วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > Thailand Tourism Festival เมื่อการท่องเที่ยวคือตัวช่วยสุดท้าย

Thailand Tourism Festival เมื่อการท่องเที่ยวคือตัวช่วยสุดท้าย

 
ข่าวการลงทุนในโครงการเพื่อสร้างสวนสนุกและศูนย์การเงินนานาชาติที่เขตเศรษฐกิจพิเศษท่าแขก แขวงคำม่วน สปป. ลาว ในนาม Thakhaek Ehsan International Financial Centre มูลค่านับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัท Akane Farm Sole เมื่อไม่นานมานี้ ดูจะกระตุ้นความสนใจและการรับรู้ในความเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้านรับศักราชใหม่แห่ง AEC ไม่น้อยเลย
 
แม้ว่ารายละเอียดของรายงานข่าวดังกล่าว จะยังไม่สามารถให้รายละเอียดที่บ่งบอกกำหนดระยะเวลาและรูปธรรมที่ชัดเจนของโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นได้มากนัก หากแต่กรณีที่ว่านี้สามารถบ่งบอกทิศทางของการพัฒนาในอนาคตได้อย่างชัดเจน
 
เพราะนอกเหนือจากการยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในระบบพาณิชย์ อุตสาหกรรมและการเพิ่มผลผลิตแล้ว ดูเหมือนว่าการท่องเที่ยวได้กลายเป็นแหล่งรายได้ที่สามารถดึงดูดเงินตราต่างประเทศอย่างสำคัญของทุกประเทศใน AEC ไปแล้ว
 
การเปิดพื้นที่ของเพื่อนบ้านใน AEC ซึ่งต่างมีทรัพยากรธรรมชาติและรากฐานทางศิลปะ วัฒนธรรมหลากหลายให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้ร่วมเก็บรับและเรียนรู้ประสบการณ์ความเป็นไปของชุมชนในภูมิภาคนี้ กำลังขยับใกล้เข้ามาท้าทายธุรกิจท่องเที่ยวไทยอย่างไม่อาจละสายตา
 
เนื่องเพราะกรณีเช่นว่านี้ ไม่เพียงแต่จะช่วงชิงจำนวนนักท่องเที่ยวในตลาดระดับนานาชาติ หากยังพร้อมที่จะกลายเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นรองรับกับตลาดภายในของ AEC ที่กำลังขยายตัวจากการก้าวสู่การเป็นประชาคม AEC ที่มีความเข้มข้นขึ้นด้วย
 
กรณีดังกล่าวได้ส่งผลให้การแข่งขันในระดับสากลของธุรกิจการท่องเที่ยวมีสภาพไม่แตกต่างจากการแข่งขันเพื่อส่งออกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในเชิงธุรกิจอุตสาหกรรมชนิดอื่นๆ เพียงแต่ “การซื้อ” ในมิติของการท่องเที่ยวอาศัยการไหลเข้าของผู้คนในฐานะที่เป็นแหล่งที่มาของรายได้เข้าสู่ประเทศเท่านั้นเอง
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของนักท่องเที่ยว มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในมิติที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงรูปแบบเท่านั้น หากในอีกด้านหนึ่งกรณีดังกล่าวกำลังส่งสัญญาณให้เกิดการปรับเปลี่ยนในมิติของการกำหนดกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวในระยะยาวด้วย
 
สถิติของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาได้สะท้อนให้เห็นการเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวเอเชียด้วยกัน ซึ่งสามารถครองส่วนแบ่งได้มากถึงกว่า 45-50% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในประเทศไทย โดยในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกอาเซียนมากถึงกว่า 20-30% เลยทีเดียว
 
ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยระบุว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท และเป็นเงินหมุนเวียนจากการท่องเที่ยวภายในประเทศอีก 7.9 แสนล้านบาท ทำให้การท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้รวมถึง 2.23 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2.2 ล้านล้านบาท หรือสูงกว่าเป้าหมาย 3 หมื่นล้านบาท 
 
เป็นการประเมินยอดรายได้ที่ได้รับโดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนทางสังคม หรือแม้กระทั่งต้นทุนจากการให้บริการและสินค้าที่ดำเนินอยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวนี้ แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสดงความพึงพอใจที่สามารถหนุนนำจักรกลเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนต่อไปได้
 
ความพยายามที่จะสร้างรายได้และกระแสเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยด้วยการท่องเที่ยว ดูจะเป็นมาตรการที่ให้ผลสัมฤทธิ์เป็นที่น่าพึงพอใจที่สุดมาตรการหนึ่ง หากเปรียบเทียบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามนำเสนอและผลักดันออกมาในช่วงก่อนหน้า ยังไม่นับรวมการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวด้วยการจัดตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558” ที่มีนายกรัฐมนตรีลงมากำกับในฐานะประธานคณะกรรมการฯ เองด้วย
 
แม้ว่า บทบาทของคณะกรรมการอำนวยการปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 จะได้ยุติลงแล้วจากการประชุมครั้งล่าสุดและสุดท้ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ภาพจำแห่งความสำเร็จในช่วงปี 2558 ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพยายามผลิตซ้ำ “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย” (Thailand Tourism Festival 2016) ขึ้นอีกครั้งที่ สวนลุมพินี ระหว่างวันที่ 13–17 มกราคม ด้วยหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะสามารถสร้างกระแสการท่องเที่ยวให้ดำเนินต่อเนื่องออกไปอีก
 
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจของ “เทศกาล เที่ยวเมืองไทย” ในห้วงยามที่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรเกือบทุกชนิดอยู่ในภาวะตกต่ำ ดำเนินไปภายใต้แนวคิด “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร” ซึ่งพยายามนำวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของแต่ละภูมิภาคมารวมไว้ในงานเดียวกัน 
 
ความมุ่งหมายสำคัญของกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับการระบุว่าเป็นไปเพื่อสร้างแรงจูงใจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค ซึ่งมุ่งที่จะกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนทั่วประเทศ และถือเป็นงานจุดกระแสสำหรับปี 2559 ตามเป้าหมายที่จะสร้างรายได้และเงินหมุนเวียนจำนวน 800,000 ล้านบาทจากการท่องเที่ยวในประเทศ
 
พลวัตการท่องเที่ยวไทยในช่วงที่ผ่านมา นอกจากจะอาศัยประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและแหล่งโบราณสถาน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวดั้งเดิมที่กำลังถูกท้าทายจากการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบใน AEC แล้ว
 
ความพยายามที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสถาปนาให้เมืองไทยเป็นสวรรค์ของการชอปปิ้งและอาหารชวนบริโภคดูจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมุ่งหมายที่จะก้าวไปสู่ และดูเหมือนจะเป็นกรณีที่สามารถชี้วัดประเมินผลประโยชน์เป็นจำนวนตัวเลขรายได้ที่มีความชัดเจนและเป็นกอบเป็นกำมากกว่าการท่องเที่ยวแบบเดิม
 
ประเด็นเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากจะมีกรณีว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากมิติเชิงปริมาณไปสู่การยกระดับเชิงคุณภาพของนักท่องเที่ยวแล้ว ยังมีข้อควรพิจารณาว่าด้วยการกระจายประโยชน์ของการท่องเที่ยวไปยังกลุ่มคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรืออยู่ในธุรกิจการท่องเที่ยวโดยตรง
 
ยังไม่นับรวมผลกระทบด้านลบของการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างเอิกเกริก ที่อาจผลักดันให้ค่าครองชีพพื้นฐานของประชาชนในพื้นที่ขยับสูงขึ้น และกรณีว่าด้วยการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการเดินทางมาของนักท่องเที่ยวด้วย
 
แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นประหนึ่งตัวช่วยที่สามารถสร้างกิจกรรมและการกระจายหมุนเวียนปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หากแต่วิสัยทัศน์และการกำหนดยุทธศาสตร์ที่รอบด้านในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวนับเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง
 
ยุทธศาสตร์การพัฒนาว่าด้วยธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย จึงไม่อาจกำหนดขึ้นเพียงเพื่อตอบสนองกับความต้องการในเชิงการตลาดชั่วครู่ชั่วยาม หากจำเป็นต้องเกิดขึ้นจากกรอบโครงทางความคิดคำนึงที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของทิศทางการพัฒนา และตำแหน่งแห่งที่ของการเป็นจุดหมายปลายทางในระดับสากลด้วย
 
และต้องเกิดขึ้นจากผลของการกำหนดให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาระดับชาติที่พร้อมจะหนุนนำมิติทางสังคมเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นกับ stake holder ทุกภาคส่วนในสังคมไทยที่มีบริบทกว้างขวางกว่าการเพ่งเล็งไปที่ผู้ประกอบการในธุรกิจเท่านั้น
 
ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการทำให้การท่องเที่ยวมีฐานะเป็นวาระแห่งชาติที่สามารถสะท้อนยุทธศาสตร์และกระบวนทัศน์ภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายในมิติที่มีระดับของความหมายที่เข้มข้นจริงจังมากกว่าที่เป็นอยู่