วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > 6 ทศวรรษ ซีคอน ถึงเวลาแห่งการส่งไม้ต่อ

6 ทศวรรษ ซีคอน ถึงเวลาแห่งการส่งไม้ต่อ

บริษัท ซีคอน จำกัด ถือเป็นหนึ่งในบริษัทรับสร้างบ้านที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองไทย ที่เดินทางมานานถึง 63 ปี ล่าสุดซีคอนสร้างสีสันให้ตลาดด้วยการนำกลยุทธ์มิวสิกมาร์เก็ตติ้งมาตอกย้ำความเป็น Brand Loyalty เปิดตัวมิวสิกวิดีโอ “LIVE and LEARN” ที่นำมาเรียบเรียงใหม่ เพื่อถ่ายทอดเส้นทางและเรื่องราวตลอด 63 ปีในธุรกิจของซีคอน รวมถึงการส่งไม้ต่อให้กับผู้บริหารในรุ่นที่ 3

ถ้าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของซีคอนนั้นพบว่าเกิดขึ้นโดยการรวมตัวของนักธุรกิจกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนำโดย “วิชัย ซอโสตถิกุล” ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจก่อสร้างที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศในขณะนั้น จึงได้ก่อตั้งบริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัด ขึ้นเมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2504

อย่างไรก็ตาม คุณวิชัยมองว่าการดำเนินธุรกิจก่อสร้างนั้นจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้และความสามารถด้านวิศวกรรมโยธามาเป็นผู้บริหารงานโดยตรง จึงมอบหมายให้บุตรชายอย่าง “กอบชัย ซอโสตถิกุล” ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่กับบริษัทออกแบบก่อสร้างของสหรัฐอเมริกาเข้ามารับผิดชอบบริหารงานในบริษัทฯ

และภายใต้การบริหารงานของกอบชัยนี่เองที่ส่งผลให้บริษัทฯ มีโอกาสรับผิดชอบการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญหลายๆ โครงการของเมืองไทย โดยผลงานแรกคือ โครงการออกแบบก่อสร้างตลาดและตึกแถว 200 คูหา บริเวณตลาดมหานาค ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่

จากโครงการแรก กอบชัยได้นำข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการก่อสร้างแบบธรรมดามาปรับเปลี่ยนและพัฒนาขึ้นใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นการผลิตส่วนประกอบต่างๆ ที่โรงงานและนำมาประกอบติดตั้ง ณ สถานที่ก่อสร้าง ซึ่งวิธีการนี้ทำให้สามารถสร้างอาคารที่แข็งแรงทนทาน ประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการก่อสร้างได้มากกว่าแบบเดิม จนทำให้เกิดระบบการก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน ซึ่งต่อมาได้พัฒนาต่อจนเป็นที่รู้จักในชื่อ “ระบบซีคอน”

หลังจากนั้นเป็นต้นมา “ระบบซีคอน” ได้กลายเป็นระบบก่อสร้างที่ถูกนำมาใช้ในงานต่างๆ ของบริษัทฯ เรื่อยมา โดยผลงานแรกได้แก่ โครงการสร้างตึกแถวบริเวณถนนพระราม 4 และถนนบรรทัดทองของบริษัท วังใหม่ จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงและทำให้บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการใหญ่ๆ ตามมาอีกอย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อสร้างศูนย์การค้าสยามสแควร์ ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า “ปทุมวันสแควร์” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “สยามสแควร์” ในภายหลัง

ศูนย์การค้าสยามสแควร์เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่แห่งแรกของไทยในสมัยนั้น ประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ 3 โรง ได้แก่ โรงภาพยนตร์สยาม, ลิโด้ และสกาลา ลานโบว์ลิ่ง ตึกแถว 550 คูหา และยังได้ร่วมมือกับบริษัท สี่พระยาก่อสร้าง จำกัด สร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล เพื่อเป็นโรงแรมสำหรับลูกเรือสายการบิน Pan American (Pan Am) ซึ่งถือเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้กับบริษัทฯ เป็นอย่างมาก ปัจจุบันโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัลถูกรื้อไปแล้ว และกลายเป็นพื้นที่ของห้างสยามพารากอนและโรงแรมสยามเคมปินสกี้

“มิตรภาพ” หมู่บ้านจัดสรรแห่งแรกในไทย

ถัดมาในปี 2509 รัฐบาลสหรัฐอเมริกามีนโยบายสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยในไทยให้มีบ้านเป็นของตนเอง โดยการค้ำประกันเงินกู้ 5 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยโดยการนำเงินมาให้ประชาชนกู้เพื่อนำไปซื้อบ้าน ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมทุนกับบริษัทของอเมริกาแห่งหนึ่ง ดำเนินการก่อสร้าง “หมู่บ้านมิตรภาพ” ซึ่งประกอบด้วยบ้านเดี่ยวกว่า 800 หลัง ให้ประชาชนเช่าซื้อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระคืนเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งหมู่บ้านมิตรภาพประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และถือเป็นการบุกเบิกบริการสร้างหมู่บ้านจัดสรรผ่อนส่งระยะยาวขึ้น และกลายเป็นที่แพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในปี 2514 บริษัทฯ ได้เริ่มบริการใหม่ที่ถือว่าทันสมัยที่สุดของเมืองไทยในสมัยนั้น ด้วยการพัฒนาจากธุรกิจก่อสร้างมาเป็นบริการรับสร้างบ้านด้วย “ระบบซีคอน” บนที่ดินของลูกค้า โดยใช้ระบบ “สร้างให้ก่อน ผ่อนทีหลัง” เนื่องจากในสมัยนั้นมีการจัดสรรที่ดินกันมาก โดยบริษัทฯ จะจัดแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินให้แก่ลูกค้าได้ผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยต่ำ อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ทั้งการขออนุญาตปลูกสร้าง การขอเลขที่บ้าน การขอประปาและไฟฟ้า ส่งผลให้ธุรกิจรับสร้างบ้านของบริษัทฯ ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก

และจากการนำ “ระบบซีคอน” ซึ่งเป็นระบบก่อสร้างแบบกึ่งสำเร็จรูปมาใช้ในการก่อสร้างจนประสบความสำเร็จ และทำให้ระบบดังกล่าวเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2518 บริษัทฯ จึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัท จากบริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัด (Southeast Asia Construction Co., Ltd.) มาเป็น “บริษัท ซีคอน จำกัด” (Seacon Co., Ltd.) ซึ่งคำว่า “ซีคอน” เป็นชื่อย่อที่ใช้เรียกชื่อเดิมของบริษัทนั่นเอง

ปี 2564 ซีคอนถือโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี เปิดตัวบริษัทใหม่ในชื่อ “บริษัท ซีคอน ไอดี จำกัด” (SEACON ID) ให้บริการออกแบบและสร้างบ้านแบบฟรีสไตล์ สำหรับลูกค้าที่ต้องการบ้านตามแบบของตัวเอง ทั้งออกแบบเพียงอย่างเดียว สร้างบ้านจากแบบที่ลูกค้ามีอยู่ หรือบริการแบบครบวงจร ทั้งออกแบบและก่อสร้างในทุกเซกเมนต์ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยวหรือบ้านโครงการ

ปัจจุบันกลุ่มซีคอนประกอบด้วย 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจรับสร้างบ้านซึ่งถือเป็นธุรกิจหลัก ประกอบด้วย 4 บริษัทในเครือ ได้แก่ 1. บริษัท ซีคอน จำกัด 2. บิวท์ ทู บิวด์ 3. บริษัท บีคอมพลีท คอนสตรัคชั่น จำกัด และ 4. เอส ซี แกรนด์

ธุรกิจรับสร้างบ้านแบบ Individual Design โดยมีบริษัท ซีคอน ไอดี จำกัด เป็นผู้ดูแล

ธุรกิจรับก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่รับก่อสร้างโครงการต่างๆ ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ เพราะหลังจากสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มแรงงานใหญ่ๆ ของไทย ทั้ง เมียนมา กัมพูชา และลาว เดินทางกลับประเทศและไม่กลับมา ทำให้ภาคธุรกิจต่างๆ ขาดแรงงาน รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ซีคอนเองมีทีมก่อสร้างที่แข็งแกร่งสามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้ จึงกลายเป็นที่มาของธุรกิจรับก่อสร้างภายใต้บริษัท ซีคอนคอนสตรัคชั่น ซีสเท็ม จำกัด ตามมา

ธุรกิจผลิตและขายโครงสร้างสำเร็จรูป ซึ่งมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูป (SEACON Precast Factory) 2 แห่ง โรงงานแรกที่อ่อนนุชบนเนื้อที่ 12 ไร่ กำลังการผลิตอยู่ที่ 60,000-70,000 ชิ้นต่อปี หรือราวๆ 300-350 หลังต่อปี และโรงงานแห่งใหม่บริเวณลำลูกกาคลอง 12 เนื้อที่กว่า 26 ไร่ ที่เพิ่งแล้วเสร็จไปเมื่อเร็วๆ นี้ สามารถผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูปได้ถึง 120,000 ชิ้นต่อปี หรือราวๆ 700 หลังต่อปี

ที่ผ่านมาซีคอนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 สร้างยอดขายได้ 1,500 ล้านบาท ปี 2566 กวาดไปได้ถึง 2,000 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2567 ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 2,200 ล้านบาท เติบโตขึ้น 10-15% ที่น่าสนใจคือ แค่เปิดไตรมาสแรกของปี 2567 ซีคอนก็สามารถกวาดยอดขายไปได้แล้วถึง 570 ล้านบาท เติบโตขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นั่นหมายความว่ายอดขายทั้งปีตามที่ตั้งเป้าไว้คงไม่ไกลเกินเอื้อม

โดยการเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากการเซ็นสัญญารับโปรเจกต์ก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 2 ราย ได้แก่ โครงการ “SHAWN วงแหวน-จตุโชติ” บ้านระดับไฮเอนด์ราคา 20-30 ล้านบาท ของ บมจ. สิงห์ เอสเตท และ “เนอวานา คอลเล็กชัน กรุงเทพกรีฑา” บ้านระดับอัลตราลักชัวรีราคา 70-150 ล้านบาท ของ บมจ. เนอวานา ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ซีคอนเติบโตได้ดีในไตรมาสแรก และถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ได้อย่างน่าจับตา

แต่ซีคอนยังไม่หยุดนิ่งแค่นี้ ล่าสุดนำกลยุทธ์การตลาดอย่าง Music Marketing นำ “เสียงเพลงและดนตรี” มาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อตอกย้ำ brand loyalty และสร้าง brand awareness แก่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ด้วยการทำงานร่วมกับ “บอย โกสิยพงษ์” นักแต่งเพลง นักร้อง และโปรดิวเซอร์ชื่อดังของไทย นำบทเพลง LIVE and LEARN มา rearrange ใหม่ โดยมี ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว และ กลม เดอะวอยซ์-อรวี พินิจสารภิรมย์  มาส่งผ่านอารมณ์เพลง LIVE and LEARN ในแนวดนตรีดรัมแอนด์เบส (Drum and Bass) เวอร์ชันพิเศษ เพื่อถ่ายทอดเส้นทางและเรื่องราวตลอด 63 ปีของซีคอน

อีกทั้งยังเป็นการสื่อถึงการส่งไม้ต่อทางธุรกิจจาก “กอบชัย ซอโสตถิกุล” สู่ผู้บริหารรุ่นที่ 3 อย่าง “ไปรเทพ ซอโสตถิกุล” ประธานกรรมการบริหาร บุตรชายที่เข้ามาดูแลซีคอนกว่า 10 ปีแล้ว และ “มนู ตระกูลวัฒนะกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด ผู้บริหารมืออาชีพที่ร่วมงานกับซีคอนมาถึง 6 ปีแล้วเช่นกัน

โดยมิวสิกวิดีโอ LIVE AND LEARN | Ver. ส่งต่อด้วยใจ ได้ผู้กำกับมือฉมังอย่าง “จักรกฤษณ์ หวังพัฒนศิริกุล” มาเป็นผู้กำกับ โดยถ่ายทอดเรื่องราวของการส่งต่อระหว่างคน 2 เจเนอเรชัน ในหลากหลายสาขาอาชีพ และปิดท้ายแบบเซอร์ไพรส์คนดูด้วยภาพของคุณกอบชัยและคุณไปรเทพพร้อมสัญลักษณ์แห่งการส่งไม้ต่อทางธุรกิจ ซึ่งภาพยนตร์โฆษณาชุดนี้แบ่งออกเป็นเวอร์ชันเต็ม 4 นาที และแบบสั้น 60, 30, 15 วินาทีตามลำดับ

“เราเชื่อว่าซีคอนเป็นบริษัทที่เก่าแก่ที่สุดในธุรกิจรับสร้างบ้านเรียกได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิก แต่การเดินทางตลอด 63 ปี มันถึงเวลาของการส่งไม้ต่อ เราคิดแค่ 2 คำนี้ คือ ‘ส่งต่อ’ เป็นโจทย์ตั้งต้นในการทำมิวสิกมาร์เก็ตติ้ง จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่มี เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมสิ่งที่สั่งสมมานั้นก็ต้องสืบทอดไปสู่คนรุ่นถัดไป แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปคือ ปณิธานและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในแบบ customer centric ที่เรายึดถือมาโดยตลอด และเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืนจากปัจจุบันสู่อนาคต” มนู ตระกูลวัฒนะกิจ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ กล่าวทิ้งท้ายถึงมิวสิกมาร์เก็ตติ้งในครั้งนี้

ซึ่งน่าสนใจว่า นับจากนี้บริษัทรับสร้างบ้านที่เก่าแก่ที่สุดของไทยจะมีความเคลื่อนไหวอะไรออกมาให้ตลาดได้เห็นกันอีก.