วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > อินโดรามา เวนเจอร์ส จากธุรกิจรีไซเคิล สู่ Sustainable Fashion

อินโดรามา เวนเจอร์ส จากธุรกิจรีไซเคิล สู่ Sustainable Fashion

อุตสาหกรรมแฟชั่นได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อโลกในลำดับต้นๆ เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรเป็นปริมาณมาก และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกกว่า 10% หรือมากกว่าเที่ยวบินระหว่างประเทศและการขนส่งรวมกัน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่รับรู้

ในขณะที่เมกะเทรนด์ทั่วโลกต่างมุ่งสู่ความยั่งยืนและตระหนักถึงความจำเป็นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นทำให้ผู้อยู่ในแวดวงแฟชั่นต่างหันมาให้ความสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ยั่งยืนและลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนั่นรวมไปถึง “อินโดรามา เวนเจอร์ส” ที่แม้จะเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์ แต่ก็กำลังสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่นเช่นกัน โดยขับเคลื่อนผ่านทางโครงการที่ชื่อว่า “RECO” ที่ดำเนินมานานถึง 10 ปีเต็ม

อินโดรามา เวนเจอร์ส (Indorama Ventures) หรือที่หลายคนอาจรู้จักกันในชื่อ IVL เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีชั้นนำ และยังเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PET อันดับ 1 ของโลก โดยเริ่มต้นธุรกิจในปี 2537 จากการเป็นผู้ผลิตเส้นใยขนสัตว์รายแรกของประเทศไทย ก่อนจะก้าวสู่ธุรกิจเคมีภัณฑ์และประสบความสำเร็จในฐานะผู้ผลิต PET และเส้นใยโพลีเอสเตอร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศ

กระทั่งปี 2554 จึงได้เข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิล โดยมีโรงงานแปรรูปขวด PET ที่ใช้แล้วเป็นเกล็ดเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (rPET) และเส้นใยโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล โดยในแต่ละปี อินโดรามา เวนเจอร์ส นำขวดพลาสติก PET ใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกและเส้นใยสังเคราะห์รีไซเคิลในปริมาณมากถึง 3.3 แสนตันต่อปี เพื่อส่งต่อให้ลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และเครื่องแต่งกายต่อไป

ในขณะเดียวกันอินโดรามา เวนเจอร์สเองก็ต้องการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการรีไซเคิล ว่าขวดพลาสติกที่ใช้แล้วไม่ได้เป็นขยะเสมอไป แต่ถ้านำไปรีไซเคิลก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่และยังเพิ่มมูลค่าได้ อีกทั้งยังเป็นการลดปริมาณขยะซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นั่นจึงกลายเป็นที่มาของโครงการประกวดออกแบบแฟชั่นรักษ์โลกในชื่อ “RECO Young Designer Competition” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลของอินโดรามา เวนเจอร์ส

ใช้ “แฟชั่น” สร้างความยั่งยืนให้กับโลก

สำหรับ “RECO Young Designer Competition” คือโครงการแข่งขันออกแบบอัปไซเคิลที่จัดเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภค โดยใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ในการนำเสนอให้ผู้บริโภคเห็นว่าวัสดุโพลีเอสเตอร์ที่ได้จากการรีไซเคิลขวด PET สามารถนำมาทำเป็นเส้นใย เครื่องนุ่งห่ม และเสื้อผ้าแบบ Sustainable Fashion หรือแฟชั่นเพื่อความยั่งยืนได้

ซึ่งอินโดรามา เวนเจอร์ส จะคัดเลือกนักออกแบบที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 30 คนเพื่อเข้าร่วมการ Workshop ด้านการออกแบบเชิงนิเวศ (eco-design workshop) โดยมีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการออกแบบให้คำแนะแนวทางแก่ผู้เข้าร่วม และผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายจะใช้ความรู้ที่ได้รับในโครงการ ผลิตผลงานเพื่อจัดแสดงในงานประกาศผลรอบสุดท้าย

อาราธนา โลเฮีย ชาร์มา รองประธาน บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) และเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในโครงการ “RECO Young Designer Competition” เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า คุณสมบัติของ PET กับโพลีเอสเตอร์ คือตัวเดียวกัน ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้หลากหลาย เช่น เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ แอร์แบ็กในรถยนต์ ยางรถยนต์ ผ้าอ้อมเด็ก ขวดน้ำ เป็นต้น เมื่อนำขวด PET มารีไซเคิล ก็สามารถนำกลับมาใช้งานได้อย่างดีเช่นเดิม

ในขณะที่พลาสติกที่ได้จากการรีไซเคิลขวด PET สามารถนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง ทำไมอินโดรามา เวนเจอร์ส ถึงเลือกที่จะนำวัสดุรีไซเคิลมาผลิตสินค้าแฟชั่น เพื่อสร้างความยั่งยืน ซึ่งอาราธนาไขข้อสงสัยนี้ว่า

“แฟชั่นเป็นเรื่องสนุกและมันใกล้ตัว การที่เราจะทำให้คนหันมาเห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เราต้องทำให้มันเป็นเรื่องสนุกและเข้าถึงได้ง่าย อีกประการหนึ่งคืออุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษให้กับโลกค่อนข้างเยอะ เลยเป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำให้มันเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและลดการปล่อยมลพิษได้อย่างไร”

จาก “RECO Young Designer Competition” สู่ “RECO Collective”

ตลอดหนึ่งทศวรรษที่ “RECO Young Designer Competition” ดำเนินโครงการมา แน่นอนว่าได้สร้างการตระหนักรู้เรื่องการรีไซเคิลให้เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า เสื้อผ้าที่ผ่านการดีไซน์จากโครงการยังคงเป็น High Fashion ที่เหมือนอยู่บนรันเวย์ แต่นำมาใช้ได้ยากในชีวิตประจำวัน และยังไม่อยู่ในเชิงธุรกิจแฟชั่นที่ต่อยอดได้จริงๆ นั่นจึงทำให้อินโดรามา เวนเจอร์ส ตัดสินใจปฏิวัติการรีไซเคิลและการดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการต่อยอดโครงการ “RECO Young Designer Competition” สู่การเป็น “RECO Collective” เพื่อสร้างการตระหนักรู้เรื่องรีไซเคิลและสร้างอีโคซิสเต็มส์ของแบรนด์แฟชั่นที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง

โดย RECO Collective คือการรวมตัวของเหล่าดีไซเนอร์ที่ได้รับเชิญจากอินโดรามา เวนเจอร์ส และพันธมิตรที่คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นหมุนเวียน (Circular Fashion) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทั้งอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรด้านการดีไซน์เข้ามาช่วยให้ความรู้กับดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ ในการพัฒนางานดีไซน์ให้ดีขึ้น เพื่อสร้างแบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกภายใต้คอนเซ็ปต์ “Innovensity Fashion” ซึ่งเป็นแนวคิดในการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาผสานเข้ากับการสร้างแบรนด์แฟชั่นอย่างยั่งยืน แบบที่ไม่ทิ้งหัวใจสำคัญของ RECO ในการรักษาสิ่งแวดล้อม

สำหรับเหล่าดีไซเนอร์ที่เข้าร่วมโครงการจะได้เข้าอบรมแบบใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่จะมาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในช่วงของ Incubation Lab ในแง่มุมต่างๆ ของการสร้างแบรนด์แฟชั่นที่ยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆ ที่จำเป็นในการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ ทั้งการเลือกซื้อวัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง กระบวนการผลิต กลยุทธ์การตลาด ตลอดจนช่องทางการจำหน่าย

และในครั้งนี้อินโดรามา เวนเจอร์ส ได้พันธมิตรเจ้าเดิมอย่างบริษัท ไทย แทฟฟิต้า จำกัด ที่ให้การสนับสนุนเส้นด้ายที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิล แก่บรรดาเหล่าดีไซเนอร์ เพื่อใช้ในการผลิตคอลเลกชั่นพิเศษ และสินค้า Ready-to-Wear โดยจะวางจำหน่ายผ่านเครือข่ายพันธมิตรของ RECO ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงสินค้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลที่มีทั้งดีไซน์และสามารถใส่ได้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ

แต่ถึงกระนั้นการสร้างแบรนด์แฟชั่นยั่งยืนตามที่อินโดรามา เวนเจอร์สคาดหวังก็ยังคงมีความท้าทายตามมา ทั้งเรื่องการหาวัตถุดิบอย่างขวด PET ให้เพียงพอต่อการนำมารีไซเคิล และจุดขายของแฟชั่นรักษ์โลกที่จะดึงดูดให้ผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อมาสวมใส่

ซึ่งอาราธนาเปิดเผยว่า ความยากในการหาวัตถุดิบคือปัญหาระดับโลก (Global Issue) เพราะปัจจุบันมีความต้องการใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิลเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถเก็บกลับขวด PET ได้เพียงพอต่อการนำไปรีไซเคิล ดังนั้น ในปี 2561 ทางอินโดรามา เวนเจอร์สจึงได้เริ่มโครงการ “Recycling Education” เพื่อส่งเสริมความรู้ในการรีไซเคิลขวด PET และการคัดแยกขยะให้กับเด็กนักเรียนและบุคคลทั่วไป ซึ่งตั้งเป้าให้ความรู้คนทั่วไปให้ได้ 1 ล้านคน ในปี 2573 ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 250,000 คน

โดยคาดว่าการให้ความรู้ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มปริมาณของขวด PET ที่ได้รับการเก็บกลับมาทั่วโลกได้ ทั้งนี้ อินโดรามา เวนเจอร์ส ตั้งเป้ารีไซเคิลขวด PET ให้ได้ 50,000 ล้านขวดภายในปี 2568 และ 100,000 ล้านขวดภายในปี 2573

ส่วนจุดขายของเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิลนั้น อาราธนามองว่า สิ่งที่สำคัญและเป็นแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อเครื่องแต่งกายยังเป็นเรื่องของ “ดีไซน์” ซึ่งมาก่อนความยั่งยืน เพราะถ้าสินค้ามีดีไซน์ที่สวยงามถูกใจผู้บริโภคจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องความยั่งยืนคือข้อดีที่เสริมเข้าไป

“ทุกปีเรามีการแข่งขันออกแบบเสื้อผ้าจากเส้นใยรีไซเคิล และได้ลองใส่ชุดที่ได้คัดเลือกจากโครงการ RECO อยู่แล้ว ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกับเนื้อผ้าทั่วไป ตอนนี้เราเริ่มทำเสื้อโปโลและเสื้อเชิ้ตที่ได้จากเส้นใยรีไซเคิล PET แจกให้พนักงานของอินโดรามาทุกคน เนื้อผ้าไม่แตกต่าง สบาย ไม่ต้องรีด ซับเหงื่อได้ดี แต่จุดสำคัญอยู่ที่การดีไซน์เพราะเป็นด่านหน้าที่ดึงดูดผู้บริโภคได้ดี ส่วนความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมคือโบนัสที่เราจะได้ตามมา”

ปัจจุบันแบรนด์แฟชั่นยักษ์ใหญ่ของโลกเริ่มประกาศจุดยืนด้าน Sustainable Fashion ทั้งการลดของเสียจากกระบวนการผลิต และนำวัสดุเหลือใช้มาดีไซน์ให้เกิดสินค้าใหม่ เช่น แบรนด์สุดหรูอย่าง Prada ที่ใช้ผ้าไนลอนที่ผลิตจากขยะรีไซเคิลมาผลิตเป็นกระเป๋าในโปรเจกต์ “Re-Nylon” หรือแบรนด์จากอังกฤษอย่าง STELLA MCCARTNEY ที่ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมาไม่มีการใช้ขนสัตว์หรือหนังสัตว์ทุกชนิดในการผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย แต่เปลี่ยนมาใช้หนังเทียมแทน รวมถึงมีการรีไซเคิลพลาสติกและเส้นใยผ้าเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกด้วย

รวมไปถึงแบรนด์แฟชั่นอย่าง PATAGONIA ที่ยังคงคอนเซ็ปต์รักษ์โลกมาอย่างยาวนาน โดยใช้เส้นใยโพลีเอสเตอร์จากการรีไซเคิลมาใช้ผลิตสินค้า เช่น เสื้อคุลม กางเกงขาสั้น และเสื้อผ้าที่สวมด้านในเพื่อให้ความอบอุ่น

สำหรับ RECO Collective เปิดตัวไปเมื่อพฤศจิกายน 2566 และจะเข้าสู่รอบสุดท้ายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ถ้าโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จตามที่อินโดรามา เวนเจอร์สตั้งใจไว้ จากแฟชั่นรักษ์โลกที่เคยอยู่บนรันเวย์ อาจกลายมาเป็นเสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิลที่เราสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน และมากกว่านั้นในอนาคตเราคงได้เห็นแบรนด์แฟชั่นรักษ์โลกของเหล่าดีไซเนอร์ไทยออกมาเฉิดฉายในวงการแฟชั่นมากขึ้นด้วยเช่นกัน.