ธุรกิจ Health & Wellness เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มักจะถูกนักวิเคราะห์ หรือกูรูด้านเศรษฐกิจประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นธุรกิจที่น่าลงทุน มาแรง ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลกที่เริ่มใส่ใจต่อสุขภาพของตัวเองมากขึ้น แม้ว่าจะต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อการดูแลสุขภาพก็ตาม
หากพิจารณาจากข้อมูลการจัดอันดับของ Global Wellness Institute ของปี 2020 ที่ระบุว่าไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านสุขภาพอันดับ 2 รองจากประเทศออสเตรเลีย ซึ่งไทยมีสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งธรรมชาติ อาหารที่อุดมไปด้วยสมุนไพร และการเป็นศูนย์รวมการแพทย์ ปัจจัยเหล่านี้เองที่ภาครัฐมองว่าการตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น Medical Hub น่าจะมีส่วนผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เติบโตขึ้น ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 2 แสนล้านบาทในปี 2580
ตัวเลขการเติบโตรวมถึงการคาดการณ์ตัวเลขรายได้ดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯ ธุรกิจท่องเที่ยวและการบริการเริ่มผนวกธุรกิจ Wellness เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจหลักของตัวเอง เพื่อขยายฐานลูกค้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือการแข่งขันในตลาดนี้ที่เริ่มดุเดือด ด้วยกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการต่างยกขึ้นมาประชัน อย่างการดึงผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพจากต่างประเทศมาเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ หรือการผนวกธุรกิจโรงพยาบาลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการที่อยู่อาศัย หรือการชูจุดเด่นด้วยการดึงตัวแพทย์จากโรงพยาบาลชื่อดังมาเป็นแพทย์ประจำบ้านในโครงการ
รายงานล่าสุดของ Global Wellness Institute เปิดเผยว่า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ด้านเวลเนส เป็นกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดเวลเนส และยังคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 887.5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 31,950 พันล้านบาท ในปี 2570 จาก 398 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 14,447.4 พันล้านบาทในปี 2565
มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป คืออีกหนึ่งผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่ดึงคลินิก ลา แพรรี จากสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์สำคัญในโครงการ ตรีวนันดา ภูเก็ต ยกระดับรีสอร์ตเพื่อการท่องเที่ยวสู่รีสอร์ตเพื่อสุขภาพแห่งแรกของคลินิก ลา แพรรี ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“คลินิก ลา แพรรี ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญศาสตร์แห่งการชะลอวัยด้วยการดูแลแบบองค์รวม การร่วมมือกับคลินิก ลา แพรรี ถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการที่พักอาศัยด้านเวลเนสของเอเชีย ในโลกยุคหลังโควิดที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียดและปัญหาด้านสุขภาพทั้งกายและจิตใจ โครงการตรีวนันดาของเรา คืออีกหนึ่งความตั้งใจที่จะสร้างคอมมูนิตี้เพื่อสุขภาพระดับโลกให้คนทุกวัยได้มาดูแลสุขภาพร่างกาย และสร้างสมดุลให้ชีวิตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน” กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวี ประธานกรรมการบริหาร มนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป
ขณะที่ ซีอีโอ ของคลินิก ลา แพรรี มร. ซีโมน จิเบอร์โทนี เปิดเผยมุมมองว่า “ประเทศไทยมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนานในฐานะศูนย์รวมชั้นนำด้านเวลเนสและสุขภาพแบบองค์รวม การร่วมมือกับมนทาระ ฮอสพิตาลิตี้ กรุ๊ป ทำให้เราสามารถสร้างนิยามใหม่ให้การดูแลสุขภาพแบบครบวงจรในเอเชีย”
คลินิก ลา แพรรี ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2474 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดย ดร. นีฮานส์ ผู้บุกเบิกศาสตร์แห่งความเยาว์วัย และเป็นโรงแรมเพื่อการฟื้นฟูสุขภาพชื่อดังระดับโลกจากการนำศาสตร์การชะลอวัยมาปรับเป็นแนวทางการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่มีข้อมูลวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับ ซึ่งการดูแลรักษาทางการแพทย์ถือเป็นหนึ่งใน 4 ปรัชญาของคลินิก ลา แพรรี ทุกโปรแกรมของคลินิก จึงประกอบไปด้วยการทดสอบทางการแพทย์ การให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ และการบำบัดฟื้นฟูทางการแพทย์ พร้อมมอบการดูแลแบบเฉพาะบุคคล เพื่อผลลัพธ์ที่ดีในระยะยาว สำหรับผู้เข้ารับบริการ
นอกจากนี้ คลินิก ลา แพรรี ยังขยายศูนย์การดูแลสุขภาพภายใต้ชื่อ “ลองจิวิตี้ ฮับ บาย คลินิก ลา แพรรี ไปยังประเทศต่างๆ เช่น มาดริด ประเทศสเปน กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ไทเป ดูไบ และกรุงเทพฯ
“ตรีวนันดา ประกอบด้วยวิลล่าเพื่ออยู่อาศัย 70 หลัง โดยเฟสแรกของโครงการจะประกอบด้วยวิลล่า 30 หลัง ที่ถูกออกแบบให้เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และในส่วนที่ได้พาร์ตเนอร์อย่าง คลินิก ลา แพรรี ถือเป็นเฟสสองของโครงการ ประกอบด้วยวิลล่าจำนวน 40 หลัง คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2568
นอกจากพื้นที่ส่วนกลางที่มีไว้รองรับไลฟ์สไตล์ของคนทุกช่วงวัย ทั้งบาร์ เลานจ์ สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกำลังกาย สนามเด็กเล่นกลางแจ้ง ลานอเนกประสงค์แล้ว ภายในโครงการ เฮลธ์ รีสอร์ต บาย คลินิก ลา แพรรี ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ และสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับผู้อยู่อาศัยและแขกผู้เข้าพัก นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารเพื่อสุขภาพ และการดูแลโภชนาการแต่ละบุคคล” กิตติศักดิ์ กล่าวเสริม
จังหวัดภูเก็ตกำลังถูกผลักดันอย่างเต็มกำลังจากภาครัฐ และเอกชนที่จะทำให้จังหวัดท่องเที่ยวแห่งนี้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ด้วยจุดเด่นของพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรซึ่งเป็นข้อได้เปรียบ และเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนจังหวัดที่มีดีแค่เรื่องการท่องเที่ยว ไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
มีผลการประเมินของ Global Wellness Institute การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจะกลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด จากปีนี้ไปอีกหลายปี โดยเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 20.9เปอร์เซ็นต์ และมูลค่าสาขานี้จะทะลุ 1 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สูงกว่า 50,000 บาท ต่อการท่องเที่ยวหนึ่งครั้ง ซึ่งค่าใช้จ่ายจำนวนนี้ยังสูงกว่าการท่องเที่ยวแบบปกติถึง 53 เปอร์เซ็นต์
การขยายตัวของธุรกิจอสังหาฯ เวลเนส โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวที่เป็นเป้าหมายหลักของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯ ทั้งรายเล็กรายใหญ่ ที่มองเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจ ดีมานด์ที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคาที่ดินในจังหวัดท่องเที่ยวเหล่านี้มีราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ต ที่ราคาที่ดินบริเวณหาดป่าตองสูงถึง 250 ล้านบาทต่อไร่
แน่นอนว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ เช่น การขยายสนามบินภูเก็ต การพัฒนาสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 การขยายช่องทางจราจร เป็นต้น เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดผลดีต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ ในจังหวัด และนั่นเป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากภูเก็ต จังหวัดท่องเที่ยวที่กำลังเปลี่ยนโฉมไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแล้ว ยังมีอีกหลายพื้นที่ ในหลายจังหวัดที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ เริ่มผนวกธุรกิจเวลเนสเข้ามาเสริมเพื่อสร้างจุดขาย เช่น หัวหิน เขาใหญ่ ที่แม้ดีมานด์ที่ดินจะเริ่มน้อยลง แต่ยังมีพื้นที่ให้พัฒนา กระนั้นสิ่งที่ต้องแลก คือ การลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน.