วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > น้ำเต้าหู้หมื่นล้าน แห่เปิดร้านอัปเกรดพรีเมียม

น้ำเต้าหู้หมื่นล้าน แห่เปิดร้านอัปเกรดพรีเมียม

แน่นอนว่า เมนูปาท่องโก๋ต้องกินคู่กับน้ำเต้าหู้ ซึ่งร้านน้ำเต้าหู้ยุคปัจจุบันสไตล์คนรุ่นใหม่ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิงและได้ผลตอบรับค่อนข้างดีด้วย ทั้งในแง่ตลาดความต้องการของผู้บริโภคและจำนวนร้านเปิดใหม่พุ่งพรวดกว่าเท่าตัว

หากเจาะเฉพาะตลาดน้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลือง เคยมีข้อมูลการวิจัยของยูโรมอนิเตอร์ระบุว่า ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญที่บริโภคถั่วเหลืองเป็นอันดับ 3 ของโลก อัตราการบริโภคมากกว่า 12 ลิตรต่อคนต่อปี รองจากฮ่องกงและสิงคโปร์ และตลาดน้ำนมถั่วเหลืองในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องมากกว่า 10% ทุกปี

ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากคนไทยที่มีอายุมากขึ้น จึงลดการบริโภคนมโคลงและหันมาบริโภคน้ำนมถั่วเหลือง ขณะที่คนรุ่นใหม่นิยมดื่มน้ำเต้าหู้ เพื่อลดความเสี่ยงการแพ้นมวัว รวมทั้งความนิยมในการบริโภคอาหารเจทำให้ตลาดนมถั่วเหลืองแข่งขันสูงขึ้น ทั้งเรื่องนวัตกรรมสินค้าและรสชาติใหม่ๆ

ถ้าแยกสัดส่วนตลาดนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มในประเทศไทยแบ่งเป็นชนิดกล่องยูเอชทีประมาณ 84% แบบขวดแก้วหรือสเตอริไรซ์ 13% และแบบพาสเจอไรซ์ (คั้นสด) 3% ซึ่งช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดเทรนด์ใหม่ในกลุ่มผู้บริโภค มีความต้องการนมถั่วเหลืองพาสเจอไรซ์ ต่อยอดจากแบบคั้นสดมากขึ้น เพราะไม่ผสมนมผง ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่ใส่สารเคมี เติมสีหรือกลิ่น มีความอร่อยสดเหมือนกินน้ำเต้าหู้ตามร้านค้า แต่สามารถซื้อมาเก็บในตู้เย็นได้นานกว่าน้ำเต้าหู้ทั่วไป เพราะผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว

ขณะเดียวกัน ตลาดผลิตภัณฑ์นมจากพืช ซึ่งรวมถึงนมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้มีการเติบโตสูงตั้งแต่ช่วงปี 2565 และปี 2566 ภาพรวมตลาดมีมูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท ถือเป็นอานิสงส์จากเทรนด์การใส่ใจด้านสุขภาพ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กระตุ้นให้ผู้บริโภคในตลาดให้ความสำคัญกับการเลือกอาหารที่เป็นประโยชน์ ประกอบกับเกิดกระแสความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ยิ่งเพิ่มความนิยมในการบริโภคผลิตภัณฑ์นมจากพืช

ทั้งนี้ นมถั่วเหลืองยังสามารถยึดครองสัดส่วนมากสุดกว่า 93% รองลงมาได้แก่ นมอัลมอนด์ น้ำนมข้าว นมข้าวโอ๊ต และกะทิพร้อมดื่ม ซึ่งนอกจากตลาดนมถั่วเหลืองบรรจุขวดแบบพาสเจอร์ไรซ์แล้วยังมีร้านน้ำเต้าหู้แนวใหม่เกิดขึ้นมากมาย หลายร้านขายคู่กับปาท่องโก๋ อีกหลายร้านประยุกต์เมนูคู่แหวกแนวออกไป

ที่สำคัญ ร้านปาท่องโก๋และน้ำเต้าหู้ยุคใหม่ แม้ราคาแพงกว่าร้านรูปแบบเดิมๆ สไตล์รถเข็นและล็อกตามตลาดนัด ไม่ใช่ปาท่องโก๋ตัวละ 2 บาท หรือน้ำเต้าหู้ถุงละ 7-10 บาท แต่กลับได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ วัตถุดิบ และสุขอนามัย โดยเฉพาะปัญหาการใช้น้ำมันทอดซ้ำจนดำหนืด ซึ่งต้องยอมรับร้านเล็กๆ ตามตลาดนัดยังไม่ให้ความสำคัญ แต่เน้นขายถูกเป็นหลัก รวมถึงร้านรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มักประยุกต์เมนูหลากหลาย ดึงดูดลูกค้ามากขึ้น

อย่าง “บ้านนมสด ซาลาเปาแป้งนุ่ม” ย่านรามอินทรา ถนนเลียบคลองสอง กลายเป็นร้านยอดนิยม มีศิลปินดารา อินฟลูเอนเซอร์แวะไปรับประทานและรีวิวมากมาย เพราะใช้เมนูนมสดและซาลาเปาไส้ต่างๆ เป็นตัวชูโรง ส่วนน้ำเต้าหู้แปะเอี่ยวเป็นสูตรดั้งเดิมผลิตจากถั่ว 5 ชนิด ประกอบด้วยถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วขาว และถั่วเขียว

นอกจากนั้น เพิ่มเมนูเสริมมากมายตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า เนื่องจากร้านเปิดให้บริการตั้งแต่ 8 โมงเช้ายาวถึงเที่ยงคืน จึงจัดเมนูตอบโจทย์ลูกค้าทุกช่วงเวลา ทั้งนมสด ซาลาเปา ขนมจีบหมูสับแปะเอี่ยว หมูฝอยกรอบสูตรคุณแม่ทำเอง รวมถึงอาหารจานเดียว สปาเกตตี สเต๊ก ข้าวหน้าหมูทอดซอสน้ำปลา และข้าวหน้าเนื้อย่าง

ขณะที่หลายร้านเริ่มต้นจากรุ่นอากง อาม่า สืบทอดมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน มีการพัฒนาโมเดลธุรกิจ สร้างจุดขายใหม่ๆ ได้รับความนิยมจนขยายขายสาขาแฟรนไชส์  ซึ่งจากข้อมูลสำรวจของ Thaifranchisecenter ระบุว่า กลุ่มเครื่องดื่มและไอศกรีม กลุ่มอาหารและกลุ่มเบเกอรี่ ถือเป็นแฟรนไชส์ยอดนิยมในยุคปัจจุบัน ซึ่งดูเหมือนว่า แฟรนไชส์ร้านปาท่องโก๋และน้ำเต้าหู้ ยังไม่มีการเก็บข้อมูลชัดเจน มิหนำซ้ำยังคาบเกี่ยวทั้งธุรกิจอาหาร เครื่องดื่มและเบเกอรี่  เพราะแทบทุกร้านมักเพิ่มเมนูเสริม เพื่อสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน

อย่างร้าน “โต้ว” น้ำเต้าหู้ เริ่มต้นจากร้านเล็กๆ ในตลาดอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อายุยาวนานนับสิบปี รสชาติความอร่อยทำให้มีทั้งลูกค้าผู้บริโภคทั่วไปและพ่อค้าแม่ค้ามารับไปขายต่อ จนกระทั่งหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทายาทรุ่นลูกมารับช่วงต่อกิจการ มีการพัฒนาธุรกิจและเพิ่มเมนูต่างๆ เช่น เต้าฮวย น้ำขิง ซุปงาดำ สังขยา เฉาก๊วย น้ำเต้าหู้เพิ่มเครื่องธัญพืช มีการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียและขยับขยายขายแฟรนไชส์ หลังมีเสียงเรียกร้องจำนวนมาก

สำหรับแฟรนไชส์ “โต้ว” มี 2 รูปแบบและวางระบบตามสไตล์คนรุ่นใหม่ คือ Hub และ Satellite โดย Hub เป็นแฟรนไชส์ร้านที่ทำหน้าที่ผลิต ขายหน้าร้าน ดีลิเวอรี และผลิตส่งให้ร้าน Satellite โดย Hub ใช้เงินลงทุนประมาณ 2 ล้านบาท และค่าแฟรนไชส์แรกเข้า 5 แสนบาท ใช้พื้นที่ 60-80 ตารางเมตร และคาดระยะเวลาคืนทุนประมาณ 3-4 ปี

ส่วนร้านรูปแบบ Satellite ทำหน้าที่ขายอย่างเดียว ใช้เงินลงทุน 7 แสนบาท ค่าแฟรนไชส์แรกเข้า 1 แสนบาท ลงทุนรวม 8 แสนบาท ใช้พื้นที่ประมาณ 15 ตารางเมตร ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 1-2 ปี

ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้รับการสนับสนุนจากบริษัท การวางระบบแฟรนไชส์ การตกแต่งร้าน การจัดส่งสินค้าวัตถุดิบต่างๆ โดยทำสดทุกวัน ถ้าเป็นร้านรูปแบบ Hub จะบริการจัดส่งร้าน Satellite วันต่อวัน โดยร้านรูปแบบ Hub 1 ร้าน จะมีร้าน Satellite อยู่รอบๆ ประมาณ 10 สาขา ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่วิ่งส่งสินค้าไม่เกิน 5 กิโลเมตร

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายๆ แฟรนไชส์ เช่น “หลิงฮุ่ย” แฟรนไชส์ปาท่องโก๋สเปน รูปแบบการลงทุนมี 3 แบบ ราคาตั้งแต่ 4,999-16,999 บาท สิ่งที่จะได้รับมีเตาทอดไฟฟ้าขนาด 5.5 ลิตร 1 เครื่อง ป้ายไวนิลธงญี่ปุ่นและป้ายขึงหน้าโต๊ะขาย ถาด ตะแกรง ที่คีบ ปาท่องโก๋ดิ๊ป 300 ตัว ทอปปิ้งเลือกได้ 4 รสชาติ และแพ็กเกจจิ้งครบชุด

KOH ADAPT แฟรนไชส์ปาท่องโก๋ยัดไส้ มี 2 รูปแบบ คือ แบบรถขายอาหาร (Food Truck) และแบบคีออสเคลื่อนที่ สิ่งที่จะได้รับเบื้องต้น ได้แก่ อุปกรณ์จำเป็นทุกรายการ ตู้โชว์สินค้า ป้ายเมนูและป้าย Roll-up หมอนปาท่องโก๋ 1 ใบ กระทะทอดพร้อมชุดเตาแก๊ส 1 ชุด วัตถุดิบพร้อมขาย 1 ชุดแรก มีการสอนทำ + คู่มือการทำ ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี/รายเดือน แต่ต้องซื้อวัตถุดิบกับทางบริษัท

โฟกัส โก๋ อินเตอร์ งบการลงทุนแฟรนไชส์ 65,000-85,000 บาท ระยะเวลาคืนทุน 1-3 เดือน แล้วแต่ทำเล มี 3 รูปแบบการลงทุน ราคาเริ่มต้น 65,000 บาท ทั้งแบบคีออสและร้านอาหาร ภัตตาคาร โฟกัส โก๋ อินเตอร์

อุปกรณ์เบื้องต้น ได้แก่ คีออสขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 1.20 เซนติเมตร สูง 1.90 เซนติเมตร ป้ายแบรนด์ โฟกัส โก๋ อินเตอร์ และอุปกรณ์พร้อมขายชุดใหญ่ มีการอบรมฟรี 5 วัน พร้อมวัตถุดิบฟรี 7 วัน พร้อมได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนขายเปิดสาขาต่อไป

หมวยเกี๊ยน้ำเต้าหู้ งบการลงทุนแฟรนไชส์ 15,000 บาท รูปแบบการลงทุนเป็นคีออสพร้อมอุปกรณ์เปิดร้าน 20 รายการ สิ่งที่จะได้รับเบื้องต้น ได้แก่ คีออส ธงญี่ปุ่น+ขาตั้ง ชุดผ้ากันเปื้อน+หมวก ชุดหัวเตาแก๊ส+ขาตั้ง หม้อช่อง 2 อัน ถ้วยตักน้ำเต้าหู้ ถาดวางถ้วยตักน้ำเต้าหู้ หม้อต้มน้ำเต้าหู้ โถใส่เครื่องน้ำเต้าหู้ และกระบวยใหญ่

ปาท่องโก๋ โก๋ป๊ะคะ ใช้งบการลงทุนแฟรนไชส์ประมาณ 70,000 บาท จุดขาย คือ ปาท่องโก๋ 7 รส มีเมนูเสริม เช่น ไส้กรอกไก่ สังขยาใบเตย น้ำเต้าหู้เข้มข้น100% พร้อมเมนูอาหารเสริม เช่น กุยช่าย หมูสะเต๊ะเบอร์เกอร์หมู ขนมจีบ เค้กกล้วยหอม ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วไข่เค็ม ขนมเปี๊ยะลาวา บราวนี่  และทอฟฟี่เค้ก.