วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > 1 ปี ดันดิจิทัลวอลเล็ต 50 ล้านคน 5 แสนล้าน

1 ปี ดันดิจิทัลวอลเล็ต 50 ล้านคน 5 แสนล้าน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ไม่ใช่แค่ความตื่นเต้นเมื่อพรรคเพื่อไทยเปิดเวที  ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ตอน ONE TEAM FOR ALL THAIS : หนึ่งทีม เพื่อไทยทุกคน’ เผยโฉม 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายเศรษฐา ทวีสิน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และ นายชัยเกษม นิติสิริ

แต่ไฮไลต์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนในสมรภูมิเลือกตั้งปี 2566 คือ การประกาศนโยบายเร้าใจชาวบ้าน แผนเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทยใช้ซื้อของในชีวิตประจำวันจากร้านค้าในชุมชน เพื่อหมุนเวียนเม็ดเงินตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปจนถึงระดับประเทศ ขณะที่รัฐบาลจะได้รายได้กลับคืนมาในรูปแบบของภาษี

เวลานั้นพรรคเพื่อไทยตั้งเป้าหมายให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital  Wallet) ซึ่งมีอายุการใช้งาน 6 เดือน เพื่อจับจ่ายใช้สอยสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิต ยกเว้นสินค้าอบายมุขและไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ แต่ใช้จ่ายได้เฉพาะกับร้านค้าชุมชนและบริการในรัศมี 4 กิโลเมตร โดยร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทได้กับธนาคารในภายหลัง

สำหรับกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือสิทธิ์การใช้เงิน ไม่ใช่คริปโทเคอเรนซี ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงินที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล โดยระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สามารถรู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม

11 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งที่สุดคว้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ยืนยันเศรษฐกิจไทยเปรียบเหมือนคนป่วย ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากผลกระทบของโควิด-19 มีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90% ของจีดีพี ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงกว่า 61% และมีแนวโน้มสูงจนเป็นข้อจำกัดทางการคลังและการบริหารประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจเฉลี่ยย้อนหลังต่ำกว่าศักยภาพ มีความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น จำนวนผู้มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 14 ล้านคน จำเป็นต้องฉีดยาแรงด้วยนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อกระตุกเศรษฐกิจตื่นอีกครั้ง

แน่นอนว่า ปมถกเถียงข้อใหญ่ คือ แหล่งรายได้และที่มางบประมาณตามโครงการที่สูงถึง 5.6 แสนล้านบาท แม้รัฐบาลยืนยันจะไม่แตะทรัพย์สมบัติของชาติ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนวายุภักษ์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ หรือกองทุนประกันสังคม จะไม่กระทบหนี้สาธารณะประเทศและไม่กู้เงินเพิ่ม รวมถึงเกิดความสับสนในแง่กฎหมายเรื่องการใช้เงินบาทดิจิทัลและระบบบล็อกเชน

13 กันยายน คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐา ประชุมนัดแรก มอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช. คลัง รับผิดชอบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและเป็นตัวแทนประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

3 ตุลาคม ที่ประชุม ครม. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต

5 ตุลาคม นายเศรษฐาเป็นประธานการประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตนัดแรก กำหนดกรอบการดำเนินงาน เช่น ขอบเขตโครงการ แหล่งเงิน ระยะเวลาและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือบอร์ดดิจิทัลชุดเล็กมีนายจุลพันธ์เป็นประธาน เพื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ เสนอบอร์ดชุดใหญ่

25 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมบอร์ดดิจิทัลชุดเล็กเสนอแนวทางปรับกลุ่มเป้าหมาย 3 แนวทาง คือ

1. ตัดสิทธิ์กลุ่มบุคคลที่มีรายได้มากกว่า 25,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากบัญชีมากกว่า 100,000 บาท จะเหลือบุคคลที่เข้าร่วมโครงการ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท

2. ตัดสิทธิ์กลุ่มบุคคลที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากบัญชีมากกว่า 500,000 บาท จะเหลือบุคคลเข้าร่วมโครงการ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 490,000 ล้านบาท

3. ให้สิทธิ์เฉพาะกลุ่มบุคคลที่ได้รับสิทธิ์สวัสดิการแห่งรัฐ 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 160,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีข้อสรุปเรื่องแหล่งที่มาของงบประมาณ และเลื่อนการเริ่มต้นโครงการเป็นเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2567

10 พฤศจิกายน  นายเศรษฐาในฐานะประธานบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่แถลงปรับหลักเกณฑ์ โดยให้สิทธิ์ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปที่มีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากน้อยกว่า 500,000 บาท รวมประมาณ 50 ล้านคน ตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใช้ซื้อของอุปโภคบริโภคเท่านั้น ปรับรัศมีการใช้จ่ายเป็นระดับอำเภอ

ส่วนงบประมาณแบ่ง 2 ส่วน รวม 6 แสนล้านบาท โดย 5 แสนล้านบาท มาจากการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน ซึ่งต้องผ่านการตีความทางกฎหมายโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา นำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา อีก 1 แสนล้านบาท ดึงงบประมาณแผ่นดินมาสมทบเข้ากองทุนเสริมสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (New S Curve) คาดจะเริ่มเดือนพฤษภาคม 2567

อย่างไรก็ตาม เกิดการถกเถียงประเด็นต่างๆ ต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อท้วงติงจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. และมักมีเหตุผล “ติดภารกิจ” ไม่เข้าร่วมประชุมบอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ จนนายกรัฐมนตรีเอ่ยถามถึงสองครั้ง

ในที่สุด วันที่ 10 เมษายน 2567  นายกรัฐมนตรีประกาศเคาะโครงการ โดยจะเปิดให้ยืนยันตัวตนในไตรมาส 3 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชน 50 ล้านคนในไตรมาส 4 นี้อย่างแน่นอน รวมงบประมาณ 5 แสนล้านบาท.