วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > การเติบโตของ MINI 55 ปี แห่งการไม่หยุดนิ่ง

การเติบโตของ MINI 55 ปี แห่งการไม่หยุดนิ่ง

 
การช่วงชิงพื้นที่ของหน้าสื่อ และพื้นที่ตลาดรถยนต์ก่อนการเปิดงานมอเตอร์เอ็กซ์โปจะเริ่มขึ้น นับเป็นหมัดเด็ดที่มินิ ประเทศไทย เลือกใช้ในการแถลงข่าวเปิดตัวรถยนต์มินิขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
 
แต่นับเป็นก้าวแรกสู่เซกเมนต์รถยนต์คอมแพคระดับพรีเมียมที่ยังคงสัญลักษณ์ของตำนานแห่งความเป็นรถยนต์สัญชาติอังกฤษได้ดี ก่อนการเปิดตัวให้บรรดาสื่อมวลชนไทยสายรถยนต์ได้เห็นโฉมของมินิ คลับแมน นั้น ในงานมหกรรมยานยนต์ แฟรงก์เฟิร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2015 ที่ประเทศเยอรมนี และงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2015 ที่ประเทศญี่ปุ่น มินิ คลับแมน ได้รับการตอบรับที่ดี
 
การคาดหวังของมินิในการปรับโฉมมินิ คลับแมน และเปิดตัวในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 32 ของไทยนั้น คงต้องรอดูกันว่าจะได้รับการตอบรับดีเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นที่เยอรมนีและญี่ปุ่นหรือไม่ 
 
เพราะหากจะว่ากันตามจริงแล้ว มินิเคยพัฒนาและเปิดตัวรถยนต์มินิ คลับแมน มาแล้วเมื่อปี 2008 ในขณะนั้นมินิมักนิยมใช้กลยุทธ์ Guerrilla Marketing ซึ่งเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ต้องการผลตอบรับสูงแต่ใช้งบให้น้อยที่สุด และต้องยอมรับว่าผลที่ได้รับกลับมานั้นก็เกินความคาดหมายเมื่อ มินิ คลับแมน ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เพราะมีการใช้รถบรรทุกขับพารถมินิ คลับแมน ไปเยี่ยมเยือนสื่อมวลชนตามสำนักข่าวต่างๆ 
 
หากแต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจของไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต แม้จะมีตัวเลขที่สร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคและนักลงทุนที่ทำให้เส้นกราฟขยับขึ้นมาบ้าง หากแต่ต่างยังต้องเฝ้าระวัง เมื่อไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่กำลังอยู่ในช่วงถดถอย 
 
การเติบโตของมินิทำให้ปัจจุบัน มินิกำลังก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 56 แน่นอนว่าการไม่หยุดนิ่งของมินิทำให้เกิดประวัติศาสตร์อันยาวนานและน่าสนใจว่า เพราะเหตุใดรถยนต์ขนาดเล็กถึงยังครองใจผู้ที่ชื่นชอบและทำให้ใครต่อใครเหลียวหลังมองได้ตลอดเวลา
 
ผลพวงจากวิกฤตน้ำมันในปี 1956 ทำให้ทั่วโลกหันมานิยมรถขนาดเล็ก ซึ่งบริษัท BMC (Britich Motor Corporation) ก็หาคำตอบได้ตรงใจความต้องการของผู้บริโภค โดยผลงานการดีไซน์ของวิศวกรคนเก่งอย่าง อเล็ค อิสชิโกนิส ทำให้มินิคันแรกของโลกปรากฏสู่สายตาสาธารณชนในปี 1959 ภายใต้สองแบรนด์คือ ออสติน เซเว่น (Austin Seven) และมอริส ไมเนอร์ (Morris Minor) 
 
กระนั้นคำว่า มินิ ก็ยังไม่เกิดขึ้นจนความบังเอิญที่เกิดจากการขายรถภายใต้แบรนด์ Minor ซึ่งคำว่า Minor ของ Morris Minor แปลว่า เล็ก ในภาษาละติน ซึ่งตอนไปขายที่ประเทศเดนมาร์กมีการเรียกแผลงเป็น Mini จึงถูกเรียกและใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้
 
นับได้ว่าการสร้างสถิติยอดขายครบ 1 ล้านคันเพียง 6 ปีในยุคสมัยนั้นถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก และจุดหักเหที่สำคัญในประวัติศาสตร์มินิ เกิดขึ้นเมื่อ Mini Mark II ถูกเลือกให้เป็นรถยนต์ในหนังฟอร์มยักษ์อย่าง Italian Job นำแสดงโดย ไมเคิล เคน ที่ออกฉายในปี 1969 
 
และที่ยังคงเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้คงจะหนีไม่พ้น มินิ รุ่น คูเปอร์ เอส ซึ่ง จอห์น คูเปอร์ เจ้าพ่อนักสร้างรถสูตร 1 เพื่อนซี้ของ อเล็ก อิสชิโกนิส ได้เข้าร่วมพัฒนาแชสซีของมินิ ด้วยการคิดนอกกรอบว่า “รถที่วิ่งได้เร็ว ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องเป็นรถแรง เพราะถนนไม่ได้มีแต่ทางตรง หากแต่เป็นรถที่ปราดเปรียวและเข้าโค้งได้ดี” 
 
จุดอ่อนของเครื่องยนต์ 34 แรงม้า จากเครื่อง 848 CC จึงถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องยนต์ 55 แรงม้า จากเครื่อง 977 CC ที่มาพร้อมคาร์บูเรเตอร์คู่ ประกอบกับเกียร์แบบอัตราทดสั้น (Close Ratio) และดิสก์เบรก กระทั่ง มินิคูเปอร์ ไปปรากฏตัวและสร้างความตะลึงในแรลลี่มอนติคาร์โล และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับต้นๆ ของรายการ ทำให้ได้รับใบออเดอร์กลับมาถึง 1,000 คัน 
 
การพัฒนาดำเนินต่อไปกระทั่งครบหนึ่งทศวรรษ มินิ จึงตัดสินใจเพิ่มความหรูและความแรงเพื่อขยายมินิเข้าสู่ตลาดบน ด้วยการแตกไลน์ออกมาใช้ชื่อว่า Mini Clubman และ Mini 1275GT ขึ้นมาและเปลี่ยนหน้าตาของมินิจาก “หน้ากบ” เป็น “หน้าเหลี่ยม” ด้วยลายปากกาของสไตลิสต์คนดังจากฟอร์ด รอย ฮานส์ (Roy Haynes) 
 
อีกปรากฏการณ์สำคัญของมินิในเวลานั้นคือ มินิ ได้ยกระดับตัวเองจาก “รุ่น” มาเป็น “แบรนด์ และมีตราสัญลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นรถมินิก่อนปี 1969 ตรายี่ห้อหน้ารถจะเป็น Austin Morris หรือสัญลักษณ์ตัว L ของ British Layland Motor แต่ถ้าเป็นมินิหลังจากปี 1969 จะเป็นสัญลักษณ์ปีมินิของตัวเอง
 
ช่วงพีคของมินิหน้าเหลี่ยมคือช่วงปี 1978-1979 เมื่อ Richard Longman สร้างความฮือฮาแบบเดวิดพิชิตโกไลแอ็ทอีกครั้ง ด้วยการนำ Mini 1275GT ไปชนะการแข่งขันทางเรียบรายการใหญ่ของอังกฤษคือ British Touring Car 
 
แม้ในห้วงเวลาแห่งการรุ่งเรืองของมินิหน้ากบ ที่ส่งผลให้มีสถิติการขายของ Mini Clubman Saloons สูงถึง 275,583 คัน Clubman Estates 197,606 คัน และ Mini1275GT 110,673 คัน แต่ก็เลิกผลิตไปในปี 1980 และถูกแทนที่ด้วยรุ่นที่เรียกว่า Mini Metro 
 
ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 บริษัทแม่ British Leyland Motor สยายปีกควบรวมกิจการด้านยานยนต์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งรวมถึง Rover และ Jaguar เข้าไปไว้ในอาณัติ ระหว่างนั้นด้านฟากฝั่งของมินิก็พัฒนารถยนต์รุ่นต่างๆ ออกมามากมาย พร้อมกับปรับปรุงตัวถังเพื่อให้ทันสมัยและไม่ต่างจากรถยนต์ในตลาดมากนัก อีกทั้งยังมีการพัฒนา Mini Van และ Mini Pick Up
 
กระทั่งช่วงต้นทศวรรษ1980 ที่ British Leyland Motor แตกตัวออกเป็นสองบริษัท คือ Austin Rover กับ Jaguar และต่อมาส่วนของ Austin Rover ก็ได้ถูกซื้อโดยบริษัท British Aerospace (Bae) และรวมกิจการด้านรถยนต์เข้าเป็นกลุ่มและตั้งชื่อว่า Rover Group ในปี 1988 ซึ่งทำให้มีส่วนพลิกผันกับมินิด้วย ทำให้มินิกลายเป็น Rover Mini ไปโดยปริยาย 
 
หลังจากกลางทศวรรษ 1970 ความเป็น Cooper ได้ห่างหายไปเนื่องจากมรสุมการเมืองภายในบริษัทในช่วงควบรวมกิจการให้กลายเป็น British Leyland Motor นั้น Mini Cooper MK II หยุดการผลิตไปในปี 1969 และ Mini Cooper S MK II ในปี 1973
 
แม้ว่าจะในปี 1980 ที่เป็นช่วงขาลงของมินิ แต่ความคึกคักยังคงมีแต่ในเฉพาะกลุ่ม แม้ว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศอังกฤษจะอยู่ในช่วงถดถอย และถูกแซงหน้าโดยบริษัทเยอรมัน ญี่ปุ่น อเมริกา แต่ด้วยความที่มินิยังคงมีเอกลักษณ์และบุคลิกที่สนุกสนานปนน่ารักทำให้การทำการตลาดมุ่งเจาะเน้นกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ ซึ่งบริษัท British Leyland Motor ก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอตัวอยู่ในการผันมินิให้กลายมาเป็นรถ Niche และออกรุ่นพิเศษออกมาปีละสองสามรุ่น ในรูปแบบ Limited Edition
 
การกลับมาอีกครั้งของมินิช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นเพราะการเรียกร้องจากแฟนรถมินิชาวญี่ปุ่นที่ยังคงรักในความเป็นมินิ ต้องการให้ Rover เชิญจอห์น คูเปอร์ กลับมาเป็นสำนักงานสำหรับแต่งมินิอีกครั้ง ซึ่งในช่วงเดือนกันยายนของปีเดียวกัน Mini Cooper ก็กลับมาอีกครั้ง 
 
ปรากฏการณ์ที่เกิดกับมินิอีกครั้งเมื่อกลางทศวรรษ 1990 เมื่อมินิย้ายสังกัดมาอยู่กับ BMW และในปี 2001 มินิสร้างความฮือฮาต่อแฟนมินิ วงการดีไซน์รถ และอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก เมื่อมินิรุ่นปัจจุบันออกสู่ตลาด 
 
มินิสร้างประเพณีอีกครั้งเมื่อมีการออกรุ่นพิเศษ หรือที่ภาษารถเรียกกว่า Special Editions ที่มีการออกมาครั้งแรกสมัยปี 1976 และมีเรื่อยมาเกือบทุกๆ ปี 
 
การเดินทางของมินิตั้งแต่อดีตจวบจนกระทั่งปัจจุบันทำให้มินิสร้างปรากฏการณ์ที่กำลังจะก้าวสู่ปี 2016 ด้วยการปรับบุคลิกของแบรนด์ตัวเองอีกครั้ง ทั้งเรื่องของ Logo ที่เป็น 2 มิติทำให้ดูง่ายขึ้น และการเปลี่ยนคาแรกเตอร์จากวัยรุ่น เสื้อยืดกางเกงยีนส์ สู่วัยทำงาน 
 
อีกทั้งยังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้วยการเปิดตัว MINI Cooper S Clubman ให้เข้ามาประจำการในตลาดรถเล็กระดับพรีเมียม ซึ่ง Clubman มาแบบครบครันทั้งเครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน
 
ซึ่งคลับแมนเจเนอเรชั่นใหม่นี้มาพร้อมกับขีดความสามารถในการตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวัน และศักยภาพของการขับขี่ทางไกล ความอเนกประสงค์ และความสะดวกสบายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรถยนต์มินิ 
 
โดยปรีชา นินาทเกียรติกุล ผู้จัดการทั่วไป มินิ ประเทศไทย อธิบายว่า “มินิในปัจจุบันมีบุคลิกที่เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน มินิ คลับแมน โฉมใหม่ เรากำลังสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับคนรักมินิเจเนอเรชั่นใหม่ในประเทศไทย และเพื่อตอบสนองการใช้งานสำหรับครอบครัว” 
 
มินิ คลับแมน สร้างฟีเจอร์ใหม่ทั้งคุณสมบัติด้านแอโรไดนามิกส์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วยการติดตั้งส่วนประกอบเพิ่มเติมในระบบการระบายอากาศซึ่งถูกนำมาใช้ในรถยนต์มินิเป็นครั้งแรก ได้แก่ ช่องระบายอากาศ (Air Curtains) เป็นช่องลมขนาดเล็กในแนวตั้งที่กันชนหน้า ซึ่งจะช่วยให้กระแสลมสามารถไหลผ่านไปซุ้มล้อหน้า และทำงานร่วมกับช่องระบายอากาศ (Air Breathers) ที่ด้านหลังของซุ้มล้อคู่หน้า ช่วยระบายแรงสั่นสะเทือนอันเกิดจากแรงดันอากาศ
 
และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์ในการมองหลังขณะขับขี่ให้ดีขึ้นคือ เสากลางระหว่างบานกระจกซ้าย-ขวาของฝากระโปรงท้ายมีขนาดเล็กลงกว่ารุ่นก่อนหน้า อีกทั้งการเปิดฝากระโปรงท้ายสามารถทำได้ด้วยการใช้มือเปิดจากปุ่มที่มือจับฝากระโปรงทั้งสองข้าง ซึ่งทำจากวัสดุชุบโครเมียม หรือสามารถเปิดได้โดยไม่ต้องสัมผัสตัวรถด้วยการใช้เท้าไปจ่อที่บริเวณใต้กันชนท้าย ฝากระโปรงก็จะเปิดเองโดยอัตโนมัติทีละข้าง แต่ฟีเจอร์นี้จะสามารถใช้งานได้เมื่อผู้ขับมีกุญแจรถอยู่กับตัว
 
ขณะที่ภายในห้องโดยสารของรถยนต์คอมแพคระดับพรีเมียมนี้ ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์พิเศษ MINI Excitement Package ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนสีได้ และการเปิดการทำงานของหน้าจอเมื่อเปิดหรือปิดประตูรถ นอกจากนี้ยังมีลูกเล่นการฉายไฟลงมาบนพื้นถนนฝั่งคนขับ เป็นโลโก้ MINI เมื่อเราทำการปลดล็อกประตูรถยนต์ 
 
อีกหนึ่งความคล่องตัวที่ถูกเพิ่มเข้ามาใน มินิ คลับแมน คือ การปรับตั้งค่าต่างๆ ของเบาะที่นั่งผู้ขับและผู้โดยสารตอนหน้าด้วยระบบไฟฟ้า โดยระบบจะจดจำองศาของที่นั่งคนขับและยังเป็นครั้งแรกของรถยนต์มินิที่การปรับระดับต่างๆ ของเบาะ ไม่ว่าจะเป็นที่รองศีรษะ การปรับที่นั่งตามยาว การจัดองศาของพนักพิงหลังสามารถปรับได้เพียงแค่กดปุ่มเดียว
 
เรียกได้ว่าการกลับมาในครั้งนี้ของ MINI Clubman ยังสามารถคงเอกลักษณ์ของการเป็นรถยนต์ที่สนุกสนาน แต่แฝงไปด้วยความสะดวกสบายที่เพิ่มมากขึ้นตามบุคลิกเติบโตขึ้นของรถยนต์และผู้ใช้งาน กระนั้นความพร้อมของ Mini Clubman ที่จะสามารถส่งถึงมือผู้จองได้คือช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า 
 
ขณะที่ แมทธิอัส พฟาลซ์ ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย แสดงความเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นมาช่วงท้ายของไตรมาสสามของปี ทำให้บริษัทยังสามารถจะหวังได้ว่าการเติบโตที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะสามารถสร้าง Best Record ได้ดังเช่นที่ Mini รุ่นก่อนๆ เคยสร้างสถิติไว้” 
 
แต่กระนั้นบริษัทบีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวัง เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งไทยและทั่วโลกยังไม่มีความมั่นคงเพียงพอ เพราะอาจเกิดความผันแปรทางด้านเศรษฐกิจในแต่ละประเทศและแต่ละท้องถิ่นซึ่งจะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค 
 
ทั้งนี้ประเด็นเรื่องราคาที่จะมีการปรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในปีหน้านั้นทางค่ายมินิเองยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้คงต้องดูที่ภาพรวมหลังจากงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 32 จบลง
 
ในจังหวะที่บรรดาค่ายรถกำลังช่วงชิงพื้นที่ตลาดรถยนต์ แน่นอนว่าตลาดรถยนต์หรูระดับพรีเมียมไม่ใช่ตลาดใหญ่ หากแต่ก็มีลูกค้าเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว กระนั้นคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อ Mini Clubman เปิดตัวก็คือ รถยนต์ครอบครัวรุ่นนี้จะแย่งชิงฐานลูกค้ากลุ่มเดียวกันเองกับ BMW 2 Series Active Tourer ที่เป็นรถครอบครัวเหมือนกันหรือไม่ 
 
การเลือกเปิดตัว Clubman ในช่วงปลายปี ประกอบกับการได้โอกาสโชว์ตัวในงานมหกรรมยานยนต์ที่มีระยะเวลาเพียงไม่กี่วันนั้น หากผลของยอดจำหน่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ กลยุทธ์ที่ Mini เคยใช้ได้ผลเมื่อปี 2008 คือกลยุทธ์การตลาดที่ต้องการผลตอบรับสูงแต่ใช้งบน้อยที่สุด อาจจะต้องถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง 
 
อัตราการปรับตัวของภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ที่จะปรับใช้ในปี 2559 อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจของผู้บริโภค นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ได้เปรียบและได้เห็นการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ของนักการตลาดจากค่ายรถยนต์ ที่งัดขึ้นมาประชันกันบนตลาดรถยนต์หรูระดับพรีเมียม และตลาดรถยนต์ระดับ Mass แต่ยอดจองหรือยอดจำหน่ายอาจไม่ได้หมายถึงผู้ชนะที่แท้จริง