วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
Home > Cover Story > ดิไอคอน ป่วนวงการติดลบ อินฟลูเอนเซอร์ เรตติ้งตก

ดิไอคอน ป่วนวงการติดลบ อินฟลูเอนเซอร์ เรตติ้งตก

“อินฟลูเอนเซอร์ พรีเซนเตอร์ คนที่มีชื่อเสียง ต้องเข้าใจธุรกิจมากกว่านี้ ก่อนตกปากรับคำทำสัญญา เพราะมีหลายธุรกิจที่มีทุนสีเทาอยู่เบื้องหลัง ถ้าพรีเซนต์และไม่มีสิ่งนั้นจริงๆ จะถูกเช็กบิลแรงมาก และทำให้ภาพรวมธุรกิจอินฟลูเอนเซอร์เสียหายไปด้วย”

สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) หนึ่งในผู้นำอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์ม กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงกรณีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป ซึ่งถูกกล่าวหาหลอกลวงผู้บริโภคด้วยการให้ร่วมลงทุน และจำหน่ายสินค้าในลักษณะขายตรง เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ก. การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งถือเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยใช้กลยุทธ์พรีเซนเตอร์ดาราและพิธีกรชื่อดังโปรโมตธุรกิจ

ขณะเดียวกัน การใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นอาวุธกระจายข่าวสารเข้าถึงผู้คนจำนวนมาก แม้คดีดิไอคอนยังไม่ได้ข้อสรุปทางคดี แต่ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้วงการอินฟลูเอนเซอร์ต้องสร้างมาตรฐานทั้งในแง่การรับงาน การศึกษาธุรกิจ ไม่ใช่หวังสร้างรายได้ทางเดียว เพราะมีสินค้าและธุรกิจรอรีวิวหรือนำเสนออีกจำนวนมาก

“เรื่องนี้มีสองด้าน ทั้งฝั่งประชาชนและอินฟลูเอนเซอร์ พรีเซนเตอร์ ทุกวันนี้ เรายังหลงเชื่อคนอวดรวย ทั้งที่ยุคปัจจุบันไม่มี Quick Win ไม่มีผลตอบแทนรวดเร็ว และถ้ามองย้อน 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจไม่ดีทำให้คนเกิดความโลภ อาจเริ่มโลภเล็กๆ จนตัดสินใจเข้าไปร่วมธุรกิจ หวังผลตอบแทนระยะสั้น ซึ่งอาจผิดไปหมดและถูกสัญญามัดมือ ถอนไม่ได้ ถ้าไม่ทำตามสัญญา ต้องถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย”

แน่นอนว่า หากเรามองเส้นทางของดิไอคอน ใช้ดารานักแสดงสร้างแรงดึงดูดและความน่าเชื่อถืออย่างชัดเจน เพราะถ้าอาศัยแค่ตัวตนของ วรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล ที่ทุกคนเรียกแทนตำแหน่งซีอีโอ ไม่เพียงพอแน่นอน

ขณะที่ดิไอคอนจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 หรือระยะเวลาเพียง 6 ปี ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 1 ล้านบาท ก่อนเพิ่มเป็น 50 ล้านบาทในปี 2563 โดยจำหน่ายสินค้าตัวแรก คืออาหารเสริม Boom Collagen อาศัยช่วงจังหวะสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ผู้คนขาดรายได้หลัก และดิ้นรนหารายได้พิเศษ สร้างฐานสมาชิกระดับต่างๆ อย่างรวดเร็ว ประมาณ 3-4 แสนยูสเซอร์ และกอบโกยยอดขายจำนวนมหาศาล ต่อมาจึงขยายสินค้าไลน์ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม

กลยุทธ์สำคัญ คือ การจำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้เอง (Dropship) ลักษณะการขายระหว่างแม่ทีมกับลูกทีมระดับต่างๆ เน้นการเปิดสอนการขายออนไลน์ให้ตัวแทนจำหน่ายและใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น พิธีกรชื่อดัง กันต์ กันตถาวร ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่การตลาด (CMO) เรียก “บอสกันต์” ดาราสาว พีชญา วัฒนามนตรี เป็นประธานเจ้าหน้าที่การสื่อสาร เรียก “บอสมีน” และพระเอกรุ่นเก๋าที่ใส่ใจสุขภาพ ยุรนันท์ ภมรมนตรี เป็นประธานเจ้าหน้าที่การวิจัย เรียก “บอสแซม” รวมทั้งดึงพรีเซนเตอร์โปรโมตสินค้าอีกส่วนหนึ่ง เช่น ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ (บอย) และ ปกรณ์ ลัม (โดม)
จากข้อมูลช่วง 5 ปีแรก ดิไอคอนกอบโกยรายได้รวมมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยปี 2564 มีรายได้มากที่สุดกว่า 4,950 ล้านบาท

แต่ข้อมูลหมกเม็ดถูกแฉสู่สาธารณะ เมื่อกรรชัย กำเนิดพลอย ผู้ประกาศข่าว ช่อง 3 เอชดี ระบุในรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ช่วงหนึ่งเกี่ยวกับบริษัทขายตรงชื่อดังหลอกชักชวนให้ประชาชนมาร่วมลงทุน แต่สุดท้ายกลับไม่ดำเนินการตามที่ตกลงไว้

กระทั่งมีผู้เสียหายเริ่มออกมาแสดงตัวและเปิดเผยกระบวนการเพิ่มขึ้น เช่น ไกรภพ จันทร์ดี (กบ ไมโคร) และคริสโตเฟอร์ เบญจกุล อดีตนักแสดงที่ประสบอุบัติเหตุ มีการระบุคำใบ้เพิ่มผ่านแฮชแท็ก #ขยันผิดที่10ปีก็ไม่รวย ซึ่งเป็นวลียอดนิยมของบอสพอล เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงโมเดลธุรกิจที่ไม่ได้เน้นการขายสินค้าถึงผู้บริโภค แต่สร้างฐานสมาชิก เปิดบิลรับสินค้าเป็นทอดๆ อาจเข้าข่าย “แชร์ลูกโซ่”

มีการระบุว่า บริษัทแบ่งเครือข่ายผู้ขายเป็นระดับเริ่มตั้งแต่การเป็นร้านค้าปลีก distributor ใช้เงินลงทุนเปิดบิลซื้อสินค้า 2,500 บาท ระดับหัวหน้าทีม Supervisor ลงทุน 25,000 บาท ระดับตัวแทนจำหน่าย Mini Dealer ลงทุน 50,000 บาท และสูงสุดระดับตัวแทนจำหน่าย Dealer ลงทุน 250,000 บาท โดยได้ผลตอบแทนตามยอดขาย ซึ่งเหล่าบอสและพรีเซนเตอร์จะเป็นผู้สาธยายยอดขายและรายได้อันสวยหรู พร้อมเงินรางวัล แพ็กเกจทัวร์ต่างประเทศและซูเปอร์คาร์

วันที่ 9 ตุลาคม พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลคดีและสั่งการตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ รับแจ้งความจากประชาชนผู้เสียหาย

จังหวะนี้เอง บอสแซมออกมายืนยันไม่ได้มีส่วนในการกำหนดทิศทางธุรกิจ เนื่องจากวรัตน์พลเป็นกรรมการคนเดียวของดิไอคอนกรุ๊ป

ขณะที่สมาคมการขายตรงไทยออกแถลงการณ์ยืนยันดิไอคอนกรุ๊ปไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมและการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ 13 รายการ ในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีผลิตภัณฑ์ได้รับอนุญาต 12 รายการ อีก 1 รายการ ไม่พบในระบบฐานข้อมูล

วันที่ 10 ตุลาคม บอย ปกรณ์ ชี้แจงว่า ทำหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์เท่านั้น ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในดิไอคอน ตามมาด้วย กันต์ กันตถาวร ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด ประกาศยุติบทบาทพิธีกรในรายการของเวิร์คพอยท์ทั้งหมดเป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีมีความชัดเจน
อีกสองวันต่อมา บอสมีนแถลงพร้อมน้ำตา ยืนยันเป็นเพียงพรีเซ็นเตอร์ตาม “สคริปต์” ไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการบริหารธุรกิจเช่นกัน

ด้านดิไอคอนออกแถลงการณ์ย้ำว่า บอสกันต์ บอสมีน และบอสแซม ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจลงนาม หรือผู้ถือหุ้นของบริษัท เป็นเพียงผู้ช่วยทำการตลาดสินค้า ไม่รู้เรื่องธุรกิจใดๆ

สุวิตากล่าวว่า แม้มีการชี้แจงยืนยันถึงความไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ แต่วงการอินฟลูเอนเซอร์และพรีเซนเตอร์เจอผลกระทบในแง่ความน่าเชื่อถือ ซึ่งหากเปรียบเทียบมาตรฐานกับต่างประเทศจะมีสมาคมเหมือนสภาการสื่อมวลชนกำกับดูแล โดยกำหนดให้ผู้ประกอบอาชีพอินฟลูเอนเซอร์หรือพรีเซนเตอร์ต้องลงทะเบียนเหมือนสื่อมวลชน ถ้าทำผิดจรรยาบรรณจะมีความผิด อาจถูกฟ้องร้องหรือยกเลิกใบประกอบวิชาชีพ หรือถูกแบล็กลิสต์ประกาศลงหน้าข่าวได้

“ณ เวลานี้ คนทำคอนเทนต์ขาย อินฟลูเอนเซอร์ที่ทำคอนเทนต์ดีๆ ต้องออกมาส่งเสียง ชี้ความแตกต่างระหว่างคนโกงกับคนไม่โกง เช่น ช่องเราไม่มีมาตรการนำเงินเป็นปึ๊งๆ มาตั้งโชว์โดยเด็ดขาด เป็นนโยบายดูแลลูกค้าหรือสร้างธรรมาภิบาลประจำของช่องต่างๆ”

สุวิตากล่าวอีกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนถึงอันตรายของโซเชียลมีเดีย ถ้าอยู่ในมือของคนไม่ดี สำคัญมาก และเป็นส่วนหนึ่งที่เทลสกอร์จัดงาน Thailand Influencer Awards by Tellscore ประกาศรางวัลสำหรับผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดและแบรนด์ชั้นนำทั่วประเทศที่สร้างสรรค์ผลงานยอดเยี่ยมโดดเด่นในช่องทางดิจิทัล โดยจัดต่อเนื่องทุกปี และปีนี้เป็นปีที่ 6 เพื่อสร้างบรรทัดฐานการสร้างคอนเทนต์ที่ดีและสร้างสรรค์

สำหรับปี 2567 รางวัลThe Best Influencer Award แบ่งเป็นสายต่างๆ เช่น Foodie, Beauty, Fashion,Travel,Tech & Gadget, Health & Wellness, Financial & Investment, Automotive, Sports, Gaming, Home & Living, Nationwide, Muketing (สายมู), Affiliate, Public Figure Creator, Entertainment, Sound Voice & Music, Art & Design, Education Creator, Science Creator, News Creator

ที่สำคัญ เทลสกอร์ร่วมกับนักวิชาการศึกษาวิจัยอนาคตวงการครีเอเตอร์ในอีกสิบปีข้างหน้า มาตรการกำกับดูแล เพื่อแยกกลุ่มคนที่สร้างภาพหลอกลวง ไม่เช่นนั้นอนาคตวงการจะแย่ ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2568
เธอย้ำว่า ครีเอเตอร์มีหน้าที่เหมือนสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง อาจไม่ได้รายงานข่าว แต่รายงานกระแส ถ้ารายงานกระแสผิดจะส่งผลต่อสังคมและมีความผิดด้วย.