เร็วๆ นี้ อิคาโน่กรุ๊ปและกลุ่มผู้ร่วมทุน “เมกาบางนา” จะออกมาเปิดเผยรายละเอียดและความคืบหน้าของโครงการ “เมกาซิตี้” ที่จะขยายเพิ่มอีก 150 ไร่ หลังซุ่มเงียบนานนับปี เช่นเดียวกับเหล่ายักษ์ค้าปลีกที่เร่งผลักดันบิ๊กโปรเจกต์ ซึ่งจะพลิกโฉมสมรภูมิค้าปลีกไทยแนวใหม่สู่โครงการมิกซ์ยูส รูปแบบ “เมือง” เพื่อช่วงชิงการเป็น “ฮับ” อย่างดุเดือด
ประเมินกันว่า ปี 2559 จำนวนพื้นที่ค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นอีก 300,000 ตารางเมตร และปี 2560 จะเพิ่มขึ้นอีก 500,000 ตร.ม. เนื่องจากมีทั้งความต้องการพื้นที่ค้าปลีกของแบรนด์ต่างชาติและโครงการมิกซ์ยูสเริ่มเปิดตัว ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของโครงการที่อยู่อาศัย เกิดชุมชนใหม่ รวมถึงกลุ่มชาวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามาหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมชุดใหญ่ของรัฐบาล
ก่อนหน้านี้ คริสเตียน โอลอฟสัน ประธานกรรมการบริหารและผู้จัดการศูนย์การค้าเมกาบางนา บริษัท เอสเอฟ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด เคยให้รายละเอียดของ “เมกาซิตี้” ว่าเป็นโครงการมิกซ์ยูส เพื่อปลุกทำเล “ดาวน์ทาวน์” ใหม่ย่านชานเมืองและสร้าง “ฮับ” ให้ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างครบวงจร ทั้งอยู่อาศัย ทำงาน บันเทิง ทานอาหารและจับจ่ายสินค้า โดยประกอบไปด้วยโรงแรม อาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม ศูนย์ประชุมอารีน่าคอนเวนชั่น ศูนย์เอนเตอร์เทนเมนต์ มี “เมกาบางนา” เป็นศูนย์กลางการจับจ่ายของผู้คนในเมืองสมบูรณ์แบบแห่งนี้
ขณะเดียวกัน ในย่านดังกล่าวไม่ห่างกันมากนัก กลุ่มเดอะมอลล์กำลังเร่งก่อสร้างโครงการบางกอกมอลล์ (Bangkok Mall) ซึ่งถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพมาก เพราะติดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าและอยู่ตรงข้ามศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เมื่อเทียบกับ “เมกาซิตี้”
ทั้งนี้ กลุ่มเดอะมอลล์ประกาศเปิดให้บริการบางกอกมอลล์ภายในปี 2561 เนื้อที่รวม 100 ไร่ และมั่นใจว่าจะเป็นโครงการศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภายในโครงการประกอบด้วยอาคารศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงานให้เช่า โดยวางรูปแบบ City within the City หรือเมืองในเมืองที่สมบูรณ์แบบ พื้นที่รวมทั้งโครงการ 650,000 ตารางเมตร แองเคอร์หลักๆ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต พื้นที่รวม 80,000 ตารางเมตร โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซินีพล็กซ์ 15 โรง ศูนย์แสดงสินค้า สวนสนุก สวนน้ำ อาคารจอดรถ ความจุสูงสุด 8,000 คัน อาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย และสถานีขนส่งผู้โดยสารสายตะวันออก พื้นที่ 7.5 ไร่ มีชานชาลาเทียบรถขนาดใหญ่และชานชาลาเทียบรถตู้
ขณะที่มีอีก 2 กลุ่มค้าปลีกที่วางแนวคิดสร้างเมืองค้าปลีกมานานนับ 10 ปี แต่รอจังหวะเวลา ทั้งสถานการณ์การเมือง ภาวะเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฟิวเจอร์พาร์คที่วางแผนพัฒนาที่ดินผืนใหญ่ย่านรังสิต เนื้อที่ 600 ไร่ แจ้งเกิดโครงการ “ฟิวเจอร์ซิตี้” หลังทยอยเติมเต็มสร้างย่านค้าปลีกไว้อย่างครบถ้วน
ทั้งศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและดึงแองเคอร์รายใหญ่เข้ามาเช่าพื้นที่ อย่างห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและโรบินสัน บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต โฮมโปร อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ ออฟฟิศเมท เมเจอร์ซินีเพล็กซ์ และเติมแองเคอร์กลุ่มอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล สนามฟุตซอล
ส่วนกลุ่มซีคอนศึกษาแผนลงทุน “ซีคอนซิตี้” หลายรอบ โดยหวังเพิ่มมูลค่าที่ดิน 120 ไร่ติดกับศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ แต่ติดอุปสรรคเรื่องการปรับปรุงผังเมืองจนต้องชะลอโครงการครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งปี 2556 ผังเมืองใหม่กำหนดให้การใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณถนนศรีนครินทร์เป็นโซนสีส้ม ย.6 ซึ่งสามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่เกิน 10,000 ตารางเมตร (อาคารขนาดใหญ่พิเศษ) ได้
แต่ล่าสุดบริษัท ซีคอน ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ตัดสินใจชะลอโครงการอีกครั้ง เพราะต้องการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยหลังผ่านวิกฤตทางการเมืองและรอดีเดย์โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดให้บริการในปี 2561 ซึ่งตามเส้นทางจะวิ่งผ่านถนนศรีนครินทร์และมีสถานีหน้าซีคอนสแควร์ด้วย
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า “ซีคอนซิตี้” ใช้เงินลงทุน 10,000-15,000 ล้านบาท ส่วนหลักๆ ประกอบด้วยโครงการคอนโดมิเนียม, เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์, ศูนย์การศึกษา, อาคารสำนักงาน, สปอร์ตคอมเพล็กซ์ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจบนถนนศรีนครินทร์และบางนา-ตราด
ส่วนที่น่าจับตาและกำลังรุกเจาะพื้นที่ย่านธุรกิจอย่างเข้มข้น คือ ทีซีซีกรุ๊ปของกลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี โดยกำหนดนโยบายการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบมิกซ์ยูสไว้อย่างชัดเจน มีทั้งอาคารที่อยู่อาศัย โรงแรม ชอปปิ้งมอลล์ อาคารสำนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมในพื้นที่เดียวกัน ประเดิม 3 โครงการ 3 ทำเล ได้แก่ โครงการพัฒนาที่ดินย่านสวนลุมพินีหรือพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหารเก่า เนื้อที่ 90 ไร่ โครงการสามย่าน และโครงการชุมชนเทพประทาน บริเวณศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นอกจากนี้ ทีทีซีกรุ๊ปยังศึกษามาสเตอร์แพลนอีก 3 โปรเจกต์ 3 ย่านใหญ่ คือ โครงการย่านเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งจะเป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นก่อน เพื่อเป็น “ครีเอทีฟฮับ” ระดับภูมิภาค เนื้อที่ 300 ไร่ ส่วนโครงการนอร์ธปาร์ค มาสเตอร์แพลน พื้นที่หลังสนามกอล์ฟราชพฤกษ์ นอร์ธปาร์ค ติดศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เนื้อที่ 200-300 ไร่ และโครงการเอเชียทีคมาสเตอร์แพลน ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
สุดท้ายเป็นอภิมหาโครงการ “ไอคอนสยาม” ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 3 ยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ค้าปลีกระดับไฮเอนด์อย่างสยามพิวรรธน์ ยักษ์ใหญ่คอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ “แมกโนเลีย” และยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเกษตร “ซีพี” บนที่ดินย่านเจริญนครริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา เนื้อที่กว่า 40 ไร่ มูลค่าลงทุน 50,000 ล้านบาท
ตัวโครงการมีพื้นที่รวม 750,000 ตร.ม. แยกเป็นอาณาจักรศูนย์การค้าและอาณาจักรอาคารที่พักอาศัยริมน้ำระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ ภายใต้ชื่อ “แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสซิเดนท์” อีก 2 อาคาร โดยในอาณาจักรศูนย์การค้ามีร้านค้ามากกว่า 500 ร้านค้า ศูนย์การประชุมระดับโลก (World Class Auditorium) 3,500 ที่นั่ง และเอ็นเตอร์เทนเมนต์ “7 สิ่งมหัศจรรย์” เพื่อดึงดูดผู้คนทั่วโลก ซึ่งไอคอนสยามประกาศจะเป็น Destination ของประเทศไทย
ฉายภาพอนาคตค้าปลีกไทย สงคราม “มิกซ์ยูส” ที่มีเงินทุนมูลค่ามหาศาลเป็นเดิมพันกำลังเปิดฉากอย่างดุเดือดแล้ว