ทั้งปัญหาสารเคมีปนเปื้อนบวกกับกรุงเทพมหานครมีขนาดพื้นที่สีเขียว สวนสาธารณะ เฉลี่ยเพียง 7.7 ตารางเมตรต่อคน ต่ำกว่าคำแนะนำขององค์อนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตรต่อคน กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ Plantable Bangkok ปลุกระดมสร้าง “นักปลูกผัก” ทั่วเมือง
ทั้งนี้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) เจ้าของโปรเจกต์ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ระบุว่า แนวทางการพัฒนาเมืองในอดีต เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองใหญ่ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่สีเขียวสาธารณะ ตลอดจนการรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรมทำให้เมืองสูญเสียความสามารถในการผลิตอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะทั้งทางกายและจิตใจของคนเมือง
สิ่งที่เห็นชัดเจน คือ ช่วงเกิดสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด คนกรุงเทพฯ เจอปัญหาขาดแคลนอาหาร ทั้งที่การปลูกผักสวนครัวในรั้วบ้านเป็นเรื่องที่ทำได้เองไม่ยากนัก
เวลาเดียวกัน แม้มีผู้ประกอบการร้านอาหารมากมาย แต่ใช่ว่าทุกคนสามารถจับจ่ายได้ทุกวันและส่วนใหญ่มีราคาสูงมากกว่าผักผลไม้ตามตลาดสดทั่วไป
ที่สำคัญ การเลือกซื้อผักปลอดสาร 100% ยังเป็นเรื่องยากในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ร้านอาหารกลุ่มเกษตรอินทรีย์หลายแบรนด์สามารถเจาะตลาดกลุ่มคนกำลังซื้อสูง มีการออกเมนูหลากหลายรูปแบบ และทำยอดขายได้มากมาย อย่าง OHKAJHU (โอ้กะจู๋) Salad Factory (สลัด แฟคตอรี่) Jones’ Salad (โจนส์ สลัด)
ก่อนหน้านี้เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เคยสุ่มตรวจผักผลไม้ทั้งหมด 509 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ ประกอบด้วยผลไม้ 9 ชนิด ได้แก่ ส้มโอ ส้มแมนดารินนำเข้า ลองกอง น้อยหน่า แก้วมังกร ฝรั่ง ส้มสายน้ำผึ้ง พุทราจีน และองุ่นแดงนอก กับผัก 18 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพดหวาน มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบเขียว แคร์รอต ถั่วฝักยาว บรอกโคลี หัวไชเท้า ผักบุ้ง มะระ กะเพรา กวางตุ้ง ผักชี มะเขือเทศผลเล็ก คะน้า ขึ้นฉ่าย พริกแดง และพริกขี้หนู พร้อมของแห้งอีก 2 ชนิด ได้แก่ พริกแห้งและเห็ดหอม โดยส่งตัวอย่างทั้งหมดไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการในประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งสามารถตรวจวัดผลได้ครอบคลุมสารเคมีกำจัดแมลงและเชื้อรากว่า 500 ชนิด พบว่า มีผักและผลไม้มากถึง 58.7% ที่พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน
ผักที่พบการตกค้างเกินมาตรฐานมากที่สุด คือ มะเขือเทศผลเล็ก พริกขี้หนู พริกแดง ขึ้นฉ่าย คะน้า
ผลไม้ที่พบสารพิษตกค้างมากที่สุด ได้แก่ องุ่นแดงนอก พุทราจีน ส้มสายน้ำผึ้ง ฝรั่ง แก้วมังกร น้อยหน่า
อีกด้านหนึ่ง มูลนิธิชีววิถี หรือ BIOTHAI ได้หยิบยกการศึกษาของ National Gardening Association และองค์กรต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งให้ภาพที่น่าสนใจมากว่า วิกฤตโควิดซึ่งต่อเนื่องเชื่อมโยงมายังวิกฤตอาหารครั้งสำคัญของโลกทำให้ครอบครัวอเมริกันมากถึง 35% หันมาปลูกผักผลไม้เพื่อกินเอง จนเกิดนักปลูกผักและผลไม้หน้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 18.3 ล้านคน โดยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล( Millennials) หรือ Gen Y (เกิดตั้งแต่ปี ค.ศ.1980-2003) สัดส่วนประมาณ 29% ของกลุ่มประชากรชาวสวน และ 42% ของประชาชนใช้เวลาปลูกผักทำสวนมากขึ้นในช่วงโควิดระบาด นอกจากนั้น 55% ของครัวเรือนอเมริกันมีส่วนร่วมในกิจกรรมทำสวน โดยหลายฝ่ายมองว่า ในโลกสมัยใหม่นั้นการปลูกผักผลไม้และทำเกษตรของครอบครัวรุ่นใหม่กำลังเป็นเทรนด์ของโลก
