วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ยูกิ ขุมกำลังใหม่ของสิงห์ กับธุรกิจนอนแอลกอฮอลล์

ยูกิ ขุมกำลังใหม่ของสิงห์ กับธุรกิจนอนแอลกอฮอลล์

 
 
ท่วงทำนองการก้าวเดินบนเส้นทางสายธุรกิจของ สิงห์ คอร์เปอเรชั่น ดูเหมือนจะดำเนินไปในทิศทางที่ไม่แตกต่างจากคู่แข่งอื่นๆ มากนัก เมื่อยังต้องฟาดฟันกันด้วยกลยุทธ์เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทอย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ติดอันดับต้นๆ ของความต้องการของผู้บริโภค เพื่อหวังมาร์เก็ตแชร์ของตลาดให้ได้มากที่สุด
 
หากแต่เมื่อมองย้อนไปเมื่อปลายปี 2557 การขยับตัวของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างสิงห์ที่ดูเหมือนเป็นการปรับกลยุทธ์ที่ชัดเจนขึ้น เมื่อธุรกิจนอนแอลกอฮอลล์ถูกให้ความสำคัญและเป็นหมากตัวสำคัญในเกมการแข่งขันของสิงห์มากขึ้น ประกอบกับหมุดหมายในเรื่องของรายได้ที่ต้องการสูงขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 
เริ่มตั้งแต่ “สิงห์ ปาร์ค” จับมือกับผู้ผลิตชาเขียวจากญี่ปุ่นอย่าง “มารุเซ็น ที เจแปน” ปั้นแบรนด์ชาเขียวแบบมัทฉะ ที่จะเน้นการส่งออกต่างประเทศมากกว่าการทำตลาดในประเทศ ถัดมาคือการร่วมมือกันระหว่าง บริษัท วราฟู๊ดส์ ในเครือสิงห์ คอร์เปอเรชั่น และบริษัท ดอยช้าง คอฟฟี่ ออริจินอล ซึ่งตั้งบริษัทร่วมทุนในชื่อบริษัท DVS 2014 จำกัด โดยจะเน้นไปที่ธุรกิจกาแฟและยังขยายไปสู่รีเทลมากขึ้น
 
และล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ไปหมาดๆ แม้ว่าจะเปิดบริษัทร่วมทุนกันไปตั้งแต่ต้นปีแล้วก็ตามระหว่าง บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น บริษัท เฮสโก ฟู้ด อินดัสทรี และบริษัท ซังโกะ เซกะ ผู้ผลิตและจำหน่ายขนม Sambe (เซมเบ้) ขนมอบกรอบที่มียอดขายอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น โดยส่งผลิตภัณฑ์ตัวแรกอย่าง “ยูกิ” ขนมข้าวอบกรอบมาชิมลางตลาดขนมขบเคี้ยว
 
จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2557 สิงห์ปรับกลยุทธ์สินค้ากลุ่มนอนแอลกอฮอลล์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักใน 5 ธุรกิจของสิงห์ ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ สินค้านอนแอลกอฮอลล์ อสังหาริมทรัพย์ บรรจุภัณฑ์ และโลจิสติกส์ ซึ่งภาพจำที่คนภายนอกมองและให้ความหมายของสินค้านอนแอลกอฮอลล์ของสิงห์นั้น ยังคงเป็นเครื่องดื่มเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นโซดา เครื่องดื่มบำรุงกำลัง น้ำเปล่า ดังนั้นเพื่อความชัดเจนสินค้ากลุ่มดังกล่าวจึงถูกปรับเป็นสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม หรือ Food&Beverage 
 
แน่นอนว่า “ยูกิ” ผลผลิตจาก สิงห์-ซางโกะ จะไม่ใช่ขนมขบเคี้ยวแรกในไลน์สินค้าอาหารและเครื่องดื่มของสิงห์ เพราะก่อนหน้านี้ แบรนด์มาชิตะ สิงห์ทุ่มทำการตลาดมานานถึง 5 ปี และ Max Snax ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี 2558 ซึ่งสิงห์สร้างรายได้จากสินค้ากลุ่มขนมเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และแน่นอนว่าอีก 80 เปอร์เซ็นต์เป็นรายได้จากสินค้าเครื่องดื่ม
 
และครั้งนี้ “ยูกิ” ถูกปล่อยสู่ตลาดพร้อมความคาดหวังของสิงห์ที่ว่า การขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้นำตลาดภายในเวลา 5 ปี ซึ่งปัจจุบันขนมข้าวอบกรอบมีแบรนด์โดโซะ เป็นผู้นำตลาด และแบรนด์ชินมัยอยู่อันดับสอง หากมองเพียงผิวเผินดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับสิงห์ที่จะทำให้ “ยูกิ” แทรกตัวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของตลาดได้
 
