วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > “ขันเงิน เนื้อนวล” เราจะเป็นสปริงบอร์ดของธุรกิจบันเทิง

“ขันเงิน เนื้อนวล” เราจะเป็นสปริงบอร์ดของธุรกิจบันเทิง

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจและวงการบันเทิง เมื่อบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ Major แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า “ขันเงิน เนื้อนวล” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ขัน ไทยเทเนี่ยม” ศิลปินและผู้ก่อตั้ง ‘ไทยเทเนี่ยม’ วงดนตรีแนว Hip Hop ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จํากัด (มหาชน) (“MPIC”) ที่เมเจอร์ถือไว้

โดยขันเงินเข้าซื้อหุ้นเป็นจำนวน 1,202,130,480 หุ้น คิดเป็น 92.46% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มูลค่าหุ้นละ 0.54 บาท และใช้เม็ดเงินถึง 650 ล้านบาท ส่งผลให้ขันเงินขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ในทันที

หลังจากนั้นปลายเดือนกันยายนขันเงินออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ด้วยการประกาศรีแบรนด์จากบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จํากัด (มหาชน) สู่บริษัท ซาเล็คต้า จำกัด (มหาชน) หรือ Zalekta พร้อมปั้น 4 โมเดลธุรกิจใหม่ที่ครอบคลุมทุกมิติของความบันเทิง ตั้งเป้าขึ้นแท่นเป็น Vibes Setter ผู้ริเริ่มและสร้างสรรค์ความบันเทิงและไลฟ์สไตล์แนวใหม่ พร้อมดันไทยขึ้นเป็นฮับด้านความบันเทิงของเอเชียแปซิฟิกภายใน 3 ปี ซึ่งนั่นทำให้ชื่อของ “ขันเงิน เนื้อนวล” ถูกจับตามองอีกครั้ง

หลายคนอาจรู้จักเขาในบทบาท ศิลปิน แต่ “ผู้จัดการ 360 องศา” จะพาไปทำความรู้จักตัวตนของผู้ชายคนนี้ให้มากขึ้น ทั้งบทบาทการเป็นศิลปินผู้บุกเบิกแนวดนตรี Hip Hop ในไทย และบทบาทการดำเนินธุรกิจด้านความบันเทิงผ่านบริษัทที่น่าจับตามองอย่าง “ซาเล็คต้า”

“ซาเล็คต้า จริงๆ แล้วมันมาจากคำว่า ซีเล็คเตอร์ (selector) นี่แหละครับ แต่ด้วยการพลิกแพลงในวิธีการเขียนแบบใหม่เลยออกมาเป็นซาเล็คต้า ซึ่งหมายถึงผู้คัดสรรสิ่งต่างๆ เพื่อมาสร้างความบันเทิงให้กับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์ เฟสติวัล หรืออีเวนต์ต่างๆ เราจะเลือกสิ่งที่ดีเพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ที่ดี เพราะแบ็กกราวด์ของผมโตมาจากการเป็นดีเจ ซึ่งอีกชื่อหนึ่งของดีเจ เขาเรียกว่า ‘ซาเล็คเตอร์’ เป็นคนคัดแผ่นเสียงเพลงต่างๆ มาเปิดในงานปาร์ตี้ เป็นคนสร้างบรรยากาศ หรือ vibes setter ให้กับคืนนี้ว่าเพลงมันควรเป็นอย่างไร แต่ครั้งนี้เราจะไม่ใช่แค่เลือกเพลง แต่จะเลือกความบันเทิงในรูปแบบใหม่ๆ ให้ทุกคนได้รับประสบการณ์” ขันเงิน เนื้อนวล ซึ่งปัจจุบันขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการ บริษัท ซาเล็คต้า จำกัด (มหาชน) พูดถึงที่มาของคำว่าซาเล็คต้า ที่เขาหยิบขึ้นมาตั้งเป็นชื่อบริษัทใหม่แทนชื่อเดิมอย่าง “เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์” ก่อนที่จะเล่าภูมิหลังเพื่อให้เราได้รู้จักตัวตนของเขามากขึ้น

วัฒนธรรม Hip Hop กับการหล่อหลอมตัวตน

“ผมโตมาในเมืองไทยจนถึงอายุ 12 ปี แต่ไม่ชอบเรียน ชอบเล่นสนุก ปั่นจักรยานไปวันๆ คุณพ่อคุณแม่เขาคงหาวิธีแก้ปัญหา พอดีคุณพ่อเคยเรียนที่อเมริกา เขาก็เลยส่งผมไปเรียนต่อที่นั่น เพราะคงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ผมต้องออกไปเห็นโลกกว้างบ้าง”

“เรื่องราวที่ผมมักเล่าเสมอคือ ตอนอายุ 13 ผมไปอยู่ที่แคนซัส ตอนนั้นราวๆ ปี 1989-1990 ซึ่งแคนซัสเป็นเมืองที่คนเหยียดสีผิวกันหนัก เราเป็นคนเอเชียที่นั่นก็โดนเหยียด ผมเคยโดนคนปากระป๋องเบียร์ใส่ เลยคิดว่านี่คือสิ่งที่พ่ออยากให้เห็นหรือเปล่า เพราะเวลาอยู่เมืองไทยผมโลกสวย ไม่ได้สนใจ ชีวิตแฮปปี้ พอได้ไปอยู่ตรงนั้นความรู้สึกมันเปลี่ยน โลกมันไม่ได้สวยงามอย่างที่เราคิด มันเปลี่ยนให้เราโตขึ้น เพราะเราโดนโยนเข้าไปอยู่ในชนกลุ่มน้อยของเขา ไปอยู่ในกลุ่มคนผิวสี คนเอเชีย และคนสแปนิช เราโดนโยนเข้าไปด้วยสิ่งที่เราเป็น ซึ่งมันต้องสู้ ไม่สู้ก็อยู่ไม่ได้”

ขันเงินเล่าต่อว่า เมื่อถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในฐานะคนกลุ่มน้อย สิ่งที่ต้องเรียนรู้คือวัฒนธรรมของเขา ซึ่งก็คือวัฒนธรรม Hip Hop ที่รวมทั้งเพลง ดนตรี และศิลปะที่พูดถึงการต่อสู้และความเท่าเทียม เป็นเพลงเพื่อชีวิตของเขา โดยในวัฒนธรรม Hip Hop มี 4 องค์ประกอบด้วยกัน ได้แก่ ดีเจ, MC (แร็ปเปอร์), Graffiti (กราฟฟิตี้) หรือศิลปะตีแผ่ความจริงบนกำแพง และการเต้นรำอย่างบีบอยและเบรกแดนซ์ และเมื่อเข้าไปอยู่ในกลุ่มนั้นสิ่งที่ขันเงินเลือกทำคือการเป็น “ดีเจ” ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่กับเขามาตลอดชีวิต

“พอเข้าไปอยู่ในกลุ่มเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเป็นการสื่อสาร จะเป็นแร็ปเปอร์ก็ไม่ได้เพราะภาษาก็ยังไม่เก่ง เต้นก็ไม่ได้เรื่อง พ่นสีก็ไม่สวย เลยคิดว่าดีเจน่าจะเหมาะ เพราะไม่ต้องพูด เปิดเพลงเฉยๆ แต่สามารถสร้างให้ทุกคนมีความสุขได้ เราเป็นคนเซตให้ค่ำคืนนี้มีความสุขผ่านเสียงเพลงและบรรยากาศ เป็น vibes setter ซึ่งมันเหมาะกับตัวตนเราและเป็น DNA ที่ส่งมาถึงความเป็นซาเล็คต้าและทุกอย่างที่ผมทำมาจนถึงทุกวันนี้”

ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ได้เปลี่ยนความคิดและหล่อหลอมตัวตนของขันเงินขึ้นมาใหม่ จากเด็กโลกสวยและเล่นสนุกไปวันๆ ไปสู่การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดและความเท่าเทียม และที่สำคัญทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมเด็กไทยคนหนึ่งถึงไปชอบเพลง ศิลปะ และวัฒนธรรมแบบ Hip Hop จนกระทั่งนำเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย

หลังจากนั้นไม่นานขันเงินต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับการสูญเสียคุณพ่อ จนทำให้เขาต้องรีสตาร์ทชีวิตตัวเองอีกครั้ง จากที่มีฐานะปานกลางไม่ลำบากอะไร จำเป็นต้องขายบ้าน จากที่เคยเรียนในโรงเรียนเอกชนต้องเปลี่ยนไปเรียนโรงเรียนรัฐ และต้องหาเงินเลี้ยงตัวเองด้วยการเป็นดีเจ รับจ้างทำความสะอาด รวมถึงรับทุบตึก

“เรารู้ว่าแม่ไม่มีเงินส่งเรา อยู่นู่นก็หาเงินจากการเป็นดีเจ รับจ้างทำความสะอาด ไปรับจ้างทุบตึกกับเดย์ (เดย์ ไทยเทเนี่ยม) ก็เคย เพราะได้เงินดี กลับมาปวดตัวไปหมด ได้เงินมาก็เอาไปซื้อแผ่นเสียงเพื่อเพิ่มคลังเพลงสำหรับเปิดเพลง ตอนที่เจอกระป๋องเบียร์ปานั่นคือความไม่เท่าเทียม แต่คุณพ่อเสียคือความไม่แน่นอน เราก็ต่อสู้ของเรามา จนกระทั่งกลับไทยและมาทำเพลงในที่สุด”

บุกเบิกวงการ Hip Hop ในไทย

หลังจากใช้ชีวิตที่อเมริกานานถึง 6 ปี ขันเงินกลับมาเมืองไทยอีกครั้ง และเริ่มต้นทำเพลงในปี 2538 ชื่ออัลบัม Hip Hop Story ในนาม ‘Khan-T’ (ขัน-ที) สังกัด MUSIC X ถัดจากนั้นในปี 2540 ออกอัลบัม 4+9 (Remix), อัลบัม Khan-T BEAT ในปี 2541 และออกอัลบัมเดี่ยวในนามขันเงิน เนื้อนวล ชื่ออัลบัม “อารมณ์ขัน..หวาน” ในปี 2542 สังกัดกรีนบีนส์ในเครือแกรมมี่

ระหว่างที่ทำเพลงในไทย ขันเงินใช้เวลานี้เรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านดนตรีและการทำเพลง รวมถึงเก็บเงินเพื่อเตรียมตัวไปทำเพลงที่นิวยอร์กอีกครั้ง เพราะเพลงที่ทำอยู่เขาเห็นว่ามันป๊อปเกินไปกับสิ่งที่เขาเติบโตมา จึงอยากทำเพลงแนว Hip Hop เพื่อสื่อสารถึงสิ่งที่เขาเติบโตและต่อสู้มา

“ผมบอกกับเดย์ตอนอยู่อเมริกาเสมอว่า วันหนึ่งเราต้องทำเพลงด้วยกัน ที่เมืองไทยผมได้เจอกับเวย์ (เวย์ ไทยเทเนี่ยม) ผมเลยเอาเพื่อน 2 คนมารวมกัน ก่อนที่จะบินไปนิวยอร์กเพื่อทำเพลง Hip Hop ในแบบที่เป็นตัวเรา ซึ่งคำว่าไทยเทเนี่ยมผมคิดมาตั้งแต่อยู่เมืองไทย”

ขันเงินกลับไปนิวยอร์กในปี 2543 และหลังจากนั้นเพียง 6 เดือน ผลงานเพลงภายใต้วง “ไทยเทเนี่ยม” ก็ถูกปล่อยออกมาเป็นครั้งแรกในชื่ออัลบัม AA

“ตอนแรกคนไทยยังงง เพลงอะไรก็ไม่รู้ ไทยคำอังกฤษคำ แต่เราทำออกมาไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่อยากทำให้ฝรั่งเห็นว่า คนไทยก็ทำเพลงแนวนี้ได้”

จากอัลบัมแรกในปี 2543 “ไทยเทเนี่ยม” ยังคงปล่อยผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ Thai Riders (พ.ศ. 2545), OST. P77 (พ.ศ. 2546), R.A.S. (พ.ศ. 2547), Thailands Most Wanted (พ.ศ. 2548), EP. Thaitanium Limited Edition (พ.ศ. 2551) และ Still Resisting (พ.ศ. 2553)

ไม่เพียงเท่านั้นในปี 2551 ยังทุ่มทุนจัดคอนเสิร์ต Asian Hip Hop Festival มหกรรมคอนเสิร์ตแนว Hip Hop ครั้งแรกในเอเชียที่ดึงศิลปินจาก 8 ประเทศมารวมกัน ซึ่งขันเงินกล่าวว่าเป็นงานที่สร้างชื่อให้กับประเทศและไทยเทเนี่ยมเป็นอย่างมาก นั่นทำให้วงไทยเทเนี่ยมและขันเงินกลายเป็นที่รู้จักของวงการเพลงมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยบุกเบิกดนตรีแนว Hip Hop ในไทยก็ว่าได้

เจ้าพ่อไอเดียและจุดตั้งต้นของซาเล็คต้า

ด้วยความที่อยู่ในวงการดนตรีมานาน รู้จักศิลปินและดีเจทั้งไทยและต่างชาติ อีกทั้งยังมีคอนเนกชันอยู่อย่างมากมาย ขันเงินจึงมักมีไอเดียใหม่ๆ ในการที่จะยกระดับธุรกิจบันเทิงและสนับสนุนศิลปินไทยให้ไปไกลกว่าเดิมอยู่เสมอ ซึ่งที่ผ่านมาเขาทำมาโดยตลอด แต่ทำได้ในสเกลเล็กๆ เท่านั้น จนมาได้เจอกับ “เต็ม – ทรงพล เชาวนโยธิน” อีกหนึ่งคีย์แมนคนสำคัญ ที่ทำให้ภาพการยกระดับและพัฒนาธุรกิจบันเทิงรวมถึงศิลปินไทยในสเกลใหญ่ที่ขันเงินวาดภาพไว้เด่นชัดมากขึ้น และถือเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญของซาเล็คต้า

“ผมใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งที่ไทยอีกครึ่งที่ต่างประเทศ เราเลยรู้ว่าคนไทยไม่แพ้ใคร คนไทยมีความสามารถและน่าสนับสนุน เมื่อก่อนเราทำอะไรเหมือนอารมณ์ศิลปิน ถ้ามันอินแล้วมันก็อยากทำบางทีไม่ได้มองรอบด้าน เมื่อก่อนปีหนึ่งอาจจะจัดงานใหญ่ๆ ได้เพียงแค่ 1 ครั้ง มันน้อยไปสำหรับธุรกิจใหญ่ๆ จนมาเจอพี่เต็มซึ่งแบ็กกราวด์เขาเป็นสายธุรกิจทำอสังหาริมทรัพย์มาก่อน เลยมาปรึกษาพี่เต็มว่าจะทำยังไงที่จะสนับสนุนธุรกิจบันเทิงให้มันสเกลอัปไปได้มากกว่านี้ ผมเล่าไอเดียให้เขาฟังเรื่อยๆ ว่าอยากทำอะไร เขาก็จะมองในเชิงธุรกิจว่ามันโอเคไหม มันเหมือนเป็นหยินหยาง จนกลายมาเป็นซาเล็คต้าในที่สุด”

“ผมรู้จักขันมาสิบกว่าปี ไปทัวร์คอนเสิร์ตกับเขาบ้าง ผมมองว่าศักยภาพที่เขามีมันเยอะมากนะ เขารู้จักศิลปินทั่วโลก ซึ่งธุรกิจเกี่ยวกับ Entertainment มันไม่มีขอบเขตเหมือนธุรกิจอื่นๆ ด้วยแพลตฟอร์มปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น TikTok, YouTube, Netflix มันสื่อสารกันได้หมด” เต็ม-ทรงพล เชาวนโยธิน ที่ปัจจุบันนั่งในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซาเล็คต้า จำกัด (มหาชน) กล่าว พร้อมเปิดเผยต่อว่า

“มุมมองที่ขันเขาบอกผมคือดนตรีมันอยู่ในทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา หนัง เกม และอยู่ในทุกจังหวะของชีวิตเรา และเขาสามารถสร้างสรรค์สิ่งพวกนี้ได้ แต่เวลาที่เราจะเล่นเกมใหญ่มันต้องคิดภาพที่มีแบ็กอัพที่ดีพอสมควร เลยเป็นที่มาที่เราเข้าไปซื้อหุ้น MPIC ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อมีแบ็กอัปด้านการเงินที่ดีพอ เพราะขันเขาเชี่ยวชาญด้านดนตรี แต่ธุรกิจบันเทิงมันมีอีกหลายอย่าง ซึ่ง MPIC ตอบโจทย์เราเรื่องภาพยนตร์”

ไม่ใช่มือใหม่ในแวดวงธุรกิจ

แม้ว่าการลงทุนเข้าซื้อหุ้นล็อตใหญ่ของ MPIC ในครั้งนี้จะเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจ และทำให้ชื่อของขันเงินถูกจับตามอง แต่คงต้องบอกว่านี่ไม่ใช่การเข้ามาในเส้นทางธุรกิจครั้งแรกของเขา เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ขันเงินถือเป็นศิลปินที่วนเวียนอยู่กับแวดวงธุรกิจมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจบันเทิง ทั้งการเป็นผู้บริหารค่ายเพลงบริษัท ไทยเทเนี่ยม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 ด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท เพื่อทำเพลง ดูแลบริษัท ไทยเทเนี่ยม พับลิชชิ่ง จำกัด ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องลิขสิทธิ์

รวมถึงร่วมก่อตั้งบริษัท ไทยเทเนี่ยม เบฟเวอเรจ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อผลิตเครื่องดื่ม โดยมีสินค้าตัวเเรก คือ “THAITANIUM POWER” เครื่องดื่มให้พลังงานผสมวิตามิน ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนั้น ยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ขันเงินเคยทำ ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จผสมกันไป ทั้งธุรกิจเสื้อผ้าและเครื่องประดับแบรนด์ “9 face”, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจร้านอาหาร ผับ บาร์ รวมถึงการลงทุนซื้อหุ้นในธุรกิจสายการบิน Asian Air ที่ให้บริการเที่ยวบินแบบชาร์เตอร์ไฟลต์ แต่ ณ ปัจจุบันได้ประกาศล้มละลายไปแล้ว

“ผมทำธุรกิจมาตลอด ไทยเทเนี่ยม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ตอนนี้ 20 ปีแล้ว ก็ยังเซ็นเช็คทุกใบ ต้องดูเรื่องการเงิน การลงทุน ทำคอนเสิร์ตนี้มันจะคุ้มไหม เรื่องธุรกิจผมคิดว่าผมไม่เก่ง แต่มันต้องทำ เพราะเรากำลังสร้างอะไรสักอย่าง”

จาก MPIC สู่ “ซาเล็คต้า” Vibes Setter ที่จะเป็นสปริงบอร์ดให้ธุรกิจบันเทิงของไทย

สำหรับโมเดลธุรกิจของ “ซาเล็คต้า” นั้น ทรงพลอธิบายเพิ่มเติมว่า ซาเล็คต้าเป็นธุรกิจบันเทิงแนวใหม่แบบ 360 องศา ครอบคลุมความบันเทิงในทุกรูปแบบและรอบด้าน โดยวางโพสิชั่นนิ่งตัวเองเป็น “Vibes Setter” หรือผู้ริเริ่มและสร้างสรรค์ความบันเทิงและไลฟ์สไตล์แนวใหม่ของไทย ที่จะดำเนินธุรกิจภายใต้ 4 โมเดลธุรกิจหลัก เพิ่มเติมจากธุรกิจภาพยนตร์ที่เป็นธุรกิจเดิมของ MPIC โดยซาเล็คต้าจะทำหน้าที่เหมือนเป็นสปริงบอร์ดให้ธุรกิจบันเทิงของไทยในการ Go Global ตั้งเป้าดันประเทศไทยให้ขึ้นเป็นฮับด้านความบันเทิงของเอเชียแปซิฟิกภายใน 3 ปี

โดยธุรกิจทั้ง 4 เสาหลัก ประกอบด้วย 1. ธุรกิจภาพยนตร์ (Movie) ที่บริษัทดูแลตั้งแต่การผลิต การซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมที่ MPIC ทำมาและมีรากฐานที่มั่นคงอยู่แล้ว, 2. ธุรกิจดนตรี (Music) รวมถึงมิวสิกเฟสติวัลและคอนเสิร์ต, 3. Festival การจัดงานไลฟ์สไตล์เฟสติวัลและงานอีเวนต์ต่างๆ เช่น กีฬา เกม ทอยส์ อาร์ตเฟสติวัล รวมถึงเฟสติวัลที่มีคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน และ 4. Destination สร้าง vibes และประสบการณ์ให้กับสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร รีสอร์ต เพื่อดึงดูดผู้คนให้มาในสถานที่นั้นๆ

“เดิม MPIC คือเจ้าภาพทางการสร้างภาพยนตร์ บางทีก็เล่นจริงเจ็บจริง แต่แนวทางใหม่ที่เราจะนำมาใช้สำหรับธุรกิจภาพยนตร์จะเป็นในลักษณะสตาร์ทอัป ลงทุนในหลายๆ เรื่อง กระจายไป เพื่อลดความเสี่ยง อย่างปลายปีนี้จะมีหนังของพี่เป็นเอกออกฉาย ซึ่งเป็นหนังที่เราไปร่วมมือด้วย ส่วนดนตรีกับเฟสติวัลคือสิ่งที่ขันเขาทำมาอยู่แล้วเพียงสเกลอัปให้มันใหญ่ขึ้น สำหรับ Destination ขันเขาโตมากับการเป็นดีเจ เป็นคนสร้าง vibes ให้กับแต่ละที่ให้มีความสนุกสนานให้คนที่นั่นมีความสุขอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นด้วยประสบการณ์เราสามารถทำให้สถานที่นั้นๆ ดึงดูดคนได้อย่างแน่นอน” ทรงพลเปิดเผย

สำหรับเป้าหมายในระยะสั้นซาเล็คต้าจะเน้นการจับมือกับพาร์ตเนอร์ด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์และไลฟ์สไตล์ของประเทศ เพื่อร่วมกันทำงานและขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้วงการบันเทิงไทยมีการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนในระยะยาวมีเป้าหมายในการสร้างเฟสติวัลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมิวสิกเฟสติวัล อาร์ตและทอยเฟสติวัล ภาพยนตร์ รวมถึงการสร้างออริจินัลคอนเทนต์ที่น่าสนใจต่างๆ เป็นของตัวเอง

“ขันเขาโตมาในยุคที่การแข่งขันมันไม่ค่อยเฟรนด์ลี่มีค่ายที่ชัดเจน เขาบอกว่าทำไมเราไม่มาทำธุรกิจบันเทิงที่ช่วยให้คนไทยทั้งหมดประสานกันและ Go Global ไปด้วยกัน เพราะถ้ามัวแต่ตีกันในประเทศที่มีประชากรอยู่ 70 ล้านคน มันก็อยู่แค่นี้ แต่ถ้าคุณเปิดตลาดจีน อินเดีย และไปโกลบอลได้ มูลค่ามันมหาศาล ซึ่งเกาหลีเขาพิสูจน์แล้วว่ามันทำได้ และสิ่งที่เขาพูดกับผมเสมอคือ ‘เราจะเป็นสปริงบอร์ดให้วงการบันเทิง’ ไม่ว่าจะเป็นคนของค่ายไหน ถ้ามันมีโอกาสเราก็จะเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับเขา สร้างสรรค์โปรเจกต์ดีๆ ขึ้นมา เพื่อให้มีการเติบโตมากขึ้น” ทรงพลกล่าวเสริม

“เวลามีค่ายเขาไม่ค่อยคุยกัน หลายคนมีของดี เราเลยทำหน้าที่ select ให้เขามาคุยกัน ถ้าเราช่วยกันมันไปไกลขึ้น บางเจ้ามีคอนเนกชันแบบนี้ แต่พอไม่คุยกันเหมือนเขาแข่งกัน การแข่งกันก็โอเค แต่สำหรับคนไทยที่จะไปโกลบอลมันต้องร่วมมือกัน ถ้าร่วมมือกันมันจะไปได้ไกลและเร็วขึ้น ไม่งั้นมันจะไปช้า” ขันเงินกล่าว

อีกหนึ่งคำถามที่เราอยากรู้คือ จำเป็นไหมที่ซาเล็คต้าจะต้องมีศิลปินเป็นของตัวเอง ซึ่งขันเงินได้ตอบคำถามในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของศิลปิน ไม่จำเป็นต้องสร้างค่าย ผมสร้างมาทั้งชีวิตแล้ว ไม่ได้อยากมีศิลปินเป็นของตัวเอง แต่เรามองหาน้องๆ ที่เขาเก่งอยู่แล้ว ไม่ว่าเขาจะอยู่ค่ายไหน ถ้าเรามีสิ่งที่จะไปเสนอให้เขาและทำให้มันดีขึ้น ไปได้ไกลขึ้น เราก็ทำด้วยกัน”

สิ่งที่จะได้เห็นเร็วๆ นี้ และเป้าหมายทางธุรกิจในระยะต่อไป

สำหรับในปีนี้สิ่งที่จะได้เห็นคือโปรเจกต์หนังของผู้กำกับอย่าง “เป็นเอก รัตนเรือง” ที่ซาเล็คต้าเข้าไปร่วมด้วย ซึ่งจะเปิดตัวปลายปีนี้ ส่วนในปีหน้าซาเล็คต้าวางแผนจัดอีเวนต์ราวๆ 7-12 งานตลอดทั้งปี เป็นงานใหญ่และงานเล็กผสมกัน ทั้งกีฬา อาหาร และดนตรี ซึ่งบางงานจะจัดเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ยังวางแผนสนับสนุนศิลปินและผลักดัน soft power ของไทยสู่สากลอีกด้วย

โดยขันเงินพูดถึงสิ่งที่เขาพยายามผลักดันว่า “คนไทยเก่งหลายด้าน แต่ผมมองว่า ‘มวยไทย’ นี่ชัดเจนมาก เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และมันควรทำอะไรได้มากกว่านี้อีกเยอะ ผมอยากจะเล่าเรื่องมวยไทยในแบบที่มันน่าสนใจ ด้วยความที่ชีวิตผมโตมาครึ่งหนึ่งอยู่ในไทย ครึ่งหนึ่งอยู่ต่างประเทศ ผมรู้วิธีที่คนต่างชาติคิด รู้มุมมองเขา และรู้ว่าจะทำยังไงเขาถึงจะซื้อ ถ้าจะเล่าเรื่องมวยไทย ผมจะเล่าในแนวคิดที่ฝรั่งจะซื้อ เพราะเราอยากเผยแพร่ มันอาจจะแตกต่างจากวิธีเล่าของคนอื่น”

ด้านผลประกอบการในปี 2567 ตั้งเป้าการเติบโตไม่น้อยกว่า 10% โดยมาจาก 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ธุรกิจภาพยนตร์ และธุรกิจบันเทิงรูปแบบใหม่ เช่น การจัดอีเวนต์ คอนเสิร์ต ตลอดจนให้การสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ ซึ่งธุรกิจใหม่นี้จะเริ่มดำเนินการอย่างเต็มตัวในปีหน้าเป็นต้นไป

“สำหรับอีเวนต์ที่เราสร้างสรรค์ขึ้นเองน่าจะเริ่มได้เห็นช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งจะเป็นอีเวนต์ระดับเวิลด์คลาส ขอให้ทุกคนติดตาม รับรองว่าจะได้เห็นสิ่งที่แปลกใหม่และตื่นเต้นจากซาเล็คต้าเร็วๆ นี้ ผมมั่นใจว่าถ้าเราและพาร์ตเนอร์ร่วมมือกัน จะสามารถก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์เนชั่นแนลได้ และหากทำอย่างต่อเนื่อง ในวันหนึ่งประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์และไลฟ์สไตล์ รวมทั้งเป็นฮับด้านความบันเทิงที่ครบวงจรของเอเชียได้อย่างแน่นอน” ทรงพลกล่าวทิ้งท้าย.