แน่นอนว่า UddC-CEUS ต้องการปลุกปั้นโครงการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะด้วยแนวคิดเกษตรในเมือง เพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะ พื้นที่ส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของกรุงเทพมหานครแบบยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ภารกิจตามหานักปลูกไม่ใช่กลยุทธ์เดียว เพราะหากเจาะลึกภาพรวมแล้ว UddC-CEUS วางแผนผลักดันในภาพใหญ่ผ่าน 3 โครงการหลัก ประกอบด้วยโครงการแผนพัฒนาย่านน่าอยู่พระโขนง-บางนา โครงการวิจัยนวัตกรรมนโยบายและยุทธศาสตร์เมือง เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว 15 นาที ในกรุงเทพฯ และโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเกษตรในเมือง โดยมีอีก 2 โปรเจกต์ย่อย คือ โครงการสวนผัก 15 นาที เพื่อฟื้นฟูย่าน และโครงการร่วมด้วยช่วยปลูก Plantable Bangkok ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2565- ธ.ค. 2567
สำหรับโครงการสวนผัก 15 นาที เพื่อการฟื้นฟูย่าน มีการกำหนดพื้นที่ต้นแบบเกษตรและทดลองปฏิบัติจริง 5 พื้นที่นำร่องในย่านพระโขนง-บางนา เริ่มจาก 1. พื้นที่สวนเกษตร สำนักงานเขตบางนา ขนาด 3 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมการเกษตรของสำนักงานเขตบางนา โดยฝ่ายรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม และเป็นศูนย์การเรียนรู้การเกษตรของโรงเรียนในย่านบางนา รวมถึงมีพื้นที่ตลาดที่รวบรวมสินค้าและผลผลิตจากเกษตรกรตามนโยบาย Farmer Market 50 เขต
2. พื้นที่โรงเรียนพูนสินเพชรสุขอุปถัมภ์ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขนาด 375 ตารางเมตร เดิมเป็นพื้นที่รกร้างรอการพัฒนาติดบริเวณใต้ทางด่วน โดยโรงเรียนวางแผนพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรยั่งยืน และได้ทำสัญญาขอใช้พื้นที่กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
3. พื้นที่เอกชนในซอยวชิรธรรมสาธิต 35 เพื่อสาธารณประโยชน์ภายใต้นโยบาย Green Bangkok 2030 โดยเจ้าของที่ดินจะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการพัฒนาในความดูแลของสำนักงานเขตพระโขนง และเคยมีการออกแบบโดยบริษัท สำนักงานออกแบบระฟ้า จำกัด ภายใต้แนวคิดพื้นที่สีเขียวสาธารณะเพื่อการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ ผสานเข้ากับแนวคิดเกษตรในเมือง
ส่วนอีก 2 พื้นที่นำร่องเป็นที่ดินเอกชนของกลุ่มบริษัทภิรัชบุรี ในศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งภิรัชบุรีเสนอให้ศึกษาเป็นพื้นที่ร่วมใช้ประโยชน์กับสังคม แบ่งพื้นที่แรกอยู่บริเวณหน้า Beat Active ศูนย์ฯ ไบเทค รวม 50 ไร่ หรือ 81,000 ตารางเมตร เดิมเป็นลานจอดรถรอการพัฒนา และพื้นที่ดาดฟ้า ขนาด 1.5 ไร่ หรือ 3,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ว่าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ
ด้านโครงการร่วมด้วยช่วยปลูกลุยภารกิจค้นหา “นักปลูกผัก” เริ่มดีเดย์แล้วตั้งแต่เดือนมีนาคมยาวไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยคาดหวังให้ผู้คนเหล่านี้ก้าวขึ้นเป็นอาสาสมัครเกษตรในเมืองเข้าร่วมประกวดสวนผักเพื่อผลักดันแนวคิดเกษตรในเมืองให้ขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
ในการประกวดหา “นักปลูกผัก” ยอดเยี่ยมที่สุดนั้น โครงการเริ่มเปิดรับสมัครแล้วจนถึงวันที่ 16 เมษายน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทบุคคล/ครัวเรือน เป็นสมาชิกครอบครัวอยู่ในหลังคาเรือนเดียวกัน มีพื้นที่ปลูกผักสวนครัว เช่น สวนหลังบ้าน ระเบียงคอนโด หรือดาดฟ้า ประเภทที่ทำงาน รวมกลุ่มกันอย่างน้อย 5 คน มีพื้นที่ปลูกในออฟฟิศ และประเภทชุมชน รวมกลุ่มกันอย่างน้อย 5 คนเช่นกัน มีพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่ปลูกในชุมชน โดยผู้สมัครต้องไม่ใช่ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร
หลังการสมัครและตรวจสอบคุณสมบัติจนผ่านรอบแรกแล้ว ผู้เข้าร่วมประกวดจะผ่านการเวิร์กช็อปก่อนลงมือปลูก อบรมการเตรียมปัจจัยการผลิต ตั้งแต่การวิเคราะห์พื้นที่ ดิน น้ำหมัก พันธุ์พืช วัสดุเพาะกล้า โดยห้ามนักปลูกผักใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีในการปลูก
หลังจากนั้นมีเวิร์กช็อป Farm Tour ลงพื้นที่สำรวจแปลงเกษตรในเมือง เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปใช้กับแปลงเกษตรของตัวเอง ตามด้วยเวิร์กช็อปการแปรรูปและปรุงอาหารจากวัตถุดิบในสวน ก่อนสรุปและประกาศผลการประกวดในช่วงเดือนพฤศจิกายน
หลายฝ่ายเชื่อมั่นว่า ตลอดระยะเวลากว่า 8 เดือน การปลุกปั้นนักปลูกผัก ไม่ใช่แค่หวังเงินรางวัลรวม 90,000 บาท แต่สิ่งสำคัญมากกว่า คือ ความรู้และประสบการณ์ ซึ่งจะส่งผลลัพธ์ต่อแผนการสร้างแนวร่วมอาสาสมัครเกษตรในเมืองที่แข็งแกร่งขึ้น.