วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > เคานต์ดาวน์ One Bangkok ปิดจ็อบปลุกทำเลทองพระราม 4

เคานต์ดาวน์ One Bangkok ปิดจ็อบปลุกทำเลทองพระราม 4

วัน แบงค็อก (One Bangkok) ซูเปอร์บิ๊กโปรเจกต์ในเครือทีซีซีของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี พื้นที่รวม 108 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนวิทยุตัดถนนพระราม 4 มูลค่าลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท จะประเดิมเปิดตัวเฟสแรกในไตรมาส 4 ปีนี้ และตั้งเป้าเผยโฉมเต็มรูปแบบไม่เกินปี 2570

แน่นอนว่า วัน แบงค็อก ซึ่งพัฒนาภายใต้บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายและสำคัญที่สุดตามยุทธศาสตร์ยึดและเชื่อมโยงย่านธุรกิจหลักตลอดเส้นถนนพระราม 4

แผนเริ่มตั้งแต่ปี 2559 เปิดให้บริการโครงการเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ บริเวณหัวมุมแยกรัชดา-พระราม 4 พัฒนาโดยบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ คอนเซ็ปต์  For Your Inspiration Workplace ประกอบด้วยอาคารออฟฟิศและโรงแรม มูลค่าการลงทุน 5,000 ล้านบาท

ปี 2562 เปิด “สามย่าน มิตรทาวน์” บริเวณสี่แยกสามย่าน พัฒนาโดยบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือโกลเด้นแลนด์ เป็นโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม โรงแรม และพื้นที่ค้าปลีก มูลค่าลงทุน 9,000 ล้านบาท

ปีถัดมาเผยโฉม เดอะ ปาร์ค (The PARQ) บริเวณสี่แยกถนนพระราม 4 ตัดกับถนนรัชดาภิเษก พัฒนาโดยบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) โครงการมิกซ์ยูส คอนเซ็ปต์ Life Well Balanced มูลค่าโครงการ 8,000 ล้านบาท

ปี 2566 พลิกโฉมที่ดินเก่าห้างโรบินสัน เปิดโครงการ “สีลม เอจ” บริเวณหัวมุมถนนสีลม พัฒนาโดยบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) คอนเซ็ปต์ “The new sandbox community in CBD” ผสมผสานอาคารสำนักงานและธุรกิจรีเทล มูลค่าลงทุน 1,800 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน อัปเกรดศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ครั้งใหญ่ โดยปิดตัวอาคารเมื่อปี 2562 เพื่อก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 3 ปี และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 โดยตั้งเป้าหมายเป็น “ที่สุดของพื้นที่จัดกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน” (The Ultimate Inspiring World Class Event Platform for All) มีการจัดสรรพื้นที่ครอบคลุมธุรกิจไมซ์มากยิ่งขึ้น พัฒนาพื้นที่ค้าปลีกเต็มรูปแบบสำหรับกลุ่มผู้รักสุขภาพ รองรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการสวนเบญจกิติและสวนป่าที่อยู่ติดกัน

นายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กล่าวว่า โครงการ วัน แบงค็อก จะเป็นจิ๊กซอว์เติมเต็มย่านพระราม 4 ให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สมบูรณ์แบบ และผลักดันให้กรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าระดับนานาชาติ ดึงดูดนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก ภายใต้แนวคิด “The Heart of Bangkok” และก้าวสู่การเป็น “The New Influential Global City”

จุดแข็งสำคัญ คือ การเป็นจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ตั้งอยู่บนถนนวิทยุบรรจบกับถนนพระราม 4 เป็นทำเลที่ดีที่สุดผืนสุดท้ายใจกลางกรุงเทพฯ สามารถเชื่อมต่อกับย่านธุรกิจอื่น ๆ ทั้งสาทร สีลม สามย่าน ด้วยระบบขนส่งสาธารณะแบบครบวงจร มีทางเข้าออกรอบโครงการถึง 6 จุด มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดโล่งกว่า 50 ไร่ เชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ รวมเป็นพื้นที่กว่า 700 ไร่  เหมือนปอดผืนใหญ่ใจกลางกรุง

ทั้งนี้ วัน แบงค็อก ประกอบด้วยอาคารสำนักงานแบบพรีเมียม จำนวน 5 อาคาร โรงแรมระดับลักชัวรีและไลฟ์สไตล์ 5 แห่ง อาคารที่พักอาศัยระดับลักชัวรีอีก 3 อาคาร

สำหรับเฟสแรกที่จะเปิดให้บริการช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ได้แก่ อาคารสำนักงาน 2 อาคาร โรงแรม 2 แห่ง ได้แก่ The Ritz-Carlton Bangkok และ Andaz One Bangkok อาคารลักชัวรี เรสซิเดนซ์ และพื้นที่รีเทล 2 โซน คือ The Parade และ The STOREYS นอกจากนั้น มี One Bangkok Park สวนสีเขียวขนาดใหญ่ใจกลางเมือง และ Live Entertainment Arena พื้นที่จัดการประชุม นิทรรศการ งานแสดงคอนเสิร์ต ไลฟ์โชว์ งานนิทรรศการ

เฉพาะพื้นที่ One Bangkok Retail ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่จะดึงดูดผู้คนมากมาย ถือเป็นจุดหมายปลายทางของการชอปปิ้งและไลฟ์สไตล์ ภายใต้แนวคิด The Rhythmic Experience มีพื้นที่เช่ารวม 160,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 3 โซน

ได้แก่ 1. Parade คอนเซ็ปต์ A World of Choice Without Limits พื้นที่เช่า 85,000 ตร.ม. จำนวน 9 ชั้น รวมทุกไลฟ์สไตล์ Shop-Play-Work-Eat มีร้านค้าแบรนด์ดัง ร้านอาหาร คาเฟ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตและดิวตี้ฟรี คิงเพาเวอร์ พื้นที่ 5,000 ตร.ม. เป็นคอนเซ็ปต์ขายสินค้าปลอดภาษีครั้งแรกในศูนย์การค้า

2. โซน THE STOREYS คอนเซ็ปต์ Tell Your Own Story at THE STOREYS แพลตฟอร์มแห่งความคิดสร้างสรรค์ เทรนด์โลกใหม่ ๆ บนพื้นที่เช่ารวม 5 ชั้น 35,000 ตร.ม. ได้แก่ ร้านค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ คอนเซ็ปต์สโตร์ ร้านอาหาร บาร์แอนด์บิสโทร และแหล่งแฮงก์เอาต์ยามค่ำคืน

3. POST 1928 คอนเซ็ปต์ Go Beyond Luxury มีพื้นที่เช่า 5 ชั้น 40,000 ตร.ม. รูปแบบ Shopping Street สายแรกของกรุงเทพฯ ที่รวบรวมร้านค้าแฟล็กชิปสโตร์ แบรนด์ดังระดับโลก ตลอดสองฝั่งถนน ได้แก่ ซูเปอร์แบรนด์แฟชั่น วอช แอนด์ จิวเวลรี่ สตรีทแวร์

ขณะเดียวกัน มีพื้นที่ Made in One Bangkok ที่มีเฉพาะวัน แบงค็อก เช่น SARAPAD THAI พื้นที่นำเสนอศิลปะและวัฒนธรรมความเป็นไทย, Bangkok Wonder at One Bangkok โซนแฮงก์เอาต์หลังเลิกงาน, Retail Loop แบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์กว่า 900 ร้านค้า และเอนเตอร์เทนเมนต์

พื้นที่ Food Loop รวบรวมร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งระดับตำนานภัตตาคารชั้นนำ Rooftop Bars ร้านแฮงก์เอาต์และสตรีทฟูด 250 ร้านดัง จากทั่วโลกและในประเทศ ความยาวกว่า 1.5 กิโลเมตร ในคอนเซ็ปต์ All Day, Everyday Dining Journey อร่อยได้ทั้งวัน ให้บริการตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึงตี 2

ปัจจุบัน พื้นที่รีเทลมีผู้เช่าแล้ว 75% โดยโซน Parade และ THE STOREYS พร้อมเปิดแกรนด์โอเพ่นนิ่งในเดือนตุลาคมนี้ ส่วน POST 1928 จะเปิดเฟสถัดไปในปี 2568 ตั้งเป้าจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการรวมไม่ต่ำกว่า 90 ล้านคนต่อปี.

ย้อนเส้นทางช่วงชิงทำเลทอง

หากย้อนความเป็นมาของจุดยุทธศาสตร์ “วัน แบงค็อก” เดิมเป็นพื้นที่สถานีวิทยุศาลาแดง โรงเรียนเตรียมทหาร สนามมวยเวทีลุมพินี และสวนลุมไนท์บาซาร์ โดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นำมาประมูลครั้งแรกเมื่อปี 2547 โดยเปิดให้บริษัทเอกชนเสนอแผนการพัฒนาโครงการและมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 8 ราย มี 3 ตัวเต็ง คือ กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา แสนสิริ และทีซีซี กรุ๊ป

ปรากฏว่า เซ็นทรัลพัฒนาชนะการประมูล แต่บริษัทไม่สามารถเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้ทันที เนื่องจากติดปัญหาการย้ายออกจากพื้นที่ของ บริษัท พี.คอน. ดีเวลลอปเม้นท์ (ไทย) ผู้พัฒนาโครงการสวนลุมไนท์บาซาร์ จนมีการฟ้องร้องและศาลมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ แต่ระยะเวลาล่วงเลยกว่า 8 ปี กลุ่มเซ็นทรัลยังคงไม่สามารถเข้าพัฒนาพื้นที่ได้ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงยกเลิกสัญญาและเปิดประมูลใหม่

การประมูลครั้งที่สอง สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด จัดประมูลในปี 2556 มีผู้เข้ารอบ 18 ทีม กำหนดขอบเขตของโครงการเป็น 6 โซน รูปแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย โรงแรม ศูนย์การค้า สำนักงาน ศูนย์การศึกษา และศูนย์วัฒนธรรม ปรากฏว่า มีผู้ผ่านการพิจารณา 4 บริษัท ได้แก่ ยูนิเวนเจอร์ เซ็นทรัลพัฒนา สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง และกลุ่มไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล

อย่างไรก็ตาม การประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูลล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากติดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 45 เมตร ทำให้เอกชนที่เข้าประมูลไม่สามารถพัฒนาโครงการได้เต็มที่ ทั้งที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง เนื่องจากเป็นที่ดินราคาแพงย่านใจกลางเมือง ซึ่งกรุงเทพมหานครเล็งเห็นข้อจำกัดดังกล่าวจึงมีมติปลดล็อกข้อบัญญัติ  โดยไม่จำกัดความสูง

ครั้งนั้น ตัวเต็งของการประมูลรอบใหม่ คือ กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา ในฐานะอดีตผู้ชนะการประมูล แต่ในที่สุด บริษัทในเครือเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้แก่ บมจ. ยูนิเวนเจอร์ และบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) เป็นผู้ชนะการประมูล โดยจำกัดระยะเวลาเช่าไว้ที่ 30 ปี+30 ปี.