แม้ “เอฟแอนด์เอ็น” ในเครือไทยเบฟเวอเรจ รอจังหวะภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวก่อนรุกตลาดสินค้าแบรนด์ใหม่ หลังจากเปิดตัวเครื่องดื่มเกลือแร่ 100 Plus แต่ตามแผนผลักดันแบรนด์สินค้าในกลุ่มนอน-แอลกอฮอล์ เพื่อยึดตลาดอาเซียนภายใต้โรดแมพ “Vision 2020” มีการกำหนดแบรนด์เป้าหมายทั้งหมด 4 ตัว ได้แก่ เอส, โออิชิ, 100 PLUS และเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองนูทริซอย (NutriSoy) ซึ่งถือเป็นสินค้าแชมเปี้ยนแบรนด์ของเอฟแอนด์เอ็น
ช่วงเวลานี้ถือเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้นก่อนส่งนูทริซอยบุกสมรภูมิช่วงชิงเม็ดเงินในตลาดเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองที่มีมูลค่ามากกว่า 18,500 ล้านบาท เพราะตั้งเป้ากินส่วนแบ่งและผลักดันแบรนด์ติดอันดับ 1-3 ให้ได้ภายใน 3 ปี
ขณะที่เจ้าตลาดอย่าง “แลคตาซอย” มีฐานลูกค้าและยึดกุมแชมป์ติดต่อกันยาวนาน มีส่วนแบ่งสูงถึง 55% ตามด้วย “ดีน่า” ในเครือดัชมิลล์มีส่วนแบ่ง 25% และไวตามิลค์ 18%
เฉพาะ 3 เจ้ากวาดส่วนแบ่ง 98%
ทั้งนี้ ข้อมูลการวิจัยของยูโรมอนิเตอร์ระบุว่า ประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญที่บริโภคถั่วเหลืองเป็นอันดับ 3 ของโลก อัตราการบริโภคเฉลี่ย 12 ลิตรต่อคนต่อปี รองจากฮ่องกงและสิงคโปร์ และตลาดน้ำนมถั่วเหลืองในประเทศไทยเติบโตต่อเนื่องมากกว่า 10% ทุกปี และมากกว่าตลาดนมโค ซึ่งเติบโตราว 7%
ปัจจัยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่คนไทยที่มีอายุมากขึ้นลดการบริโภคนมโคลงและหันมาบริโภคน้ำนมถั่วเหลือง รวมทั้งความนิยมในการบริโภคอาหารเจทำให้ตลาดน้ำนมถั่วเหลืองแข่งขันสูงขึ้น ทั้งเรื่องนวัตกรรมสินค้าและรสชาติใหม่ๆ
หากแยกสัดส่วนตลาดนมถั่วเหลืองพร้อมดื่มในประเทศไทยแบ่งเป็นชนิดกล่องยูเอชทีประมาณ 84% แบบขวดแก้วหรือสเตอริไรซ์ 13% และแบบพาสเจอไรซ์ (คั้นสด) 3% ซึ่งก่อนหน้านี้ 1-2 ปีเริ่มเกิดเทรนด์ใหม่ในกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการนมถั่วเหลืองพาสเจอไรซ์ หรือแบบคั้นสด ไม่ผสมนมผง ไม่ใส่วัตถุกันเสีย ไม่ใส่สารเคมี เติมสีหรือกลิ่น โดยคาดว่าในอนาคตลูกค้าที่เคยดื่มนมถั่วเหลืองรูปแบบกล่องยูเอชทีจะหันมาดื่มในรูปแบบพาสเจอร์ไรซ์เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของนมถั่วเหลืองพาสเจอร์ไรซ์เป็นกลุ่มที่ดื่มน้ำเต้าหู้ร้านค้าทั่วไปและหันมาดื่มน้ำเต้าหู้พาสเจอไรซ์ เพื่อความสะดวกและสามารถซื้อมาเก็บในตู้เย็น ระยะเวลานานกว่าน้ำเต้าหู้ร้านค้าทั่วไป เพราะผ่านการฆ่าเชื้อ โดยล่าสุดมีผู้เล่นหลัก 4 ราย คือ โทฟุซัง (Tofusan) โอฮาโย (Ohayo) หรือยี่ห้อ “นางพยาบาล” ฟองฟอง (FongFong) และชินโป (ShinPo)
ถือว่าโทฟุซังเป็นแบรนด์น้องใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับ 3 แบรนด์ผู้ผลิตที่อยู่ในตลาดเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองรูปแบบพาสเจอร์ไรซ์หลายสิบปี แต่ไม่ได้รุกช่องทางจำหน่ายกลุ่มคอนวีเนียนสโตร์อย่างจริงจังและเลือกเจาะตลาดแบบเอ็กซ์คลูซีฟ เช่น ในร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับไฮเอนด์
สุรนาม พานิชการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โทฟุซัง จำกัด กล่าวว่าบริษัทเปิดดำเนินธุรกิจเมื่อปี 2554 จากทุนก้อนแรก 1 ล้านบาท ยอดขายปีแรก 2.5 ล้านบาท และเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ เฉพาะ 9 เดือนแรก ยอดขายเติบโตถึง 300% ประมาณ 140 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปี 2558 จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท หรือเติบโตถึง 200% จากปีก่อน นอกจากนี้ ตลาดนมถั่วเหลืองประเภทพาสเจอร์ไรซ์ยังมีโอกาสเติบโตสูงมาก 150-200% ต่อปีและมีแนวโน้มขยายสัดส่วนในตลาดรวมเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 7-8% ภายใน 3-5 ปี
เหตุผลสำคัญที่โทฟุซังสามารถผลักดันยอดขายสูงขึ้นหลายเท่าตัวมาจากการเจาะช่องทางจัดจำหน่ายในกลุ่มโมเดิร์นเทรดและขยายครอบคลุมครบทุกช่องทางทั่วประเทศ ทั้งช่องทางหลักในร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ดิสเคาต์สโตร์อย่างเทสโก้โลตัส แม็คโคร และกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น ฟู้ดแลนด์ ท็อปส์ วิลล่ามาร์เก็ต แม็กซ์แวลู กรูเม่ต์ โฮมเฟรชมาร์ท รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้าธรรมชาติและสุขภาพ เช่น โกลเด้นเพลส เลมอนฟาร์ม
“บริษัทมีกำลังผลิต 50,000-80,000 ขวดต่อวัน และเพิ่งขยายโรงงานใน จ.สมุทรสาคร เพื่อผลิตสินค้ากลุ่มคั้นสดรับเทรนด์ตลาดและความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดมีสินค้าในกลุ่มพาสเจอรไรซ์ ทั้งรูปแบบขวดเล็กและขนาดกลาง ทั้งรสดั้งเดิม รสผสมฟองเต้าหู้สด รสฟักทองญี่ปุ่น รสงาดำ งาขาวคั่วบด น้ำเต้าหู้ผสมเม็ดแมงลัก และมีขนาดใหญ่ 1,000 มล. เจาะกลุ่มลูกค้า โรงแรม โรงพยาบาล ร้านอาหาร” สุรนามกล่าว
การเติบโตที่มีศักยภาพส่งผลให้เจ้าตลาดยักษ์ใหญ่เริ่มขยายเซกเมนต์ ไม่ใช่เฉพาะรูปแบบยูเอชที เช่น กลุ่มดัชมิลล์ส่งนมถั่วเหลืองแบบขวดพาสเจอร์ไรซ์ “ดีน่า” เข้ามาเจาะตลาด โดยประเดิม 2 รสชาติ คือ ดีน่าผสมธัญพืชงาดำ 2 เท่า และดีน่า กาบา สูตรผสมจมูกข้าวญี่ปุ่น
ส่วนไวตามิ้ลค์เน้นทำตลาดแบบขวดสเตอริไลซ์ ซึ่งมียอดขายเติบโตสูงถึง 20% ต่อปี เมื่อเทียบกับรูปแบบยูเอชทีเติบโตเพียง 4-5%
สำหรับ “แลคตาซอย” ยังพุ่งเป้าตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองยูเอชทีและประกาศแผนดำเนินธุรกิจภายใน 5 ปีนับจากนี้ ผลักดันยอดขายอีกเท่าตัว แตะระดับ 20,000 ล้านบาท โดยเตรียมเงินลงทุน 1,000-1,200 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตโรงงาน 2 แห่ง หลังจากกำลังการผลิต 2,000 ล้านกล่องต่อปี ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จนสูญเสียตลาดให้คู่แข่ง
กมล ลิขิตกาญจนกุล ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท แลคตาซอย จำกัด กล่าวว่า กระแสการรักสุขภาพของผู้บริโภคทำให้เครื่องดื่มนมถั่วเหลืองเติบโตทุกปี โดยปีนี้ตลาดรวมเครื่องดื่มนมถั่วเหลืองเติบโตจากปีก่อน 8% คิดเป็นมูลค่า 18,500 ล้านบาท โดยแลคตาซอยครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 55% มูลค่า 10,000 ล้านบาท และเป็นผู้นำอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 10 ยอดขายเพิ่มขึ้น 12%
นอกจากนี้ เร่งขยายตลาดในกลุ่มอาเซียน โดยเตรียมความพร้อมหลายปีและส่งทีมรุกทำตลาด โฆษณาและบริหารการขายกับลูกค้า เน้นตลาดหลัก คือ ลาว กัมพูชา และพม่า เพื่อผลักดันสัดส่วนการส่งออกเพิ่มเป็น 30% จากปัจจุบันส่งออกไป 30 ประเทศทั่วโลก คิดเป็น 11% ของยอดขายรวม
ทั้งเร่งกำลังผลิต ขยายเซกเมนต์ใหม่และเจาะตลาดทุกรูปแบบ ทันทีที่เอฟแอนด์เอ็นได้ฤกษ์ส่ง “นูทริซอย” ตามวิชั่นการขยายอาณาจักรธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจร “From soya milk to single malt” แม้เป็นแบรนด์น้องใหม่จากต่างชาติ แต่เทียบจุดแข็งทั้งเงินทุน ความสดใหม่และช่องทางจัดจำหน่ายที่ไทยเบฟเวอเรจยกเครื่องอย่างแข็งแกร่ง ตลาดนมถั่วเหลืองดุเดือดแน่