาขาร้านกาแฟพันธุ์ไทยในรูปแบบแฟรนไชส์ ทั้งในและนอกปั๊ม PT

2. พัฒนาเมนูเครื่องดื่มใหม่ๆ โดยใช้วัตถุดิบรสชาติดีและหาดื่มได้ยากจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

3. เน้น Delivery Platform มากขึ้น เพื่อเพิ่มการรับรู้ (Awareness) การมองเห็น (Visibility) และการเข้าถึงแบรนด์ของลูกค้า (Accessibility) และ4. นำข้อมูลลูกค้าจากบัตรสมาชิก PT Max Card และ PT Max Card Plus วิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภคของลูกค้า เพื่อเพิ่มยอดขายและความถี่ของการเข้าใช้บริการร้านกาแฟพันธุ์ไทย

ปัจจุบันพันธุ์ไทยปูพรมสาขาทั่วประเทศรวม 1,113 สาขา แยกตามโมเดลหลักๆ ได้แก่ สาขา Stand Alone พื้นที่เริ่มต้น 60 ตารางเมตร (ตร.ม.) จำนวน 584 สาขา สาขา Built In ขนาดพื้นที่เริ่มต้น 40 ตร.ม. มักอยู่ตามอาคารพาณิชย์ เจาะทำเลย่านธุรกิจและชุมชน 437 สาขา สาขาคีออสในศูนย์การค้า พื้นที่เริ่มต้น 15 ตร.ม. จำนวน 80 สาขา และ Food Truck หรือ Food Trailer อีก 12 สาขา โดยปี 2567 ตั้งเป้าเปิดครบ 1,300 สาขา

ในจำนวน 1,113 สาขา เป็นร้านแฟรนไชส์ 127 แห่ง แบ่งเป็นสาขา Stand Alone 29 แห่ง สาขา Built In จำนวน 90 แห่ง และคีออส  8 แห่ง โดยโมเดล Built In มีผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์มากสุด เนื่องจากใช้เงินลงทุนไม่สูงและหาทำเลเปิดได้ง่ายหลายพื้นที่ สามารถเปิดตามอาคารพาณิชย์ที่มีโครงสร้างได้

สำหรับเงื่อนไขการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ “กาแฟพันธุ์ไทย” คำนวณเงินก้อนแรกเริ่มต้นเพียง 1.25 ล้านบาท ต่ำกว่า 2 แบรนด์คู่แข่งที่สูงมาก 1.5-4 ล้านบาท โดยรูปแบบ Stand Alone ประเมินค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้างเริ่มต้น 1.88 ล้านบาท

รูปแบบ Built-in ค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้างเริ่มต้น 1.6 ล้านบาท

รูปแบบ Kiosk ค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้างเริ่มต้นประมาณ 1.2 ล้านบาท

รูปแบบ Food Trailer ค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้างเริ่มต้น 1.42 ล้านบาท

รูปแบบ Food Truck ค่าอุปกรณ์และค่าก่อสร้างเริ่มต้น 1.45 ล้านบาท

ในอีกด้าน บริษัทเร่งเตรียมพร้อมด้านบุคลากรรองรับการขยายสาขาจำนวนมาก โดยเฉพาะกิจกรรมการแข่งขัน Punthai Barista Championship โดยปีนี้เปิดโอกาสให้บาริสต้าจากทั่วประเทศโชว์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ นำเสนอเมนูแปลกใหม่ตอบโจทย์ Creative Thai Taste จำนวน 3 รอบ คือ รอบคัดเลือกภูมิภาค รอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ มีการคัดเลือกบาริสต้าผู้เข้ารอบจาก 20 คนทั่วประเทศ เหลือ 7 คนสุดท้าย

ผู้เข้าแข่งขันต้องผ่านการทดสอบตามเกณฑ์การประเมิน เรื่องความถูกต้องในการใช้อุปกรณ์และเครื่องชงกาแฟ การสกัดช็อตกาแฟเอสเพรสโซ การทำเครื่องดื่มร้อนและเย็น เมนูซิกเนเจอร์ การจัดเสิร์ฟและการสร้างสรรค์เมนูใหม่ Creative Thai Taste ซึ่งแชมป์บาริสต้า ปี 2567 นางสาวเปรม ขุนวิชัย จากร้านกาแฟพันธุ์ไทย สาขาพุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม นำเสนอเมนู ‘สามพันธุ์ซ่าส์’ ต่อยอดวัตถุดิบท้องถิ่นจากเหนือจรดใต้ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ สตรอเบอรี่พันธุ์ 80 อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และมะม่วงเบา อ.สทิงพระ จ.สงขลา ผสมผสานความซาบซ่าสปาร์คกลิ้งโซดา ซึ่งคาดว่าจะเป็นเมนูใหม่นำเสนอลูกค้าในเร็วๆ นี้ แน่นอน.