กระนั้นจุดแข็งที่สิงห์มีคือการมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างแบรนด์อันดับหนึ่ง ซึ่ง บริษัท ซังโกะ เซกะ ผู้ผลิตและจำหน่ายขนมข้าวอบกรอบที่มีประสบการณ์ยาวนานถึง 50 ปี และจุดเด่นในเรื่องของกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศญี่ปุ่น ที่ถูกจับคู่กับวัตถุดิบอย่างข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งจะทำให้ยูกิเป็นขนมข้าวอบกรอบที่มีสไตล์ญี่ปุ่นแท้ 
 
อย่างไรก็ตาม สิงห์ต้องไม่ลืมว่าเจ้าตลาดอย่างโดโซะ และชินมัยนั้น ก็มีจุดเด่นไม่ต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องรสชาติรวมไปถึงสไตล์ของขนมที่มีความเป็นญี่ปุ่น และที่สำคัญการมาก่อน
 
แน่นอนว่าการจะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งนั้น หากมองดูจากศักยภาพของสิงห์ บริษัทที่ได้รับการยอมรับในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงเงินทุนหมุนเวียนของบริษัทที่จะส่งให้สายป่านทางธุรกิจเติบโตไปได้อย่างไม่สะดุด รวมไปถึงความสามารถของผู้บริหาร ซึ่งในครั้งนี้ ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล ผู้อำนวยการกลุ่มการตลาดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด มาดูแลแบรนด์ยูกิ
 
“ตลาดขนมข้าวอบกรอบที่เป็นสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ ยังไม่มีใครทำ เมื่อมีโอกาสปั้นแบรนด์ใหม่ที่จะทำให้เราเป็นรายแรกของไทย ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่จะมองหาสินค้าอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น นับว่าเป็นเทรนด์ที่มาแรงซึ่งจะเป็นจังหวะที่ดีสำหรับแบรนด์ยูกิ
 
ดูเหมือนว่าจากความนิยมในประเทศญี่ปุ่นของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งกระแสคนไทยเดินทางท่องเที่ยวญี่ปุ่นสูงขึ้น ทำให้ได้สัมผัสรสชาติขนมสไตล์ญี่ปุ่นแท้ๆ และยังซื้อกลับมาเป็นของฝากให้เพื่อนฝูง ครอบครัว แต่จากนี้ไปเมื่อสิงห์เสิร์ฟยูกิให้ถึงที่ ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงและหาซื้อได้ง่ายขึ้น” 
 
ทั้งนี้ช่องทางการจำหน่ายสินค้าจะมุ่งเน้นไปที่ช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์น เทรด เช่น บิ๊กซี 7-11 ห้างสรรพสินค้า และเทรดิชั่นนอล เทรด เช่น ร้านค้าทั่วไป 
 
การจะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สิงห์ต้องทำการตลาดแบบครบวงจร 360 องศา ซึ่งผู้บริหารยูริดูจะมุ่งเน้นไปที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และจัดให้มีกิจกรรมออนกราวน์ ในรูปแบบอิเบิฟ เดอะ ไลน์ และบีโลว์ เดอะไลน์ โดยหวังให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักอย่าง วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา วัยทำงานที่มีช่วงอายุ 15-25 ปี และดูจะเป็นเรื่องฉลาดไม่น้อยที่ใช้พรีเซ็นเตอร์ที่เป็นศิลปินที่กำลังได้รับความนิยมอย่าง ดีเจพุฒิ พุฒิชัย เกษตรสิน 
 
ทั้งกลยุทธ์ในด้านตัวผลิตภัณฑ์และการตลาด ทำให้เห็นว่าการตั้งเป้าของสิงห์ในครั้งนี้ดูจะมีความจริงจังมากขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นๆ ในหมวดของนอนแอลกอฮอลล์ ที่เปิดตัวและทำการตลาดไปแล้วก่อนหน้านี้ ที่แทบจะไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปลง
 
การเคลื่อนไหวในบางช่วงเวลาของสิงห์ทำให้ชวนสงสัยว่า สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จริงจังกับธุรกิจนอนแอลกอฮอลล์มากเพียงใด ทั้งที่ผู้บริหารก็ต้องการเพิ่มรายได้ในส่วนของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีเป้าหมายว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ 
 
คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าเมื่อเริ่มต้นศักราชใหม่ ความพยายามของสิงห์ในการปลุกปั้นผลิตภัณฑ์ในหมวดนอนแอลกอฮอลล์ที่ผ่านมานั้นจะสามารถสร้างเส้นกราฟให้สูงขึ้นในระนาบเดียวกับสินค้ากลุ่มที่มีแอลกอฮอลล์ได้หรือไม่