ฝ่ายกลยุทธ์ตลาด ธนาคารยูโอบี วิเคราะห์การเลือกตั้งสหรัฐฯ นโยบายของทรัมป์อาจดันให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ด้านนโยบายของแฮร์ริสกลับเน้นเป้าหมายชัดเจนกว่า – แต่ไม่ว่าใครจะชนะ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินเรื้อรังของสหรัฐฯ อยู่ดี
ในช่วงที่เหลือของปี 2567 และต่อเนื่องไปถึงปี 2568 มีความเสี่ยงสำคัญ 3 ประการที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ 1. ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และดันราคาพลังงานให้สูงขึ้น 2. ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนว่าจะเพียงพอต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือไม่ และ 3. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบมากที่สุด
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อัตราดอกเบี้ย และค่าเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ผลกระทบดังกล่าวอาจส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วเศรษฐกิจโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ผลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่านางกมลา แฮร์ริส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนำเหนือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบคณะผู้เลือกตั้งของสหรัฐฯ ผลการลงคะแนนเสียงในรัฐที่ไม่ได้เป็นฐานเสียงของพรรคใดจะเป็นตัวกำหนดผลการเลือกครั้งนี้ ซึ่งผู้สมัครทั้งสองมีคะแนนสูสีมากในหลายรัฐดังกล่าว จึงยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าใครจะคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้
นโยบายของทรัมป์อาจดันเงินเฟ้อสูงขึ้น
นักวิเคราะห์หลายท่านระบุถึงความเสี่ยงที่นโยบายของทรัมป์อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ระหว่างการหาเสียง ทรัมป์ประกาศสนับสนุนให้มีการเพิ่มภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าหลายรายการ โดยเสนอให้เพิ่มภาษีนำเข้าจากจีนอย่างมีนัยสำคัญสูงสุดถึงร้อยละ 60 หรือภาษีนำเข้ารถยนต์จากเม็กซิโกในอัตราร้อยละ 200 นอกเหนือจากการเสนอให้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทในอัตราร้อยละ 10
ทรัมป์ยังเสนอว่ารายได้จากการเก็บภาษีนำเข้าสามารถนำมาทดแทนการลดภาษีได้ โดยให้ลดภาษีนิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ผลิตสินค้าภายในสหรัฐฯ จากร้อยละ 21 เหลือร้อยละ 15
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อ เนื่องจากภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังต้องการส่งตัวผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายกลับประเทศ ซึ่งอาจทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวและผลักดันค่าแรงสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง
แม้จะดูเหมือนว่านโยบายของทรัมป์จะช่วยยืดอายุวงจรการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่การดำเนินการนโยบายเหล่านี้แม้เพียงบางส่วนอาจส่งผลให้เกิดเงินเฟ้ออีกครั้งในสหรัฐฯ สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สันเตือนว่า ข้อเสนอภาษีนำเข้าของทรัมป์อาจทำให้ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของชาวอเมริกันทั่วไปเพิ่มขึ้นกว่า 2,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
เงินเฟ้อที่สูงขึ้นนี้อาจส่งผลทำให้แผนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดไม่ลงลึกเท่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ เราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดจะลดลงจากร้อยละ 5 ในปัจจุบัน ลงเหลือร้อยละ 3.5 ภายในสิ้นปีหน้า แต่หากทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เราก็ไม่อาจคาดเดาการดำเนินการอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้
แฮร์ริสเสนอนโยบายเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายชัดเจนและไม่สุดโต่งเท่า
ในขณะเดียวกัน นางกมลา แฮร์ริส ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ได้นำเสนอนโยบายในภาพรวมกว้างๆ โดยเฉพาะในด้านการค้า แฮร์ริสน่าจะยังคงดำเนินนโยบาย “สนามเล็ก รั้วสูง” ตามแนวทางของรัฐบาลไบเดน โดยจัดเก็บภาษีนำเข้าเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่สุดโต่งเท่านโยบายที่ทรัมป์เสนอ
ในด้านนโยบายภาษี แฮร์ริสเสนอให้เพิ่มภาษีรายได้สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด รวมถึงภาษีสำหรับกลุ่มการเก็งกำไรสูงสุด และภาษีนิติบุคคล โดยสงวนการลดภาษีให้กับอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์และอุตสาหกรรมสะอาด
ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตมีเป้าหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจขนาดเล็กและครัวเรือนที่มีรายได้น้อยรับมือกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยรวมแล้ว นโยบายเศรษฐกิจของแฮร์ริสมีเป้าหมายชัดเจนและไม่สุดโต่งเท่านโยบายของทรัมป์ และน่าจะมีผลกระทบด้านเงินเฟ้อน้อยกว่าต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นอกจากนี้ แฮร์ริสยังสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงมีอิสระในการดำเนินนโยบาย ซึ่งแตกต่างจากข้อเสนอของทรัมป์ที่ต้องการให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินมากขึ้น แฮร์ริสยังไม่ได้เสนอมาตรการให้ลดค่าเงินดอลลาร์เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทรัมป์กล่าวถึงบ่อยครั้ง
ทั้งสองฝ่ายต้องให้ความสำคัญต่อการจัดการหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้
ที่น่าผิดหวังคือ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองฝ่ายไม่ได้ให้ความสำคัญนักกับแนวโน้มการคลังของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมาก ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2563 หนี้สาธารณะคงค้างของสหรัฐฯ อยู่ที่ต่ำกว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันกลับเพิ่มขึ้นเป็น 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำนักงานงบประมาณรัฐสภา ซึ่งไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองข้างใด คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะคงค้างอาจพุ่งขึ้นอีก และอาจแตะระดับ 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 120 ของจีดีพีสหรัฐฯ ภายในปี 2577 ซึ่งหนี้ที่เพิ่มขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
หนี้สินที่สูงขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากรายได้ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จัดเก็บได้จะถูกนำไปใช้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้มากขึ้น แทนที่จะใช้เพื่อความต้องการทางโครงสร้างในระยะยาวของเศรษฐกิจ
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายแห่งระบุว่าอาจมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในระยะกลาง หากหนี้สาธารณะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไร้การควบคุม
ไม่ว่าชัยชนะจะตกเป็นของฝ่ายใด ประธานาธิบดีคนถัดไปจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในการจัดการหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น
นโยบายของผู้สมัครทั้งสองฝ่ายส่งผลต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร
สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาค นโยบายของทรัมป์อาจส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง
นโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านการค้าแบบเผชิญหน้าของทรัมป์ต่อจีนอาจเพิ่มความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่แม้จะมีความเป็นไปได้น้อย แต่ทรัมป์อาจทำให้การฟื้นตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการไหลของการค้าในจีนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชะลอตัวลง
สิ่งนี้อาจทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางในภูมิภาคจำต้องปรับทิศทางนโยบายการคลังและนโยบายการเงินในปี 2568
ในปัจจุบัน แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงสดใส เนื่องจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในภาคการค้าปลีก และการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค คาดว่าจีดีพีของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะปรับตัวสูงขึ้นและค่าเงินจะแข็งค่าขึ้นในปี 2568
ในระยะยาว ปัจจัยเชิงบวก อาทิ ประชากรวัยหนุ่มสาวในภูมิภาค การขยายตัวของชนชั้นกลาง การประสานการค้าข้ามพรมแดน และการบูรณาการอุตสาหกรรมในภูมิภาคในเชิงลึก จะเป็นรากฐานเพื่อการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
เราคาดว่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 38 อยู่ที่ 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570 และเพิ่มขึ้นเป็น 3.73 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573
ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่กำลังจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศอันเป็นผลมาจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สิ่งสำคัญที่เราต้องพิจารณาคือ ความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งและการสนับสนุนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญระหว่างประเทศในอาเซียนกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เราคาดว่าอาเซียนจะปรับปรุงข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีมายาวนานกับจีนอีกด้วย
ประเทศไทย: ความต้องการจากต่างประเทศที่พุ่งสูงจะช่วยขับเคลื่อนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นชัดเจนมาก คาดว่าเศรษฐกิจจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้นและการใช้จ่ายภาครัฐหลังการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ค่อนข้างราบรื่น
ในการประชุมเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย สวนการคาดการณ์ของตลาดด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน และคาดว่าในอนาคตยังมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 เพื่อกดให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปีในไตรมาสแรกของปี 2568 โดยรวมแล้ว เราคาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 2.9 ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.9 ในปี 2566
แม้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจ แต่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงเป็นโอเอซิสแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและโอกาสทางการค้าที่แข็งแกร่ง
บทวิเคราะห์โดย: เฮง คุน เฮา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์ตลาด ธนาคารยูโอบี