วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > DHL-SABUY Speed จากคู่แข่งสู่พาร์ตเนอร์ เปิดตัว SABUY Dee ขยายตลาดรับ E-Commerce โต

DHL-SABUY Speed จากคู่แข่งสู่พาร์ตเนอร์ เปิดตัว SABUY Dee ขยายตลาดรับ E-Commerce โต

ปี 2023 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ธุรกิจมีการแข่งขันดุเดือด เพราะธุรกิจจำนวนมากหันเข้ามาสู่ตลาดออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบหลังช่วงโควิด แม้ว่าปี 2020 มูลค่าตลาด E-Commerce จะลดลงไปประมาณ 6.68 เปอร์เซ็นต์ โดยสาเหตุหลักมาจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้

ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดปีนี้จะอยู่ที่ 6.34 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ในปี 2024 มูลค่าตลาดน่าจะอยู่ที่ 6.94 แสนล้านบาท

ด้านภาพรวมของเจ้าตลาด Marketplace อย่าง Lazada และ Shopee จะยังสามารถคงตำแหน่งขวัญใจนักชอปและยังสามารถทำกำไรได้ เนื่องจากมีการใช้งบประมาณในการทำตลาดน้อยลง ซึ่งทำให้ตัวเลขขาดทุนลดลงอย่างเห็นได้ชัด

น้องใหม่อย่าง TikTok Shop ที่กำลังมาแรงแซงทุกโค้งด้วยกลยุทธ์ของแพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเป็นผู้ขายได้แม้ไม่มีสินค้าในมือก็ตาม จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ประกอบการทั้ง SME และ Startup จะหันมาใช้แพลตฟอร์มนี้ขยายตลาดมากขึ้น โดยสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด E-Commerce จากเจ้าตลาดมาได้ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ในปี 2022 และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะได้เห็นส่วนแบ่งที่ TikTok แย่งชิงมาได้เพิ่มขึ้นเป็น 10-15 เปอร์เซ็นต์

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ของปีนี้จะมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่สอง ซึ่งด้านการใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากการบริโภคของภาคเอกชน ภาคประชาชน และการลงทุนภาคเอกชนที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้าและอุปโภคและการลงทุนของภาครัฐปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องก็ตาม

แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังคงใช้จ่ายดูจากการเติบโตของตลาด E-Commerce สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงเวลาโปรโมชันที่จะเห็นการแข่งขันที่สูงขึ้นของธุรกิจในตลาดออนไลน์

การขยายตัวของตลาด E-Commerce เป็นเสมือนห่วงโซ่สำคัญที่ดึงให้ธุรกิจโลจิสติกส์ หรือธุรกิจขนส่งพัสดุเติบโตเป็นเงาตามตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้เห็นผู้เล่นลงมาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้เพิ่มขึ้น

SABUY Speed บริษัทในเครือบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ให้บริการธุรกิจแฟรนไชส์ร้านสะดวกส่ง หรือ Drop-Off Store ภายในเครือทั้งสิ้น 8 แบรนด์ ได้แก่ Shipsmile, Plus Express, The LetterPOST, Point Express, PaysPOST, Paypoint, Speedy และ Collectco ล่าสุด SABUY Speed เปิดตัว SABUY Dee เพื่อยกระดับแบรนด์ขนส่ง และบริการคุณภาพในระดับสากลรองรับการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ที่ให้บริการจัดส่งพัสดุภายในระยะเวลา 2-4 วัน เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการควบคุมต้นทุนด้านการขนส่ง

ด้าน DHL แบรนด์ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ จัดส่งพัสดุทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รองรับการขนส่งทางถนน ทางอากาศและทางทะเล ไปจนถึงการจัดการซัปพลายเชนอุตสาหกรรม

แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ การร่วมกันเป็นพาร์ตเนอร์ชิปในครั้งนี้ของ SABUY และ DHL ที่มาพร้อมเหตุผลที่ว่า ต้องการยกระดับการบริการ และเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ E-commerce

จากคู่แข่งทางการค้า สู่การเป็นพาร์ตเนอร์ชิป

เพราะหากจะมองว่าทั้งสองแบรนด์เป็นคู่แข่งทางการค้าก็คงไม่ผิดนัก และด้วยตลาดที่มีเป้าหมายลูกค้าที่แตกต่างกัน เหตุผลในการจับมือกันครั้งนี้ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทระบุว่า

“เหตุผลที่เราต้องจับมือกัน หากจะมองว่าเราเป็นธุรกิจในกลุ่มเดียวกัน ก็ไม่เชิงเป็นอย่างนั้น แต่จุดแข็งของ SABUY คือ ร้านสะดวกส่ง ในขณะที่ DHL มีจุดแข็งด้านการจัดส่ง ดังนั้น จะว่าไปการร่วมมือกันในครั้งนี้เป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกันมากกว่า ทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการของเราได้ง่ายมากขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว DHL จะลงมาจับตลาดแมสก็ไม่เชิง เรามี 2 Product หนึ่งคือ Next day Delivery การส่งในวันถัดไป ตัวนี้จะเน้นความรวดเร็ว ในส่วนของ SABUY Dee เป็นทางเลือกให้ลูกค้าที่ต้องการประหยัดต้นทุน สามารถรองรับในเรื่องเวลาได้ โดยจะใช้เวลา 2 วัน และบริการต่างๆ ไม่ต่างกัน ด้วยทีมงานการจัดส่ง คอลเซ็นเตอร์ เป็นทีมเดียวกัน” เกียรติชัย พิตรปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีเอสแอล อีคอมเมิร์ซ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พรวิทย์ ไหลท่วมทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย สปีด จำกัด กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า “การร่วมงานกันในครั้งนี้ระหว่าง DHL และ SABUY Speed เราเข้าร่วมกันในทุกจุดบริการที่สบายมีมากกว่า 20,000 จุด นั่นหมายความว่าทุกสาขาที่เรามี ผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้ขนส่งของ DHL ได้ทั้งหมด ลูกค้าสามารถเลือกบริการได้จากทั้งบริการของ SABUY Dee และ DHL จะมีความแตกต่างที่ค่าบริการ โดย SABUY Dee มีค่าบริการเริ่มต้นที่ 19 บาท ขณะที่ DHL ค่าบริการเริ่มต้นที่ 25 บาท”

ปัจจุบันจุดให้บริการของ SABUY มีประมาณ 22,000 จุด ความหนาแน่นของจุดบริการจะอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังสามารถรองรับการให้บริการครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ในขณะที่ DHL มีจุดบริการประมาณ 650 จุด ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ

เกียรติชัยกล่าวว่า “แบรนด์ DHL จับตลาดลูกค้าที่มีความต้องการในเรื่องความแน่นอน ความรวดเร็ว ในขณะที่ SABUY Dee จับตลาดลูกค้าที่ให้ความสำคัญในเรื่องต้นทุน แม้ว่าระยะเวลาในการจัดส่งอาจจะนานกว่าแบรนด์อื่น คือ 2-4 วัน แต่บริการอื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน เพราะทีมจัดส่งและทีมให้บริการเป็นทีมเดียวกัน การจับมือของทั้งสองบริษัทจะไม่แย่งลูกค้ากันเองแน่นอน แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ลูกค้า ซึ่งลูกค้าจะมีโจทย์อยู่ในใจแล้วว่าจะเลือกขนส่งไหน ทั้งในเรื่องเวลาและต้นทุนค่าขนส่ง”

จากความต้องการของทั้งสองแบรนด์ ทั้งการเสริมการบริการขนส่งคุณภาพระดับสากล และการขยายพื้นที่การให้บริการ ทำให้เกิดความร่วมมือกันในครั้งนี้ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด E-commerce ที่กลายเป็นช่องทางขายหลักของธุรกิจในปัจจุบัน พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

“ตลาด E-Commerce ปีนี้เติบโตขึ้น คิดว่ามีปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายมากขึ้น ในขณะเดียวกันในเรื่องปัจจัยภายนอก เช่น สงคราม ตลาดรีเทลยังค่อนข้างอ่อนไหว แต่ไม่ส่งผลโดยตรงต่อตลาด E-commerce ซึ่งตลาดนี้จะโตมากโตน้อยยังต้องดูความเป็นไป แต่เรามองว่าในไตรมาสสี่น่าจะมีการจับจ่ายที่สูงขึ้น แต่ปัจจัยที่มองว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคคือ สงคราม อัตราเงินเฟ้อ ค่าน้ำมัน ค่าแรง ซึ่งปัจจัยสำคัญเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนส่งเช่นกัน คิดว่าสภาพตลาดการขนส่งพัสดุมีการเติบโตประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ อาจจะไม่เหมือนเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของตลาดที่มีการเติบโตมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์” เกียรติชัยเสริม

ด้านพรวิทย์มองตลาดธุรกิจขนส่งพัสดุว่า “ปัจจุบันกลุ่ม Segment การขนส่งค่อนข้างเยอะ แต่ละแบรนด์ก็จะมีกลุ่ม Segment ของตัวเอง ในขณะที่ SABUY เราให้บริการในทุก Segment ดังนั้น ก็อยู่ที่ว่าลูกค้าที่เดินเข้าจุดบริการของเราต้องการการขนส่งแบบไหน เรายินดีให้บริการในทุกกลุ่มของลูกค้า ในแง่ศูนย์รวมส่งพัสดุ บริษัทที่เป็นศูนย์รวมส่งพัสดุ ณ เวลานี้ SABUY ถือว่าเป็นเบอร์หนึ่ง เรามองว่าแบรนด์ที่เป็นศูนย์รวมจะมีไม่กี่แบรนด์ ณ ตอนนี้ นั่นคือ Position แรก และธุรกิจของเราไม่ได้เป็นแค่การส่งพัสดุ เนื่องจาก Eco ของ SABUY มีธุรกิจหลายตัว ดังนั้น ร้านส่งพัสดุเองถือว่าเป็นจุด Touch Point สำคัญในการให้บริการสินค้า และบริการในเครือ นั่นหมายความว่าร้านส่งพัสดุอาจจะให้บริการขายสินค้า และบริการด้านอื่นได้ เช่น การขายประกัน สินเชื่อ แม้กระทั่งการสรรหาแรงงาน นี่คือสิ่งที่เรามองว่าจะเป็นจุดที่ทำให้เราแตกต่าง คือ เราไม่ได้แข่งด้านการขนส่งโดยตรง แต่เราเป็นจุดให้บริการ”

นอกจากการจับมือกันระหว่างพันธมิตรของทั้งสองแบรนด์เพื่อสร้างการรับรู้ให้เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคแล้ว แต่ละแบรนด์มีเป้าหมายของตัวเองที่ค่อนข้างชัดเจน โดย SABUY ต้องการเพิ่มจุดบริการลูกค้าจาก 22,000 จุด เป็น 25,000 จุดภายในปีหน้า

“เป้าหมาย คือ อยากจะขยายจุดให้บริการไปถึง 25,000-30,000 จุด แต่ต้องขึ้นอยู่กับตลาด ร้านไหนที่ไม่ไหวก็เปลี่ยนธุรกิจไป ปีหน้าเราตั้งเป้าว่าต้องไปให้ถึงอย่างน้อย 25,000 จุด ธุรกิจจุดบริการขนส่งพัสดุไม่ได้ใช้เงินทุนเยอะ ดังนั้น แฟรนไชส์ที่มาลงทุนกับเราอยู่ในราคาที่จับต้องได้” พรวิทย์เปิดเผย

“เราอาจยังไม่สามารถคาดการณ์การเติบโตได้จากการจับมือกันในครั้งนี้ของสองบริษัท เพราะทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้น แต่ SABUY คาดหวังกับการร่วมกับ DHL ไว้ค่อนข้างเยอะ ดังนั้น ด้วยตลาดการขนส่งพัสดุที่เรามี น่าจะทำให้สบายดีสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดดได้แน่นอน”

ในขณะที่ DHL ที่มีจุดให้บริการเพียง 650 จุดทั่วประเทศ เป้าหมายคือสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น หากจะมองว่านี่เป็นการร่วมมือที่ วิน-วิน กันทั้งสองฝ่ายก็คงจะไม่ผิดนัก เมื่อด้านหนึ่งมีจุดแข็งเรื่องร้านค้าจุดให้บริการจำนวนมากกว่า 20,000 แห่ง อีกบริษัทมีจุดแข็งด้านการขนส่งที่ได้มาตรฐานระดับสากล

เกียรติชัยเผยแผนสำคัญของ DHL ไว้อย่างน่าสนใจว่า “นโยบาย ESG เป็นเทรนด์ใหญ่ และเป็น Agenda หลักของบริษัทในเรื่องสิ่งแวดล้อมเราวางเป้าหมายไว้ว่า ภายในปี 2030 เราจะลด Carbon Footprint ให้เหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ และภายในปี 2050 จะต้องลดให้เหลือศูนย์ เราลงทุนในเรื่องพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีใหม่ๆ เยอะมาก และตอนนี้เราลงทุนที่จะผลิตเครื่องบินที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเราดำเนินการไปแล้ว”

คงไม่ง่ายสำหรับทั้งสองบริษัทที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดขนส่งพัสดุ เมื่อมีหลายบริษัทที่มีจุดแข็งไม่ต่างกัน เช่น ไปรษณีย์ไทย เคอร์รี่ และแน่นอนว่ายังเป็นเจ้าตลาดในปัจจุบัน แต่การมีตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ย่อมเป็นเรื่องดี ทว่า การร่วมมือกันในครั้งนี้จะแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดได้มากน้อยเพียงใด ยังเป็นเรื่องต้องพิสูจน์.