วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ฝันใหญ่ของขวัญตา สุดแสง พา เดอะ พรอดดิจีสู่เบอร์หนึ่ง Tech startup

ฝันใหญ่ของขวัญตา สุดแสง พา เดอะ พรอดดิจีสู่เบอร์หนึ่ง Tech startup

ท่ามกลางวิกฤตทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีปัจจัยลบรอบด้านจากภายในและภายนอกประเทศ การฟื้นตัวในหลายอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจน และบางอุตสาหกรรมกำลังประสบกับภาวะวิกฤต โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากสงคราม

แม้ธุรกิจภาคเอกชนเริ่มตื่นตัว สังเกตได้จากการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ และมีกิจกรรมออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อีกหนึ่งธุรกิจที่ดูเหมือนวิกฤตที่เกิดขึ้นแทบไม่สร้างผลกระทบได้มากเท่าที่ควร และยังคงเติบโตได้อย่างสวนกระแส นั่นคือธุรกิจสตาร์ทอัป ที่หลายศูนย์วิจัยและพยากรณ์เศรษฐกิจเห็นพ้องกันว่า ธุรกิจสตาร์ทอัปมีทิศทางโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะ Tech Startup

หนึ่งในนั้นคือ บมจ. เดอะ พรอดดิจี (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการ ไอทีเอาท์ซอสซิ่ง จัดหาผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร มี “ขวัญตา สุดแสง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และฝันอันยิ่งใหญ่คือการนำ “เดอะ พรอดดิจี” ไปสู่การเป็น Tech Startup เบอร์หนึ่งของไทย

“ชื่อเล่น ‘ฝัน’ มีฝันที่ยิ่งใหญ่ จากประสบการณ์การทำงานที่ออราเคิล อยากนำประสบการณ์มายกระดับตลาดแรงงานด้าน IT ในไทย และยกระดับตลาด Tech ในไทย เป้าหมายของเรา คือการเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจ IT Outsourcing” ขวัญตาเปิดเผย พร้อมทั้งอธิบายลักษณะของธุรกิจว่า “เราเป็นธุรกิจบริการให้คำปรึกษา คำแนะนำและบริการด้านการพัฒนาระบบงานด้านสารสนเทศให้กับลูกค้า โดยมีการส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้กับกลุ่มลูกค้าในบริษัทต่างๆ ตามลักษณะงานที่ลูกค้าต้องการ

แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. การจัดหาและบริหารบุคลากรชั่วคราวด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Outsourcing) 2. การให้คำปรึกษาและการพัฒนาโครงการสารสนเทศพร้อมทั้งสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินงานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าร่วมปฏิบัติงาน (IT Implementation & Consulting)”

พรอดดิจี เริ่มต้นจากการเป็นบริษัท SME ขนาดเล็ก โดยที่ยังไม่มีงบประมาณพอที่จะดูแลโปรเจกต์ใหญ่ๆ จากบริษัทลูกค้า ในเวลานั้นขวัญตาใช้รูปแบบการทำงานจากโปรเจกต์เล็กๆ และเก็บเงินจากลูกค้าแบบเดือนต่อเดือน ใช้ Passion ในการทำงาน “ล้มแต่ล้มไปข้างหน้า”

ปัจจุบันจำนวน Tech Startup ในประเทศไทยมีเพียง 1,000 ราย หากเทียบกับสิงคโปร์ที่มีจำนวนมากถึง 50,000 ราย โดย Tech Startup ไทยที่น่าสนใจมีด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่ 1. ด้านการศึกษาเรียนรู้ เป็นการยกระดับการเรียนรู้มิติใหม่ๆ ผ่าน E-Learning หรือ Online Courses 2. ด้านอีสปอร์ต บริการจัดการแข่งขันอีเวนต์ 3. ด้านนวัตกรรม 4. ด้านอาหาร และ 5. ด้านเทคโนโลยีการแพทย์

ขวัญตาบอกถึงจุดเด่นที่ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าในมือจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่อย่างกลุ่มธนาคาร บริษัทประกันภัย “เรามีจุดเด่นหลายประการ 1. เป็นผู้นำด้านการให้บริการเอาท์ซอสซิ่งจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร 2. ผู้บริหารและทีมงานมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคมากกว่า 20 ปี 3. มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ประกอบด้วย กลุ่มธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ กลุ่มบริษัทประกันภัย กลุ่มบริษัทโทรคมนาคม กลุ่มธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมถึงกลุ่มบริษัทระดับโลกที่มีสาขาในประเทศไทย และ 4. มีบุคลากรและเทคโนโลยีรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี”

พรอดดิจีมีลูกค้า 20 รายในปี 2022 และเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเป็น 42 รายในปี 2023 และมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนลูกค้าให้ได้ 100 รายในปี 2025 โดยกลุ่มลูกค้าของพรอดดิจี ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, LH Bank, ธนาคารทหารไทยธนชาต, วิริยะประกันภัย, FWD, true, AIS, Lotus’s, บิ๊กซี เป็นต้น

“การนำเสนอบริการของเรา และเซ็นสัญญากับลูกค้า ส่วนใหญ่จะเป็นการเซ็นสัญญาแบบปีต่อปี และสัดส่วนการต่อสัญญาคือ 80-90% ซึ่งจุดนี้ทำให้เรามั่นใจว่าเป้าหมายการเพิ่มฐานลูกค้าภายในปี 2025 เป็น 100 รายนั้นสามารถเป็นไปได้แน่นอน” ขวัญตาขยายความ

ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า “ในปี 2565 พรอดดิจี มีรายได้รวมเท่ากับ 64,004,209 บาท เพิ่มขึ้น 12.21% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 57,969,884 บาท เนื่องจากบริษัทฯ มีกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจ เพิ่มยอดขายในกลุ่มลูกค้าเดิม รวมไปถึงขยายการให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ และมีกำไรสุทธิ 5,140,990 บาท เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5,692,981 บาท

โดยบริษัทฯ เพิ่มบุคลากรเพื่อรองรับการขยายธุรกิจอย่างก้าวกระโดด และมีการเปลี่ยนแปลงย้ายสำนักงานใหม่ ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวเพื่อระดมทุน โดยบริษัทฯ มีอัตรากำไรขั้นต้น 26-28% และมีอัตรากำไรสุทธิ 8-10%”

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันทุกอุตสาหกรรมหันมาใช้บริการ IT Outsourcing เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ FinTech หรือเทคโนโลยีการเงิน ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมใหม่ๆ เป็นตัวบีบให้ธุรกิจบริการทางการเงินต้องปรับตัว และธุรกิจด้านการแพทย์ การดูแลสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2017 IT Outsourcing ในตลาดการดูแลสุขภาพจะมีมูลค่าสูงถึง 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และหากมองตัวเลขการลงทุนด้าน IT Outsourcing ทั้งในและต่างประเทศในภาพรวมของปี 2023 มีการลงทุนสูงถึง 77,000 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 80% ของการลงทุนในทุกด้าน จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันบริษัทที่ให้บริการ IT Outsourcing จะมีทิศทางที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ หากเทียบกับธุรกิจอื่นๆ

ล่าสุด เดอะ พรอดดิจี เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ LiVE Exchange : LiVEx โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเพื่อเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต่อคณะกรรมการกำกับและดูแลหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะจัดโรดโชว์กับนักลงทุน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอข้อมูลบริษัท

ขณะที่มีแผนการขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 3,000,000 หุ้น คิดเป็น 13.04% ของหุ้นสามัญทั้งหมด โดยวัตถุประสงค์ในการระดมทุนครั้งนี้ขวัญตาอธิบายว่า “เราวางแผนระดมทุน 40-50 ล้านบาท โดยจะแบ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี 30 ล้านบาท พัฒนาศักยภาพของทีมงาน 10 ล้านบาท และพัฒนาระบบหลังบ้านของบริษัทเองอีกประมาณ 3 ล้านบาทเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ เพิ่มสภาพคล่องเงินทุนหมุนเวียน และเพื่อพัฒนาโครงการในอนาคต รวมถึงพัฒนาระบบ IT และแพลตฟอร์มเพื่อช่วยบริหารจัดการงานด้าน outsourcing เพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงให้กับธุรกิจในระยะยาว โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์”

ก.ล.ต. มีการออกหลักเกณฑ์รองรับการระดมทุนในตลาดทุนของกิจการที่อยู่ในชั้นกำลังพัฒนา เช่น วิสาหกิจขนาดกลาง (SME) หรือวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) LiVE Exchange มีความแตกต่างจาก SET และ mai ตรงที่ LiVE Exchange เป็นตลาดทุนใหม่ สำหรับการระดมทุนและการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่สร้างมาเพื่อ SME แและ Startup โดยปรับลดการกำหนดคุณสมบัติในการเข้าจดทะเบียนให้เหมาะสมกับขนาดธุรกิจ ไม่มีการกระจายหุ้นวงกว้างในลักษณะที่เป็นบริษัทมหาชน

เป็นเพียงการระดมทุนจากนักลงทุนเฉพาะกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจความเสี่ยงในการลงทุนของธุรกิจ Startup และ SME การซื้อขายจะเป็นแบบเจรจาต่อรองกันเอง โดยมี Live Platform เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งทุนและบริษัทที่มีความน่าสนใจ ซึ่งจะไม่มีการจับคู่ซื้อขายแบบอัตโนมัติเหมือน SET และ mai

น่าจับตามองว่า เดอะ พรอดดิจี จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้หรือไม่ เมื่อมี Startup ที่ให้บริการด้าน IT Outsourcing เพิ่มขึ้น