วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > “วรยุทธ กิตติอุดม” รุ่น 3 RK เจ้าถิ่นอสังหาฯ โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก

“วรยุทธ กิตติอุดม” รุ่น 3 RK เจ้าถิ่นอสังหาฯ โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก

“ตอนเด็กๆ คุณปู่กับคุณพ่อมักจะพาผมไปที่ไซต์งานก่อสร้างเสมอ งานแรกที่ท่านให้ทำคือถอนตะปูออกจากไม้ที่ใช้ในการก่อสร้าง เอาค้อนกับหมวกมาให้ใบหนึ่ง แล้วก็ไปนั่งถอนตะปู ตะปูที่ถอนออกมาก็เอามาตีให้ตรงเพื่อนำไปใช้ใหม่ เรียงไม้ ขนทราย เราคลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เด็กๆ” วรยุทธ กิตติอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ซีเนกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ถึงจุดเริ่มต้นในวัยเด็กกับสายอาชีพนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีผู้เล่นในตลาดมากหน้าหลายตา แตกต่างกันไปตามขนาด ความเชี่ยวชาญ และโซนพื้นที่ ซึ่งในบรรดาผู้เล่นที่มีมากมาย ชื่อ “วรยุทธ กิตติอุดม” ถือเป็นหนึ่งในนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ที่น่าจับตา ในฐานะทายาทรุ่น 3 ของบริษัท รุ่งกิจ เรียลเอสเตท จำกัด (RK) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าถิ่นย่านกรุงเทพฯ ตะวันออก ที่กำลังต่อยอดธุรกิจของครอบครัวสู่การปั้นแบรนด์ใหม่ โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) ภายใต้บริษัท ซีเนกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

วรยุทธเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะมาถึงวันนี้ให้ฟังว่า จุดกำเนิดมาจากยุคของผู้เป็นปู่ “รักษ์ กิตติอุดม” ที่เริ่มต้นจากการทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในชื่อบริษัท รักษ์สุนทรก่อสร้าง จำกัด เป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างรายเล็กๆ ก่อนผันตัวมาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำตึกแถว อาคารพาณิชย์ เช่า เซ้ง รับเหมาก่อสร้างทำตลาด ซึ่งถือเป็นงานถนัด

“มายุคคุณพ่อ (วิสิฐ กิตติอุดม) ก็ยังเป็นรับเหมาก่อสร้างอยู่ ช่วงนั้นปู่เริ่มมาทำโครงการหมู่บ้านแล้ว คุณพ่อก็ยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างให้กับโตโยต้า วรจักร์ยนต์ รับรีโนเวตและสร้างใหม่บ้าง ไม่ได้เยอะมาก ตอนนั้นพ่อกับปู่ทำด้วยกัน ขยายงานมากขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนเราไม่กู้ธนาคารเลย ใช้วิธีเก็บเงิน ประหยัด สะสมเงินในแต่ละงานที่ได้กำไร พอมีทุนก็ค่อยไปทำโครงการต่อไป เน้นตึกแถวเป็นหลักแต่ไม่ได้เยอะแค่ 10-20 ห้อง”

โดยทำเลที่เริ่มพัฒนาโครงการอสังหาฯ ส่วนใหญ่อยู่ในย่านสุขาภิบาล 1 นวมินทร์ อีกทั้งยังเป็นผู้รับเหมาสร้างอาคารพาณิชย์ของตลาดปัฐวิกรณ์ทั้งตลาด ซึ่งถือเป็นยุคบุกเบิกตลาดปัฐวิกรณ์อีกด้วย

เข้าสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เต็มตัว

จากรักษ์สุนทรก่อสร้าง ทางครอบครัว “กิตติอุดม” ได้ขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาเรื่อยๆ กระทั่งก่อตั้งอีกหนึ่งบริษัทในชื่อบริษัท ทองไทยสถาปัตย์ จำกัด เพื่อเข้าสู่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบเต็มตัว แต่ยังคงเสถียรภาพทางการเงินโดยการไม่กู้ธนาคารเช่นเดิม

“ทองไทยสถาปัตย์คุณปู่กับคุณพ่อท่านช่วยกันทำเหมือนเดิม คุณปู่ให้ความสำคัญกับการออกแบบ ต้องออกแบบการใช้งานในพื้นที่ของบ้านให้ตอบสนองกับเทรนด์ในยุคนั้นๆ สมัยก่อนตึกแถวส่วนใหญ่ที่ขายกันมักมีห้องน้ำไม่ครบทุกชั้น พื้นเป็นขัดมัน ปูกระเบื้องเฉพาะห้องน้ำนิดๆ หน่อยๆ แต่ตึกแถวที่คุณปู่ออกแบบมีห้องน้ำครบทุกชั้น มีการกั้นห้อง ปูกระเบื้อง ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งในสมัยนั้น คุณปู่พยายามสร้างความต่าง โดยให้พื้นที่และฟังก์ชันที่เหนือกว่าคนอื่นมาตลอด จนกลายเป็นดีเอ็นเอขององค์กรที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน”

ทองไทยสถาปัตย์มีการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ขนาดใหญ่จำนวนหลักร้อยยูนิต แบ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 50% ทาวน์เฮาส์ 50% และเริ่มทำคอนโดมิเนียม แต่ยังไม่มีการทำบ้านเดี่ยว

“ความเก่งของครอบครัวเราคือทำตึกแถวและอสังหาฯ เชิงพาณิชย์ ส่วนคอนโดมิเนียมตอนนั้นโอกาสมันเข้ามาพอดี คุณปู่เลยสร้างเป็นคอนโดฯ แบบ Low Rise ในย่านสุขาภิบาล 3 ชื่อรุ่งกิจคอนโด เกือบ 30 ปีที่แล้ว เป็นโครงการแรกและโครงการเดียว เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัด ตึกแถวใช้เวลาปิดการขายได้เร็วกว่า ไม่เกิน 2-3 เดือน เร็วสุดคือภายในวันเดียว เป็นโครงการชื่อรุ่งกิจวิลล่า 2 ทาวน์เฮาส์จำนวน 200 ยูนิต ถึงกับต้องแจกบัตรคิว ตอนนั้นตรงกับรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย พอดี”

ส่วนโครงการที่สร้างความประทับใจให้กับครอบครัวต้องยกให้โครงการรุ่งกิจวิลล่า 14 ร่มเกล้า โครงการที่อยู่อาศัย ที่มีทั้งตึกแถว 4 ชั้น 2 ชั้น และบ้านเดี่ยว รวม 200 กว่ายูนิต ซึ่งตอนนั้นสนามบินสุวรรณภูมิกำลังเปิด ประกอบกับการทำการตลาดแบบใหม่ ที่กระตุ้นความต้องการอยากซื้อ นั่นทำให้ในวันเปิดขายมีลูกค้ามารอหน้าไซต์งานตั้งแต่ตี 5 และวันเดียวขายไปได้ถึง 80 กว่าหลัง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนทำงานในสนามบินและบริษัทที่เกี่ยวข้อง

เจ้าถิ่นแห่งโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก

หลังจากนั้นบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าพัฒนาอสังหาฯ ในลักษณะดังกล่าวมาเรื่อยๆ และเริ่มขยายโครงการมากขึ้น กระทั่งมาถึงรุ่นผู้เป็นพ่อที่ได้มีการก่อตั้ง “บริษัท รุ่งพัฒนา พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด” ที่ยังเน้นการสร้างตึกแถวและทาวน์เฮาส์ตามความถนัด แต่เริ่มสร้างบ้านเดี่ยวเพิ่มเติม โดยยังอยู่ในโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก อย่าง รามคำแหง ร่มเกล้า ลาดกระบัง และมีนบุรีเป็นหลัก จนได้ชื่อว่าเป็นเจ้าถิ่นในย่านนี้ และถือเป็นผู้บุกเบิกพัฒนาที่อยู่อาศัยในแถบสุวรรณภูมิ

“ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาฯ ต้องอาศัยความใกล้ชิดเพื่อลดความสูญเสียของวัสดุก่อสร้างกับงานต่างๆ เราเลยเลือกทำเลโครงการที่อยู่ใกล้ๆ กัน ประกอบกับโซนพื้นที่ตรงนี้เราได้ที่ดินมาอยู่เรื่อยๆ พอพัฒนาโครงการตรงนี้ใกล้หมด ก็จะมีที่แปลงใหม่มาเสนอขาย และจังหวะมันพอดีตลอด ตอนแรกที่มาสร้างผมก็แปลกใจว่าทำไมต้องมาไกลขนาดนี้ แต่ปัจจุบันตรงนี้คือทำเลทอง ต้องยอมรับว่าคุณปู่มองการณ์ไกลมาก”

สำหรับวรยุทธเอง ภายหลังจบการศึกษาด้านคอมพิวเตอร์ เขาได้เข้าทำงานตำแหน่ง Project Coordinator ในบริษัทญี่ปุ่นตามสาขาที่เรียนมาอยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะเข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัวก่อนปี 2540 โดยตำแหน่งแรกที่เข้ามาทำคือโฟร์แมนคุมโรงงานหล่อผนังสำเร็จรูป

“คุณแม่เรียกกลับมาช่วยธุรกิจครอบครัว ซึ่งเราเองก็คลุกคลีกับงานก่อสร้างมาตั้งแต่เด็ก ทุกอย่างที่ปู่กับพ่อให้ทำมันมีความหมายหมด มันซึมซับไปแล้ว การได้มาอยู่ในไซต์งานกับคนงาน โดนแดดทั้งวัน โม่ปูน ก่ออิฐ ผมว่ามันสนุกดี ไม่ได้รู้สึกต่อต้านหรือไม่ชอบ แค่สงสัยว่าทำไมไลฟ์สไตล์เราไม่เหมือนกับคนปกติ”

“แต่พอมาถึงทุกวันนี้ ที่เราทำและที่เป็นอยู่ เราก็มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่เหมือนคนปกติเหมือนกัน ผมสามารถอยู่กับการดีไซน์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในบ้านได้ทั้งวัน ไม่มีเบื่อ ไม่เล่นกอล์ฟ ไม่มีของสะสม ที่ผมสะสมคือแบบบ้าน ถ้าใครมาดูอัลบั้มรูปในมือถือผมจะตลกมาก เพราะมีแต่แบบบ้าน ป้าย โครงเหล็ก เวลาไปเที่ยวถ้าเห็นว่าอะไรดีก็เก็บกลับมาพัฒนาโครงการของเรา”

หลังจากที่เขาเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัว ธุรกิจกงสีที่เคยทำเริ่มมีการขยายโครงการมากขึ้นเรื่อยๆ มีการให้สถาปนิกเข้ามาประมูลโครงการ เพื่อทำให้การออกแบบโครงการก้าวหน้าไปอีกขั้น ในขณะที่ยุคนั้นโครงการที่อยู่อาศัยมีแบบบ้านให้เลือกเพียง 2-3 แบบ แต่เขากลับมีแบบบ้านให้ลูกค้าเลือกถึง 9 แบบ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมารายย่อยมารับงานต่อ เพื่อให้ขยายงานได้มากและเร็วขึ้น พร้อมๆ กับการเปลี่ยนมากู้ธนาคารเพื่อสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจ

“ตอนนั้นมันผ่านพ้นปี 40 มาแล้ว ผมคุยกับพ่อว่าการที่เราพัฒนาโครงการโดยใช้ทุนส่วนตัวไม่กู้แบงก์มันก็เป็นความปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่หลังจากนั้นในขณะที่ทุกคนเติบโตกันไปอย่างรวดเร็วหลังผ่านพ้นวิกฤต แต่เราเติบโตช้ากว่าคนอื่น เพราะไม่ได้ใช้ทุนจากภายนอกเลย และโอกาสที่เสียไปคือ land bank ที่มีเข้ามาในบางจังหวะ ด้วยความที่เราเป็นเจ้าถิ่นอยู่ในโซนนี้ นายหน้าหรือเจ้าของที่ที่เขาอยากขายก็มานำเสนอ ถ้าจังหวะนั้นเราไม่พร้อม ต้องรอจน break event และมีกำไร เอากำไรมารวมกันแล้วถึงจะเอาไปซื้อที่ดินได้ ซึ่งมันเสียโอกาส ในขณะที่คนอื่นใช้ทุนของแบงก์มาช่วยและซื้อที่เก็บไว้รอการพัฒนา”

“จึงคิดกันว่าควรจะต้องลดความเสี่ยงของเราด้วย และเพิ่มโอกาสในการขยายโครงการให้มันพอเหมาะพอสมกับกำลังและความสามารถที่มี เลยหันมากู้แบงก์แต่ไม่เยอะ เพียงให้รู้ว่าเรามีการปรับระบบการเงินของตัวเอง”

จาก “รักษ์สุนทรก่อสร้าง” สู่ซีเนกซ์ พร็อพเพอร์ตี้” ตั้งเป้าเข้าตลาดฯ

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาได้ระดับหนึ่ง วรยุทธมองว่ายังมีความท้าทายใหม่ที่เขาต้องเจอ นั่นคือ จะขยายธุรกิจของครอบครัวให้ยั่งยืนได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่ได้รู้จักโลกข้างนอก นั่นทำให้เขาตัดสินใจออกมาตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ “บริษัท รุ่งกิจ เรียลเอสเตท จำกัด” หรือ RK ราวๆ ปี 2545 แต่ใช้เวลาตั้งหลักอยู่หลายปีก่อนจะเริ่มพัฒนาโครงการ  โดยโครงการแรกนั้นตั้งอยู่ที่ซอยลาดพร้าว 112 เป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น เพียง 9 ยูนิต ก่อนขยายไปย่านซีคอนสแควร์ และในพื้นที่อื่นๆ พร้อมกับขนาดที่ใหญ่ขึ้นตามลำดับ

วรยุทธไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่เขาต่อยอดความสำเร็จไปอีกขั้นด้วยการก่อตั้งบริษัทใหม่ในชื่อ “บริษัท ซีเนกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด” (Zenex) เพื่อจับกลุ่มตลาดลักชัวรี ที่ไม่เพียงสร้างแบรนด์ให้เด่นชัด แต่ยังมีเป้าหมายใหญ่ นั่นคือการนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai)

“ซีเนกซ์ มาจาก See the next generation for next step เพราะสิ่งที่เราแปลความหมายในกระบวนทัศน์ของธุรกิจทั้งหมดคือ การที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ เราต้องมองให้ไกลไปถึงในรุ่นข้างหน้า และมองกลับมาในทุกๆ รุ่นที่ผ่านมา เพราะเขาคือรากฐานของเรา เพราะฉะนั้นเวลาดีไซน์บ้าน สิ่งที่ต้องคิดเป็นอันดับแรกคือ จะทำยังไงให้คน 3 เจเนอเรชันมาอยู่ในบ้านเดียวกันได้ บ้านต้องเป็น multi generation”

ปัจจุบันซีเนกซ์พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้แบรนด์ RK Home Park, RK Park, The Eiffel, และ The Rux โดยทุกโครงการล้วนมีจุดเด่นที่ราคา ทำเล และดีไซน์ มีการออกแบบบ้านที่ทุกเจเนอเรชันสามารถอยู่ร่วมกันได้ และออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ไม่กระทบกับเงินในกระเป๋าของลูกค้า ซึ่งตอบโจทย์ของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เช่น การทำแผงกริลที่ทำหน้าที่เหมือนต้นไม้ในการช่วยกรองแสง การดีไซน์ตัวบ้านและหน้าต่างเพื่อรับกับทิศทางลมผ่าน การทำ Sun Surveyor ตลอดปี และที่สำคัญคือเน้นการสื่อสารกับชุมชนโดยรอบเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

“ความแตกต่างของเรากับผู้ประกอบการรายอื่น ผมว่าเราขายความเป็นตัวเรา ในไลฟ์สไตล์ที่มันยูนีค เรียบง่าย เป็นความหรูหราที่ไม่จำเป็นต้องแพงทุกอย่าง ตัวบ้านอาจไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ถ้าเทียบราคากับพื้นที่ใช้สอย เราอยู่ในราคาที่จับต้องได้ เพราะเราไม่ทำบ้านที่ราคามัน over price อยากให้คนที่มาซื้อเขาอยู่สบาย จ่ายสบาย ตัดสินใจง่ายๆ”

ส่วนภาพขององค์กรในอนาคต วรยุทธเน้นย้ำว่าจะยังคงยืนหยัดในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ต่อไป ไม่ว่าสถานการณ์จะผันผวนสักแค่ไหนก็ตาม พร้อมสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและทีมงาน โดยอาจจะมีธุรกิจอื่นที่มาเสริมให้ ecosystem ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ แข็งแกร่งขึ้น

“ส่วนใหญ่คนทำธุรกิจอสังหาฯ ทำถึงจุดจุดหนึ่งแล้วจะเลิกไป ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของทุน หรือมันไม่สามารถตอบสนองเขาในแต่ละยุค แต่เรายังคงยืนหยัดในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ มาโดยตลอดและจะทำต่อไป เพื่อให้เห็นว่ามาถึงเจนฯ 3 แล้ว ในเจนฯ 4, 5, 6 บริษัทก็ยังต้องไปต่อได้ ด้วยธุรกิจนี้”

ส่วนเป้าหมายระยะสั้นที่เราน่าจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้ คือการนำ “บริษัท ซีเนกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่นอกจากจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งและประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับองค์กรแล้ว ยังเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ธุรกิจในมือรุ่น 3 ที่มักพูดว่าไปไม่รอดนั้น ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป.