หากเอ่ยชื่อ “KCG Corporation” อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหูมากนัก แต่ถ้าพูดถึงแครกเกอร์โรซี่ เนยและชีสอลาวรี่ น้ำส้มซันควิก รวมถึงคุกกี้กล่องแดงในตำนานของขวัญสุดฮิตในช่วงเทศกาลปีใหม่อย่าง “อิมพีเรียล” แล้วล่ะก็ เชื่อว่าหลายๆ คนต้องเคยซื้อรับประทานและรู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งแบรนด์ต่างๆ ข้างต้น ล้วนเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้การผลิตและนำเข้าของ KCG Corporation ทั้งสิ้น
บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG Corporation-KCG ถือเป็นผู้ผลิตและนำเข้าอาหารรายใหญ่ของไทยที่อยู่ในตลาดมานานถึง 66 ปี และที่สำคัญยังสามารถสร้างรายได้ต่อปีได้ในระดับหลายพันล้านบาท
ที่ผ่านมาชื่อของ KCG มักไม่ค่อยปรากฏในหน้าสื่อมากนัก แต่ภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และทำการซื้อขายหลักทรัพย์ครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 “KCG” เริ่มมีความเคลื่อนไหวให้ตลาดได้เห็นมากขึ้น
จาก ‘กิมจั๊วพาณิชย์’ สู่ ‘เคซีจี คอร์ปอเรชั่น’
KCG มีจุดกำเนิดมาจากธุรกิจครอบครัวในชื่อ ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัด กิมจั๊วพาณิชย์’ ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2501 โดย ‘ตง ธีระนุสรณ์กิจ’ ที่ร่วมลงทุนกับพี่ชาย ‘วิจัย วิภาวัฒนกุล’ เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้าและเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปจากต่างประเทศ ทั้งในส่วนของวัตถุดิบประเภทเนยและชีส และเป็นผู้บุกเบิกนำเข้าเนยอลาวรี่ (Allowrie) จากออสเตรเลียเข้ามาในไทย
นอกจากเนยอลาวรี่แล้ว อีกหนึ่งสินค้าที่กิมจั๊วพาณิชย์นำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทยคือ คุกกี้ยี่ห้อดังจากเดนมาร์ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตคุกกี้กล่องแดงแบรนด์ของตัวเองในชื่อ “อิมพีเรียล” (Imperial) ที่กลายเป็นตำนานของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ในภายหลัง
ปี 2515 หลังจากดำเนินธุรกิจไปได้ระยะหนึ่ง กิมจั๊วพาณิชย์ได้พัฒนาธุรกิจจากการเป็นเพียง “ผู้นำเข้า” ก้าวขึ้นสู่การเป็น “ผู้ผลิต” โดยมีการสร้างโรงงานแห่งแรกขึ้นบนถนนบางนา-ตราด ในชื่อ “บริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟูดส์ จํากัด” ภายใต้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี เครื่องจักร และคำปรึกษาในช่วงเริ่มการผลิตจาก บริษัท PDS ประเทศออสเตรเลีย (ปัจจุบันคือบริษัท บอนแลค ฟูดส์ จํากัด) เพื่อผลิตเนย “อลาวรี่” ก่อนที่จะขยายสายการผลิตสู่ผลิตภัณฑ์อาหาร นม และขนมสําเร็จรูปต่างๆ เช่น คุกกี้ แยมผลไม้ เยลลี่สำเร็จรูป เพิ่มเติม
ต่อมาในปี 2528 มีการสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ขนาด 42 ไร่ ณ อําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้ชื่อ “บริษัท อิมพีเรียล เยนเนอรัล ฟูดส์ อินดัสทรี่ จํากัด” เพื่อรองรับธุรกิจที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตบิสกิต คุกกี้ แครกเกอร์ ขนมอบ เวเฟอร์ น้ำตาลก้อน และที่สำคัญยังเป็นจุดกำเนิดของ “คุกกี้อิมพีเรียล” อีกด้วย
ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลไทยมีมาตรการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และประกาศห้ามนำเข้าอาหารประเภทขนมปังกรอบซึ่งรวมถึงคุกกี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตภายในประเทศ กิมจั๊วพาณิชย์จึงต้องปรับกลยุทธ์โดยใช้ความพร้อมที่มี จากที่เคยนำเข้าคุกกี้จากเดนมาร์กมาสู่การเดินเครื่องผลิตคุกกี้เป็นแบรนด์ของตนเอง ในชื่อ “อิมพีเรียล บัตเตอร์ คุกกี้ สูตรเดนมาร์ก” (Imperial Danish Style Butter Cookies) ประกอบด้วยคุกกี้ 5 แบบ ได้แก่ วานิลลาริง, เพรทเซล, ฟินนิช (สี่เหลี่ยม), สปีซี่ (กลม) และเคอร์เร้นท์ (คุกกี้มีลูกเกด) ถือเป็นจุดกำเนิดคุกกี้กล่องแดงอิมพีเรียลก็อยู่คู่คนไทยมานานถึง 39 ปี
