วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล ปลุก Easy e-Receipt จี้ต่อมนักชอป

ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล ปลุก Easy e-Receipt จี้ต่อมนักชอป

“ผมยังเชื่อมั่นศักยภาพของเศรษฐกิจไทย และธุรกิจศูนย์การค้าเป็นหนึ่งใน Driving Force ให้เศรษฐกิจประเทศ เพราะ touch คนเยอะมาก เรายังไม่ได้นับทั้งประเทศ แต่ประมาณการเกินวันละ 5 ล้านคน ยิ่งช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา จากสถิติที่มี คนเดินห้างมากขึ้น!!”

ชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย (Thai Shopping Center Association: TSCA) กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงภาพบรรยากาศสุดเงียบเหงาในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าที่ยังเป็นภาพไวรัลส่งต่อกันในสื่อโซเชียล ทั้งเหตุการณ์เก่าและใหม่ แม้ด้านหนึ่งกำลังซื้อของผู้คนยังไม่ฟื้นตัวและรอมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วน แต่หากเจาะภาพรวมในกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้ามีการขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ถ้านับเฉพาะสมาชิกสมาคมศูนย์การค้าไทย 12 ราย ได้แก่ เซ็นทรัลพัฒนา เดอะมอลล์ชอปปิ้งคอมเพล็กซ์ สยามพิวรรธน์ ซีคอน ดีเวลลอปเมนท์ รังสิตพลาซ่า แพลทินัมกรุ๊ป เอ็มบีเค สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ อัลไลรีท แมนเนจเมนท์ วันแบงค็อก แปซิฟิคพาร์ค ศรีราชา และอินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ มีธุรกิจศูนย์การค้ารวม 90 แห่งทั่วประเทศ พื้นที่ทั้งหมด 15 ล้านตารางเมตร คิดเป็นสัดส่วน 50% ของธุรกิจศูนย์การค้าในประเทศไทย

ที่สำคัญ ในอนาคตถึงปี 2573 เครือข่ายสมาชิกวางแผนผุดศูนย์การค้าเพิ่มอีก 18 โครงการ รวมมูลค่ากว่า 152,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ชนวัฒน์ ในฐานะ Chief Development and Commercial Officer บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น หนึ่งในทายาทเจเนอเรชันที่ 3 ของตระกูลจิราธิวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนศูนย์การค้าเซ็นทรัลอัดแคมเปญการตลาดช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง อย่างเช่นกลางปีนี้จัดแคมเปญเซลยิ่งใหญ่ The Greatest Grand Sale และปลายปีเตรียมพร้อม Year-end และ New Year Countdown ยิ่งใหญ่ทุกปี ซึ่งศูนย์การค้ากว่า 41 สาขาทั่วประเทศ จะสามารถสร้างเงินสะพัดได้มากขึ้น

ในแง่การลงทุน ซีพีเอ็นวางแผน 5 ปีตั้งแต่ปี 2567-2571 เตรียมเม็ดเงินลงทุนถึง 121,000 ล้านบาท เฉพาะปี 2567 มีโครงการเปิดให้บริการใหม่ทั้งสิ้น 13 โครงการ ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์ และเซ็นทรัล นครปฐม โครงการที่อยู่อาศัยอีก 10 โครงการ และโรงแรมแห่งใหม่ที่ระยอง ซึ่งเป็นการจับมือกับ International Chain ระดับโลก ทำให้จบปี 2567 จะมีโครงการศูนย์การค้า 42 โครงการ คอมมูนิตี้มอลล์ 17 โครงการ ที่อยู่อาศัย 43 โครงการ โรงแรม 10 โครงการ และออฟฟิศ 10 โครงการ

บริษัทยังพยายามเน้นไฮไลต์ Centre of Life และสร้าง New District อย่างต่อเนื่อง อย่างโครงการล่าสุดเซ็นทรัล เวสต์วิลล์ ถือเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ในย่านกรุงเทพฯ ตะวันตก และปรับศูนย์การค้าแบบ Turnaround ทั้งหมด 6 ศูนย์การค้า  คือ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เติมเต็มไลฟ์สไตล์โซนปิ่นเกล้า รองรับกำลังซื้อที่สูงขึ้น ใช้งบประมาณกว่า 18,000 ล้านบาท

เซ็นทรัล บางนา เน้นความเป็น District Transformation จับกลุ่มลูกค้า Top Tier ย่านบางนา

เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ สร้าง Concept Mall ใหม่ตอบโจทย์ Eco Art Lifestyle และเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ ชู Build New Lifestyle Landmark ในย่านเมืองท่องเที่ยวใหญ่ นอกจากนั้น ปรับโฉมเซ็นทรัล พัทยา และปรับ เซ็นทรัล มารีน่า เป็น Outlet Format รองรับพฤติกรรมการชอปของนักท่องเที่ยว

“หากดูภาพรวมการท่องเที่ยวเริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งสมาคมศูนย์การค้าไทยมีแนวคิดปลุกปั้นพื้นที่ศูนย์การค้าให้เป็น Best Destination ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย เติมเต็มด้วยประสบการณ์ต่างๆ ด้วยสินค้าไทย สินค้าพื้นเมือง OTOP ผลงานของนักออกแบบไทย เมนูอาหารไทย ถ่ายทอดวัตถุดิบจากภาคต่างๆ ของประเทศไทย รวมถึงกิจกรรม Cultural Event ครบทุกมิติ เช่น Fashion Show กางเกงช้าง ผ้าไทย กิจกรรมมวยไทย ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง การจัดโขน การแสดงดนตรีไทย การนวดไทย และอื่นๆ”

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ธุรกิจศูนย์การค้าเพิ่งกลับมาฟื้นตัวช่วงปี 2566 หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มีการประกาศถอดแมสก์ เปิดประเทศ ร้านค้าต่างๆ ทยอยกลับมารีโนเวต เร่งจัดงานอีเวนต์ คอนเสิร์ตต่างๆ โดยธุรกิจศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมืองสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่าย มีจำนวนผู้ใช้บริการกลับมากว่า 80% ซึ่งข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาด ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) ระบุ ณ สิ้นปี 2566 รายได้ของกลุ่มธุรกิจศูนย์การค้ามีมูลค่ารวมมากกว่า 1.2 แสนล้านบาท เติบโตสูงกว่าปี 2562 หรือช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 ประมาณ 43% ส่วนกำไรอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 38%

ปัจจัยหลักๆ ได้แก่ การกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศกว่า 70% ของพนักงานในแผนกที่ไม่สามารถ Work from home ได้ การสร้าง Brand Strategic partner ที่แข็งแกร่งในเครือของธุรกิจศูนย์การค้า ทำให้อัตราการเช่าโดยรวมของธุรกิจศูนย์การค้าสูงกว่า 90% และพื้นที่ส่วนใหญ่ของธุรกิจศูนย์การค้าถูกปรับเป็นหมวดอาหารเครื่องดื่ม ซึ่งช่องทาง E-Commerce ไม่สามารถทดแทนได้ในแง่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่นิยมรับประทานอาหารและเดินชอปปิ้งในธุรกิจศูนย์การค้าโดยเฉพาะในช่วงวันหยุด

มีการจัดอีเวนต์เฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ โดยเชิญชวนศิลปินและบุคคลที่มีชื่อเสียงของโลกให้เดินทางเข้ามาร่วมงานในประเทศไทย อย่างมหกรรม Pride Month เดือนแห่งการสนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศของ LGTBQ+ ศูนย์การค้าในไทยต่างจัดบิ๊กอีเวนต์อย่างอลังการ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride 2030 และเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งซีพีเอ็นทุ่มงบเปิดแคมเปญ Thailand’s Pride Celebration 2024 “Pride For All” ฉลอง Pride Month เหนือจรดใต้ รวมกว่า 46 อีเวนต์ ใน 20 จังหวัดที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั่วประเทศ

ถามว่า รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อและการจับจ่ายอย่างไร

นายกสมาคมศูนย์การค้าไทยยืนยันข้อเสนอที่เรียกร้องมาตลอด การสร้าง Multiplier Effect ในการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อให้ประชาชน โดยเพิ่มความถี่ของมาตรการ Easy e-Receipt มากกว่า 1 ครั้งต่อปี

มาตรการดังกล่าวเป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่บรรดานักชอปสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือผู้ประกอบการทั่วไปตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งรัฐบาลประกาศมาตรการนี้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แทนโครงการช้อปดีมีคืน ซึ่งเห็นผลกระตุ้นกลุ่มกำลังซื้อสูงได้อย่างมาก สามารถเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจถึง 7 หมื่นล้านบาท และกระตุ้น GDP ได้อีก 0.18% ด้วย.