กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานประชุมด้านความยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้แนวคิด “Net Zero Transition…From Commitment to Action” หรือ “การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ” ปลุกพลังอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เร่งลงมือหนุนประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
สัญญาณเตือนและทิศทางระดับประเทศ
ปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศอันดับที่ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนั้น ทั้งภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว เกษตรกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จึงมีความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบทางการค้าใหม่ๆ ระดับโลกที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นอีกบททดสอบหนึ่งสำหรับภาคธุรกิจ เปลี่ยนจากการดำเนินการโดยสมัครใจไปสู่ข้อกำหนดที่เป็นทางการร่วมกัน
ทั้งนี้ รายงานล่าสุดของธนาคารโลก (2022) แนะนำทางออกให้ไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจหรือ GDP เติบโตขึ้น 1.2% จากปีฐาน หรือเพิ่มขึ้น 0.1-0.2% ต่อปีภายในปี 2030 และมีโอกาสสร้างงานได้ถึง 160,000 ตำแหน่ง
“คำถามที่เป็นหัวใจหลักของการประชุม TCP Sustainability Forum ในปีนี้คือ ไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero และรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างไร” นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP เผยถึงที่มาและความตั้งใจในการจัดงาน
“Net Zero Transition เป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่เราต้องขับเคลื่อนและเดินหน้าด้วยกัน ปีนี้เป็นปีแรกที่ UN ประกาศว่าเป็นจุดสิ้นสุดของ Global Warming แต่จริงๆ แล้วมันเป็นจุดเริ่มต้นของ Global Boiling ปีนี้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นแบบทำลายสถิติ เป็นปีที่เราเห็นสภาวะอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างความเสียหายใหญ่หลวง”
“แต่ก่อนผมคิดว่าประเทศๆ นึงจะล่มสลาย มันต้องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ โรคระบาด หรือสงคราม ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า การที่ฝนตกติดต่อกัน 7 วัน หลายเมืองในโลกก็รับไม่ไหวแล้ว เพราะแต่ละเมืองไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รับกับสภาพอากาศแบบนี้ บางประเทศงานก่อสร้างต้องทำกลางคืนกลางวันทำไม่ได้ เพราะมันร้อนมาก อันนี้คือสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนัก ทุกองค์กรต้องรู้ และมาช่วยกัน”
“ธีมวันนี้ ผมเชื่อว่าทุกองค์กรใหญ่ๆ ให้พันธสัญญา หรือ Commitment ในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero กันหมดแล้ว แต่ Action ที่จะมาขับเคลื่อนและทำให้เป้าหมายที่วางไว้เกิดขึ้นได้จริง มันมีอะไร และต้องทำอะไรบ้าง เวทีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่เชิญหลายภาคส่วนมาแชร์ความรู้กัน เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกันให้ได้”
เร่งระดมพลังอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
แนวคิดหลักของการประชุมด้านความยั่งยืน TCP Sustainability Forum 2023 จึงเป็นเรื่องของ “การเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero จากพันธสัญญาสู่การปฏิบัติ” ที่เน้นความสำคัญของการลงมือปฏิบัติในแต่ละภาคส่วน ทั้งนักธุรกิจ นักคิด และนักปฏิบัติ ที่มาร่วมระดมสมองและแบ่งปันข้อมูลและแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนานวัตกรรม กลยุทธ์ ตลอดจนแผนงานการดำเนินธุรกิจเพื่อการเปลี่ยนผ่าน
ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “การทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนในปัจจุบันต้องไม่มองแบบการทำ CSR ที่เราคุ้นเคยในอดีต เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องกลยุทธ์ของธุรกิจ ต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจให้เท่าทันกับความท้าทายและความคาดหวังของสังคม ไม่เบียดเบียนสังคม และสร้างปัญหาให้กับคนรุ่นต่อไป ธุรกิจใดที่ทำเรื่องความยั่งยืนได้เป็นรูปธรรม จะเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้เหนือคู่แข่งแบบ “ธุรกิจชนะและสังคมวัฒนา” ไปพร้อมกัน ในทางตรงกันข้าม ธุรกิจที่ไม่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจัง จะเปิดความเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ หรือความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ”
กลุ่มธุรกิจ TCP พร้อมเดินทางสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน
“สำหรับกลุ่มธุรกิจ TCP โจทย์ของเราไม่ได้มองการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Net Zero เท่านั้น แต่ต้องการรวมพลังภาคส่วนต่างๆ เปลี่ยนพันธสัญญาไปให้ถึงการ “ลงมือปฏิบัติ” เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง มากกว่านั้นคือการสร้าง “อัตราเร่ง” โดยจากนี้ต้องมีความชัดเจนในการเดินทางไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงประเทศไทยที่ประกาศเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065” นายสราวุฒิกล่าวและเสริมว่า
“กลุ่มธุรกิจ TCP มีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero สำหรับธุรกิจ คือ การเปลี่ยน mindset เปลี่ยนวิธีทำธุรกิจ “เป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม” เราไม่ได้แข่งกับคนอื่นแต่เป็นการแข่งกับตัวเอง เราพยายามมองหาจุดร่วมระหว่างสิ่งที่จะต้องเปลี่ยนและตัวเราว่าจะพาตัวเองไปในทิศทางไหน โจทย์คือทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตไปได้ ควบคู่กับการลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกให้กับสิ่งแวดล้อมและสังคม ภายใต้เป้าหมายใหญ่ “ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า” โดยมีเป้าหมายย่อยและแผนงานรองรับ รวมถึงประเมินผลการทำงานและปรับทิศการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อการเปลี่ยนผ่าน”
“สิ่งที่สำคัญที่ผมย้ำกับองค์กรคือ ต้องเปลี่ยนที่ความคิด การทำเรื่องความยั่งยืน หรือ SD (Sustainability Development) มันไม่ใช่เรื่องของการทำ CSR หรือการทำแคมเปญการตลาด แต่เป็นการทำเพื่อคนทั่วโลก เป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ต้องทำเพื่อสังคม สังคมอยู่ไม่ได้ ธุรกิจเราก็อยู่ไมได้ และการทำงานเรื่องความยั่งยืน มันไม่ควรที่จะคิดว่าทำให้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น ยอดขายและกำไรน้อยลง ถ้าเราคิดอย่างนี้ แสดงว่ายังติดกับดักทางความคิด”
“คีย์หลักของกลุ่ม tcp คือ “เราอยากเป็นตัวเราที่ดีกว่าเดิม” ในวงการธุรกิจในทุกๆ ปี เราอยากเป็นตัวเราที่เก่งกว่าเดิม แต่จริงๆ แล้ว ณ ปัจจุบัน การเป็นคนเก่งไม่เพียงพอแล้ว ต้องเป็นคนที่ดีกว่าเดิมด้วย
2 ปีที่แล้ว tcp ได้เปลี่ยนเป้าหมายธุรกิจขององค์กรให้เป็น “ปลุกพลังเพื่อวันที่ดีกว่า” เป็นภาพที่ใหญ่ สามารถตีความได้หลากหลายในทุกๆ หน่วยงาน ภายใต้เป้าหมายนี้มี 4 แกนย่อยที่ชัดเจน ได้แก่
1. Product Excellence นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นเลิศ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเพื่อสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ทำอย่างไรให้สามารถผลิตสินค้าได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งสราวุฒิย้ำว่า “ผมย้ำเสมอว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของความยั่งยืน คือ การผลิตสินค้ามาแล้วขายไม่ได้ สุดท้ายต้องเอาไปทำลายทิ้ง”
2. Circular Economy ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าบรรจุภัณฑ์ 100% สามารถรีไซเคิลได้ภายในปี พ.ศ.2567
3. Low Carbon Economy มุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ.2593
4. Water Sustainability ส่งเสริมการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ธุรกิจหลักของ tcp คือเครื่องดื่ม เพราะฉะนั้นเรื่องของ “น้ำ” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดย tcp ได้ตั้งเป้าเพื่อมุ่งสู่น้ำสุทธิเป็นบวก (Net Water Positive) ภายในปี พ.ศ.2573
ความก้าวหน้าที่สำคัญของ tcp ในช่วงที่ผ่านมาคือ
1. Sustainable Energy ถ้านับจากปี 2564 tcp สามารถลดก๊าซเรือนกระจก (GHG Emission Reduction) ได้ 4% เทียบเท่าคาร์บอน 2,300 tCo2e มาจากการติดโซลาร์รูฟที่ติดเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันพลังงานจากโซลาร์รูฟคิดเป็น 23% ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดของโรงงาน นอกจากนี้ยังมีการทำ Smart Manufacturing ร่วมกับบริษัทลูกของเอสซีจี ในการพัฒนาระบบการผลิตให้มีการสูญเสียน้อยลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่วมถึงการออกแบบโรงงาน ปัจจุบันมีที่โรงงานปราจีนบุรี และโรงงานมณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของโลจิสติกส์ TCP ตั้งเป้าภายนปี 2573 จะใช้ EV Logistics 30%
2. Sustainable Packaging บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ทั้งการออกแบบที่ลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและพันธมิตรด้านความยั่งยืนจัดทำโครงการด้านบรรจุภัณฑ์ร่วมกัน เช่น โครงการ Aluminium Loop กับ TBC, เปิดโรงงาน Crown TCP เพื่อบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน, นำร่องโครงการต้นแบบการรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ (EPR) รวมถึงทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการจัดเก็ฐและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์
“วันนี้เราประสบความสำเร็จแล้ว เพราะบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มทั้งหมดของ tcp สามารถรีไซเคิลได้ และ 100% ของกระป๋องผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่จำหน่ายในประเทศไทย ผลิตจากอะลูมิเนียมรีไซเคิล นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา โครงการ Aluminium Loop ยังสามารถนำกระป๋องเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้มากกว่า 63 ล้านใบ (803 ตัน) สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 7,339 tCO2e”
3. Net Water Positive ไม่มีการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานออกสู่ภายนอก โดยสามารถรีไซเคิลน้ำได้ 100% ผ่านการบำบัด พัฒนากระบวนการผลิตทั้งหมดให้ใช้น้ำที่ลดลง นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรทำโครงการ tcp โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ปัจจุบันสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนใน 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ครอบคลุม 7 จังหวัด ได้แก่ แพร่ สุโขทัย พิจิตร ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว อุบลราชธานี ด้วยการจัดการทั้งน้ำบนดินและน้ำใต้ดิน คืนน้ำให้ชุมชนไปแล้วกว่า 15 ล้านลูกบาศก์เมตร (สะสมระหว่างปี 2561-2565) ซึ่งโครงการนี้จะขยายต่อไปยังต่างประเทศที่ tcp มีโรงงานอยู่ด้วย
4. Health and Nutrition Product 70% ของผลิตภัณฑ์ tcp เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกเพื่อสุขภาพ ส่วนใหญ่เป็นการลดน้ำตาล
What’s NEXT : อนาคต tcp จะดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืนอย่างไร?
สราวุฒิกล่าวว่าในอนาคตมี 4 ประเด็นหลัก ที่ tcp จะทำคือ
1. Zero Carbon Beverage ทำอย่างไรให้สินค้าที่ผลิตขายอยู่ประจำเป็น Zero Carbon คือไม่ปล่อยคาร์บอนออกมาเลย
2. Supply Chain Transparency ต้องตรวจสอบได้หมดว่าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เดินทางมาอย่างไร
3. Water-Stress Mitigation ประเด็นเรื่องน้ำที่ขยายต่อไปได้
4. Health and Nutrition Focus ผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ดีต่อสุขภาพ
การประชุม TCP Sustainability Forum 2023 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. การเปลี่ยนผ่านด้านความยั่งยืนของประเทศไทย: ปาฐกถาพิเศษ โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปูภาพรวมสถานการณ์และเตรียมพร้อมรับมือในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ Net Zero ทั้งระดับนโยบาย และการปรับตัวของภาคธุรกิจและประชาชน
2. มุมมองเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive): วงเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองต่อเศรษฐกิจหมุนเวียน แนวทางการปรับตัวขององค์กร และภาคธุรกิจจะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร จากนายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มมิตรผล และนายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC
พร้อมด้วยปาฐกถามองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กฎระเบียบการค้า และภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ โดยดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
3. ความท้าทายในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) ในประเทศไทย: เท่าทันความท้าทายต่างๆ ที่จะต้องเผชิญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย จากผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน ได้แก่
– ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Impact) โดย ดร.บริพัตร ศิริอรุณรัตน์ ประธานมูลนิธิโลกสีเขียว อัปเดต 3 วิกฤตหลักที่โลกกำลังเผชิญ เรียนรู้แบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สร้างผลกระทบต่อประเทศไทย และรับฟังแนวทางที่ประเทศไทยจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับสถานการณ์น้ำในประเทศไทย โดย ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัยเพื่อนพึ่งภาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองอนาคตของสถานการณ์น้ำ เอลนีโญและผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมรับฟังแนวการบริหารจัดการน้ำและแนวทางการปรับตัวรับมือความเสี่ยง สำหรับภาคเอกชน
ปิดท้ายด้วย วงเสวนาเรื่อง ความท้าทายในการขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม (Climate Positive) ในประเทศไทย อภิปรายถึงสถานการณ์เศรษฐกิจหมุนเวียน โอกาสและอุปสรรคสำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน แลกเปลี่ยนเรื่องกลไกคาร์บอนเครดิต โมเดลนำร่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และบทเรียนจากพื้นที่ที่ใช้คาร์บอนเครดิตในงานพัฒนา โดย ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี ผู้อำนวยการด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์, ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัย สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนางสาวสุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)
“เชื่อว่างาน TCP Sustainability Forum 2023 จะปลุกพลังและเป็นแรงบันดาลใจในการลงมือทำ เพื่อให้เป้าหมายความยั่งยืนที่เรามีร่วมกันนั้นเป็นไปได้ และทันต่อการรับมือความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก มาเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อวันที่ดีกว่าไปด้วยกัน และผมเชื่อว่าการลงมือทำของเราทุกคนจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” นายสราวุฒิกล่าวทิ้งท้าย