หลังจากนั้นกิมจั๊วพาณิชย์มีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งเพิ่มการผลิตในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Dairy Products ได้แก่ นม เนย ชีส และมาการีน ผลิตน้ำส้มซันควิก ตลอดจนเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในธุรกิจเบเกอรี่ อีกทั้งยังมีการขยายโรงงานและตั้งศูนย์กระจายสินค้าในจังหวัดต่างๆ ทั้ง เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น
ที่สำคัญในปี 2558 ยังได้ก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารภายใต้ชื่อ “KCG Excellence Center” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในศูนย์นวัตกรรมด้านอาหารที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และได้ควบรวมบริษัท ยูไนเต็ด แดรี่ ฟูดส์ จํากัด และบริษัท อิมพีเรียล เยนเนอรัล ฟูดส์ อินดัสทรี่ จํากัด มาอยู่รวมกันภายใต้บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของครอบครัวธีระนุสรณ์กิจ
กระทั่งวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาถือเป็นอีกก้าวสำคัญของเคซีจี คอร์ปอเรชั่น เมื่อบริษัทฯ ตัดสินใจเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พลิกโฉมสู่การเป็นบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG ในที่สุด
เจาะพอร์ตโฟลิโอของ KCG กับยอดขายหลักพันล้าน
ปัจจุบัน KCG ถือเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับอาหารขนาดใหญ่ ที่มีช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบของ B2B และ B2C โดยส่งออกไปขายใน 20 ประเทศทั่วโลก มีผลิตภัณฑ์หลัก 3 กลุ่ม และมีสินค้ากว่า 2,300 SKU ประกอบด้วย
1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทนม (Dairy Products) เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ได้แก่ เนย เนยแข็ง ชีส และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนม เช่น นมพร้อมดื่ม วิปครีม โดยผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ อลาวรี่, อิมพีเรียล และแบรนด์น้องใหม่ ‘แดรี่โกลด์’ (DAIRYGOLD) รวมถึงมีแบรนด์นำเข้าจากทั่วโลกอย่าง Elle & Vire, Le Gall, Emmi, Emborg, Cantorel, Dairy Choice, Filata, Ile de France และ Shineroad เป็นต้น นอกจากนี้ KCG ยังเป็นผู้นำเข้าไอศกรีมแบรนด์ดัง Mövenpick Ice Cream อีกด้วย
2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและเบเกอรี่ (Food & Beverage Ingredients – FBI) แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ส่วนผสมของอาหาร เช่น น้ำมันมะกอก อาหารสำเร็จรูป เส้นพาสต้า เนื้อสัตว์และอาหารทะเล, ผลิตภัณฑ์สำหรับการทำเบเกอรี่ อย่าง แป้งเค้ก แป้งขนมปัง แป้งแพนเค้ก, ผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้เข้มข้น และอุปกรณ์ทำเบเกอรี่และประกอบอาหารที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
สำหรับแบรนด์สินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ FBI มีแบรนด์แฟล็กชิปอย่าง อิมพีเรียล, ซันควิก (SUNQUICK) และ bake master มีแบรนด์นำเข้า เช่น Moulins Bourgeois, Bruggeman, Ciao – Il Pomodoro di Napoli, RISO Scotti และ La Española เป็นต้น
3. กลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต (Biscuits), แครกเกอร์, เวเฟอร์ และเยลลี่ (Biscuits) ภายใต้แบรนด์ อิมพีเรียล, Cookie choice, Rosy, Violet, Bakers’ Choice และแบรนด์เยลลี่ Variety
ภาพจาก www.kcgcorporation.com
แต่เดิม KCG เน้นช่องทางการขายให้กับกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ หรือแบบ B2B (Business to Business) ทั้งร้านอาหาร โรงแรม ผู้ผลิตอาหาร โรงงานอุตสาหกรรม เป็นหลัก แต่หลังจากวิกฤตโควิด-19 บริษัทฯ ได้ปรับกลยุทธ์เพื่อรุกเข้าสู่กลุ่มลูกค้าผู้บริโภคหรือ B2C (Business to Customer) มากขึ้น โดยผ่านช่องทางร้านค้าทั่วไป ร้านสะดวกซื้อ และแพลตฟอร์มออนไลน์ และด้วยความหลากหลายของสินค้า ความแข็งแกร่งของแบรนด์ทั้งที่ผลิตเองและนำเข้า ประกอบกับช่องทางการขายที่ครอบคลุมทำให้ในแต่ละปี KCG สามารถกวาดยอดขายหลักพันล้านบาทไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
ดำรงชัย วิภาวัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ลูกหม้อคนสำคัญที่ร่วมงานกับ KCG มากว่า 35 ปี และเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนี้สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า
“ปี 2566 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ KCG ทำนิวไฮทั้ง Top Line และ Bottom Line เราปิดยอดขายรวมไปที่ 7,157 ล้านบาท เติบโต 16.2% มีกำไรสุทธิ 305.9 ล้านบาท เติบโต 26.9% ทั้งกำไรสุทธิและรายได้จากการขายถือว่าเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 65 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งธุรกิจเมื่อปี 2501”
โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Dairy Products เป็นกลุ่มที่สร้างยอดขายได้มากที่สุด ที่ 4,086.5 ล้านบาท เติบโต 15.0% ตามมาด้วยกลุ่ม FBI มีรายได้ 2,061.1 ล้านบาท เติบโต 15.3% และกลุ่มผลิตภัณฑ์บิสกิต มีรายได้ 1,009.3 ล้านบาท เติบโต 23.9%
ถ้าจำแนกผลประกอบการตามช่องทางการจำหน่ายพบว่า ช่องทาง B2B มียอดขาย 2,892.7 ล้านบาท เติบโต 14.2% ช่องทาง B2C มีรายได้ 3,938.6 ล้านบาท เติบโต 17.7% และส่งออกมียอดขาย 325.7 ล้านบาท เติบโต 18.1% สำหรับไตรมาสแรกของปี 2567 KCG ก็เปิดศักราชไปได้อย่างสวยงาม ด้วยยอดขายรวม 1,785.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% และมีกำไรสุทธิ 71.6 ล้านบาท เติบโต 22.5%
ดำรงชัยเสริมว่า เคล็ดลับที่ทำให้ KCG ประสบความสำเร็จและขึ้นมาเป็นผู้นำทางธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์อาหารตะวันตกที่ยืนระยะได้ยาวนานกว่า 60 ปี มาจากการพัฒนาแบบผสมผสาน (Fusion) เพื่อหานวัตกรรมใหม่ๆ มาตอบโจทย์ผู้บริโภค
“ถ้าย้อนไปดูตั้งแต่จุดเริ่มต้น สิ่งที่ KCG ทำมาตลอดคือ ‘Fusion’ ตั้งแต่การนำวัตถุดิบอาหารตะวันตกเข้ามาในประเทศไทย มาจนถึงการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารตะวันตกในประเทศไทยสำเร็จ สิ่งที่ KCG ทำคือการ Crossover ข้ามสายพันธุ์มาตลอด เช่น DAIRYGOLD ชีสสไลซ์แผ่นรสกะเพรา หรือ IMPERIAL Edible Cookie Cup นวัตกรรมแก้วกาแฟกินได้ ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไป”
และในฐานะผู้นำของ KCG ดำรงชัยได้เปิดเผยถึงกลยุทธ์ในการสานต่อความสำเร็จครั้งนี้ว่า KCG จะขับเคลื่อนธุรกิจผ่านวิสัยทัศน์ ‘Transition Towards Sustainable Growth’ พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา 2 มิติ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ (Business Strategy) ภายใต้การขับเคลื่อน 7 เสาหลัก ได้แก่ 1. การเติบโตทางธุรกิจ 2. พัฒนาบุคลากร 3. ขับเคลื่อนองค์กรด้วยข้อมูลและเทคโนโลยี 4. ขยายตลาดส่งออก 5. ยกระดับศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้า 6. ยกระดับการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติ และ 7. ส่งเสริมความยั่งยืน โดยปี 2567 KCG ยังมีแผนลงทุนขยายไลน์การผลิตเนยเพิ่มเติมด้วยงบลงทุน 220 ล้านบาท เพราะตลาดเมืองไทยยังมีโอกาสในการเติบโตได้อยู่
จากความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น หลังจากเติบโตแบบเงียบๆ มานาน เห็นทีครั้งนี้ยักษ์ใหญ่อย่าง KCG น่าจะมีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาออกมาให้เราเห็นกันมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน.