วันอังคาร, มกราคม 28, 2025
Home > Cover Story > Maguro Group ธุรกิจร้านอาหาร ชูวัฒนธรรมการให้มากกว่ารับ

Maguro Group ธุรกิจร้านอาหาร ชูวัฒนธรรมการให้มากกว่ารับ

เป้าหมายของผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องคำชม และการยอมรับจากลูกค้า จำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือยอดขาย ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสในการขยายสาขาในอนาคต แต่นั่นอาจไม่เพียงพอสำหรับ Maguro Group ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี เมื่อก้าวสำคัญของ Maguro Group ที่เพิ่งเกิดขึ้นคือการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

จากความชอบและ Passion ที่เหมือนกันของเพื่อน 4 คน ประกอบด้วย เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง, ชัชรัสย์ ศรีอรุณ, รณกาจ ชินสำราญ และจักรกฤติ สายสมบูรณ์ สู่การรวมตัวกันก่อตั้งร้านอาหารภายใต้ชื่อ Maguro ร้านอาหารญี่ปุ่น ที่เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2556 สู่การสั่นกระดิ่งในวันที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ MIA

เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหาร และเหตุผลในจังหวะก้าวสำคัญของธุรกิจ ที่ดูจะไปไกลมากกว่าแค่การเป็นธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี

“เราเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารเมื่อ 9 ปีก่อน จากการท่องเที่ยวญี่ปุ่น เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมการรับประทานอาหารแบบญี่ปุ่น ความใส่ใจ ทั้งด้านคุณภาพ ราคา และการบริการ ที่ร้านนำเสนอให้แก่ลูกค้า เราจึงต้องการจะหยิบเอาวัฒนธรรมการรับประทานอาหารแบบนั้นมาให้ผู้บริโภคชาวไทยได้สัมผัส ร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ Maguro เกิดขึ้นก่อนจะขยายสาขา และเพิ่มร้านอาหารแบรนด์อื่นตามมา ตอนนี้เรามีร้านอาหาร3 แบรนด์ รวมทั้งหมด 27 สาขา และมีแผนจะเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ไม่น้อยกว่า 11 สาขา”

ปัจจุบัน Maguro Group มีร้านอาหารในเครือ 3 แบรนด์ ได้แก่ 1. ร้านซูชิและอาหารญี่ปุ่นระดับพรีเมียม “MAGURO” 14 สาขา 2. ร้านปิ้งย่างเกาหลีพรีเมียม SSAMTHING TOGETHER (ซัมติง ทูเก็ทเตอร์) 6 สาขา และ 3. ร้านอาหารชาบูและสุกี้ยากี้สไตล์ญี่ปุ่นแบบต้นตำรับ (Authentic Japanese Sukiyaki and Shabu Shabu) “HITORI SHBU” (ฮิโตริ ชาบู) 6 สาขา นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ “MAGURO CATERING” ในรูปแบบEvent Catering และ Office Lunchbox และมีบริการจัดส่งอาหารโดยตรง ภายใต้ชื่อ “MAGURO GO” แพลตฟอร์มให้บริการอาหารญี่ปุ่นเดลิเวอรีระดับพรีเมียมที่จัดส่งถึงที่

ธุรกิจร้านอาหารในไทยเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก เพราะมีทั้งร้านอาหารที่เป็นเชนจากต่างประเทศ และร้านอาหารที่เป็นธุรกิจท้องถิ่น แต่ท่ามกลางความดุเดือดของตลาด ธุรกิจร้านอาหารยังต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ ทั้งการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน สอดคล้องกับการประเมินของศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจ

โดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) คาดว่าธุรกิจบริการร้านอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 โดยคาดว่ามูลค่าตลาดในปี 2567 จะเติบโตได้ 11 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยเกื้อหนุนเกิดจากการบริโภคของภาคเอกชนที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และในช่วงปี 2568-2570 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่งผลให้ร้านอาหารทั้งร้านที่บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant) ร้านที่ให้บริการจำกัด (Limited Service Restaurant) และร้านอาหารข้างทางที่มีหน้าร้าน (Street Food) จะทยอยกลับมาเปิดสาขาเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี EIC มองว่าปัจจัยที่คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจร้านอาหารที่ต้องติดตาม เช่น นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่พึ่งพาแรงงาน นอกจากนี้ ธุรกิจร้านอาหารยังเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามาในตลาด รวมถึงค่าครองชีพที่สูงขึ้น อาจกดดันกำลังซื้อและส่งผลให้การใช้จ่ายต่อบิลไม่สูงเท่าช่วงก่อนโรคระบาดโควิด

นอกจากกลยุทธ์ในการบริหารที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องมีในการดำเนินงานแล้ว สิ่งที่เป็นมากกว่ากลยุทธ์แต่เป็นวัฒนธรรมที่ MAGURO Group ใช้มาตลอดคือ Give More วัฒนธรรมการให้มากกว่ารับ

“ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ท้าทาย การแข่งขันค่อนข้างสูง มีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดทุกๆ ปี ผู้บริโภคมีทางเลือกจำนวนมาก นอกจากนี้ ธุรกิจเดลิเวอรีอาหารยังเติบโตสูงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง MAGURO ได้ใช้ 4 กลยุทธ์หลัก ซึ่งเป็นเสมือน 4 เสาหลักในการดำเนินกิจการ และสามารถมีรายได้รวมให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 64.26 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) คือ 1. การขยายสาขาและช่องทางการให้บริการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Channel Expansion) โดยมีการจัดทำข้อมูลวิเคราะห์โครงการสาขาที่จะเปิดใหม่ เพื่อพิจารณาผลตอบแทนและความคุ้มค่าในการลงทุน โดยบริษัทฯ จะจัดทำ Feasibility Study ก่อนตัดสินใจเปิดสาขาใหม่ เพื่อโอกาสที่จะทำให้การลงทุนทุกครั้งประสบความสำเร็จ โดยบริษัทฯ เตรียมขยายสาขาจากปัจจุบันสู่โลเคชันใหม่ทั้งในเมืองและชานเมืองที่มีกำลังซื้อสูง โดยใช้ศักยภาพของแบรนด์ของบริษัทฯ ในการดึงดูดลูกค้าด้วยชื่อเสียงของแบรนด์เอง ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาจำนวนลูกค้าจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ และเพิ่มทางเลือกของที่ตั้งในการขยายสาขา

2. การวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามปรัชญา Give More (Research and Development with Give More Philosophy) บริษัทฯ มุ่งเน้นนวัตกรรมและการสร้างสรรค์ ร้านอาหารรูปแบบใหม่ รวมถึงมีการพัฒนาเมนูอย่างต่อเนื่องให้หลากหลาย น่าตื่นเต้น ทันสมัย บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแบรนด์ใหม่ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง การมอบความคุ้มค่าสูงสุดให้ลูกค้าอย่างจริงใจด้วยคุณภาพวัตถุดิบนำเข้าระดับพรีเมียมในปริมาณที่มากเพื่อสร้างความประทับใจ

3. การมอบประสบการณ์ให้ลูกค้าที่เป็นเอกลักษณ์ (Distinctive Customer Experience) และน่าประทับใจทั้งคุณภาพอาหาร การบริการที่รู้ใจและใส่ใจแก่ลูกค้า บรรยากาศดี นำระบบ CRM ในการรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อนำเสนอโปรโมชันและกิจกรรมส่งเสริมการขายให้แก่ลูกค้าอย่างตรงจุด และ 4. การหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อการเติบโต ด้วยการเปิดสาขาใหม่ สร้างแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยการศึกษาความต้องการของลูกค้าเชิงลึกจากฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งจากจำนวนสมาชิกที่อยู่ในระบบมากกว่า 145,000 ราย

ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารที่ยังคงดุเดือดไม่ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร รวมถึงปัจจัยที่น่าจะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งค่าแรงที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตามนโยบายของภาครัฐ ต้นทุนวัตถุดิบที่ไม่สามารถควบคุมได้ นักธุรกิจและผู้ประกอบการล้วนต้องขบคิดให้หนัก รวมถึงหาแนวทางการรับมือเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของธุรกิจ แต่ เอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง ไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่น่ากังวล

“ทั้งเรื่องค่าแรง และราคาต้นทุนของวัตถุดิบที่มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เราไม่ได้กังวลต่อเรื่องนี้มากนัก เพราะอัตราค่าแรงที่เราให้พนักงานสูงกว่ามาตรฐานของตลาดแรงงานไทยในปัจจุบัน ขณะที่ราคาต้นทุนวัตถุดิบ เราพร้อมรับมือ และเข้าใจกลไกตลาดเป็นอย่างดี รวมถึงเรามี contractกับแหล่งวัตถุดิบโดยตรง สิ่งที่ท้าทายเราคงไม่ใช่สองประเด็นนี้ แต่เป็นการแข่งขันในตลาดธุรกิจร้านอาหารที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่า คงไม่มีผู้บริโภคคนไหนที่จะยึดติด หรือจงรักภักดีกับร้านอาหารเพียงแบรนด์เดียวตลอด เมื่อมีร้านเปิดใหม่ ผู้บริโภคก็ย่อมต้องอยากลอง อยากชิมของใหม่เป็นธรรมดา สิ่งนี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เราไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา ด้วยทีม R&D ที่เรามีประมาณ 10 คน ก็จะช่วยให้ธุรกิจของเราทำงานกันง่ายขึ้น”

ต้องบอกว่า ระยะเวลาเพียง 9 ปีจากจุดเริ่มต้นของ MAGURO Group การขยายสาขาทั้งหมดของร้านอาหารทั้ง 3 แบรนด์ ที่มีเกือบสามสิบสาขา นับว่าเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด และน่าสนใจไม่น้อย เมื่อเทียบกับธุรกิจร้านอาหารอื่นๆ

เพราะล่าสุด MAGURO Group มีนามสกุล “มหาชน” ห้อยท้ายเป็นที่เรียบร้อย จะเห็นได้ว่า บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAGURO มีผลการดำเนินงานเติบโตสูงและต่อเนื่อง โดยในปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้รวม 387.61 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 9.57 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 มีรายได้รวม 665.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 71.78% มีกำไรสุทธิ 31.36 ล้านบาท เติบโต 227.69% สำหรับปี 2566 มีรายได้รวม 1,045.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.06% และมีกำไร 72.48 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 131.12% จากปีก่อนหน้า

ปัจจุบัน MAGURO มีทุนจดทะเบียน 63.00 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 126,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 52.27 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 104,539,800 หุ้น และจะเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 34,060,200 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 27.03 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ

ซึ่งผู้บริหารของ MAGURO Group มีแผนที่จะใช้เงินจากการระดมทุนสำหรับการวางแผนเปิดสาขาเพิ่มในอนาคต อย่างน้อยปีละ 10 สาขา รวมถึงมีความตั้งใจที่จะเปิดแบรนด์ร้านอาหารใหม่เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค

“หลังเข้าตลาดหุ้นเรามีแผนการหลายด้าน ทั้งการขยายสาขา ซึ่งแต่ละสาขาต้องใช้งบประมาณ 13-25 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับทำเลและพื้นที่ การสร้างแบรนด์ใหม่แม้จะชำนาญด้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นและเกาหลี แต่เราไม่ได้สร้างกรอบของตัวเองแบบนั้น เพราะเรามีองค์ความรู้ที่นอกเหนือจากอาหารญี่ปุ่น เกาหลี แต่แน่นอนว่า เรายังต้องพัฒนาอาหารเพื่อให้ทั้งสามแบรนด์ของเราแข็งแกร่งขึ้นเช่นกัน แน่นอนว่าระบบหลังบ้านของเราที่จะรองรับฐานสมาชิก ระบบการจัดการ เพื่อให้พร้อมสำหรับการดำเนินงานแบบครอบคลุม”

นับว่าแบรนด์ MAGURO Group มาไกลกว่าที่คิด แต่การมาไกลนี้อาจถูกคิดและไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี ถึงกระนั้นธุรกิจร้านอาหารในไทยยังน่าจับตามองเสมอ เมื่อเป็นตลาดที่พร้อมจะเปิดรับผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด.