ณ เวลานี้ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คงต้องนับถอยหลังการอำลาตำแหน่ง ซึ่งจะครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 พร้อมๆ กับการบ้านชิ้นใหญ่ให้บิ๊กซีอีโอคนใหม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสรรหาจากรายชื่อผู้สมัครทั้ง 5 ราย โดยมีนัดหมายสัมภาษณ์วิสัยทัศน์ในวันที่ 17 มกราคมนี้
ทั้ง 5 คน ประกอบด้วย นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
มีข่าวหลายกระแสคาดการณ์ต่างๆ ถึง “ตัวเต็ง” มาแรง
บ้างว่า นายคงกระพันมีโอกาสมากที่สุดจากแรงสนับสนุนฝั่งการเมือง ทั้งรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งนายคงกระพัน นอกจากเป็นซีอีโอของ PTTGC แล้วยังเป็นประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) เคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. มีผลงานผลักดันให้ PTTGC เป็นบริษัทข้ามชาติด้านพลังงานของไทย ติดอันดับ Fortune Global 500 และเมื่อปี 2564 ลุยแผนลงทุน 140,000 ล้านบาท เข้าซื้อกิจการ Allnex Holding GmbH ต่อยอดธุรกิจของ GC ผลักดันการลดคาร์บอน ปรับพอร์ตการดำเนินธุรกิจเพื่อลดปริมาณคาร์บอน 25% ตั้งเป้าการเป็น Together to Net Zero ภายในปี 2050
บ้างก็ว่า ม.ล. ปีกทองได้รับแรงสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองเช่นกัน และมีผลงานเด่นๆ ขับเคลื่อนธุรกิจก๊าซเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจและการดูแลค่าครองชีพ สนับสนุนการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือราคา NGV ให้ผู้มีบัตรสิทธิประโยชน์ของรถแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ผลักดันแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงาน เพื่อขยายตลาดเอนเนอร์ยี่โซลูชั่นส์ในไทยด้วยเทคโนโลยี Advanced Energy Intelligence Platform ตอบสนองนโยบายภาครัฐตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ขณะที่มีอีกกระแสเชียร์ นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ ลูกชายคนรองของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และเป็นพี่ชายนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
ในแง่การทำงาน นายพงษ์พันธุ์เป็นผู้บริหารที่เติบโตในบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จนขึ้นมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านกลยุทธ์องค์กร ไทยออยล์ ก่อนข้ามมาเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. ผลักดันหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท.เป็นผู้นำในการพัฒนาและมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจการค้าคาร์บอนเครดิต ทั้งรูปแบบ Over The Counter และตลาด Exchange สามารถเข้าถึงและขยายขอบเขตการค้าคาร์บอนเครดิตได้อย่างกว้างขวาง ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ส่วนนายบุรณิน ถือเป็นลูกหม้อที่นายอรรถพล ซีอีโอคนปัจจุบันผลักดันอยู่ เพราะที่ผ่านมารับผิดชอบแผนธุรกิจใหม่ ซึ่งถือเป็นอนาคตใหม่ของ ปตท. ทั้งธุรกิจ Life Science ธุรกิจ High Value Business ธุรกิจ Logistics & Infrastructure ธุรกิจ AI กลุ่ม Robotics & Digitalization เพื่อสร้างอีโคซิสเต็ม
ตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรกับฟ็อกซ์คอนน์ และตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด เพื่อเดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร และกำลังลุยพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานในไทยและจะเริ่มการผลิตรถอีวีในช่วงปี 2567
สำหรับนายวรวัฒน์ หลายฝ่ายระบุเป็น “ม้านอกสายตา” ร่วมงานกับกลุ่ม ปตท. มากกว่า 20 ปี และในฐานะซีอีโอ GPSC สามารถผลักดัน GPSC เป็นบริษัทนวัตกรรมผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แน่นอนว่า ซีอีโอคนใหม่ต้องสานต่อภารกิจเดินหน้า ปตท. ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 3.5 ล้านล้านบาท ดูแล 6 บริษัทลูก คือ บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก บมจ. ไออาร์พีซี บมจ. ไทยออยล์ และ บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่
บริหารงานตามแผนและงบลงทุนช่วง 5 ปี (ปี 2567-2571) ซึ่งเป็นวาระเต็มๆ 4 ปีของผู้เข้ามาดำรงตำแหน่ง เม็ดเงินรวม 89,203 ล้านบาท ใน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 30,636 ล้านบาท ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ วงเงินลงทุนรวม 14,934 ล้านบาท ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย วงเงินลงทุนรวม 3,022 ล้านบาท ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ วงเงินลงทุนรวม 12,789 ล้านบาท และการลงทุนในบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้น 100% อีก 27,822 ล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีงบลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างหาโอกาสลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 106,932 ล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
ด้านผลการดำเนินงานของ ปตท. และบริษัทย่อย ซึ่งสรุปออกมาอย่างเป็นทางการล่าสุด ช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 สามารถทำกำไร 31,297.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 252.66% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 8,874.57 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 79,258.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.31% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 72,509.81 ล้านบาท โดยกลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2566 ให้รัฐรวม 48,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2566 ของกลุ่ม ปตท. ซึ่งจะมีการประกาศในเร็วๆ นี้ จะอ่อนตัวลง เป็นผลจากการปรับลดลงของราคาน้ำมันและค่าการกลั่น รวมถึงปี 2567 จะทรงตัวใกล้เคียงปีที่ผ่านมา เพราะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ยังมีภาวะสงครามและความตึงเครียด แต่การรวมกลุ่มเพื่อควบคุมอุปทานน้ำมันของ OPEC+ น่าจะยังทำให้ราคาน้ำมันยืนอยู่ระดับสูง หากไม่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก
ทั้งหมดล้วนเป็น Big Mission ของซีอีโอคนใหม่ การเดินหน้าแผนลงทุนใหม่กว่า 2 แสนล้านบาท เป็นทั้งแหล่งรายได้มหาศาลของรัฐบาล และสนองนโยบายด้านพลังงาน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังไม่มีใครชี้ชัด “วิกฤตหรือไม่” มีผลกระทบต่อประชาชน และเจอกระแสการเมืองที่มีแรงกดดันเข้ามาตลอดเวลาด้วย.15