การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงของคนเปลี่ยนไป เพราะผู้คนต้องอยู่บ้านและได้ใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น จนเกิดเป็นเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ที่เรียกว่า “Pet Humanization” ที่สัตว์เลี้ยงได้รับการดูแลเสมือนสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว
ประกอบกับสังคมปัจจุบันที่แนวโน้มประชากร Gen Z, Gen Y และประชากรสูงอายุนิยมเลี้ยงสัตว์แก้เหงามากขึ้น อีกทั้งครอบครัวสมัยใหม่มักมีลูกน้อยลงหรือเลือกที่จะไม่มีลูกเลย และเลือกที่จะเลี้ยงสัตว์แทน ซึ่งล้วนทำให้เทรนด์ Pet Humanization ขยายตัวมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทั้งการดูแลสุขภาพ สินค้า และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก เติบโตอย่างก้าวกระโดด และในขณะเดียวกันยังส่งผลให้ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงคมนาคม ต่างก็ปรับตัวเพื่อรับกับกระแสความนิยมที่เกิดขึ้น
สัตวแพทย์หญิง กฤติกา ชัยสุพัฒนากุล ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ให้ข้อมูลไว้ว่า ตลาดสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่โควิด-19 ระบาด โดยข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า ภาพรวมตลาดสัตว์เลี้ยงของไทย ซึ่งประกอบด้วย มูลค่าสัตว์เลี้ยง อาหารสัตว์เลี้ยง ของเล่น และอื่นๆ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2561 มีมูลค่าตลาด 31,000 ล้านบาท โตขึ้น 7%, ปี 2562 มูลค่าตลาด 34,000 ล้านบาท โต 10%, ปี 2563 มูลค่าตลาด 38,000 ล้านบาท โต 12%, ปี 2564 มูลค่าตลาด 43,000 ล้านบาท โต 13%, และปี 2565 มูลค่าตลาด 50,000 ล้านบาท โต 16% ส่วนในปี 2566 มีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดจะสูงถึง 55,000 ล้านบาท และโตขึ้น 10% จากปีก่อน ซึ่งประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในอาเซียนอีกด้วย
ซึ่งเทรนด์ Pet Humanization ที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโต ทั้งกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และการดูแลรักษา โดยผลสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ระบุว่า คนไทย 49% นิยมเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) และยอมจ่ายเงิน 14,200 บาท เป็นค่าดูแลสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยต่อตัวต่อปี ธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 3,954 ล้านบาท และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 40,638 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2569 (อ้างอิงข้อมูล Euromonitor)
สำหรับภาพรวมตลาดสัตว์เลี้ยงในปี 2566 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 10% โดยเฉพาะในตลาดอาหารและสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงโอกาสของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาดระดับหมื่นล้านในตลาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าพรีเมียมที่มีการเติบโตอย่างชัดเจน เพราะคนเลี้ยงให้ความสำคัญกับการเลี้ยงสัตว์เหมือนเป็นลูก จึงพร้อมที่จะดูแลและเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับสัตว์เลี้ยงของตน
ธนวรรษ วงษ์สวรรค์ ผู้จัดการแบรนด์เทมเทชันส์ เซาท์อีส เอเชีย บริษัท มาร์ส ประเทศไทย จำกัด เจ้าของแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงอย่าง โรยัลคานิน, เพดดิกรี และวิสกัส เปิดเผยว่า ราคาสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมียมมีราคาสูงกว่าอาหารสัตว์เลี้ยงที่จำหน่ายทั่วไปถึง 50% แต่ผู้ซื้อยังยินดีที่จะจ่าย
จากการเติบโตดังกล่าว มาร์ส ประเทศไทย จึงเริ่มทำตลาดสินค้าระดับพรีเมียมเพิ่มเติม เช่น เพดดิกรีสูตรโปรตีนสูง, เพิ่มแบรนด์ไอแอมส์ที่วางตำแหน่งเป็นสินค้าระดับพรีเมียม รวมถึงการจำหน่ายขนมแมวแบรนด์เทมเทชันส์เพื่อตอบโจทย์ผู้เลี้ยงแมวที่มีมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากอาหารแล้วยังมีการดูแลสัตว์เลี้ยงในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การพาไปใช้ชีวิตในสถานที่ต่างๆ พาไปเที่ยว ซึ่งทำให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของสัตว์เลี้ยงเติบโตเช่นกัน เห็นได้จาก “อาร์เอส กรุ๊ป” ที่กระโดดลงมาเล่นในธุรกิจนี้ ด้วยการตั้งบริษัท อาร์เอส เพ็ท ออล จำกัด (RS pet all) ลงทุนในธุรกิจสัตว์เลี้ยงแบบครบวงจร และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมายังทุ่มเงินถึง 100 ล้านบาท เข้าถือหุ้น 51% ใน บริษัท ฮาโตะ เพ็ท เวลเนส เซ็นเตอร์ จำกัด (Hato Pet Wellness Center) ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยงครบวงจรและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน “Preventive Program” เพื่อลุยธุรกิจ Pet Wellness เต็มตัว
สำหรับการร่วมทุนครั้งนี้จะโฟกัสที่ 2 โมเดลธุรกิจ ได้แก่ 1. การเปิด HATO Animal Hospital โรงพยาบาลสัตว์ระดับ 5 ดาว จำนวน 2 แห่ง ใจกลางกรุงเทพฯ และ 2. พัฒนาสินค้าในกลุ่ม HATO Vet Select ภายใต้แบรนด์ HATO เช่น ผลิตภัณฑ์กรูมมิ่ง แอนด์ สปา และ wellness treats ขนมเพื่อสุขภาพสำหรับสัตว์เลี้ยง
ไม่เพียงเท่านั้น เมกะเทรนด์อย่าง “Pet Humanization” ยังส่งผลให้การดูแลสัตว์รวมทั้งการรักษาพยาบาลต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป จากการดูแลรักษาปกติ สู่การนำเทคโนโลยีและการรักษาที่ทันสมัยและก้าวหน้าเทียบเคียงกับการรักษาของคนมาใช้มากขึ้น และยังส่งผลให้จำนวนคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีที่ผ่านมาจำนวนคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ที่ลงทะเบียนในระบบอยู่ที่ราวๆ 2,800 แห่ง แต่ในปีนี้มีการจดทะเบียนเพิ่มมากกว่า 500 แห่ง ทำให้จำนวนรวมพุ่งสูงขึ้นถึง 3,500 แห่ง โดยส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ
อย่างล่าสุดบริษัท อารักษ์ แอนิมัล เฮลท์แคร์ จำกัด ก็ได้เปิดตัว โรงพยาบาลสัตว์อารักษ์ (Arak Animal Hospital) สาขาหลังสวน ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยงบลงทุนกว่า 40 ล้านบาท ภายใต้แนวคิด “Pet Humanization Through Advanced Medical Care” ชูจุดเด่นการให้บริการด้วยเทคโนโลยีการรักษาที่วิจัยและพัฒนามาจากการรักษาในคน เช่น คลินิกพิเศษเฉพาะด้าน ศูนย์ศัลยกรรมและวิสัญญี ศูนย์โรคตา ศูนย์โรคแมว เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน Pet Humanization ยังทำให้ธุรกิจอื่นๆ ต่างก็ปรับตัวให้มีความเป็น Pet Friendly มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ดังกล่าว ทั้งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ และร้านอาหาร เช่น เมเจอร์ ซีนิเพล็กซ์ ได้เปิดตัว “i-Tail PET CINEMA” โรงภาพยนตร์สำหรับคนรักสุนัขและแมวแห่งแรกในประเทศไทย ใน 3 สาขา ได้แก่ โรงภาพยนตร์เมกา ซีนีเพล็กซ์, อิสต์วิลล์ ซีนีเพล็กซ์ และเมเจอร์ ซีนีมา โรบินสันไลฟ์สไตล์ ราชพฤกษ์
ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และสวนสาธารณะต่างปรับเงื่อนไขและอนุญาตให้พาน้องหมาน้องแมวเข้ามาในพื้นที่ได้ เช่น Habito Mall, The Nine Rama 9, The Commons Thonglor, Central Festival EastVille, Mega Bangna, The Emquartier, Fashion Island และ สวนเบญจกิติ
ด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเองก็ปรับตัวรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพาสัตว์เลี้ยงร่วมเดินทางด้วยเช่นกัน เห็นได้จากจำนวนโรงแรมที่พักที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าพักร่วมกับเจ้าของได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสายการบินเริ่มอนุญาตให้สัตว์เลี้ยงร่วมโดยสารไปด้วยเช่นกัน
ซึ่งกระแส Pet Humanization เช่นนี้ มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปและขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนมีลูกน้อยลง และนั่นย่อมส่งผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง จึงน่าติดตามต่อว่าในอนาคตเราจะได้เห็นธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงตามมาอีกหรือไม่.